xs
xsm
sm
md
lg

สังคมเสื่อม!!ครูถีบเด็กเป็นการลงโทษ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สังคมไทยเสื่อม!! ครูลงโทษเด็กด้วยการใช้เท้า เตะ ถีบ ใช้มือ ผ้า สิ่งของ อุดปาก/จมูก นักเรียน หรือของร้อนจี้ ลวก  ใช้ของไม่มีคมหรือกำปั้นทุบ ตีซ้ำหลายครั้ง แถมยังขู่ให้กลัวด้วยมีดหรือปืน และขังนักเรียนไว้ในห้องมืดๆ ให้กินยาบางอย่างหรือเครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์ เมื่อพบนักเรียนทำผิด

วันนี้( 17 พ.ย.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) แถลงเรื่อง “ความรุนแรงในโรงเรียน” โดย ผศ.ดร.สมบัติ ตาปัญญา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า จากการสำรวจปัญหาการรังแกกันในโรงเรียน กับเด็กป.4-ม.3 จำนวน 3,047 คน เดือนก.พ.-มี.ค. 2549 ใน 8 จังหวัด ทุกภาค

อาทิ กรุงเทพฯ ชลบุรี ขอนแก่น สงขลา พบนักเรียน 40% เคยถูกรังแกเดือนละ 2-3 ครั้ง การรังแกเกิดมากที่สุดในชั้น ป.4 และลดลงตามระดับชั้นที่สูงขึ้น พฤติกรรมคล้ายกันทุกภาค ที่พบมากคือทำร้ายจิตใจด้วยวาจา ล้อเลียน 47.9% เหยียดหยามเชื้อชาติ ผิวพรรณ 27.9% และพบการคุกคามทางเพศ 10.7% ยกเว้นภาคตะวันออก ที่มีการแย่งเงินและของใช้ด้วย

พฤติกรรมการรังแกของนักเรียนชายโดยเฉลี่ยที่แตกต่างไปจากนักเรียนหญิง คือ มีการทำร้ายร่างกายขู่เข็ญบังคับ และรุกรานทางเพศ สูงกว่านักเรียนหญิงอย่างเห็นได้ชัด

เด็กชายถูกกระทำมากกว่าเด็กหญิง ไม่เว้นแม้การถูกคุกคามทางเพศ สันนิษฐานได้ว่า อาจเป็นเด็กชายที่มีบุคลิกอ่อนแอ ส่วน 5 อันดับ โซนอันตรายที่ถูกรังแกคือ 1.ห้องเรียนเวลาครูไม่อยู่ 2.ทางเดินหน้าห้องเรียนหรือบันได 3.สนามโรงเรียน 4.โรงอาหาร 5.ในห้องเรียนต่อหน้าครู ซึ่งนักเรียนชายจะไม่ค่อยบอกใครเมื่อถูกรังแก เพราะเกรงจะถูกหาว่าเป็นคน “ขี้ฟ้อง” หรือ “หน้าตัวเมีย แต่ถ้าบอกจะบอกเพื่อน ถัดไปคือพ่อ แม่ ครู”ผศ.ดร.สมบัติ กล่าว

ผศ.ดร.สมบัติ กล่าวอีกว่า เด็ก 1 ใน 3 กลัวต่อการถูกรังแกที่โรงเรียนจึงย่อมทำให้เด็กเรียนได้ไม่เต็มที่ โดยช่วง ป.6 น่าห่วงที่สุด เพราะเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ที่จะศึกษาต่อ ม.1 ทั้งนี้เด็ก 41.2% ระบุว่า ครูหรือผู้ใหญ่ช่วยเหลือน้อยหรือแทบไม่ทำอะไร เมื่อถามว่า 2 เดือนที่ผ่านมาผู้ใหญ่ที่บ้านติดต่อกับโรงเรียน เพื่อหยุดการรังแกหรือไม่ 75.2% ตอบว่าไม่มีเลย แต่ครู 89% เคยเห็นเด็กถูกรังแก ซึ่ง 25% บอกว่าเห็นมากกว่า 10 ครั้ง

“สำหรับเด็กที่มีพฤติกรรมรังแกเพื่อนเมื่อโตขึ้นเด็กเหล่านี้จะมีพฤติกรรมต่อเนื่อง อาจจะไปกระทำสิ่งที่ดูถูกลิดรอนสิทธิผู้อื่น และพบว่ามีแนวโน้มที่จะก่ออาชญกรรมในอนาคตได้สูง ส่วนเด็กที่ถูกกระทำจะมีความวิตกกังวล เครียด เป็นโรคซึมเศร้า ส่งผลกระทบต่อการเรียน หรือในบางรายอาจถึงขั้นฆ่าตัวตาย”ผศ.ดร.สมบัติกล่าว

ผศ.ดร.สมบัติ กล่าวว่า ส่วนทัศนคติของครูต่อการสร้างวินัยในนักเรียน กับครูใน 4 ภาค 1,300 คน พบว่า ครู 75.5% เชื่อว่าครูและพ่อแม่ควรยึดถือคำพังเพย “รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี” 69.9% เห็นว่าหากไม่ตีเลยจะควบคุมพฤติกรรมเด็กไม่ได้ สรุปได้ว่าครู 60% มีทัศนคติว่าการตีเด็กยังเป็นสิ่งที่ควรทำ วิธีการลงโทษที่พบบ่อยคือ ใช้ไม้เรียวตีก้น ตีมือ และมีครูจำนวนน้อยยอมรับว่ายังลงโทษนักเรียนด้วยวิธีที่อาจเป็นอันตรายหรือทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

แม้กระทรวงศึกษาธิการจะห้ามลงโทษนักเรียนด้วยวิธีการรุนแรงแต่ในความเป็นจริงยังพบการลงโทษเช่น ที่รุนแรงอยู่บ้าง เช่นใช้มือ ผ้า สิ่งของ อุดปาก/จมูก นักเรียน ใช้ของร้อนจี้ ลวก ใช้เท้า เตะ ถีบ ใช้ของไม่มีคมหรือกำปั้นทุบ ตีซ้ำหลายๆครั้ง ขู่ให้กลัวด้วยมีดหรือปืน ขังนักเรียนไว้ในห้องมืดๆ ให้กินยาบางอย่างหรือเครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์ เอาพริกหรือสิ่งที่มีรสเผ็ด ขม มากๆใส่ปากเด็ก ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ครูบางคนยอมรับว่าเคยทำซ้ำๆกันหลายครั้ง ส่วนการลงโทษทางวาจาหรือทำร้ายจิตใจ พบบ่อย 2 วิธี คือ ตะโกนดุด่า หรือ เพิกเฉย ไม่พูดด้วย”ผศ.ดร.สมบัติ กล่าว

ผศ.ดร.สมบัติ กล่าวอีกว่า ปัญหาความรุนแรงในโรงเรียนอีกประการหนึ่งเกิดจากวิธีการสร้างวินัยของครูที่ใช้กับนักเรียน หรือการลงโทษเมื่อนักเรียนทำผิดระเบียบหรือมีพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ โดยมีการลงโทษด้วยความรุนแรง มีการทำร้ายร่างกาย เช่น การตีด้วยมือหรือวัตถุ เช่น ไม้เรียว เข็มขัด ฯลฯ บังคับให้อยู่ในท่าที่ไม่สบายหรือเสียศักดิ์ศรี ตบหน้าใช้เท้าเตะถีบ หยิก ดึงผม หรือให้ออกกำลังการมากเกินควร เช่น วิดพื้น วิ่งรอบสนาม หรือใช้สิ่งของที่ร้อนนาบตามตัว เป็นต้น บางครั้งก็เป็นการลงโทษที่เป็นความรุนแรงต่อจิตใจหรือทำร้ายจิตใจ เช่น ดุด่า เยาะเย้ย ถากถาง ประจาน แยกให้โดดเดี่ยว หรือแกล้งทำเมินเฉยไม่สนใจเด็ก

