xs
xsm
sm
md
lg

สพฐ.โวยสุวรรณภูมิโคตรดังกระทบ ร.ร. ทอท.ยอมควัก 390 ล.จ่าย 71 หลังคาเรือน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สพฐ.ออกตรวจเยี่ยมเก็บข้อมูลโรงเรียนหลายแห่งที่ได้รับผลกระทบจากเสียงเครื่องบินขึ้นลงสนามบินสุวรรณภูมิ เตรียมนำเข้าเจรจากับ ทอท.เร่งเข้าแก้ปัญหาเสียงดังรบกวนการเรียนภายใน 2-3 เดือน นอกจากนี้ ยังห่วงปัญหาปริมาณนักเรียนที่ย้ายตามครอบครัวมาเข้าโรงเรียนย่านนี้เพิ่มขึ้น รวมถึงปัญหาฝุ่นละอองและปัญหาน้ำท่วม พร้อมแนะนักเรียนปรับตัวรับสภาพ และเสนอเพิ่มหลักสูตรเกี่ยวกับเครื่องบินให้นักเรียนได้เรียนรู้ควบคู่ไปด้วย ด้าน คพ.เตรียมประสาน ทอท.ห้ามเครื่องบินเก่าเสียงดังบินขึ้น-ลง แก้มลพิษเสียงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ให้แจ้ง และควบคุมทุกสายการบินให้ปฏิบัติตาม เผย ทอท.สรุป 390 ล้านบาท จ่ายค่าชดเชย 71 หลังคาเรือน ในแนวเส้นทางการบิน แต่มีแนวโน้มต้องจ่ายเพิ่ม เตรียมขอกรมสุขภาพจิตส่งทีมแพทย์รับฟังปัญหาประชาชน

คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) นำคณะตรวจเยี่ยมโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) กรุงเทพมหานคร เขต 2 และ สพท.สมุทรปราการ เขต 2 อาทิ โรงเรียนพูลเจริญวิทยาคม โรงเรียนวัดบางโฉลงใน ถนนบางนา-ตราด กม.16 รวมถึงโรงเรียนบนถนนกิ่งแก้ว ถนนฉลองกรุง ถนนร่มเกล้า ซึ่งได้รับผลกระทบจากการเปิดใช้ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ โดยเฉพาะปัญหาเสียงดังขณะเครื่องบินขึ้นลง

ทั้งนี้ จากข้อมูลของ สพท.สมุทรปราการ เขต 2 ระบุว่า มีโรงเรียนได้รับผลกระทบจากเสียงในระดับที่มีปัญหามาก 3 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนเกริกวิทยาลัย โรงเรียนพูลเจริญวิทยาคม และโรงเรียนวัดบางโฉลงใน และโรงเรียนที่อยู่นอกแนวเขตขึ้นลงของเครื่องบิน แต่ได้รับผลกระทบจากเสียง 31 แห่ง อาทิ โรงเรียนพรหมพิกุลทอง ซึ่งอยู่ห่างเส้นทางขึ้นลงเครื่องบินเพียง 300 เมตร โรงเรียนสาธิตบางนา โรงเรียนราชวินิตบางแก้ว ส่วน สพท.กรุงเทพฯ เขต 2 มีโรงเรียนที่ได้รับผลกระทบ อาทิ โรงเรียนพรตพิทยพยัต โรงเรียนเทพศิรินทร์ร่มเกล้า โรงเรียนรัตนโกสินทร์สมโภช ลาดกระบัง

คุณหญิงกษมา กล่าวว่า จะเร่งรวบรวมข้อมูลปัญหาทางเสียงของโรงเรียนทุกแห่งไปหารือเจรจาอย่างเป็นระบบกับ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) ให้เข้ามาดำเนินการแก้ปัญหา เช่น การติดกระจกหรือติดเครื่องปรับอากาศเพิ่มเติม โดยจะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 2-3 เดือนนี้ ทั้งนี้ เชื่อว่า ในเชิงวิชาการทาง ทอท.มีแนวทางอยู่แล้ว แต่ สพฐ.ต้องการดำเนินการให้เป็นระบบ ไม่อยากให้แต่ละโรงเรียนไปเจรจากับ ทอท.เป็นรายโรงเรียน

“อยากฝากถึงผู้ปกครองนักเรียนในพื้นที่ว่าจะเร่งประสานงานให้โดยเร็วที่สุด และ ทอท.ก็ไม่ได้เพิกเฉยและพยายามหาข้อมูลอยู่แล้ว ดังนั้น หากทั้ง 2 ฝ่าย ร่วมมือกันปัญหาคงจะคลี่คลายได้ ซึ่งมาตรการที่โรงเรียนเสนอมาคงจะไม่ได้ใช้เวลาดำเนินการนานมากนัก” คุณหญิงกษมา กล่าว

