xs
xsm
sm
md
lg

12 ปี ETV ทีวีเพื่อเด็กที่ยังไม่ถึงฝั่งฝัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2549 ที่ภัทราวดีเธียเตอร์ สถานีวิทยุโทรทัศน์ ETV บ้านหลังใหญ่แห่งการเรียนรู้ กระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดงานแถลงนโยบายการพัฒนาสื่อโทรทัศน์สำหรับเด็ก และเยาวชน พร้อมฉลองครบรอบ 12 ปี สถานีโทรทัศน์ ETV บ้านหลังใหญ่แห่งการเรียนรู้ขึ้น

โดยมี นายจาตุรนต์ ฉายแสง รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดงาน พร้อมแถลงนโยบายเกี่ยวกับ 6 ยุทธศาสตร์ พร้อมด้วย ดร.รุ่ง แก้วแดง รักษาการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ผู้มีส่วนสำคัญในการก่อตั้งสถานี ETV คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ, นพ. ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ประธานคณะทำงานพัฒนาผังรายการ ETV และที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, ทพ. กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ รองผู้จัดการ สสส. ผู้ร่วมสนับสนุนนโยบายสื่อเพื่อการศึกษา และการเรียนรู้ ที่มีทั้งสาระและบันเทิงอย่างสถานีโทรทัศน์ ETV พร้อมด้วยคณะผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ และทีมผู้ผลิตรายการ รวมทั้งแฟนๆ จากทางสถานี ที่ถือเป็นการรวมตัวกันของครอบครัว ETV อย่างคับคั่ง

นายจาตุรนต์ ฉายแสง รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้กล่าวแถลงนโยบายในการใช้สื่อโทรทัศน์ ETV บ้านหลังใหญ่แห่งการเรียนรู้ เพื่อการศึกษาโลกกว้างของเด็ก เยาวชน และครอบครัวว่า จากสถานการณ์สื่อเพื่อเด็กในปัจจุบัน การจะทำให้เกิดสื่อที่มีคุณภาพเพื่อเด็กอย่างแท้จริงนั้น ยังมีอุปสรรคอยู่มาก

ดังนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่สื่อเพื่อการศึกษา และการเรียนรู้ ที่มีทั้งสาระและบันเทิงอย่างสถานีโทรทัศน์ ETV จะต้องได้รับการสนับสนุน โดยกระทรวงศึกษาธิการจะผลักดันให้เกิดพัฒนาคุณภาพสื่อโทรทัศน์ สำหรับเด็ก เยาวชน ได้แก่ 6 ยุทธศาสตร์ คือ

ยุทธศาสตร์ที่ 1 การสร้างความรู้และความเข้าใจในช่องทางการเรียนรู้ให้กับกลุ่มเด็ก เยาวชน ครอบครัว ครู และโรงเรียน เพื่อให้เกิดการรับชมรายการของทางสถานีฯอย่างแพร่หลายทั้งในชุมชน และสถานศึกษา

ยุทธศาสตร์ที่ 2 สร้างแรงจูงใจในการรับชมรายการของทางสถานีฯ โดยให้เด็กๆ ได้มีโอกาสมีส่วนร่วม ประเมินคุณภาพรายการโทรทัศน์ มีส่วนร่วมในการผลิตรายการโทรทัศน์

ยุทธศาสตร์ที่ 3 เพิ่มช่องทางในการเข้าถึงเพื่อกระจายโอกาสในการรับชมรายการ โดยในอนาคตจะจัดตั้งทีมวิจัยเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการแปรรูปสถานีโทรทัศน์ ETV ให้เป็นรูปแบบของฟรีทีวี

ยุทธศาสตร์ที่ 4 กระทรวงศึกษาธิการจะส่งเสริมการพัฒนารายการและการสร้างแรงจูงใจในการผลิตรายการ ในรูปแบบของการจัดตั้งกองทุนสื่อเพื่อเด็ก และผลักดันให้เกิดมาตรการทางภาษีในการสนับสนุนผู้ผลิตรายการ