อย่างไรก็ตามจากพฤติกรรมดังกล่าวของครูสอดคล้องกับผลสำรวจที่ออกมาว่าครูส่วนใหญ่มีทัศนคติการตีเด็กยังเป็นสิ่งที่ควรทำอยู่ ทั้งที่กระทรวงศึกษาธิการได้ออกระเบียบว่าด้วยการลงโทษนักเรียนหรือนักศึกษา พ.ศ.2543 ระบุว่าการลงโทษนักเรียนหรือนักศึกษา มี 5 สถาน คือ ว่ากล่าวตักเตือน ให้ทำกิจกรรม ทำทัณฑ์บน พักการเรียน และให้ออก โดยห้ามลงโทษด้วยวิธีรุนแรง หรือกลั่นแกล้ง หรือลงโทษด้วยความโกรธ หรือด้วยความพยาบาท หรือลงโทษนักเรียนนักศึกษาที่กำลังเจ็บป่วย หรือกำลังมีปัญหากระทบกระเทือนใจอย่างแรง และให้คำนึงถึงอายุของนักเรียนนักศึกษาด้วย

“กระทรวงศึกษาธิการควรเพิ่มกิจกรรมหรือมีวิธีรการสร่างวินัยเชิงบวกให้กับครู เพราะในอดีตครูมีไม้เรียวเป็นเครื่องมือ เมื่อถูกยึดไปแล้ว กระทรวงฯไม่ได้ให้เครื่องมือใหม่กับครู จึงทำให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา”

นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ กรรมการมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ในฐานะผู้จัดการชุดโครงการเด็ก เยาวชน และครอบครัว กล่าวว่า ผลการสำรวจที่พบสะท้อนว่าความรุนแรงยังมีอยู่ในโรงเรียน ทั้งในเด็กกับเด็ก และครูกับนักเรียน ซึ่งการใช้ความรุนแรงคือการสื่อสารที่ชัดเจนที่สุดว่าความรุนแรงคือสิ่งที่ยอมรับได้ และกระตุ้นให้ใช้ความรุนแรงต่อไปอีกเมื่อโตขึ้น ครูหรือผู้ปกครองมักมองว่าเป็นเรื่องของเด็ก จึงไม่ให้ความใส่ใจ เด็ก เยาวชน จึงอยู่ในสภาพเก็บกด บีบคั้นทางจิตใจอย่างมาก ในต่างประเทศ ปัญหาก็รุนแรงขึ้น เช่น ในญี่ปุ่น มีเด็กและเยาวชนจำนวนมากไม่ยอมไปโรงเรียน จนกลายเป็นอาการปฏิเสธสังคม เรียกเป็นภาษาญี่ปุ่นว่า “ฮิคิโคโมริ” (hikikomori) คือการไม่ยอมออกจากห้องนอนติดต่อกันอย่างน้อย 6 เดือน ในประเทศต่างๆ ก็มีรายงานว่า เด็กฆ่าตัวตายมากขึ้น เนื่องจากถูกเพื่อนรังแกอย่างหนัก

นพ.ชูชัย กล่าวอีกว่า ความรุนแรงนอกจากส่งผลเสียนานับประการ ยังละเมิดสิทธิมนุษยชนเด็ก 120 ประเทศ รวมถึงประเทศไทย จึงลงนามในปฏิญญาสากลว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิเด็ก โดยวันที่ 19 พ.ย. ของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็น “วันแห่งโลกเพื่อการป้องกันการทำร้ายเด็ก (World Day for Prevention of Child Abuse) และวันที่ 20 พ.ย. ยังเป็นวันสากลว่าด้วยสิทธิเด็ก (International Day for the Rights of the Child) ด้วย

ทั้งนี้โครงการเด็ก เยาวชน และครอบครัว จะจัดเวทีนโยบายสาธารณะเรื่อง ความรุนแรงต่อเด็กในโรงเรียน วันที่ 10 ม.ค. 2550 เพื่อเสนอข้อมูลความรุนแรงในโรงเรียน เปิดพื้นที่ให้เด็กและเยาวชนได้เสนอทางแก้ โดยมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ และ สสส. จะประสานงานกับกระทรวงศึกษาธิการเพื่อรณรงค์เรื่อง “โรงเรียนปลอดความรุนแรง” ตลอดปี 2550 ร่วมกันสร้างและพัฒนาโรงเรียนปลอดความรุนแรง ทำเครื่องมือประเมินผลช่วยเพิ่มทักษะครู
กำลังโหลดความคิดเห็น