องค์การอนามัยโลกระบุว่า ในปัจจุบันนี้ นอกจากพฤติกรรมการสูบบุหรี่แล้วพฤติกรรมการบริโภคอาหารและน้ำ เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพที่มีความสำคัญสูงสุด การที่ร่างกายมนุษย์ไม่ได้รับอาหารและน้ำอย่างเหมาะสมก่อให้เกิดโรคมากมาย ซึ่งมีผลต่อสุขภาวะทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เป็นอุปสรรคสำคัญของการพัฒนาทั้งในระดับปัจเจกและสังคม
สำหรับประเทศไทยในปัจจุบัน แม้ยังคงมีประชากรที่ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ แต่ปัญหาใหม่ที่สำคัญ คือการเพิ่มมากขึ้นของกลุ่มคนที่ได้รับสารอาหารเกินพอดี ซึ่งทำให้เกิดภาวะโรคอ้วน โรคเรื้อรังไม่ติดต่อ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูง หากไม่สามารถหยุดยั้งปัญหาได้ ประเทศไทยจะมีจำนวนคนป่วยเรื้อรังและมีคุณภาพชีวิตต่ำเป็นจำนวนมาก เพราะในอีก 10-20 ปีข้างหน้า ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศจะอยู่ในช่วงสูงวัยการเจ็บป่วยเหล่านี้ต้องใช้ทรัพยากรสูงในการดูแลรักษา ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั้งในระดับบุคคล ครอบครัว และประเทศ
ในการประชุมวิชาการเรื่อง “อาหารและน้ำคือชีวิตและโลก” จัดโดยมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ เมื่อวันที่ 19 ก.ย.ที่ผ่านมา ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง “อาหารและน้ำ สัมพันธภาพของธรรมชาติ” ซึ่งน่าสนใจอย่างยิ่ง
หมอประเวศบอกว่า อาหารและน้ำคือชีวิตและจิตสำนึกใหม่ โดยที่อาหารและน้ำได้เข้าไปอยู่ในทุกส่วนของชีวิต ในดีเอ็นเอ ผนังเซลล์ เซลล์ อวัยวะต่างๆ ทั้ง สมอง หัวใจ ปอด ตับ ไต เรียกได้ว่าทั้งเนื้อตัวของมนุษย์ เพราะฉะนั้นอาหารและน้ำจึงเป็นส่วนเดียวกับชีวิต
ขณะเดียวกันอาหารและน้ำยังสัมพันธ์กับโลกและนอกโลก เช่น ดวงอาทิตย์ แสงอาทิตย์ อากาศ ความร้อน ความเย็น ภูเขา ต้นไม้ ผืนดิน จุลินทรีย์ แสดงถึงการเชื่อมโยงกันระหว่างอาหารและน้ำกับสรรพชีวิต หมายความว่าความเป็นชีวิตจะอยู่คนเดียวไม่ได้ ต้องเชื่อมโยงกัน อาหารและน้ำคือการเชื่อมโยงตัวเรากับโลก สมัยโบราณมนุษย์มีความสัมพันธ์กับธรรมชาติ เรากินอาหารที่ไม่ปรุงแต่ง แต่ปัจจุบันมีความซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งถ้าเราไม่เข้าใจถึงความสับสนและซับซ้อนนี้มันก็จะทำร้ายเรา
นพ.ประเวศอธิบายว่า เรื่องอาหารและน้ำเป็นระบบที่ซับซ้อน สมัยโบราณคนอยู่อย่างพอเพียง กินอาหารอิ่มแล้วแค่นั้น ไม่ทำลายมาก แต่สมัยนี้พัฒนามาเป็นระบบทุนนิยมหรือเงินนิยม ที่อยากได้อยากมีไม่มีที่สิ้นสุด เป็นมายาคติ แต่ลืมไปว่าทรัพยากรของโลกมีที่สิ้นสุด จึงเกิดความขัดแย้งกัน เพราะเมื่อเอาเงินเป็นตัวตั้งก็ทำให้ธรรมชาติและสังคมขาดดุลยภาพ แผ่นดินเป็นพิษเพราะใช้ยาฆ่าแมลงให้ได้ผลผลิตมาก เพราะอยากๆได้เงินมาก
“เดี๋ยวนี้คนเรากินเคเอฟซี แมคโดนัลด์ พิซซ่า แต่ลืมอาหารไทย ทั้งที่อาหารไทยเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ เป็นอาหาร low fat high fiber อาหารฟาสต์ฟูดแบบนี้เป็นอารยธรรมตะวันตกที่พยายามทำให้โลกเป็นแบบเดียวกัน ให้เป็นวัตถุนิยมและบริโภคนิยม ถ้าทำไม่ได้ก็ใช้กำลังทหารใช้การบุก ใช้การแซงค์ชั่น เพื่อให้โลกกินอาหารเหมือนกัน ใช้เงินเหมือนกัน เหมือนที่ไปทำกับพม่า ซึ่งเรื่องนี้อันตรายมาก เพราะโลกต้องอยู่ด้วยความหลากหลาย อะไรที่เหมือนกันชีวิตจะไม่รอด”
