“ซีอุย แซ่อึ้ง” มนุษย์กินคนถูกสตัฟฟ์ยืนไม่ไหวติงในตู้กระจกใส ถัดไปไม่ไกลเป็นศพของนักโทษประหารคดีข่มขืนแล้วฆ่า มัมมี่ตายไม่เน่า เยื้องกันเป็นเสื้อผ้าเปื้อนเลือดคดีฆาตกรรมพยาบาลสาว “นวลฉวี” รวมถึงชิ้นส่วนร่างกายมนุษย์ทั้งแขน ขา ศีรษะ ศพทารกแฝดที่เสียชีวิตในครรภ์ ทารกแคระ-ทารกดักแด้ที่ดองไว้ในโหลแก้วฯลฯ
เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งแสดงใน “พิพิธภัณฑ์การแพทย์ศิริราช” ที่นำร่างกายตลอดรวมถึงอวัยวะจริงของมนุษย์ซึ่งเปรียบเสมือน “อาจารย์ใหญ่” มาจัดแสดง และด้วยความที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ให้ทั้งความรู้ทางการแพทย์และอุทาหรณ์สอนใจ จึงกลายเป็นเสน่ห์ดึงดูดใจที่สำคัญและทำให้ในแต่ละวันมีประชาชนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติแห่มาเข้าชม 300- 400 คนเลยทีเดียว
“หากเป็นเมื่อ 10 ปี ก่อนมาเดินดูพิพิธภัณฑ์ที่รายล้อมไปด้วยศพ ชิ้นส่วนร่างกายมนุษย์มากมายคงชวนให้คนที่มาดูรู้สึกกลัว สยดสยอง ไฟมืดไปนิด ตึกเก่าไปหน่อย ทั้งๆ ที่จริงแล้วไม่น่ากลัวเลย ที่เขากลัวอาจเป็นเพราะไม่เคยเห็นชิ้นส่วนต่างๆ ของคนมากกว่า แต่นี่ก็เป็นเสน่ห์ของพิพิธภัณฑ์อย่างหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ตอนนี้พิพิธภัณฑ์กำลังปรับปรุงใหม่ทำเท่าที่จะทำได้ เช่น ทำให้ไฟสว่างขึ้น ปรับระบบการจัดแสดงให้น่าเข้าชมมากขึ้น ”รศ.พญ.ตุ้มทิพย์ แสงรุจิ หนึ่งในคณะกรรมการอำนวยการเพื่อพัฒนาพื้นที่สถานีรถไฟธนบุรี ซึ่งดูแลงานด้านพิพิธภัณฑ์การแพทย์ศิริราชชี้ชวนให้เห็นภาพ
สำหรับที่มาของสิ่งแสดงที่มีมากกว่า 10,000 ชิ้นนั้น รศ.พญ.ตุ้มทิพย์บอกว่า แพทย์แต่ละภาควิชาได้ทำการเก็บชิ้นส่วนอวัยวะของมนุษย์มาเป็นเวลานานมากเพื่อนำมาจัดการเรียนการสอนให้แก่นักศึกษาแพทย์ โดยแต่ละภาควิชาก็มีการจัดแสดงเป็นของตนเอง
จากนั้นได้เปิดให้ประชาชนเข้าชมเมื่อคราวฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี โดยมีพิพิธภัณฑ์ให้เลือกชมถึง 6 แห่ง คือ พิพิธภัณฑ์พยาธิวิทยาเอลลิส พิพิธภัณฑ์นิติเวชศาสตร์สงกรานต์ นิยมเสน พิพิธภัณฑ์ประวัติการแพทย์ไทยอวย เกตุสิงห์ พิพิธภัณฑ์ปรสิตวิทยา พิพิธภัณฑ์กายวิภาคศาสตร์คองดอน และพิพิธภัณฑ์ ก่อนประวัติศาสตร์และห้องปฏิบัติการ สุด แสงวิเชียร
