xs
xsm
sm
md
lg

ปลิงทะเลไม่ได้กินทรายเป็นอาหาร …คำตอบจาก นร. GLOBE ร.ร.บ้านเกาะมุกด์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ส่วนประชาสัมพันธ์ สสวท.
(สินีนาฎ ทาบึงกาฬ/รายงาน)


ครั้งหนึ่งก่อนหน้านี้.. ..ชาวประมงที่เกาะมุกด์ จ. ตรังเชื่อว่า ปลิงทะเลกินทรายเป็นอาหาร แต่ผลจากการศึกษาค้นคว้าของนักเรียนโรงเรียนบ้านเกาะมุกด์ได้ปฏิเสธความเชื่อนั้นด้วยกระบวนการและวิธีคิดอย่างเป็นวิทยาศาสตร์

สืบเนื่องจากโครงการ GLOBE (Global Learning and Observations to Benefit the Environment) ของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ได้จัดการประชุมวิชาการนานาชาติเกี่ยวกับทรัพยากรชายฝั่งทะเล “The Exploration of Marine Coastal Resources Symposium” ณ จังหวัดภูเก็ต เมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ในงานนี้ชาวมีนักเรียนจากเกาะมุกด์ จังหวัดตรัง ได้แก่ นายภาสุ กูมุดา และนายนพรัตน์ ช่วยจันทร์ ชั้น ม.2 โรงเรียนบ้านเกาะมุกด์ ซึ่งเป็นโรงเรียนในพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามัน ได้มานำเสนองานวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมด้วย โดยมีคุณครูชัย แก้วหนัน เป็นที่ปรึกษา

พวกเขาเล่าว่าวันหนึ่งเด็ก ๆ กลุ่มนี้ได้ออกหาปลากับชาวประมง และจับปลิงทะเลมาได้ 1 ตัว ซึ่งรู้สึกว่าน่าสนใจมาก ก็เลยได้สังเกตดู พบว่า ปลิงทะเลนั้นเหมือนไส้เดือนตัวอ้วน ๆ มีผิวหนังหนาและขรุขระ มันตัวหดลงเวลาที่ถูกสัมผัสด้วย

ชาวประมงบอกพวกเด็ก ๆ ว่าเขาพบมันในซอกหินที่มีความลึกประมาณ 1.5 เมตร มันอาศัยอยู่ในที่มืด ๆ ใช้ซอกหินเพื่อกำบังแสงสว่าง แต่ปลิงทะเลนั้นได้ราคาดี โดยเฉพาะปลิงส้ม (Orange Sea Cucumber) เพราะหลายคนเชื่อว่าเป็นยาบำรุงกำลัง

ปลิงทะเลที่ชาวบ้านหาได้นั้นจะอยู่ทางตอนเหนือ ตะวันตก และตอนใต้ของเกาะมุกด์ แต่ปัจจุบันกลับลดจำนวนลงเรื่อย ๆ พวกเด็ก ๆ สันนิษฐานว่าอาจจะเกิดจากการที่พวกมันกลายเป็นสัตว์เศรษฐกิจและถูกจับไปขายมากเกินไป หรืออาจจะเป็นผลกระทบมาจากเหตุการณ์สึนามิ และก็แปลกใจสงสัยว่าสึนามิทำให้ปลิงทะเลลดจำนวนลงได้อย่างไร

นพรัตน์ ช่วยจันทร์ เล่าว่า “ผมพบว่าการที่จะจับปลิงทะเลแต่ละตัวได้นั้นมันยากมาก และสงสัยว่า ถ้าสัตว์ชนิดนี้ขายได้ราคาดีทำไมถึงไม่ลองเพาะเลี้ยงมันให้ได้ จึงได้ลองจับปลิงทะเล ใส่ขวดโหลแล้วใส่น้ำทะเลลงไป แต่ไม่ได้ให้อาหารอะไรเลย เพราะยังไม่ทราบว่าปลิงทะเลกินอะไรเป็นอาหาร ชาวประมงบอกว่าปลิงทะเลกินทราย แต่ก็ไม่เชื่อครับ หลังจากนั้น 2 วัน มันก็ตาย จึงเกิดคำถามตามมาว่า ทำไมมันถึงตาย มันกินอะไรเป็นอาหาร และมันต้องการอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ประกอบด้วยอะไรบ้าง”

