กรมวิทย์ เตือนระวังชาผสมสี เผยพบชาผงนำเข้าจากมาเลย์ผสมสีผิดมาตรฐาน แนะตรวจดูมาตรฐาน อย.ที่ฉลากก่อนซื้อ หากสังเกตด้วยตาเปล่าอาจพบว่า น้ำชามีสีสันที่ฉูดฉาดกว่าปกติหรือผิดสังเกต เป็นไปได้ว่ามีการ ใส่สีสังเคราะห์ ทั้งผู้บริโภคผู้ค้าต้องระวังเพื่อป้องกันอันตรายจากสีที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพ
นพ.ไพจิตร์ วราชิต อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า จากนโยบายการเปิดตลาดการค้าเสรี (Free Trade Area : FTA) ของประเทศไทย ทำให้มีสินค้าจากประเทศต่างๆ เข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ซึ่งอาจมีสินค้าบางอย่างที่ด้อยคุณภาพหรือไม่ได้มาตรฐานก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภค โดยเฉพาะสินค้าประเภทอาหารซึ่งมีผลกระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภคโดยตรง ดังนั้น เพื่อคุ้มครอง ความปลอดภัยด้านสุขภาพให้แก่ผู้บริโภค กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จึงได้ดำเนินโครงการพัฒนาศักยภาพห้องปฏิบัติการเครือข่ายอาหารนำเข้าทั้งในส่วนกลาง ได้แก่ สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร และในส่วนภูมิภาค ได้แก่ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ทั้ง 14 แห่งทั่วประเทศ เพื่อรองรับระบบการควบคุมและมาตรการตรวจสอบอาหารนำเข้า รวมทั้งการศึกษาวิจัยคุณภาพมาตรฐานและความปลอดภัยอาหารนำเข้า เพื่อนำข้อมูลและผลการวิเคราะห์มาใช้ในการกำหนดหรือปรับปรุงมาตรฐานอาหาร และนำไปใช้ดำเนินการทางกฎหมายกับประเทศผู้ผลิต เช่น การทำลายสินค้า การส่งคืนสินค้ายังประเทศต้นทาง เป็นต้น
นพ.ไพจิตร์ กล่าวต่อว่า ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์สุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นหนึ่งในห้องปฏิบัติการเครือข่ายอาหารนำเข้าในส่วนภูมิภาค ได้ดำเนินการประสานงานกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในเขตพื้นที่ภาคใต้ เก็บตัวอย่างชาผงที่วางจำหน่ายตามท้องตลาด จำนวน 18 ตัวอย่าง 12 ยี่ห้อ เพื่อตรวจคุณภาพและความปลอดภัย
ผลการตรวจวิเคราะห์พบว่า ตัวอย่างชาผง 10 ตัวอย่าง จำนวน 5 ยี่ห้อ ซึ่งผลิตในประเทศมาเลเซีย มีการใส่สี ทั้งนี้ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 196 (พ.ศ.2543) ว่าด้วยเรื่อง ชา กำหนดให้ชาเป็นอาหารที่กำหนดคุณภาพหรือมาตรฐาน และห้ามไม่ให้ใส่สีในชาและชาผงสำเร็จรูป ยกเว้นชาปรุงสำเร็จ (ชนิดเหลว) ซึ่งจะเข้าตามข้อกำหนด เรื่อง การใช้สีผสมอาหารในอาหารประเภทเครื่องดื่ม ไอศกรีม ลูกกวาด และขนมหวาน ซึ่งอนุญาตให้ใช้สีผสมอาหารได้ตามปริมาณที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 281 (พ.ศ.2547)
สำหรับตัวอย่างชาผงที่มีการใส่สีนั้น พบว่า ทุกตัวอย่างมีการใช้สีสังเคราะห์ทั้งสีที่อนุญาตให้ใส่ในอาหารและสีที่ไม่อนุญาตให้ใส่ในอาหารมากกว่า 1 ชนิด และบางชนิดยังมีการใช้ในปริมาณมาก โดยมีชาผงยี่ห้อต่างๆ ดังนี้
1.ชาผงยี่ห้อ Special blender Tea dust 999 พบสี Sunset yellow FCF, Azorubin, Tartrazine และ Orange II 2.ชาผงยี่ห้อ Finest ceylon Tea dust 666 พบสี Sunset yellow FCF, Azorubin, Tartrazine
และ Orange II 3.ชาผงยี่ห้อ Finest ceylon Tea dust 999 พบสี Sunset yellow FCF, Tartrazine และ Orange II 4.ชาผงยี่ห้อ Racehorse พบสี Sunset yellow FCF, Azorubin และ Tartrazine 5.ชาผงตราขวาน พบสี Azorubin และ Tartrazine ซึ่งตัวอย่างทั้งหมดเป็นชาผงที่ผลิตในประเทศมาเลเซีย