ทั้งนี้ พิพิธภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงขณะนั้นเป็นพิพิธภัณฑ์นิติเวชศาสตร์ ซึ่งจัดแสดงคดีนวลฉวีและซีอุย
อย่างไรก็ตาม หลังจากที่แต่ละภาควิชารับหน้าที่เป็นผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์เองมาระยะหนึ่ง ก็ได้มีการตั้งหน่วยงานกลางที่ดูแลพิพิธภัณฑ์เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปในรูปแบบเดียวกัน
“เมื่อก่อนเรามีของอะไรก็วางแบบนั้น ใส่เนื้อหารายละเอียดทางการแพทย์ซึ่งอาจเข้าใจได้ยากสำหรับประชาชนทั่วไป เราจึงมีการปรับปรุงการจัดแสดงโดยจัดให้มีทั้งสองส่วนอย่างเหมาะกับผู้ชมภายนอก เช่น จุดแสดงนิทรรศการ “ศิริราชกับสึนามิ” ซึ่งเป็นนิทรรศการกึ่งถาวร ที่แสดงถึงอุบัติภัยคลื่นยักษ์สึนามิที่คร่าชีวิตผู้คนมากมาย รวมทั้งการให้การช่วยเหลือของทีมแพทย์ศิริราชในการชันสูตรพลิกศพร่วมกับพนักงานสอบสวนที่ศูนย์ปฏิบัติงานวัดบางม่วง ต.ตะกั่วป่า จ.พังงา เป็นเวลา 7 วัน นิทรรศการจุดนี้เป็นจุดที่มีการพัฒนาขึ้นใหม่ โดยเน้นรูปแบบที่ทันสมัย ใช้เทคโนโลยีช่วยให้ไม่น่าเบื่อ”
แต่ถ้าถามว่า บรรดาพิพิธภัณฑ์ทั้ง 6 แห่งนั้น พิพิธภัณฑ์ไหนโดดเด่นที่สุด คงต้องตอบว่า แต่ละพิพิธภัณฑ์ก็มีจุดเด่นที่น่าสนใจแตกต่างกันไป
รศ.พญ.ตุ้มทิพย์ พูดถึงความน่าสนใจของ “พิพิธภัณฑ์พยาธิวิทยาเอลลิส” ว่า พิพิธภัณฑ์นี้ได้ทำการรวบรวมอวัยวะที่เกิดพยาธิสภาพหรือเป็นโรคต่างๆ เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคตับ ฯลฯ เพื่อใช้ในการประกอบการสอนวิชาพยาธิวิทยา ซึ่งอวัยวะหรือเนื้อเยื่อดังกล่าวได้มาจากผู้ป่วย ส่วนหนึ่งมาจากการผ่าตัดหรือจากการตรวจศพ จากนั้นพยาธิแพทย์รุ่นหลังๆ ก็เก็บชิ้นเนื้อที่เป็นโรคและสาเหตุการตายอันดับต้นๆของคนไทยสมัยก่อนไว้
นอกจากนี้ยังมีการแสดงร่างกายมนุษย์ที่ผิดปกติแต่กำเนิด เช่น ทารกฝาแฝดแบบต่างๆ เด็กดักแด้ ฯลฯ รวมทั้งโรคที่พบได้ยากและโรคที่พบได้บ่อยในอดีต รวมชิ้นเนื้อในอดีตจนถึงปัจจุบันเกือบ 4,000 ชิ้น
“พิพิธภัณฑ์ส่วนนี้เป็นจุดที่น่าสนใจในส่วนที่เราแสดงทารกที่มีอาการผิดปกติต่างๆ ผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์มักจะนำของเล่นถ้าเป็นทารกเพศหญิงก็จะมีตุ๊กตา กำไล ถ้าเป็นเด็กผู้ชายก็จะมีรถเด็กเล่น ตุ๊กตาทหาร นอกจากนั้นก็มีขนม ลูกอม เหรียญบาท มาวางไว้เป็นจำนวนมาก ซึ่งแสดงถึงความเชื่อ เราก็มีการจัดแสดงสิ่งของให้ชมซึ่งฝรั่งเห็นก็มักจะมาถามเพราะเป็นเรื่องน่าแปลกมากที่อื่นไม่มี ขณะที่ทุกคนต่างก็ให้ความเคารพสิ่งแสดงเพราะสิ่งแสดงก็เปรียบเสมือนเป็นอาจารย์ใหญ่ของเราด้วย”
ส่วน “พิพิธภัณฑ์นิติเวชศาสตร์ สงกรานต์ นิยมเสน” นั้น รศ.พญ.ตุ้มทิพย์บอกว่า สิ่งแสดงในพิพิธภัณฑ์ประกอบด้วยชิ้นส่วนอวัยวะต่างๆของมนุษย์ กระดูก วัตถุพยานจากคดีต่างๆ เช่น คดีฆาตกรรม ฆ่าตัวตาย อุบัติเหตุ ฯลฯ ที่สำคัญคือมีกะโหลกศีรษะจำนวนมากที่ใช้ทดลองยิงเพื่อศึกษาทิศทางบาดแผลในระยะต่างๆ รวมทั้งเครื่องมือที่ใช้ในการชันสูตรพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8 และมีการจัดแสดงศพต่างๆ เช่น ศพซีอุย ศพไม่เน่า เสื้อผ้าในวันเกิดเหตุของคดีนวลฉวี ฯลฯ
ขณะที่ “พิพิธภัณฑ์ประวัติการแพทย์ไทย อวย เกตุสิงห์” มีสิ่งจัดแสดงที่สำคัญได้แก่ ประวัติและวิวัฒนาการการแพทย์ของไทย ร้านขายยาไทย พร้อมตัวอย่างสมุนไพรชนิดต่างๆ อุปกรณ์ในการปรุงยาไทย การคลอดและการอยู่ไฟ เฉลวหรือไม้ไผ่สานเป็นรูปดาวที่ใช้ปักบนหม้อต้มยา กระบองอาญาสิทธิ์ที่แพทย์หลวงใช้ถือไปเก็บสมุนไพรได้ทุกที่ การนวดและอุปกรณ์ที่ใช้นวดและการรักษาโรคเบื้องต้นด้วยท่าฤาษีดัดตน การรักษาโรคด้วยไสยศาสตร์ ฯลฯ ขณะนี้สิ่งแสดงดังกล่าวจำนวนหนึ่งได้ย้ายมาจัดแสดงร่วมภายในพื้นที่ของพิพิธภัณฑ์นิติเวชศาสตร์เป็นการชั่วคราว
พิพิธภัณฑ์ที่ 4 คือ “พิพิธภัณฑ์ปรสิตวิทยา” เป็นการแสดงหนอนพยาธิของจริง ชนิดต่างๆ เช่น พยาธิไส้เดือน พยาธิแส้ม้า ตู้แสดงวงจรชีวิตของพยาธิที่สำคัญและพบบ่อยๆ เช่น พยาธิใบไม้ในตับ อวัยวะของผู้ป่วยที่ติดเชื้อปรสิต โดยเฉพาะอัณฑะของผู้ป่วยโรคพยาธิเท้าช้างซึ่งหนักถึง 35 กิโลกรัม และมีการจัดแสดงสภาพแวดล้อมของสัตว์มีพิษชนิดต่างๆ เช่น แมงมุมพิษ ตะขาบ แมงป่อง ฯลฯ
ถัดมาเป็น “พิพิธภัณฑ์กายวิภาคศาสตร์คองดอน” ซึ่งแสดงการกำเนิดและพัฒนาการของตัวอ่อนมนุษย์รูปวิกลและกำเนิดกายวิภาคของระบบต่างๆ ทุกระบบ ตลอดจนสิ่งสำคัญที่มีเพียงชิ้นเดียวในโลก ซึ่งชำแหละยากมากคือ ระบบประสาทส่วนปลายและระบบหลอดเลือดแดงที่แสดงเส้นประสาทและหลอดเลือดทั้งร่างกาย
“มีคนมาขโมยตัวอ่อนของมนุษย์ไป ตอนนี้ก็ยังจับตัวไม่ได้ ซึ่งตัวอ่อนมนุษย์แต่ละระยะทำยากมาก ตัวอ่อนมนุษย์มาจากแม่ที่แท้งก่อนกำหนดในระยะต่างๆ กว่าจะสะสมได้ครบชุดใช้เวลานานมาก ก่อนหน้านี้ก็มีคนมาขโมยทารกแฝดไข่ใบเดียวกันแต่ก็ยังดีที่ได้คืนมาแม้สภาพไม่สมบูรณ์เหมือนเดิม”
ส่วน “พิพิธภัณฑ์สุดท้ายพิพิธภัณฑ์และห้องปฏิบัติการเรื่องราวก่อนประวัติศาสตร์ สุด แสงวิเชียร” ซึ่งเป็นอดีตหัวหน้าภาควิชากายวิภาคศาสตร์และอดีตคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลเป็นผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ โดยภายในพิพิธภัณฑ์ประกอบด้วยการจัดแสดงเรื่องราววิวัฒนาการของมนุษย์ มีแผนภูมิวิวัฒนาการของสัตว์กลุ่มไปรเมตตั้งแต่ 70 ล้านปีจนถึงปัจจุบัน ต่อด้วยเรื่องก่อนประวัติศาสตร์ของพื้นโลก เริ่มจากแผนภูมิแสดงระยะเวลาสิ่งมีชีวิตเมื่อราว 550 ล้านปีมาแล้ว จนถึงกลุ่มสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเมื่อประมาณ 70 ล้านปี พร้อมตัวอย่างของจริงและรูปภาพของสิ่งมีชีวิต
ส่วนอนาคตของพิพิธภัณฑ์การแพทย์ศิริราชทั้ง 6 นั้น รศ.พญ.ตุ้มทิพย์ เล่าว่า อนาคตจะมีการปรับเปลี่ยนตึกกายวิภาคศาสตร์เป็นพิพิธภัณฑ์เต็มรูปแบบเป็นพิพิธภัณฑ์เฉพาะทางทางการแพทย์ซึ่งคาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ในอีก 5-6 ปี ข้างหน้า
นอกจากนี้หลังจากได้รับมอบพื้นที่บางส่วนของสถานีรถไฟธนบุรีจำนวน 33 ไร่ จากการรถไฟแห่งประเทศไทยตามโครงการพัฒนาศิริราชสู่สถาบันการแพทย์ชั้นเลิศในเอเชียอาคเนย์ ก็ได้วางแผนการดำเนินงาน โดยมีพิพิธภัณฑ์เป็นหนึ่งในโครงการย่อย ใน 7 โครงการ ซึ่งอาคารสถานีรถไฟธนบุรีมีความงดงามมาก บริเวณนั้นจะมีการปรับปรุงโดยอนุรักษ์สถาปัตยกรรมทำเป็นพิพิธภัณฑ์ธนบุรีและโรงพยาบาลพร้อมๆ กัน
“ทุกวันนี้พิพิธภัณฑ์เกือบทุกแห่งพบปัญหาเดียวกัน คือ ปัญหาเงินทุนไม่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ หากเปรียบเทียบกับสวนสนุก คนเต็มใจจ่ายเงิน มีคนแวะเวียนเป็นจำนวนมาก แต่พิพิธภัณฑ์ซึ่งให้ความรู้ หลายคนบ่นที่จะต้องเสียเงินเข้าชม ซึ่งหากเราไม่มีเงินเราก็ไม่สามารถนำมาเสริมเติมความรู้ในพิพิธภัณฑ์ได้ ไม่เช่นนั้นพิพิธภัณฑ์ก็จะยังคงเป็นพิพิธภัณฑ์เก่าๆ โทรมๆ ที่ไม่มีใครเหลียวแลอยู่เหมือนเดิม”รศ.พญ.ตุ้มทิพย์ทิ้งท้าย