“งานวิจัยของสสส.พบว่าธุรกิจขนมหลอกเด็กนั้นหลอกเอาเงินพ่อแม่ไปปีละประมาณ 1.7 แสนล้านบาท ซึ่งขนมหลอกเด็กนี้มีแต่อันตราย ส่งเสริมเด็กกินหวาน มีอดีตรมช.สธ.ท่านหนึ่งเคยพูดว่าคนไทยยังกินหวานได้อีก ที่ท่านพูดแบบนี้เพราะมีธุรกิจเกี่ยวกับน้ำตาล เรื่องแบบนี้ซับซ้อนมาก เชื่อมโยงหลายชั้น ธุรกิจแบบนี้เอาอาหารที่ไม่เคยกินมาเข้าสู่อีกวัฒนธรรมหนึ่ง เพื่อให้กินเหมือนตนจะได้ขายได้มากขึ้น คนไทยก็อ้วนมากขึ้น ที่เราอ้วนก็เพราะเรื่องการตลาดแบบนี้ ที่ผลิตเยอะแล้วส่งเสริมให้กินเยอะ จะได้เงินเยอะขึ้นนั่นเอง”
ทั้งนี้ นพ.ประเวศ มีข้อเสนอ 8 ประการเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติความซับซ้อนของสังคมไทย คือ 1.จิตสำนึกใหม่ ทั้งในเรื่องของการศึกษาและการสื่อสาร การศึกษาต้องปรับปรุง เชื่อมโยงให้คนรู้ เกิดปัญญา เป็นจิตสำนึกใหม่ รู้เหตุผล ไม่เชื่อง่าย ส่วนในเรื่องการสื่อสาร ต้องใช้การสื่อสารให้เกิดปัญญามากที่สุด ไม่ใช่เอาการสื่อสารมาเป็นเครื่องมือให้เกิดซับซ้อน เป็นโฆษณาชวนเชื่อเหมือนอย่างขนมหลอกเด็ก โดยเสนอให้ตั้งองค์การสื่อสารสาธารณะที่เป็นอิสระ โดยเอาภาษีจากการสื่อสารประมาณ 5,000-10,000 ล้านบาท มาเป็นงบประมาณเพื่อทำการสื่อสารทุกชนิด ทั้งหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ อินเตอร์ ชุมชน ทุกอย่างให้เกิดการเชื่อมโยงไปทุกอณูของสังคม เพื่อให้คนไทยได้รู้ความจริงของสังคม ถ้าทำได้แบบนี้บ้านเมืองจะเปลี่ยนแปลงสู่สิ่งที่ดีได้ และใครที่จะมาเป็นรัฐบาลและเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปจะต้องทำเรื่องนี้ หาเสียงว่าจะทำในเรื่องนี้
2.เศรษฐกิจพอเพียง เพราะถ้าไม่พอเพียงความเป็นทุนนิยมจะทำลายทุกอย่าง 3.ชุมชนและประชาสังคมต้องเข้มแข็ง ถ้าชุมชนเข้มแข็งจะช่วยแก้ปัญหาทุกชนิดได้ 4.มี CSR (Corperate Social Respond) คือ ภาคธุรกิจบริษัทต่างๆต้องรับผิดชอบต่อสังคมด้วย ไม่ใช่มุ่งแต่ค้ากำไร 5.มีเกษตรปลอดสารพิษที่เชื่อมโยงกับผู้บริโภค ความสำคัญคือต้องเชื่อมโยงกัน เพราะการเชื่อมโยงจะทำให้เกิดพลัง และทำให้คงอยู่ได้ 6.เรื่องพลังงานที่ไกลออกไปจากเรื่องของน้ำมัน 7.การปฏิรูปภาครัฐให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งจำเป็นต้องปฏิรูป กระทรวงต้องไปทำเรื่องของนโยบายและยุทธศาสตร์ มากกว่าการสั่งหน่วยปฏิบัติเหมือนที่ทำทุกวันนี้ และ 8.การวิจัย เพราะเรื่องในสังคมมีความซับซ้อน การทำวิจัยจะทำให้ความซับซ้อนคลี่ออกมา สังคมจะเกิดความเข้าใจมากขึ้น
ด้าน นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ เลขาธิการมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ให้ข้อมูลเสริมว่า ว่า องค์การอนามัยโรคระบุว่า ในปัจจุบันนอกจากพฤติกรรมการสูบบุหรี่แล้วพฤติกรรมการบริโภคอาหารและน้ำเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพที่มีความสำคัญสูงสุด การที่ร่างกายมนุษย์ไม่ได้รับอาหารและน้ำอย่างเหมาะสมทำให้เกิดโรคมากมาย ประเทศไทยยังมีประชากรที่ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ แต่ปัญหาใหม่ คือ คนบางกลุ่มได้รับอาหารเกินพอดี ทำให้เกิดโรคอ้วน โรคเรื้อรัง เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ มะเร็ง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง
"มีการพยากรณ์ว่าอีก 20 ปีข้างหน้า ประมาณปี 2568 ปัญหาการขาดแคลนน้ำจะขยายตัวมากขึ้น โดยคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อประชากรครึ่งโลก ในภาวะเช่นนี้จำเป็นต้องมีการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่มีประสิทธิภาพเพื่อเพียงพอแก่การบริโภคและผลิตอาหารในอนาคต"นพ.สมศักดิ์สรุป