xs
xsm
sm
md
lg

กทม.ทุ่ม 10 ล.ทำป้ายบอกทางไปสุวรรณภูมิ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กทม.ทุ่ม 10 ล้าน ทำป้ายบอกทางไปสุวรรณภูมิ แจงครอบคลุมบริเวณทางขึ้นลงทางด่วนจำนวน 200 จุด พร้อมจัดพิมพ์แผ่นพับอธิบายเส้นทางแจกผู้ขับขี่ 50,000 ฉบับ ตั้งเป้าทำซุ้มต้อนรับในบริเวณอ่อนนุช และป้ายต้อนรับขนาดใหญ่ในเส้นทางพระรามที่ 9 ด้วยวงเงิน 10 ล้านบาท

นายจักรพันธุ์ พรนิมิตร รองโฆษกกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะผู้บริหารว่า ในที่ประชุมสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) ได้มีการเสนอรูปแบบการจัดทำป้ายจราจรในเส้นทางเข้าสนามบินสุวรรณภูมิ โดยจัดทำเป็นป้ายขนาดกว้าง 1.20 เมตร และสูง 1.60 เมตร มีภาพเครื่องบินเป็นสัญลักษณ์ และมีข้อความภาษาไทยบอกให้รู้ว่าจะไปสุวรรณภูมิ ติดบริเวณทางขึ้นลงทางด่วนจำนวน 200 จุดใน 28 แห่ง ได้แก่

1.ด่านประชาชื่น (ถนนรัชดาภิเษก) 5 จุด 2.ด่านกำแพงเพชร 2 (ถนนกำแพงเพชร 2) 5 จุด 3.ด่านกำแพงเพชร (ถนนกำแพงเพชร ) 10 จุด 4.ด่านพระรามที่ 6 (ถนนพระรามที่ 6) 8 จุด 5.ด่านอุรุพงษ์ (ถนนพระรามที่ 6-ถนนศรีอยุธยา) 8 จุด 6.ด่านยมราช (ถนนเพชรบุรี-ถนนนครสวรรค์-ถนนพระรามที่ 5) 8จุด 7.ด่านหัวลำโพง (ถนนพระรามที่ 4-ถนนผดุงกรุงเกษม) 7 จุด 8.ด่านสะพานเหลือง (ถนนพระรามที่ 4-ถนนบรรทัดทอง) 9 จุด 9.ด่านเพลินจิต (ถนนเพชรบุรี-ถนนวิทยุ) 8 จุด 10.ด่านอโศกดินแดง (ถนนอโศกดินแดง) 5 จุด

11.ด่านพระราม 9 (ถนนพระราม 9) 5 จุด 12.ด่านคลองเตย (ถนนพระรามที่ 4-ถนนสุนทรโกษา) 9 จุด 13.ด่านจันทน์ (ถนนจันทน์-ถนนเจริญราษฎร์) 5 จุด 14.ด่านสุรวงศ์ (ถนนสุรวงศ์-ถนนสีลม-ถนนใต้ทางด่วน) 8 จุด 15.ด่านอนุสาวรีย์ชัย (ถนนพหลโยธิน) 5 จุด 16.ด่านท่าเรือ (ถนนเกษมราษฎร์-ถนนสุนทรโกษา-ถนนอาจณรงค์) 9 จุด 17.ด่านพระรามที่ 3 (ถนนพระรามที่ 3-ถนนรัชดาภิเษก-ถนนนางลิ้นจี่) 8 จุด 18.ด่านสะพานพระราม 9 (ถนนรัชดาภิเษก-ถนนพระรามที่ 3) 9 จุด 19.ด่านเจริญราษฎร์ (ถนนเจริญราษฎร์-ถนนสาทร-ถนนสุรศักดิ์-ถนนสีลม) 11 จุด 20.ด่านอ่อนนุช (ถนนอ่อนนุช) 8 จุด