ต่อไปจึงเกิดกระบวนการค้นหาคำตอบ โดยคุณครูแนะให้ค้นคว้าทางอินเทอร์เน็ตและหนังสือต่าง ๆ ในอินเทอร์เน็ตได้ให้คำตอบว่า ปลิงทะเลไม่ได้กินทรายเป็นอาหารหรอก แต่กินวัตถุอินทรีย์หรือสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในทรายต่างหาก โดยทรายนั้นมีส่วนสำคัญในการย่อยสลายหรือบดวัตถุอินทรีย์เหล่านั้น ให้มีขนาดเล็กลงพอเหมาะแก่การกินเท่านั้น

ส่วนในด้านสภาพแวดล้อมนั้นจากการศึกษาในอินเทอร์เน็ตพบว่าปลิงทะเลอาศัยอยู่ในทะเลลึกและในน้ำตื้นด้วย โดยมักจะอาศัยอยู่ในทราย ปะการังและหญ้าทะเล ส่วนข้อสงสัยเกี่ยวกับอุณหภูมิและความเค็มของน้ำทะเลที่เหมาะสมนั้น พวกเขาก็ยังคงค้นหาต่อไป

พวกเขาได้คำตอบว่าว่ามันยากที่จะจำลองสภาพแวดล้อมให้เหมือนกับธรรมชาติให้เหมาะสมกับปลิงทะเลได้ เพราะเป็นสิ่งที่ซับซ้อนควบคุมยาก แต่สิ่งที่พวกเขาได้เรียนรู้เกี่ยวกับการศึกษาครั้งนี้ก็คือพวกเขาได้เรียนรู้และเข้าใจปลิงทะเลมากยิ่งขึ้นทั้งจากชาวประมง จากการสังเกต และจากอินเทอร์เน็ต

และการศึกษาครั้งนี้ได้จุดประกายความสนใจในการศึกษาเกี่ยวกับทรัพยากรชายฝั่งทะเลให้แก่เด็กทั้งสองมากขึ้น “ผมตั้งใจจะเรียนรู้ศึกษาวิจัยต่อยอดเกี่ยวกับทรัพยากรชายฝั่งทะเลเพิ่มมากขึ้นไปเรื่อย ๆ ในทุกระดับชั้นการศึกษาทั้งในระดับมัธยมศึกษาและระดับอุดมศึกษาครับ” นายภาสุ กูมุดากล่าว

ทั้งนี้ ความตั้งใจในการศึกษาค้นคว้าของเด็ก ๆ ทั้งสองมีความสอดคล้องกับหลักการของโครงการ GLOBE ที่มุ่งเน้นให้ครู นักเรียนและนักวิทยาศาสตร์ร่วมทำการวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อหาความสัมพันธ์และแนวโน้มของความสัมพัน์ของข้อมูลในลักษณะของโลกทั้งระบบ เพื่อที่จะเข้าใจความสัมพันธ์ของระบบนิเวศและสภาพสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นของตนและโลกได้ดีขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การศึกษาค้นคว้าวิจัยที่กว้างและลึกพอที่จะสามารถช่วยแก้ปัญหาและอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นของตนได้อย่างถูกต้อง แท้จริงและยั่งยืน

หมายเหตุ-ปลิงทะเลพบได้ตั้งแต่ชายหาดไปจนถึงก้นทะเล ชนิดที่รู้จักดีคือปลิงดำตามพื้นทรายที่ตื้น หากบังเอิญไปถูกตัวปลิงทะเลจะพ่นสารสีขาวเหนียวออกมา สารพวกนี้หากเข้าตาอาจบอดได้ ปัจจุบันปลิงทะเลในเมืองไทยกำลังจะสูญพันธุ์ เพราะถูกจับไปต้มแล้วตากแห้งก่อนส่งขาย
กำลังโหลดความคิดเห็น