xs
xsm
sm
md
lg

23 ต.ค.บูชาเสด็จพ่อ ร.5 น้อมรำลึก 5 พระมหากรุณาธิคุณ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ในวันที่ ๒๓ ตุลาคม ของทุกปี ที่เรียกกันว่า “วันปิยมหาราช” ถือเป็นวันคล้ายวันสวรรคต ของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
รัชกาลที่ ๕ ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันอังคารที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ.๒๓๙๖ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงกระทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสองครั้ง คือ เมื่อเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ ณ วันพฤหัสบดีที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๑๑ ขณะมีพระชนมายุย่างเข้า ๑๖ พรรษา และครั้งที่ ๒ ในปีพุทธศักราช ๒๔๑๖ หลังจากทรงลาผนวชแล้ว เสด็จสวรรคตในวันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๕๓ สิริรวมพระชนมายุ ๕๗ พรรษา รวมเวลาที่อยู่ในสิริราชสมบัตินับได้ ๔๒ ปีเศษ

ตลอดระยะเวลาที่ทรงครองสิริราชสมบัติ พระองค์ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจต่างๆ มากมาย บ้านเมืองได้รับการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงและถือเป็นรากฐานสำคัญในการปกครองบ้านเมืองมาจนปัจจุบัน ด้วยพระปรีชาสามารถและพระวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลนี่เองจึงทรงนำพาประเทศให้ผ่านพ้นการเป็นอาณานิคมของต่างชาติไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองทัดเทียมกับนานาอารยประเทศอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

ดังนั้น เนื่องในวันปิยมหาราชที่ได้เวียนมาถึงในปีนี้ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ จึงขอเชิญชวนประชาชนชาวไทยน้อมรำลึกถึง ๕ พระราชกรณียกิจเด่นที่ล้วนเป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติและยังมีผลสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

๑. ด้านการรักษาความยุติธรรม
ในสมัยของพระองค์ได้มีการปฏิรูปเพื่อรักษาความยุติธรรมครั้งใหญ่ โดยทรงโปรดให้มีการชำระกฎหมายขึ้นใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายของนานาอารยประเทศ ทรงจัดตั้งกระทรวงยุติธรรม ตั้งโรงเรียนกฎหมาย และที่สำคัญที่สุดคือการเลิกทาส
การตั้งกระทรวงยุติธรรมครั้งนี้ก็เพื่อรวบรวมศาลทั้งหลายซึ่งแต่เดิมแยกย้ายกระจายอยู่ตามกระทรวงต่างๆ มาไว้ในสังกัดเดียวกัน โดยมีหน้าที่ด้านการศาลยุติธรรมโดยเฉพาะ เป็นการแยกอำนาจตุลาการออกจากอำนาจบริหารเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การปกครองไทย

สำหรับการปรับปรุงแก้ไขธรรมเนียมศาลยุติธรรมทรงปรับเปลี่ยนทั้งศาลในกรุง ศาลหัวเมือง และการแบ่งชั้นของศาล กล่าวคือ

ศาลในกรุง : โปรดให้ตั้ง ศาลโปรีสภา เมื่อพ.ศ.๒๔๓๕ ทำหน้าที่ตัดสินคดีความที่มีโทษสถานเบาของราษฎรในท้องที่ ต่อมากลายเป็นศาลแขวง นั่นเอง

ศาลหัวเมือง : ได้รับการปรับปรุงแก้ไขจากกองข้าหลวงพิเศษซึ่งส่งไปจากกรุงเทพฯ เพื่อให้การพิจารณาคดีเป็นไปอย่างรวดเร็วยุติธรรมเที่ยงตรง เป็นการรวมศาลตามหัวเมืองให้มาอยู่ในสังกัดเดียวกัน และเพื่อให้ระเบียบต่างๆของศาลยุติธรรมเป็นไปในแนวทางเดียวกันทั่วพระราชอาณาจักร
การแบ่งชั้นศาล : พระธรรมนูญศาลได้กำหนดให้แบ่งเป็นเป็น ๓ แผนก คือ ศาลหัวเมือง ศาลสถิตยุติธรรมกรุงเทพฯ และศาลฎีกา ซึ่งต่อมานำไปสู่การแบ่งศาลออกเป็น ๓ ชั้น (ชั้นต้น อุทธรณ์ ฎีกา) ในปัจจุบัน

นอกจากนี้ยังทรงชำระและสร้างประมวลกฎหมายให้ทันสมัยทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ โดยให้มีการแก้ไขสนธิสัญญายกเลิกอำนาจศาลกงสุล ด้วยการว่าจ้างชาวต่างชาติที่เชี่ยวชาญกฎหมายเข้ามารับราชการเป็นที่ปรึกษา เช่น ดร.โรแลง ยัคแมงส์ (เจ้าพระยาอภัยราชาสยามานุกูลกิจ) อดีตเสนาบดีชาวเบลเยี่ยม หมอโตกีจิ มาเซา (พระยามหิธรมนูปกรณ์โกศลคุณ) เนติบัณฑิตชาวญี่ปุ่น เป็นต้น
โปรดให้ตั้งกองร่างกฎหมาย เมื่อพ.ศ.๒๔๔๐ สำหรับตรวจสอบชำระและจัดสร้างกฎหมายต่างๆขึ้นเพื่อให้เกิดความทันสมัย ต่อมาโปรดให้ตั้งกรรมการอีกชุดหนึ่งทำหน้าที่ชำระกฎหมายส่วนแพ่งและส่วนอาญา เพื่อทำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ฯลฯ ที่สำคัญพระธรรมนูญศาลยุติธรรมได้มีการตั้งโรงเรียนกฎหมายขึ้นเป็นแห่งแรกในพ.ศ.๒๔๔๐ ต่อมาในปีพ.ศ.๒๔๔๑ โปรดให้ตราพระราชบัญญัติเลิกวิธีพิจารณาโจรผู้ร้ายตามจารีตนครบาลเป็นผลให้การลงโทษแบบทารุณป่าเถื่อนต่างๆ เช่น เฆี่ยนหลัง ตอกเล็บ บีบขมับ การพิสูจน์คดีด้วยวิธีดำน้ำ ลุยเพลิง ถูกยกเลิกไปโดยสิ้นเชิง

๒. ด้านเศรษฐกิจ
พ.ศ.๒๔๑๖ โปรดให้ตั้ง หอรัษฎากรพิพัฒน์ เพื่อเก็บรวบรวมรายได้ของแผ่นดินให้อยู่รวมกัน มีการออกพระราชบัญญัติวางหลักเกณฑ์การเก็บภาษีอากรตามแบบสากล เป็นผลให้ทางราชการเก็บภาษีได้อย่างเป็นธรรมและครบถ้วน ภายหลักยกฐานะขึ้นเป็นกระทรวงการคลัง

พ.ศ.๒๔๔๒ ได้มีการก่อตั้งธนาคารของไทยเป็นครั้งแรกเรียกว่า บุคคลัภย์ (Book Club) เป็นการทดลอง ต่อมาขยายกิจการเป็นรูปธนาคารอย่างแท้จริง ในพ.ศ.๒๔๔๙ ชื่อว่า บริษัท แบงก์สยามกัมมาจลทุน จำกัด ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด ในพ.ศ.๒๔๘๒

พ.ศ.๒๔๔๕ โปรดให้ตราพระราชบัญญัติธนบัตร ร.ศ.๑๒๑ และตั้งกรมธนบัตรขึ้น เริ่มใช้ธนบัตรแทนเงิน นอกจากนี้ยังโปรดให้กำหนดหน่วยเงินตราโดยใช้แบบทศนิยมเรียกว่า สตางค์ กำหนดให้ ๑๐๐ สตางค์เท่ากับ ๑ บาท

พ.ศ.๒๔๕๑ โปรดให้ใช้เหรียญสตางค์อย่างใหม่แทนเงินพดด้วยเหรียญเฟื้องซีก เสี้ยว อัฐ และโสฬส นับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ของหน่วยมาตราเงินไทย ทำให้สะดวกในการคิดเงินและทำบัญชีเป็นอันมาก เป็นผลดีแก่วงการธุรกิจการเงินของเรามาจนทุกวันนี้

พ.ศ.๒๔๕๑ โปรดให้เปลี่ยนมาใช้ทองคำเป็นมาตรฐานเงินตราแทนแร่เงินที่เคยใช้มาก่อน เพื่อรักษาอัตราการแลกเปลี่ยนเงินตราไทยกับต่างประเทศให้มีเสถียรภาพมั่นคงเข้าสู่มาตรฐานสากล

๓.ด้านการศึกษา
ทรงวางรากฐานการศึกษาของชาติโปรดให้มีการปฏิรูปครั้งใหญ่ ในปีพ.ศ.๒๔๑๔ โปรดให้ตั้งโรงเรียนหลวง (โรงเรียนราชกุมาร) ขึ้นในพระบรมมหาราชวัง สอนหนังสือไทย คิดเลข และขนบธรรมเนียมราชการให้กับพระราชวงศ์ ต่อมาพ.ศ.๒๔๑๕ โปรดให้ตั้งโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษขึ้นในพระบรมมหาราชวัง เพื่อให้มีความรู้สูงขึ้น ในปีพ.ศ.๒๔๒๔ โปรดให้จัดตั้งโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบขึ้น เพื่อให้การศึกษาแก่บุตรหลานข้าราชการและมหาดเล็กหลวง

สำหรับประชาชนโปรดให้จัดตั้งโรงเรียนขึ้นที่วัด โดยเริ่มที่โรงเรียนวัดมหรรณพาราม เป็นโรงเรียนหลวงแห่งแรก จากนั้นได้ขยายไปทั่วราชอาณาจักร อยู่ในความควบคุมดูแลของกรมศึกษาธิการ ซึ่งก็คือ กระทรวงศึกษาธิการในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังโปรดให้จัดตั้ง โรงเรียนฝึกหัดอาจารย์ โรงเรียนสำหรับสตรี เพื่อเปิดโอกาสให้สตรีได้เข้ารับการศึกษาเช่นเดียวกับผู้ชาย เช่น โรงเรียนเสาวภา โรงเรียนราชินีบูรณะ เป็นต้น

อีกทั้งยังโปรดเกล้าฯให้มีการศึกษาในระดับอุดมศึกษา โดยจัดตั้งโรงเรียนวิชาชีพชั้นสูงขึ้นหลายสาขา ได้แก่ โรงเรียนมหาดเล็ก โรงเรียนแพทย์ โรงเรียนกฎหมาย โรงเรียนฝึกหัดครูชาย โรงเรียนไปรษณีย์ โรงเรียนเกษตร โรงเรียนนายร้อย โรงเรียนนายเรือ ฯลฯ ซึ่งแต่ละแห่งก็ได้วิวัฒนาการต่อมาจนกลายเป็นสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาในปัจจุบัน

นอกจากนี้ ในพ.ศ.๒๔๔๐ โปรดให้มีการสอบชิงทุนเล่าเรียนหลวง สำหรับส่งนักเรียนทั่วไปออกไปศึกษาในยุโรปและอเมริกาเพื่อนำความรู้กลับมาช่วยพัฒนาชาติบ้านเมืองต่อไป

๔. ด้านสาธารณูปโภค
การไฟฟ้า เริ่มมีการจ่ายกระแสไฟฟ้าให้แก่ประชาชนในปีพ.ศ. ๒๔๓๓ โดยมีจหมื่นไวยวรนาถ เป็นผู้ดำเนินการ ครั้นต่อมาในปีพ.ศ. ๒๔๔๐ ได้โอนกิจการให้บริษัทอเมริกัน ชื่อ แบงค้อค อีเลคตริคซิตี้ ซินดิเคท ต่อมาบริษัท เดนมาร์ค ได้มาจัดตั้งโรงงานผลิตพลังไฟฟ้า เพื่อใช้สำหรับการเดินรถราง ในปีพ.ศ.๒๔๓๗ โดยได้รับสัมปทานการเดินรถในพระนคร เมื่อเดือนพฤษภาคม จากนั้นการไฟฟ้าก็ได้พัฒนาเจริญเติบโตมาเป็นลำดับจนเป็นการไฟฟ้าฝ่ายผลิต การไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคในปัจจุบัน

การประปา เริ่มดำเนินการตั้งแต่พ.ศ.๒๔๕๒ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีการเก็บน้ำที่คลองเชียงราก ปทุมธานี และขุดคลองประปา สำหรับส่งน้ำเข้ามาถึงคลองสามเสน พร้อมกับทำการฝังท่อขนาดใหญ่และติดตั้งอุปกรณ์ประกอบเป็นการประปาขึ้น แล้วส่งไปยังบ้านเรือนของราษฎรเพื่อให้มีน้ำสะอาดไว้ใช้ และเป็นการป้องกันโรคระบาดทางน้ำ แต่ทำการยังไม่แล้วเสร็จก็สิ้นรัชกาลเสียก่อน จนมาเริ่มเปิดใช้ได้ในปีพ.ศ.๒๔๕๗ ในรัชกาลที่ ๖ และปัจจุบันได้พัฒนาเป็นการประปานครหลวง และการประปาส่วนภูมิภาค

๕. ด้านคมนาคมขนส่งและการสื่อสาร
ไปรษณีย์ – โทรเลข ในปีพุทธศักราช ๒๔๑๒ โปรดเกล้าฯ ให้ชาวอังกฤษสองนาย ดำเนินงานด้านโทรเลข แต่ก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จ ทางกระทรวงกลาโหมจึงรับมาดำเนินการเอง และในปีพ.ศ. ๒๔๑๘ โทรเลขสายแรก ระหว่างกรุงเทพฯ ถึงสมุทรปราการ ระยะทาง ๔๕ กิโลเมตร จึงแล้วเสร็จลงและได้วางสายใต้น้ำไปจนถึงประภาคารปากน้ำเจ้าพระยา สำหรับโทรเลขสายที่สองเริ่มจากกรุงเทพฯ ถึงบางปะอิน แล้วเสร็จในปีพ.ศ. ๒๔๒๑

พ.ศ.๒๔๒๖ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกรมไปรษณีย์ขึ้น และได้เข้าเป็นภาคีสหภาพสากลไปรษณีย์ ในปีพ.ศ. ๒๔๒๘ ทำให้การไปรษณีย์โทรเลขของไทยเจริญก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว

ครั้งถึงพ.ศ. ๒๔๔๑ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้รวมกรมไปรษณีย์และกรมโทรเลขเข้าด้วยกัน เรียกว่า กรมไปรษณีย์โทรเลข ปัจจุบันกรมนี้สังกัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยมีหน้าที่และความรับผิดชอบที่เปลี่ยนแปลงไปอันสืบเนื่องจากรัฐธรรมนูญ และพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.๒๕๔๓

โทรศัพท์ เริ่มตั้งแต่พ.ศ. ๒๔๒๔ กรมกลาโหม นำมาทดลองใช้ โดยติดตั้งจากกรุงเทพฯ ถึงสมุทรปราการเป็นครั้งแรกเพื่อแจ้งข่าวเรือเข้าออกที่ปากน้ำ ต่อมาในปีพ.ศ. ๒๔๒๙ ได้โอนงานนี้ให้กับกรมโทรเลขมาดำเนินการ และได้ทำการจัดตั้งโทรศัพท์กลางขึ้นในเขตพระนคร เปิดให้ประชาชนได้ใช้โทรศัพท์ติดต่อสื่อสารกันได้โดยสะดวก ภายหลัง สถาปนาเป็นองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย และต่อมาในวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๗ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระบรมราชโองการให้ตราพระราชบัญญัติจัดตั้ง องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย เป็นรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงคมนาคม โดยแยกจากกองช่างโทรศัพท์ กรมไปรษณีย์โทรเลข ให้บริการโทรศัพท์ ในเขตนครหลวง และเมื่อวันที่ ๓๑ ก.ค. ๒๕๔๕ ก็ได้แปลงสภาพเป็น บริษัท ทศท คอร์ปอเรชั่น จำกัด มหาชน (TOT Corporation Public Company Limited) จนถึงปัจจุบัน

การรถไฟ ทรงเสด็จฯไปเปิดรถไฟสายเมืองสมุทรปราการเมื่อวันที่ ๑๑ เมษายน พ.ศ.๒๔๓๖ ซึ่งเป็นการเปิดรถไฟสายแรกแห่งประวัติการรถไฟของประเทศไทย พร้อมกันนี้ทรงได้ขยายการก่อสร้างเส้นทางรถไฟไปทั่วประเทศทั้งสายเหนือ สายตะวันออกเฉียงเหนือ สายใต้ และสายตะวันออก ด้วยทรงตระหนักถึงคุณประโยชน์ของทางรถไฟที่จะอำนวยความสะดวกสบายในการเดินทางให้แก่ประชาชน อีกทั้งยังเพื่อประโยชน์ในการค้าขาย อันจะนำผลประโยชน์รายได้ และความเจริญรุ่งเรืองมาสู่แผ่นดินยิ่งขึ้น

ในช่วงระยะเวลากว่า ๑๓๐ ปีที่ผ่านมากิจการต่างๆที่พระองค์ทรงริเริ่มและพระราชทานเพื่อปวงชนชาวไทยได้เจริญก้าวหน้ามาโดยลำดับและนำความเจริญมาสู่ประเทศอย่างใหญ่หลวง แม้ในปัจจุบันบางกิจการจะมีการเปลี่ยนแปลงหน้าที่ความรับผิดชอบ หรือแปลงสภาพกิจการไปแล้วก็ตาม ด้วยคุณูปการที่พระองค์ทำเพื่อประเทศชาติเหล่านี้นี่เอง ที่ทำให้ประชาชนชาวไทยต่างน้อมรำลึกถึงและพร้อมใจถวายพระสมัญญาแด่พระองค์ท่านว่า “พระปิยมหาราช” อันหมายถึง พระผู้เป็นที่รักยิ่งแห่งปวงชนชาวไทย ซึ่งพระนามนี้ยังสถิตอยู่ในดวงใจทุกดวงของประชาชนตลอดมา

........................................

เยาวนิศ เต็งไตรรัตน์
สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม
กำลังโหลดความคิดเห็น