ยุทธศาสตร์ที่ 5 สนับสนุนให้เกิดกระบวนการสร้างพันธมิตรเครือข่าย เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน และองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาสถานีโทรทัศน์เพื่อการศึกษา และการเรียนรู้ ของเด็ก เยาวชน และครอบครัว

ยุทธศาสตร์สุดท้าย คือการส่งเสริมให้เกิดกระบวนการสื่อสารสาธารณะ หรือการโฆษณา ประชาสัมพันธ์สถานีโทรทัศน์ ETV บ้านหลังใหญ่แห่งการเรียนรู้ออกสู่สังคมอย่างแพร่หลาย

ด้านนพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ประธานคณะทำงานพัฒนาผังรายการ ETV และที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงการพัฒนาผังรายการและก้าวต่อไปของ ETV ว่า สถานีโทรทัศน์ ETV บ้านหลังใหญ่แห่งการเรียนรู้ คือสถานีเพื่อเด็กและเยาวชนที่วันนี้ ไม่เพียงแต่ตอบสนองมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 พ.ย. 2546 ที่บัญญัติไว้ว่า สถานีโทรทัศน์จะต้องมีรายการโทรทัศน์เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กเยาวชน และครอบครัวในช่วงไพร์มไทม์อย่างน้อย 1 ชั่วโมง

แต่ตลอดระยะเวลา 12 ปีที่ผ่านมา ETV คือสถานีโทรทัศน์ที่ส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับเด็กเยาวชน และครอบครัวตลอดมา อย่างต่อเนื่อง โดยพัฒนาผังรายการซึ่งแบ่งออกเป็น 4 ส่วนคือ รายการสำหรับเด็กเล็ก อายุ 3 – 5 ขวบ สำหรับเด็กวัยเรียน 6 – 12 ปี สำหรับเด็กวัยรุ่น 12 – 18 ปี และรายการสำหรับกลุ่มครอบครัว นอกจากนี้ทางสถานีได้จัดตั้งกลุ่มอาสาสมัครแต่ละช่วงวัยในโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการ “ติดตามรับชมรายการโทรทัศน์ ETV” เพื่อประเมินคุณภาพรายการโทรทัศน์ และพัฒนารายการ และศักยภาพของทีมผู้ผลิตรายการอย่างต่อเนื่อง

ผศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการสำนักรณรงค์ และสื่อสารสาธารณะ เพื่อสังคม สสส. กล่าวถึงปัญหารายการสำหรับเด็กว่า รายการเด็กมักไม่ได้รับการสนับสนุนจากผู้ผลิต และผู้ให้การสนับสนุนมีจำนวนน้อย รวมไปถึงนโยบายของสถานีก็จะจัดความสำคัญของรายการเด็ก ต่ำกว่ารายการประเภทต่างๆ

ผู้บริโภคเองก็เข้ามามีส่วนร่วม ในการขับเคลื่อนสร้างกระแสการเป็นเจ้าของรายการเด็กไม่มาก สสส. สนับสนุนโทรทัศน์ในฐานะสื่อเพื่อการเรียนรู้ เป็นการเพิ่มพื้นที่ดีๆในตัวเด็ก สร้างภูมิคุ้มกันในเด็กในการเผชิญปัจจัยเสี่ยงจากสื่อที่ล่อแหลม บทบาทของ สสส.ในสถานี ETV นั้น ได้สนับสนุนในส่วนเนื้อหารายการเด็กที่มีคุณภาพและพัฒนาศักยภาพผู้ผลิตสำหรับการทำงานร่วมกันกับ ETV ถือเป็นการขับเคลื่อนเชิงนโยบายที่ สสส. ให้ความร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ เป็นการพัฒนาสื่อของรัฐ เพื่อตอบสนองประโยชน์ของสาธารณะชน

ส่วนนางสาวเข็มพร วิรุณราพันธ์ ผู้จัดการแผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน สสส. กล่าวว่า สำหรับการขับเคลื่อนครั้งนี้ สสส. ได้ใช้ยุทธศาสตร์ ซึ่งมีแนวทางหลักคือ การมีสื่อที่สร้างสรรค์เหมาะสมและสอดคล้องต่อการสร้างสุขภาวะให้แก่เด็ก เยาวชนและครอบครัว 4 ด้าน คือ เพื่อพัฒนาช่องทางให้สื่อดีๆได้ให้มีโอกาสเผยแพร่ผลงานที่มีคุณภาพออกสู่สาธารณะชน และสนับสนุนให้เกิดสื่อที่ดีและเหมาะสมสำหรับเด็กในแต่ละช่วงวัย นอกจากนี้ยังเสริมสร้างศักยภาพของผู้ผลิต ให้เกิดความเข้มแข็งในเครือข่ายเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ด้านเด็ก สร้างกระแสการมีส่วนร่วมของคนในสังคม สนับสนุนให้เกิดเครือข่ายการทำงาน เพื่อสร้างมาตรฐานของสื่อที่ดีในสังคม

“เนื่องในโอกาส 12 ปี ETV อยากจะฝากกับสังคมว่า สถานีโทรทัศน์เพื่อการศึกษา ETV นี้เป็นแหล่งเรียนรู้เป็นสมบัติของสังคม เป็นเหมือนห้องสมุดขนาดใหญ่ให้เด็กได้ศึกษาหาความรู้ อยากฝากให้ช่วยกันเฝ้ามอง มีส่วนร่วม และช่วยกันพัฒนา เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้ของเด็กไทย”

ในขณะที่ นายสุนทร พรหมรัตนพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา (ETV) กล่าวว่าตั้งแต่กระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายที่ชัดเจน และการได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ในการนำนโยบายไปปฏิบัติใช้ทำให้เกิดรายการดีๆที่มีคุณภาพ ที่ตอบสนองต่อการเรียนรู้ของเด็ก เยาวชน และครอบครัวเพิ่มขึ้นใน ETV จำนวน 20 กว่ารายการ ทำให้เราสามารถปรับเปลี่ยนผังรายการให้มีความน่าสนใจมากขึ้น ซึ่งรายการเหล่านี้มีการพัฒนารูปแบบที่น่าสนใจ เกิดจากเครือข่ายผู้ผลิตมืออาชีพ เช่น รายการเห็ดหรรษา รายการสารคดีเด็ก เยาวชน ของบริษัท ป่าใหญ่ครีเอชั่น

“สิ่งที่เห็นเปลี่ยนแปลงได้ชัดเจน คือในส่วนของการติดตามชม ETV ได้มีการเพิ่มช่องทางการชมเป็นระบบ ทีวีออนดีมานด์ (TV on Demand) ก็มีผู้รับชม ETV จากอินเตอร์เน็ตมากขึ้น ถึงเดือนละเกือบ 10,000 ราย ซึ่งนี่ยังไม่นับจากผู้ชมจาก UBC 96 และจานดาวเทียม และ ในโอกาส 12 ปี ที่ ETV จะก้าวไปข้างหน้า เราจะเน้นให้ ETVเป็นบ้านหลังใหญ่แห่งการเรียนรู้ของเด็ก เยาวชน และครอบครัว โดยมีผังรายการอย่างชัดเจน เป็นการพัฒนา ETV ออกไปอีกขั้นหนึ่ง เกิดเป็นนโยบายที่มีความเป็นรูปธรรม รุกเข้าไปยังผู้ชมในสถานศึกษา เน้นการมีส่วนร่วม ทั้งในส่วนการผลิต จัดรายการ” นายสุนทรกล่าวปิดท้าย

กำลังโหลดความคิดเห็น