21.ด่านพัฒนาการ (ถนนพัฒนา-ถนนรามคำแหง-สุขุมวิท 71) 10 จุด 22.ด่านประดิษฐ์มนูธรรม (ถนนประดิษฐ์มนูธรรม-ถนนลาดพร้าว) 5 จุด 23.ด่านประดิษฐ์มนูธรรม (ถนนประดิษฐ์มนูธรรม-ถนนเกษตรนวมินทร์) 5 จุด 24.ด่านประดิษฐ์มนูธรรม (ถนนประดิษฐ์มนูธรรม-รามอินทรา) 5 จุด 25.ด่านเพชรอุทัย (ถนนเพชรอุทัย) 9 จุด 26.ขึ้นมอเตอร์เวย์รามคำแหง (ถนนรามคำแหง) 4 จุด 27.ขึ้นมอเตอร์เวย์เสรีไทย (ถนนเสรีไทย) 4 จุด และ 28.ขึ้นมอเตอร์เวย์ศรีนครินทร์ (ถนนศรีนครินทร์) 8 จุด

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวใช้งบประมาณในการดำเนินการทั้งหมด 1,120,000 บาท ซึ่งขณะนี้เริ่มดำเนินแล้วประมาณ 40% ในเส้นทางด่วนดินแดง อ.ต.ก. และยมราช โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณวันที่ 15 กันยายน 2549 นี้

นอกจากนี้ ในที่ประชุมยังได้มีการเสนอให้ สจส.กลับไปพิจารณาจัดทำป้ายแนะนำเส้นทางในขาเข้ากรุงเทพฯ พร้อมให้เพิ่มข้อความเป็นภาษาอังกฤษด้วย และให้ สจส.จัดทำแผ่นพับอธิบายเส้นทาง แจกให้กับผู้ขับขี่จำนวน 50,000 ฉบับ พร้อมขึ้นเว็บไซต์ กทม.เพื่อประชาชนทั่วไปได้เข้าไปศึกษาเส้นทางโดยใช้งบประมาณ 150,000 บาท ซึ่งในอนาคตจะพิจารณาจัดพิมพ์เพิ่มอีก รวมทั้งมีการจัดทำสติกเกอร์ขนาด 4 นิ้ว ติดที่ศาลาที่พักผู้โดยสาร และป้ายหยุดรถประจำทางสายที่จะผ่านไปยังสนามบินสุวรรณภูมิ จำนวน 1,000 แผ่น วงเงิน 20,000 บาท

นอกจากนี้ยังมีแนวคิดที่จะจัดทำซุ้มต้อนรับในบริเวณอ่อนนุช และป้ายต้อนรับขนาดใหญ่ในเส้นทางพระรามที่ 9 ด้วยวงเงิน 10 ล้านบาทด้วย โดยระหว่างนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการขอจัดสรรงบประมาณ

ด้านนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าฯกทม. กล่าวแสดงวิสัยทัศน์แผนพัฒนากทม.ให้แก่สถาบันพัฒนาสยาม(SDI) และธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) รับฟังเพื่อเป็นข้อมูลการวิจัยการบริหารจัดการเมืองในเอเชีย กรณีประเทศไทย โดยในที่ประชุมได้แสดงความเป็นห่วงการรับมือของกทม.กับเมืองใหม่ที่จะเกิดขึ้นรอบสนามบินสุวรรณภูมิหลังเปิดใช้อย่างเป็นทางการ

นายอภิรักษ์ กล่าวว่า จะหารือกับการเคหะแห่งชาติและสำนักพัฒนาที่อยู่อาศัยจัดทำแผนรองรับเร่งด่วน อาทิ การสร้างอาคารที่พักในรูปแบบเช่าให้แก่แรงงานที่จะไหลเข้าสู่พื้นที่ อย่างไรก็ตาม การเติบโตของสิ่งก่อสร้างในพื้นที่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของกฎหมายผังเมืองฉบับใหม่อย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการก่อสร้างปิดทางน้ำจนเกิดปัญหาน้ำท่วม ซึ่งกทม.ยังยืนยันไม่เห็นด้วยที่จะสร้างเมืองใหม่เป็นนครสุวรรณภูมิ แต่หากรัฐบาลใหม่ยังยืนยันจะเดินหน้าก็ควรสร้างความมั่นใจในระบบระบายน้ำให้ได้

นายอภิรักษ์ กล่าวอีกว่า สำหรับแผนพัฒนาเมืองกทม.จะมุ่งพัฒนาใน 4 มิติ ได้แก่ ด้านคุณภาพชีวิต ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านวัฒนธรรม และด้านเศรษฐกิจ ตามที่เคยประกาศไว้เพื่อให้กทม.เป็นเมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืนต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น