“พินิจ” ยอมรับเหตุหญิงไทย 8 แสนคนไม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพราะใน รพ.มีแจกจ่ายนมผงหลังคลอด ชี้ต้องประสานงาน รพ.ห้ามแจกนมผงใน รพ.อีก ด้าน “ยูนิเซฟ” แจงไทยติดอันดับบ๊วยเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
วันนี้ (5 ก.ย.) ที่กระทรวงสาธารณสุข นายพินิจ จารุสมบัติ รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประชุมผู้บริหารโรงพยาบาลรัฐในเขตกรุงเทพฯ โรงพยาบาลเอกชนเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ผู้บริหารกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กรมการปกครอง สำนักอนามัยและสำนักการแพทย์ กทม. เพื่อสร้างความเข้าใจและขอความร่วมมือในการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้นานที่สุด
นายพินิจ กล่าวว่า สาเหตุที่ผู้หญิงหลังคลอดกว่า 8 แสนคนไม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพราะมีการแจกจ่ายนมผงหลังคลอด โดยเฉพาะใน รพ.เอกชน และคลินิก ดังนั้น เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวกระทรวงจะขอความร่วมมือไปยัง รพ.ทั่วประเทศทั้งรัฐและเอกชนไม่ให้มีการแจกจ่ายนมผง และห้ามโฆษณาส่งเสริมนมผงใน รพ. รวมทั้งจะส่งเสริมให้มีการเลี้ยงนมแม่อย่างเดียวจนถึงอายุ 6 เดือน ส่วนการลาคลอด 3 เดือนที่ยังเป็นปัญหาสำหรับพนักงานบริษัทเอกชนนั้นจะประสานกับกระทรวงแรงงานเพื่อแก้ไขปัญหาต่อไปเพื่อให้ลาคลอดได้ตามกำหนด
นายพินิจ กล่าวว่า มาตรการที่จะแก้ปัญหา คือ ห้ามแจกจ่ายนมผงให้กับแม่หลังคลอดทั้งในโรงพยาบาลและสถานที่รับแจ้งเกิด และห้ามโฆษณาส่งเสริมนมผงในโรงพยาบาลอย่างเคร่งครัด เพราะมีผลงานวิจัยพบว่าอัตราการเลี้ยงนมแม่เป็นเวลา 6 เดือนของไทยต่ำเพียง 15% ในขณะที่เป้าหมายปี 2549 ตั้งไว้ 30% เป็นอย่างต่ำ หากพบการฝ่าฝืนครั้งแรกให้ตักเตือนก่อน หากยังฝ่าฝืนครั้งที่ 2 จะมีโทษปรับทันที 5,000 บาท และหากพบยังมีการฝ่าฝืนซ้ำอีกจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
นางพรธิดา พัดทอง ตัวแทนองค์การยูนิเซฟประเทศไทย กล่าวว่า การเลี้ยงเด็กอายุ 0-6 เดือน ด้วยนมแม่อย่างเดียวในประเทศกำลังพัฒนามีค่าเฉลี่ยประมาณ 44% ในขณะที่ประเทศไทยมีค่าเฉลี่ยการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 4 เดือน 16% และหากเป็น 6 เดือนมีเพียง 5% เท่านั้น ถือว่าเป็นอันดับสุดท้ายของเอเชีย ซึ่งปัญหาสำคัญที่ทำให้เด็กไทยกินนมแม่น้อยเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ เนื่องจากความรู้ ความเข้าใจของแม่ และการโฆษณานมแม่ที่มีอยู่มากมายทั้งในสื่อสิ่งพิมพ์ และโทรทัศน์ ทำให้แม่เข้าใจคลาดเคลื่อนว่าการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวไม่เพียงพอ วิธีการแก้ไขคือการให้ความรู้ ความเข้าใจกับแม่ และออกกำหมายห้ามโฆษณานมผงสำหรับเด็กแรกเกิดในสื่อทุกประเภท
“ตามเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลก และยูนิเซฟได้จัดทำขึ้นนั้น เดิมจะต้องให้นมแม่อย่างเดียว 4 เดือน แต่ปัจจุบันเปลี่ยนเป็น 6 เดือน โดยเป็นการให้เด็กแรกเกิดถึง 6 เดือน กินนมแม่อย่างเดียว โดยไม่ให้ดื่มน้ำเลย แต่ความเชื่อของคนไทยจะให้ดื่มน้ำตามเป็นการล้างปาก เพราะกลัวลิ้นเด็กจะเป็นฝ้า ซึ่งเป็นเรื่องเข้าใจผิด” นางพรธิดา กล่าว และว่าการที่พยาบาลแยกลูกออกจากแม่เมื่อแรกคลอดทำให้เด็กได้กินนมแม่น้อยลง และพยาบาลจะให้เด็กกินนมชงแทนนมแม่
นางพรธิดา กล่าวว่า การให้ลูกกินนมแม่มีประโยชน์มาก เนื่องจากจะช่วยลดโอกาสที่เด็กจะติดเชื้อทางเดินอาหาร และทางหูได้ประมาณ 3-4 เท่า เมื่อเทียบกับเด็กที่ไม่ได้กินนมแม่อย่างเดียว และยังลดการเป็นโรคภูมิแพ้ในเด็กได้ ส่วนผลดีกับแม่คือ แม่ที่ให้นมลูกยังมดลูกเข้าอู่เร็ว และเป็นการคุมกำเนิดโดยธรรมชาติ ไม่ต้องใช้วิธีคุมกำเนิดอย่างอื่น ได้ผลถึง 98% นอกจากนี้ยังลดโอกาสการเป็นมะเร็งปากมดลูกถึงได้ถึง 16 เท่า
พญ.ศิราภรณ์ สวัสดิวร ผู้จัดการศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย และกุมารแพทย์สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวว่า ผลการวิจัยระบุชัดเจนว่า เด็กที่ดื่มนมแม่เพียงอย่างเดียวในระยะเวลา 4 เดือน จะท้องเสียเพียง 1% เท่านั้นถ้าปีหนึ่งมีเด็กเกิด 8 แสนคนจะมีเด็กท้องเสียเพียง 1 แสนคนเท่านั้น ทำให้ไม่ต้องเสียเวลาไปพบกุมารแพทย์ อย่างไรก็ตามตอนนี้หลาย รพ.พยายามออกมารณรงค์ให้เด็กฉีดโรต้า วัคซีน ป้องกันโรคท้องร่วง ความจริงแล้วถ้าเด็กได้รับนมแม่อย่างต่อเนื่องก็คงไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีน