xs
xsm
sm
md
lg

หลวงพ่ออุตตมะมรณภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หลวงพ่ออุตตมะ เกจิอาจารย์ชื่อดัง เจ้าอาวาสวัดวังก์วิเวการาม อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี มรณภาพแล้วที่โรงพยาบาลศิริราช เมื่อช่วงเช้าวันนี้ สิริรวมอายุได้ 97 ปี
          
ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช เปิดเผยว่า พระราชอุดมมงคลพหลนราทร หรือหลวงพ่ออุตตมะ เจ้าอาวาสวัดวังก์วิเวการาม ตำบลหนองลู อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี เกจิชื่อดังแห่งภาคตะวันตก มรณภาพเมื่อเวลา 07.22 น. วันนี้ (18 ต.ค.) ที่โรงพยาบาลศิริราช จากการติดเชื้อในกระแสโลหิตจากภาวะปอดอักเสบ สิริอายุได้ 97 ปี


ทั้งนี้ หลวงพ่ออุตตมะเข้ารับการรักษาตัวใน รพ.ศิริราช ตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน 2547 เวลา 11.44 น. โดยเป็นคนไข้ในพระบรมราชินูปถัมภ์สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ตลอดมาจนกระทั่งมรณภาพ ในวันเดียวกันนี้ ศิษยานุศิษย์จะเคลื่อนศพหลวงพ่ออุตตมะ ไปบำเพ็ญกุศล ณ วัดวังก์วิเวการาม อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี ต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศที่ รพ.ศิริราช ว่ามีศิษยานุศิษย์เฝ้ารอเพื่อกราบไหว้ร่างของหลวงพ่ออุตตมะ จำนวนมาก ขณะที่ร่างหลวงพ่อยังอยู่ในห้องไอซียู เนื่องจากต้องรอการประสานที่จะประกอบพิธีพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ ก่อนจะเคลื่อนกลับไปยังวัดวังก์วิเวการาม ตามเจตนารมณ์ของหลวงพ่ออุตตมะ

ด้านม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล เลขาธิการมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในฐานะศิษยานุศิษย์ใกล้ชิด เปิดเผยว่าตนและคณะได้เคลื่อนศพหลวงพ่ออุตตมะจากโรงพยาบาลศิริราชถึงวัดวังก์วิเวการาม อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี ในเวลาประมาณ 16.39 น. โดยเบื้องต้นพิธีสวดพระอภิธรรมนั้น สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับศพหลวงพ่ออุตตมะไว้ในพระราชานุเคราะห์เป็นเวลา 7 วัน ซึ่งในวันที่ 19 ตุลาคมนี้ จะมีพิธีน้ำหลวงอาบศพและมีการสวดพระอภิธรรมเป็นคืนแรก
 
ขณะที่นายสมเกียรติ ธงศรี ผู้อำนวยการสำนักพุทธศาสนาจังหวัดกาญจนบุรี เปิดเผยว่า จังหวัดกาญจนบุรีได้กำหนดพีธีพระราชทานน้ำสรงศพ พระราชอุดมมงคล หรือหลวงพ่ออุตตมะ ในวันที่ 19 ตุลาคม 2549 ณ ศาลาการเปรียญวัดวังก์วิเวการาม ต.หนองลู อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี โดยมีนายเชิดวิทย์ ฤทธิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี เป็นประธานพิธีวางพวงมาลาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศ์ศานุวงศ์ จึงขอเชิญศิษยานุศิษย์ ร่วมพีธีพระราชทานน้ำสรงศพพระราชอุดมมงคล(หลวงพ่ออุตตมะ) ตามวัน เวลา สถานที่ ดังกล่าว

         
สำหรับประวัติของหลวงพ่ออุตตมะนั้น หลวงพ่อเกิดเมื่อที่เมืองมุกกะเหนี่ยง ในสาธารณรัฐสังคมนิยมแห่งสหภาพพม่า ได้บรรพชาเป็นสามเณรและศึกษาทางพุทธศาสนาที่วัดมุกกะเหนียงจนจบหลักสูตร และได้เดินทางไปศึกษาต่อยังเมืองร่างกุ้ง สอบได้เปรียญธรรมชั้นเอก (ป.ธ.7) และเป็นเจ้าอาวาสวัดวังก์วิเวกการาม อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี 
         
