xs
xsm
sm
md
lg

พลาดไม่ได้! เปิดลายแทง 15 เส้นทางจักรยานเมืองกรุง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กทม.สั่งปรับปรุงเส้นทางจักรยานทั่วกรุง 30 เส้นทาง ระยะทาง 17.14 กม.เผยขณะนี้ดำเนินการแล้วเสร็จ 15 เส้นทาง พร้อมจัดที่จอดรถจักรยานบนทางสาธารณะ และบริเวณทางขึ้น-ลงสถานีรถฟ้า BTS ไปแล้วจำนวน 3,379 ชุด สามารถจอดรถจักรยานได้ 19,224 คัน ลั่นตั้งเป้าทำที่จอดรถจักรยานทั่วกทม. 5,069 ชุด สามารถจอดจักรยานได้ 34,434 คัน “บรรณโศภิษฐ์” เดินหน้ารณรงค์งดใช้รถยนต์ เนื่องในวัน “คาร์ฟรีเดย์” พร้อมขอความร่วมมือพ่อค้าหายเร่แผงลอยหยุดขายเช้า-เย็น เพื่อเปิดเส้นทางจักรยานช่วงเร่งด่วน

นางบรรณโศภิษฐ์ เมฆวิชัย รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) กล่าวว่า กทม.ร่วมกับชมรมจักรยานและผู้ใช้จักรยานสำรวจและปรับปรุงเส้นทางเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้รถจักรยานในการเดินทาง โดยได้ให้นโยบายส่งเสริมการใช้จักรยานเป็นนโยบายสำคัญมีแนวทาง คือ ให้ทุกหน่วยงานโดยเฉพาะสำนักงานเขต จัดทำที่จอดจักรยาน ณ ที่ทำการเขต และในพื้นที่ให้ทั่วถึง ปรับปรุงเส้นทางจักรยานทั้งในถนนสายเก่าและถนนสายใหม่ ปรับปรุงเส้นทางจักรยานในสวนสาธารณะและบริเวณโดยรอบ จัดกิจกรรมรณรงค์ส่งงเสริมการใช้จักรยานในพื้นที่จัดกิจกรรมจักรยาน เพื่อการท่องเที่ยวและการกีฬา จัดอบรมวินัยจราจรเพื่อความปลอดภัยในการขับขี่จักรยานให้ทุกหน่วยงานดูแลปรับปรุงพื้นที่ถนน ทางเท้า ให้เอื้อต่อการใช้จักรยาน ดึงพลังภาคประชาชนให้มามีส่วนร่วมในการส่งเสริมการใช้จักรยาน

ทั้งนี้ กทม.ได้จัดทำและปรับปรุงเส้นทางจักรยานใน 30 เส้นทาง รวมระยะทาง 117.14 กม. ซึ่งขณะนี้ปรับปรุงเส้นทางเสร็จแล้วใน 15 เส้นทาง ได้แก่

1.ถนนอุทยาน ตั้งแต่ถนนพุทธมณฑลสาย 3 - ถนนพุทธมณฑลสาย 4 2.ทางเดินลอยฟ้าเลียบคลองไผ่สิงโต ตั้งแต่สวนลุมพินี - ซ.สุขุมวิท 3.ถนนดวงพิทักษ์ ตั้งแต่ถนนสุขุมวิท-คลองไผ่สิงโต 4.ถนนประดิษฐ์มนูธรรม ตั้งแต่ถนนพระราม 9 - ถนนรามอินทรา 5.ถนนสรงประภา ตั้งแต่ ซ.โรงเรียนผ่องเพ็ญวิทยา - วัดสีกัน 6.ถนนเพชรเกษม จากแยกกาญจนาภิเษก - สุดเขตทั้ง 2 ฝั่ง 7.ถนนจรัญสนิทวงศ์ จาก ซ.จรัญสนิทวงศ์ 5-65 ทั้ง 2 ฝั่ง 8.ถนนลาดพร้าว จากห้าแยกลาดพร้าว-ถนนแฮปปี้แลนด์ สาย 1 ทั้ง 2 ฝั่ง 9. ถนนพหลโยธิน จากสะพานข้ามคลองบางซื่อ - อนุสาวรีย์หลักสี่ ทั้ง 2 ฝั่ง 10.ถนนสุขาภิบาล 5 (สายไหม) จากถนนออเงิน - ซ.พหลโยธิน 54 ระยะทาง ทั้ง 2 ฝั่ง 11.ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสินจากวงเวียนใหญ่ - ซ.สมเด็จพระเจ้าตากสิน 46 ทั้ง 2 ฝั่ง 12.ถนนเจริญนคร จากถนนลาดหญ้า - ถนนราษฎร์บูรณะ ทั้ง 2 ฝั่ง 13.ถนนราษฎร์บูรณะ จากถนนเจริญนคร - สุดเขต กทม.ทั้ง 2 ฝั่ง 14.ถนนราชดำริ จากแยกราชประสงค์ - แยกศาลาแดงทั้ง 2 ฝั่ง 15.ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ จากถนนสุรวงศ์ - ถนนพระรามที่ 3 ทั้ง 2 ฝั่ง