นอกจากนี้ คุณหญิงกษมา ยังกล่าวถึงผลกระทบจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิต่อโรงเรียนในพื้นที่ด้านอื่นๆ ว่า ยังมีปัญหาปริมาณนักเรียนที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากมีหลายครอบครัวย้ายจากดอนเมืองมาทำงานที่สนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งห่วงในปีการศึกษาที่จะถึงนี้แต่ในระยะ 2-3 ปี เมื่อได้สร้างอาคารเรียนเพิ่มเติมก็จะมีโรงเรียนเพียงพอรองรับได้ ขณะที่ปัญหาเรื่องฝุ่นละอองกับปัญหาน้ำสูงล้นตลิ่งท่วมโรงเรียนใกล้คลอง ทอท.ได้เข้ามาดำเนินการแก้ปัญหาแล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทั้งที่โรงเรียนพูลเจริญวิทยาคม และโรงเรียนวัดบางโฉลงใน ซึ่งมีนักเรียนกว่า 1,500-2,000 คน จะมีเครื่องบินบินผ่านเฉลี่ยชั่วโมงละ 60-70 เที่ยวบิน ส่งเสียงดังรบกวนการเรียน และยังดึงความสนใจนักเรียนให้ดูภาพเครื่องบินบินผ่านระยะใกล้เป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม คุณหญิงกษมา ได้บอกนักเรียนว่า ให้ปรับตัวรับกับสภาพเสียงดัง พร้อมเสนอให้ผู้เกี่ยวข้องเพิ่มหลักสูตรเกี่ยวกับเครื่องบินให้นักเรียนได้เรียนรู้ควบคู่ไปด้วย

ด้าน นางมณทิพย์ ศรีรัตนา ทาบูกานอน อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) แถลงผลการประชุมติดตามความก้าวหน้าการจัดการปัญหามลพิษทางเสียงหลังการเปิดใช้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ร่วมกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ว่า ที่ประชุมกำหนดแนวทาง 4 ด้าน เพื่อควบคุมและแก้ปัญหาผลกระทบมลพิษทางเสียงหลังการเปิดใช้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ประกอบด้วย การกำหนดประเภทของเครื่องบินที่จะใช้สนามบิน การกำหนดวิธีการบิน พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ และการจัดการปัญหาร่วมกัน โดยแต่ละประเด็นมีมาตรการย่อยหลายประการและให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับผิดชอบโดยตรง ซึ่ง คพ.จะสรุปเสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติภายในเดือนนี้

นางมณทิพย์ กล่าวว่า จะมีการห้ามเครื่องบินที่ไม่ได้การรับรองด้านเสียงตามเกณฑ์ขององค์การบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) Annex 16 ระดับ Chapter 3 เข้ามาใช้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยเฉพาะเครื่องบินที่อายุ 14 ปีขึ้นไป ส่วนการกำหนดวิธีการบินจะจัดสรรให้ใช้ทางวิ่งฝั่งตะวันออกบินลงมากขึ้น โดยใช้อัตราส่วนรันเวย์ฝั่งตะวันตกร้อยละ 85 และตะวันออกร้อยละ 15 ซึ่งจะลดปัญหาเสียงดังรบกวนหมู่บ้านที่อยู่ในแนวได้รับผลกระทบทางเสียงระดับ NEF40 ได้ แต่จะต้องบินขึ้นแบบเชิดหัวทันที ส่วนการบินลงยังไม่ชัดเจนโดยจะประชุมรายละเอียดอีกครั้ง 9 พ.ย.นี้ ทั้งนี้ ทาง ทอท.จะต้องแจ้งและควบคุมทุกสายการบินให้ปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดอย่างเคร่งครัด

นายสุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา รองอธิบดี คพ.กล่าวว่า พื้นที่ได้รับผลกระทบทางเสียงในแนว NEF40 ตามรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) เบื้องต้นมีประมาณ 71 หลังคาเรือน ทอท.ได้ตั้งงบฯ 390 ล้านบาท สำหรับจ่ายค่าชดเชยการอพยพบ้านเรือนที่อยู่ในเขต NEF40 แต่คาดว่าหลังการสำรวจโดยใช้ภาพถ่ายทางอากาศมาเปรียบเทียบกับสภาพปัจจุบันน่าจะมีบ้านเรือนที่อยู่ในข่ายต้องอพยพ หรือได้รับชดเชยเพิ่มเติมอีกส่วนหนึ่ง แต่จะต้องเป็นบ้านที่อยู่ก่อนปี 2544 ซึ่ง ทอท.จะเสนอคณะกรรมการบริหารชุดใหม่เพื่ออนุมัติต่อไป อย่างไรก็ตาม จากการทดลองปรับเส้นทางขึ้นลงโดยเปลี่ยนไปใช้รันเวย์ฝั่งตะวันตกมากขึ้น ทำให้ระดับเสียงเฉลี่ย 24 ชั่วโมงไม่เกินระดับที่เป็นอันตรายต่อประชาชน

นอกจากนี้ ทาง คพ.จะขอให้ทางกรมสุขภาพจิตส่งบุคลากรเข้าไปรับฟังปัญหาของชาวบ้านที่อาจได้รับผลกระทบทางจิตใจและทางกายภาพจากมลพิษทางเสียงจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยเฉพาะชุมชนที่อยู่ในบริเวณแนวเส้นทางการบิน อาทิ หมู่บ้านร่มสุข หมู่บ้านร่มฤดี หมู่บ้านเคหะ กรีนวัลเลย์ และโรงเรียนวัดบางโฉลงใน โดยอนาคตอาจจะให้มีฮอตไลน์ให้คำปรึกษาปัญหาของชาวบ้าน ส่วนทาง คพ.ก็ทำหน้าที่รับร้องเรียนปัญหาอยู่แล้ว นอกจากนี้ ระหว่างวันที่ 10-16 พ.ย.นี้ คพ.ร่วมกับกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม จะออกตรวจระดับเสียงในจุดตรวจวัด 16 แห่งอีกครั้งหนึ่งด้วย” นายสุพัฒน์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น