xs
xsm
sm
md
lg

กว่าจะมาเป็น ‘นางฟ้าในชุดขาว’

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หมวกสีขาว เสื้อสีขาว กระโปรงสีขาว เครื่องแต่งกายภายนอกที่บ่งบอกถึงเอกลักษณ์สะดุดตาดังที่ใครหลายคนให้สมญานามกับพวกเธอว่าเป็น ‘นางฟ้าชุดขาว’ ‘ผู้หญิงสีขาว’ หรือเรียกอย่างเป็นทางการว่า ‘พยาบาล’ แต่จะมีสักกี่คนที่รู้ว่าฉากหน้าที่เห็นว่าสวยงามนั้น เบื้องหลังแล้วผู้หญิงคนหนึ่งจะต้องเผชิญกับการปฏิบัติหน้าที่ที่มากกว่าการเป็นผู้ช่วยของแพทย์

แม้ทุกๆ ปีจะมีพยาบาลสำเร็จการศึกษาจำนวนมาก แต่ในทางตรงข้ามกันกลับยังมีโรงพยาบาลในชนบทที่ขาดแคลนบุคลากรอยู่จำนวนไม่น้อย ขณะเดียวกันก็มีเด็กสาวอีกหลายคนมีความใฝ่ฝันอยากทำหน้าที่เป็นนางฟ้าชุดขาวแต่ไม่มีโอกาส ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ร่วมกับโครงการทุนการศึกษา “จีเอสเค พยาบาลเพื่อชุมชน” จึงเกิดขึ้นเพื่อผลิตพยาบาลวิชาชีพให้ได้ดังฝันของใครหลายคน

นพ.ปภัสสร เจียมศรี ผู้อำนวยการสถาบันพระบรมราชชนก สำนักงานปลัด สธ. บอกว่า สถานการณ์ขาดแคลนพยาบาลที่ปฏิบัติงานในชุมชนท้องถิ่นห่างไกลทั่วประเทศไทยยังคงมีอยู่ แม้ว่าสถาบันฯ จะผลิตนักศึกษาพยาบาลเพิ่มขึ้นจำนวนมากในแต่ละปีเพราะความต้องการของระบบสาธารณสุขโดยรวม และการทดแทนอัตรากำลังพยาบาลยังมีสัดส่วนสูง ดังนั้น สถาบันพระบรมราชชนกจึงริเริ่มโครงการใหม่ๆ เกี่ยวกับการรับและคัดเลือกนักศึกษาพยาบาล โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการคัดเลือกเยาวชนเข้ามาศึกษาวิชาพยาบาลมากขึ้นกว่าแต่ก่อน และให้ท้องถิ่นได้เข้ามาช่วยดูแลภาระค่าใช้จ่ายในบางส่วนที่จำเป็น ซึ่งขณะนี้ทางสถาบันฯ กำลังวางกรอบและแนวทางในการดำเนินการอยู่ คาดว่าจะสามารถนำมาใช้รับนักศึกษาพยาบาลได้ในปีการศึกษา 2550

“โดยปกตินักศึกษาพยาบาลมักเลือกทำงานในตัวเมืองมากกว่าไปอยู่ในอำเภอหรือสถานีอนามัยที่ห่างไกล สธ.จึงหันมาใช้นโยบายส่งเสริมนักเรียนในพื้นที่ที่ขาดแคลนพยาบาลให้มีโอกาสเข้าศึกษาในวิทยาลัยพยาบาลมากขึ้นเพื่อกลับไปทำงานในชุมชนของตนเอง เพราะพยาบาลชุมชนควรเป็นผู้ที่มีความเข้าใจปัญหาพื้นฐานของชาวบ้านและชุมชน มีความรอบรู้หลายด้าน อีกทั้งต้องมีความคล่องตัวยืดหยุ่นในการทำงานสูง”

แรงบันดาลใจทำไมต้อง ‘พยาบาล’

‘แก้ม’ ธัชกร วรพัฒน์ นักศึกษาพยาบาลชั้นปีที่ 1 วิทยาลัยพยาบาลพระบรมราชชนก (วพบ.) จ.นครศรีธรรมราช เล่าว่า ความประทับใจในวัยเด็กทำให้เกิดความสนใจในอาชีพพยาบาลเพราะถูกช่วยชีวิตไว้จากอุบัติเหตุตอนเด็กๆ หลังจากหมดสติไป เมื่อลืมตาขึ้นมาก็พบหน้าพยาบาลเป็นคนแรก จึงเกิดความรู้สึกประทับใจ และกลายเป็นความใฝ่ฝันตั้งแต่เด็ก พอโตขึ้นมีโอกาสจึงเลือกเรียนด้านนี้ และด้วยความที่ในหมู่บ้านมีสถานีอนามัยชุมชน แต่ยังขาดพยาบาลที่จะมาปฏิบัติหน้าที่ จึงเห็นว่านี่เป็นอีกหนทางหนึ่งที่จะทำให้ความฝันเป็นจริงขึ้นมา เมื่อเรียนจบจะเข้ามาทำหน้าที่เป็นพยาบาลคนแรกของชุมชนซึ่งจะมีส่วนช่วยเหลือชาวบ้านได้

ชาวบ้านในชุมชนส่วนใหญ่ให้การยอมรับกับอาชีพพยาบาล ดังนั้น แก้มจึงเห็นว่าหากเธอได้เป็นพยาบาลแล้วจะเข้าไปช่วยสร้างแรงจูงใจให้ชาวบ้านหันมาดูแล และเอาใจใส่สุขภาพของตัวเองมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่เพราะสุขภาพของคนในชุมชนถือเป็นปัญหาที่พบเยอะมากโดยเฉพาะโรคปวดเมื่อยเพราะชาวบ้านประกอบอาชีพเกษตรกร การรักษายังมีพึ่งไสยศาสตร์อยู่ ซึ่งบางครั้งก็เป็นความเชื่อที่ผิดๆ ขณะเดียวกันในชุมชนจะมีอาสาสมัครประจำหมู่บ้าน(อสม.) เพื่อทำหน้าที่จัดกิจกรรมเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ เช่น กิจกรรมการเต้นแอโรบิก แต่ก็ยังไม่เพียงพอ

“คงจะยึดอาชีพพยาบาลไปตลอดชีวิต เพราะถือคติว่าชีวิตเขาจะดีได้ก็เพราะเรา เราต้องทำหน้าที่คอยดูแลเขาอย่างดีที่สุด สุขภาพคือพื้นฐานที่สำคัญของชีวิตคน ถ้าสุขภาพคนในประเทศย่ำแย่ก็พลอยส่งผลกระทบต่อบ้านเมือง เศรษฐกิจได้ ดังนั้นถ้าพยาบาลซึ่งมีส่วนสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมเรื่องนี้ได้ก็เต็มใจที่จะปฏิบัติหน้าที่ต่อไปโดยไม่รู้สึกรังเกียจหรือเบื่อหน่ายเลย”

‘เนตร’ ธเนตร ทะดวง นักศึกษาพยาบาล วพบ.พุทธชินราช เป็นหนึ่งในบรรดานักศึกษาพยาบาลชายเพียงไม่กี่คนที่เปิดใจว่า เลือกเรียนพยาบาลเพราะเกิดแรงบันดาลใจจากที่พ่อแม่ป่วยหนักเลยอยากเลือกเรียนในด้านที่สามารถนำวิชาความรู้มาช่วยรักษาได้ ซึ่งตอนแรกอยากเรียนแพทย์ แต่เกรงว่าคะแนนสอบเข้าจะไม่สูงพอจึงหันมาเรียนพยาบาลที่คิดว่าเป็นสาขาที่พอจะใกล้เคียงกันบ้าง เหตุผลที่สำคัญคืออาชีพนี้ทำแล้วได้บุญ แม้บางครั้งจะไม่ได้ค่าตอบแทนมากมายเหมือนอาชีพอื่น แต่เมื่อเรียนจบแล้วกลับมารับหน้าที่เป็นพยาบาลให้สถานีอนามัยของชุมชนเชื่อว่าจะต้องทำหน้าที่ได้มากกว่าการดูแลสุขภาพของคนในชุมชน เพราะยังมีผู้ป่วยหลายคนที่ยากจนไม่มีเงินไปรักษาที่โรงพยาบาล และอยากส่งเสริมการรณรงค์ไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดให้คนในชุมชนในขณะนี้

“ผู้ชายที่เรียนพยาบาล จบแล้วก็เรียกพยาบาลชาย ซึ่งก็ทำหน้าที่เหมือนพยาบาลผู้หญิงทุกอย่าง แม้ผมจะเป็นผู้ชายซึ่งคนทั่วไปอาจคิดว่าเป็นตุ๊ด เป็นกะเทยผมก็ไม่สนใจ เพราะยืนยันได้ว่าตัวเองเป็นผู้ชาย 100% ครับ และเชื่อมั่นว่าตัวเองทำหน้าที่นี้ได้ไม่แพ้ผู้หญิง โดยเฉพาะการกลับไปทำงานในท้องถิ่นของผมซึ่งยังมีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพอีกมาก”

‘ปู้’ จิตต์สุภัก เจ๊ะมะ นักศึกษาพยาบาล วพบ.จังหวัดยะลา เล่าถึงประสบการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า ยังคงอยู่ในสถานการณ์ที่น่ากลัวและคับขันมาก ส่งผลให้ จ.ปัตตานีที่เธออาศัยอยู่ขาดแคลนบุคลากรทั้งแพทย์และพยาบาลเพราะพากันย้ายออกไปมากทั้งคนนอกและคนในพื้นที่ ดังนั้นเธอจึงอยากเป็นพยาบาลเพื่อกลับไปช่วยเหลือชาวบ้าน ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นญาติ พี่น้อง และคนรู้จักกันทั้งนั้น หากถามว่ากลัวไหมกับสิ่งที่เกิดขึ้น เธอตอบได้อย่างมั่นใจว่าที่นั่นคือบ้าน เต็มใจอย่างยิ่งที่จะเริ่มต้นการทำงานที่บ้านเกิด

“ที่โรงพยาบาลจะมีคนไข้ที่บาดเจ็บจากการถูกสะเก็ดระเบิด ถูกยิง ค่อนข้างเยอะ ซึ่งตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงคนไข้ก็เพิ่มมากขึ้น ขณะที่หมอ พยาบาลกลับพากันย้ายออก ที่มีอยู่ก็มักจะเป็นบุคลากรที่เพิ่งจบใหม่ แล้วถูกส่งไปบรรจุที่ปัตตานี พอถึงกำหนดตามสัญญาก็ทำเรื่องย้ายไปที่อื่น ดังนั้น เรียนจบแล้วจึงอยากกลับมาทำงานใช้ทุนที่ปัตตานีเพราะเป็นสถานที่ที่อบอุ่นที่สุดแล้ว”

‘นางฟ้าชุดขาว’ ไม่ง่ายอย่างที่คิด

‘หล้า’ ณัฐวดี หลวงขวา พยาบาลทุน GSK รุ่นที่ 5 ซึ่งทำงานอยู่ที่โรงพยาบาลท่าสองยาง จ.ตาก เล่าว่าโรงพยาบาลแต่ละแห่งมีวิธีการทำงานต่างกัน หากอยู่ในตัวเมืองจะทำงานแบบตั้งรับ คือมีคนไข้เดินเข้ามารักษา ซึ่งต่างจากโรงพยาบาลตามชนบทต้องทำงานเชิงรุกเหมือนที่เธอทำอยู่ทุกวันนี้ คือการลงพื้นที่พบปะกับชาวบ้านที่ส่วนใหญ่อาศัยอยู่บนดอย เป็นการทำงานที่ค่อนข้างลำบากทั้งการเดินทางและการใช้ภาษา เพราะโรงพยาบาลอยู่ใกล้กับชายแดนไทย-พม่า จึงมีชาวพม่าและกะเหรี่ยงมารักษา หมอและพยาบาลต้องฝึกการใช้ภาษาด้วยเพื่อสื่อสารกับผู้ป่วย

แม้งานจะหนักหนาแต่หล้าก็บอกด้วยความแช่มชื่นว่า เส้นทางที่เธอเลือกเดินถูกต้องแล้ว การลงพื้นที่ไปตรวจสุขภาพชาวบ้านทำให้ได้ทำหน้าที่พยาบาลอย่างเต็มความสามารถ และพบว่ามีชาวบ้านอีกหลายครอบครัวขาดแคลนโอกาสที่จะได้รับการรักษาพยาบาล สุขอนามัยยังไม่ได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง และถึงจะเป็นพื้นที่ที่มีคนต่างถิ่นเข้ามาก็ไม่เกี่ยงว่าจะเป็นคนชาติไหน ถือคติว่าผู้ป่วยและสุขภาพต้องมาก่อนเสมอ

“เราอาจไม่ใช่นางฟ้าแต่เราทำให้เขาด้วยใจจริง เหมือนเขาเป็นญาติของเราคนหนึ่ง ในชีวิตการทำงานแม้จะเครียดบ้าง แต่เราต้องพยายามทำใจเย็น ไม่เครียดกับงานมากจะได้ไม่เผลอไปใช้อารมณ์กับคนไข้ ยึดคติว่าต้องเอาใจเขามาใส่ใจเราเสมอ”



กำลังโหลดความคิดเห็น