ส่วนที่เหลือ อีก 15 เส้นทางอยู่ระหว่างดำเนินการ ได้แก่ 1.โครงการก่อสร้างถนนสายรองของกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย โครงการถนนพหลโยธิน - ถนนรัตนโกสินทร์สมโภชน์ และโครงการถนนพัฒนาการ - ถนนสวนหลวง ร.9 2.โครงการจัดซื้อพร้อมติดตั้งทางยกระดับรามคำแหง จากแยกลำสาลี - คลองบางชัน 3.โครงการก่อสร้างถนนพรานนก - พุทธมณฑลสาย 4 4.โครงการถนนพุทธมณฑลสาย 2 จากถนนเพชรเกษมถึงถนนเลียบทางรถไฟสายใต้ 5.โครงการก่อสร้างปรับปรุงถนนถนนบางขุนเทียนชายทะเล จากถนนพระราม 2-สะพานข้ามคลองเชิงตาแพ 6.โครงการปรับปรุงถนนสรงประภา จากถนนเชิดวุฒากาศ-ถนนศรีสมาน 7. โครงการก่อสร้างถนนเลียบคลองบางเขน จากถนนวิภาวดี-รังสิต-มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 8.โครงการก่อสร้างทางจักรยานเลียบคลองทวีวัฒนา จากถนนเพชรเกษม-ถนนอุทยาน 9.โครงการก่อสร้างทางเดินเท้าและทางจักรยานเลียบคลองบางน้อย 10.โครงการก่อสร้างทางจักรยานเลียบคลองบางพรม 11.โครงการก่อสร้างทางเดินรถจักรยานซอยวัดอินทราวาส จากถนนราชพฤกษ์-ถนนกาญจนาภิเษก 12.โครงการปรับปรุงสะพาน ค.ส.ล.จากถนนพระยามนธาตุราชศรีพิจิตร์-จุดสิ้นสุดโครงการ 13.โครงการปรับปรุงสะพานทางเดิน ค.ส.ล.และติดตั้งราวเหล็กกันตกเลียบคลองบางมด 14.โครงการปรับปรุงเส้นทางจักรยานถนนคู่ขนานมอเตอร์เวย์ จากโรงเรียนสุเหร่าทับช้าง-คลองบ้านม้าล่าง และ 15.โครงการเส้นทางจักรยานจากท่าเรือสัมพันธวงศ์ถึงท่ารถบางรัก

นางบรรณโศภิษฐ์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันกทม.ได้ดำเนินการติดตั้งที่จอดรถจักรยานบนทางสาธารณะและบริเวณทางขึ้น - ลงสถานีรถฟ้า BTS ไปแล้วจำนวน 3,379 ชุด สามารถจอดรถจักรยานได้ 19,224 คัน และนอกจากนี้ ยังมีโครงการติดตั้งที่จอดรถจักรยานในสำนักงานเขต 50 เขต โรงเรียน โรงพยาบาล สวนสาธารณะ ศูนย์บริการสาธารณสุข ศูนย์กีฬา ศูนย์เยาวชน ห้องสมุด เพื่ออำนวยความสะดวกต่อผู้ใช้รถจักรยานในการเดินทางติดต่อราชการ และพักผ่อน ออกกำลังกาย เพิ่มขึ้นอีก 1,960 ชุด สามารถจอดจักรยานได้ 15,210 คัน ซึ่งหากการดำเนินการแล้วเสร็จทั้งหมดจะทำให้มีที่จอดรถจักรยานทั่ว กทม. 5,069 ชุด สามารถจอดจักรยานได้ 34,434 คัน