ทั้งนี้ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์สุราษฎร์ธานี ได้แจ้งผลการตรวจวิเคราะห์ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในเขตพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งเป็นเครือข่ายของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาในการให้ความคุ้มครองผู้บริโภคทราบเพื่อดำเนินการต่อไปแล้ว
สำหรับอันตรายจากสีผสมอาหารต่อผู้ที่มีสุขภาพปกตินั้น อาจเกิดอันตรายได้ 2 ทาง คือ 1.เกิดจากตัวสีเอง หากบริโภคในปริมาณที่มากหรือบ่อยครั้งสีจะไปเคลือบเยื่อบุกระเพาะอาหารและลำไส้ ทำให้น้ำย่อยอาหารออกมาไม่สะดวก ขัดขวางการดูดซึมอาหาร ทำให้ท้องเดิน น้ำหนักลด และอ่อนเพลีย 2.เกิดจากสารอื่นที่ปนเปื้อนจากกระบวนการผลิตสี ได้แก่ โลหะหนัก เช่น ตะกั่ว แคดเมียม สารหนู ปรอท พลวง โครเมียม เป็นต้น
สารเหล่านี้แม้จะได้รับในปริมาณเล็กน้อย แต่จะค่อยๆ สะสมในร่างกาย จนก่อให้เกิดโรคโลหิตจาง เนื้องอก และมะเร็งได้ นอกจากนี้ สีสังเคราะห์แต่ละชนิดยังมีอันตรายที่แตกต่างกันไป และมีความไวต่อผู้ที่มีโรคประจำตัวบางอย่างเป็นพิเศษด้วย เช่น สี Tartrazine (E102) : FD&C Yellow No.5 ให้สีเหลือง จะทำให้เกิดอาการแพ้ เช่น ผื่นคัน บวมแดง กระตุ้นให้เกิดโรคหอบหืด และโรคลมชักในเด็กได้ ทั้งยังทำให้เกิดเนื้องอกที่ไทรอยด์ ทำลายโครโมโซม และทำให้ผู้ป่วยแพ้แอสไพรินได้ง่าย ถูกยกเลิกการใช้ในประเทศนอร์เวย์และออสเตรีย สี Sunset yellow FCF (E110) : Orange yellow S FD&C Yellow No.6 ให้สีส้ม มีผลข้างเคียงทำให้เป็นโรคลมพิษ โพรงจมูกอักเสบ เกิดอาการแพ้ เนื้องอกที่ไต และถูกยกเลิกการใช้ในประเทศนอร์เวย์ สี Azorubin (E122) : Carmoisine เป็นอนุพันธ์ของ Coal tar ให้สีแดง มีผลกับผู้ที่เป็นหืดหอบและทำให้แพ้แอสไพริน ถูกยกเลิกการ ใช้ในประเทศนอร์เวย์ สวีเดน ออสเตรีย และสหรัฐอเมริกา สี Orange II ให้สีส้ม เป็นสีห้ามใส่ในอาหาร ทั้งนี้ ผลการทดลองในต่างประเทศรายงานว่า ทำให้เกิดพิษเฉียบพลันและพิษเรื้อรังในสัตว์ทดลอง ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะเป็นสารก่อมะเร็ง และหากได้รับในปริมาณมากจะทำให้เสียชีวิต
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวต่อไปว่า จากข้อมูลที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่า ชาผง นำเข้าที่มีการใส่สีสังเคราะห์ อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภค อีกทั้งยังผิดมาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขอีกด้วย ดังนั้น เพื่อความปลอดภัย ผู้บริโภคควรเลือกซื้อชาผงที่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการอาหารและยาแล้ว โดยฉลากจะต้องแสดงข้อความเป็นภาษาไทย มีเครื่องหมาย อย. ระบุเลขสารบบอาหาร ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต วันเดือนปีที่ผลิตหรือหมดอายุ ส่วนประกอบสำคัญ ฯลฯ เป็นข้อมูลเบื้องต้นที่ต้องมีระบุไว้
ทั้งนี้ แม้ว่าผู้บริโภคจะไม่สามารถสังเกตความแตกต่างระหว่างชาผงที่ผสมสีกับชาผงที่ไม่ผสมสีด้วยตาเปล่าได้ แต่เมื่อนำไปชงในน้ำแล้วพบว่า น้ำชามีสีสันที่ฉูดฉาดกว่าปกติหรือผิดสังเกต ก็เป็นไปได้ว่าชาผงที่นำมาชงนั้นมีการใส่สีสังเคราะห์ ผู้บริโภคจึงควรระวังตนเอง นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงผู้ประกอบการที่ขายเครื่องดื่มชาชงก็ควรเลือกซื้อชาผงที่ได้รับการรับรองจาก อย. แล้ว เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค