เปิดสถิติสุดโหดของโรคหอบหืด มูลนิธิโรคหืดชี้ มีคนไทยป่วย 3 ล้านตายปีละ 1,000 คน 70%เสียชีวิตเพราะมาช้าเกินไป พร้อมระบุเป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม ชี้กรณีที่พ่อแม่ไม่เป็นโรคหืดแต่ลูกก็มีโอกาสเป็นโรคหืดถึง 6% ถ้าพ่อหรือแม่คนใดคนหนึ่งเป็นโรคหืดลูกเกิดมามีโอกาสเป็นโรคหืด 20 % และถ้าทั้งพ่อและแม่เป็นโรคหืด ลูกเกิดมามีโอกาสเป็นโรคหืด 60%
ศ.กิตติคุณ นพ.ชัยเวช นุชประยูร รองประธานมูลนิธิโรคหืดแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกระบุว่าทั่วโลกมีผู้ป่วยประมาณ 300 ล้านคน สำหรับประเทศไทยมีผู้ป่วยประมาณ 3 ล้านคน เสียชีวิตปีละประมาณ 1,000 คน โดย 70% ของผู้ป่วยมาถึง รพ.ช้าเกินไป ทั้งนี้คงเป็นเพราะผู้ป่วยประเมินประเทศไทยประเมินความรุนแรงของโรคต่ำไป บางคนคิดว่าเวลาจับหืดแค่ใช้ยาสูดแล้วอาการดีขึ้น ก็ไม่ได้มารักษา
ดังนั้นวิธีการป้องกันคือ ผู้ป่วยต้องรู้จักการใช้ยาอย่างถูกต้องคือ ยาสูดขยายหลอดลมและลดการอักเสบ และรู้จักประเมินความรุนแรงของโรคตัวเองเช่น ควรทำบันทึกว่าจับหืดตอนไหน อย่างไร หรือถ้าไม่มีอาการควรหมั่นตรวจเช็กสมรรถภาพปอด เพราะผู้ป่วยบางรายอาจจะไม่มีอาการ แต่พอไปเป่าลมตรวจสภาพปอดปรากฎว่าสมรรถภาพไม่ดี
ศ.กิตติคุณ นพ.ชัยเวช กล่าวว่า ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยโรคหืดที่มีอาการรุนแรง และเคยมีประวัติจับหืดรุนแรงมาก่อนอาจเสี่ยงต่อการเสียชีวิต โดยบางคนคิดว่าสูดยาแล้วอาจหายได้เอง ไม่ไป รพ. แต่ก็มีอีกประเภทที่จับหืดขึ้นมาทันทีทันใด ทั้งนี้พยาธิสภาพของผู้ที่เสียชีวิต เป็นเพราะมีเสมหะออกมาอุดหลอดลม ทำให้ออกซิเจนเข้าสู่ปอดไม่ได้
ที่สำคัญคือโรคหืดเป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม ทั้งนี้ในกรณีที่พ่อแม่ไม่เป็นโรคหืดแต่ลูกก็มีโอกาสเป็นโรคหืดถึง 6%ถ้าพ่อหรือแม่คนใดคนหนึ่งเป็นโรคหืดลูกเกิดมามีโอกาสเป็นโรคหืด 20 % และถ้าทั้งพ่อและแม่เป็นโรคหืด ลูกเกิดมามีโอกาสเป็นโรคหืด 60% โดยความรุนแรงของโรคมีผลมาจาก สิ่งแวดล้อม เช่น ไรฝุ่น สัตว์เลี้ยง ละออกเกสรดอกไม้ ละอองหญ้า แมลงสาบ ควันบุหรี่ หรือสารระคายเคือง เช่น ถูกอากาศเย็น ไอเสียรถยนต์ อย่างไรก็ตามช่วงนี้อากาศเปลี่ยน ทำให้เป็นหวัดได้ง่าย เชื้อไวรัสก็จะทำให้หืดกำเริบได้