ส่วนประวัติโดยย่อนั้น เมื่ออายุได้ 20 ปีบริบูรณ์ หลวงพ่ออุตตมะได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุศึกษาในสำนักศาสนศึกษาในเมืองย่างกุ้ง สอบได้ชั้นสูงสุดซึ่งเรียกว่าชั้น “ปาร์คู” แต่ยังไม่ทันประกาศผลก็เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ต้องอพยพหนีสงคราม ในระหว่างสงคราม พระอาจารย์จันทิมาซึ่งเป็นอุปัชฌาย์ของท่าน และเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในทางกฤตยาคมเป็นที่เลื่องลือได้ถ่ายทอดวิชาความรู้ให้ท่านจนจบสิ้น เมื่อสงครามโลกยุติ ท่านก็ได้เดินธุดงค์ไปมาระหว่างประเทศไทยกับเมืองเย ผ่านเทือกเขาตะนาวศรี ซึ่งแสนจะทุรกันดาร จนถูกกองโจรขบวนการกู้ชาติจับ แต่ท่านก็สามารถใช้วิชาความรู้รอดชีวิตมาได้ 
         
หลวงพ่ออุตตมะคุ้นเคยกับภูมิประเทศไทยเพราะเคยจำพรรษาอยู่ตามวัดต่างๆ ในท้องที่อำเภอ โพธาราม อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี และสมุทรปราการ ครั้นเมื่อ พ.ศ. 2500 ท่านได้ลงมือสร้างวัดขึ้นที่ฝั่งตะวันตกของลำน้ำแควน้อย ชื่อวัด “วังก์วิเวการาม” เพื่อจะได้เป็นที่พึ่งของชาวไทยและชาวมอญในถิ่นทุรกันดาร จนเป็นที่รู้จักกันดีทั่วไป โดยมีประชาชนทั้งชาวไทยชาวมอญในประเทศและจากนอกประเทศ เข้ามาร่วมทำบุญมีงานรื่นเริงเป็นประจำทุกปี 
         
ต่อมามีการสร้างเขื่อนเขาแหลมบริเวณวัดน้ำจะท่วมทั้งหมด จึงได้ย้ายวัดขึ้นไปอยู่บนเขาโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตเป็นผู้จัดสร้าง ขณะนี้ดำเนินการก่อสร้างเกือบจะเสร็จสิ้นแล้วเหลืออยู่แต่เจดีย์ทรงสี่เหลี่ยมแบบพุทธคยาที่บริเณวัดที่เป็นสิ่งก่อสร้างที่สวยงามงดงามแห่งหนึ่ง ปัจจุบันนี้ท่านหลวงพ่อได้รับนิมนต์จากประชาชนทั่วทั้งประเทศ เพื่อไปประกอบพิธีพุทธาภิเษกทั้งในงานวัดและงานมงคลต่างๆ อยู่เสมอ มีประชาชนเลื่อมใสศรัทธามากทั้งชาวไทย และชาวมอญรวมทั้งพม่า 
         
หลวงพ่ออุตตมะ เป็นชื่อหรือฉายาในพระบวรพระพุทธศาสนาของท่าน คือ อุตตมะ หรืออุตตโม เราทั้งหลายจึงมักนิยมเรียกนามท่านตามฉายาสงฆ์ดังที่กล่าวมานี้

หลวงพ่ออุตตมะ เป็นพระภิกษุสงฆ์ที่ชอบเดินธุดงค์อยู่ป่าดงมากกว่าอยู่วัดวาอาวาส ท่านถือแนวทางการประพฤติปฏิบัติพระกรรมฐานเยี่ยงพระอริยเจ้าทั้งหลายที่เคยได้กระทำมาแล้ว พร้อมกับเป็นขวัญใจของชาวไทย และชาวรามัญองค์หนึ่งในยุคนี้


 







กำลังโหลดความคิดเห็น