ทั้งนี้ เนื่องในวันคาร์ฟรีเดย์ที่จะมีขึ้นในวันที่ 22 ก.ย.2549 นี้ กทม.ได้ร่วมกับชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย จัดกิจกรรมรวมพลคนใช้จักรยาน ขึ้นเพื่อพัฒนาการมีส่วนร่วมระหว่างกลุ่มผู้ใช้จักรยานจากชมรมต่างๆ กลุ่มผู้ใช้จักรยานระดับชุมชน กลุ่มนักเรียน องค์กรภาครัฐและเอกชน เพื่อกระตุ้นการรับรู้ นำไปสู่การลดการใช้รถยนต์ การประหยัดพลังงานด้วยการใช้จักรยานหรือการเดินทางที่ไม่ใช้เครื่องยนต์ โดยจะมีกิจกรรมปั่นจักรยานรณรงค์ไปตามจุดต่างๆ เพื่อไปรวมกลุ่มกันที่ลานพระบรมรูปทรงม้า และเข้าพบผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เพื่อขอบคุณในการอำนวยการจราจรให้ผู้ใช้จักรยานเดินทาง และขอให้สนับสนุนการเดินทางด้วยจักรยานอย่างปลอดภัย รวมทั้งขอให้ตำรวจหันมาใช้จักรยานเพื่อการปฏิบัติหน้าที่ในบางภารกิจ ก่อนจะเดินทางต่อมายังศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เพื่อร่วมเสนอข้อคิดเห็นในการใช้จักรยานอย่างปลอดภัยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร พร้อมกับรับฟังความคิดเห็นจากเจ้าพนักงานจราจร นักวิชาการที่ศึกษาการใช้จักรยานในกรุงเทพฯ และเจ้าหน้าที่วิศวกรรมจราจรของกรุงเทพมหานคร เพื่อหาทางออกและแนวทางในการส่งเสริมการใช้จักรยานในเขตกรุงเทพมหานครที่ปลอดภัยอย่างยั่งยืนต่อไป

สำหรับผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมปั่นจักรยานในงานรวมพลคนใช้จักรยานสามารถเข้าร่วมได้โดยไม่เสียค่าใช่จ่ายใดๆ ซึ่งจะใช้ระยะทางในการปั่นประมาณ 10 กม. รายละเอียดเพิ่มเติมเข้าดูได้ทาง www.thaicycling.com หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่ 0-2612-4747 และ 081-919-2989

นางบรรณโศภิษฐ์กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตาม ตนอยากขอความร่วมมือจากกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าหาบเร่แผงลอยที่จำหน่ายสินค้าในจุดผ่อนผันเพื่อเปิดเส้นทางให้จักรยานสามารถสัญจรไปมาในช่วงเช้าและช่วงเย็นซึ่งเป็นช่วงที่มีการจราจรติดขัดมากที่สุดด้วย

ด้านนายนิพนธ์ บุญญภัทโร ประธานที่ปรึกษา ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า ที่ผ่านมา กทม.พยายามปรับปรุงและแก้ปัญหาของทางจักรยานมาโดยตลอด ทำให้วันนี้เห็นทางจักรยานใน กทม.หลายแห่ง และเริ่มมีคนนำจักรยานออกมาปั่นเพื่อไปทำงาน และออกกำลังกายเพิ่มขึ้นมาก ถือเป็นการช่วยประหยัดเงินและได้กำลังกายที่แข็งแรงอีกทางหนึ่ง ต่อไปในอนาคต กทม.จะรณรงค์การใช้จักรยานอย่างต่อเนื่อง และจะมีการทำที่จอดรถจักรยานในศาลาว่าการ กทม.เพื่อให้บริการกับบุคลากรและประชาชนทั่วไปที่มาติดต่อราชการ
นายวีระพันธ์ โตบุญมี กรรมการชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การใช้จักรยานในเมืองไทยได้รับการหยิบยกมาพูดถึงมากขึ้น แบ่งได้ 5 กลุ่มใหญ่ คือ 1. ผู้ปกครอง-นักเรียน 2. พนักงานบริษัท 3. แม่บ้าน 4. ผู้ออกกำลังกาย และ 5. ใช้เดินทางระยะไกล (มากกว่า 7 กม.) ในอนาคตกลุ่มผู้ใช้จักรยานน่าจะเพิ่มมากขึ้น เพราะ กทม.ขยายเส้นทางมากขึ้น อีกทั้งผู้ที่ปั่นจักรยานสามารถนำจักรยานขึ้นรถไฟฟ้าบีทีเอส หรือรถไฟฟ้าใต้ดินก็ได้ ทำให้ได้รับความสะดวกมากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น