xs
xsm
sm
md
lg

ผลวิจัยตอกย้ำ "เขยฝรั่ง" ส่งครอบครัวเมียไทยฐานะดี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วิจัยหญิงในชนบทภาคอีสานที่แต่งงานกับชาวต่างชาติเป็นที่ยอมรับของชุมชนและคนในครอบครัวมากขึ้น อีกทั้งทำให้เกิดกระแสไหลเวียนของรายได้ ความสำเร็จทางวัตถุ สถานภาพทางสังคมดีขึ้น และที่สำคัญเขยต่างชาติสามารถสนับสนุนจุนเจือครอบครัวด้านรายได้มากกว่าเขยไทย

สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (สวช.) เผยแพร่ผลงานวิจัยเรื่อง “การแต่งงานข้ามวัฒนธรรมของผู้หญิงในชนบทอีสาน” ของ ผศ.ดร.บัวพันธ์ พรหมพักพิง มหาวิทยาลัยขอนแก่นและคณะ โดยการสนับสนุนของ สวช. ซึ่งความเป็นมาของผลงานวิจัยครั้งนี้ ผู้วิจัยระบุว่ามีบางจังหวัดในภาคอีสานจัดพิธีบายศรีสู่ขวัญ “เขยฝรั่ง” อย่างเป็นทางการในเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งการที่เขยฝรั่งได้รับเกียรติในพิธีสำคัญและมีคุณค่า ความหมายต่อชาวอีสานเช่นนี้ ผู้วิจัยตั้งข้อสังเกตว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวน่าจะเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมชุมชนของเรา เพราะการแต่งงานข้ามวัฒนธรรมนี้มิใช่เป็นเรื่องใหม่ แต่มีมาแต่สมัยก่อนแล้ว เพียงแต่ปัจจุบันมีนัยที่แตกต่างกัน และที่น่าสนใจคือ เป็นการจับคู่ระหว่างฝ่ายชายในประเทศที่มีเศรษฐกิจหรือมาตรฐานการดำรงชีวิตที่อยู่ในกลุ่มชั้นนำ กับฝ่ายหญิงซึ่งมีถิ่นฐานอยู่ในภูมิภาคที่ถือได้ว่ามีความยากจนและล้าหลังที่สุดของประเทศ

ดังนั้น การวิจัยครั้งนี้จึงมีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาเปรียบเทียบผลกระทบทางด้านวัฒนธรรมชุมชนของการสมรสข้ามวัฒนธรรมระหว่างหญิงไทยในสังคมชนบทอีสานกับชาวตะวันตกและตะวันออก โดยเลือกศึกษาผู้หญิงที่แต่งงานกับชาวตะวันออกและตะวันตกจำนวน 12 กรณี จากชุมชนชนบท 4 แห่ง โดยแบ่งเป็นชุมชนที่มีหญิงแต่งงานกับชาวตะวันตก 1 แห่ง เช่น เยอรมนี เดนมาร์ก อิตาลี เป็นต้น และชุมชนที่หญิงแต่งกับคนตะวันออกอีก 3 แห่ง เช่น ญี่ปุ่น ฮ่องกง ซึ่งการแต่งงานของหญิงไทยกับชาวตะวันออกมักจะเป็นการนำพาของโชคชะตาเป็นหลัก ส่วนการแต่งงานกับชาวตะวันตกนั้น มักเป็น “ความตั้งใจ” ของผู้หญิงในการแสวงหาคู่แต่งงานเป็นหลัก

จากการวิจัยยังพบอีกว่า หญิงที่แต่งงานกับชาวตะวันตกส่วนมากเป็นผู้ที่เคยผ่านการแต่งงานมาก่อน แล้วหย่าร้าง ส่วนหญิงที่แต่งงานกับชาวตะวันออก มีทั้งที่เคยและไม่เคยแต่งงานมาก่อน โดยอายุเริ่มแรกแต่งงานมีตั้งแต่ 19 ปีขึ้นไป และอายุสูงสุด 47 ปี อย่างไรก็ตาม จากกรณีศึกษาทั้ง 12 กรณีไม่พบว่ามีการใช้ช่องทางทางอินเทอร์เน็ตเพื่อนำไปสู่การแต่งงาน แต่ก็เริ่มมีคนรู้จักและเริ่มใช้กันบ้างแล้ว เพียงแต่มีอุปสรรคสำคัญคือ การขาดความรู้และทักษะเพียงพอ และแม้ว่าผู้หญิงที่แต่งกับชาวต่างชาติจะมิใช่กลุ่มที่ยากจนที่สุดในชุมชน แต่หลังการแต่งงานก็ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนในทรัพยากรทางวัตถุของครัวเรือน หญิงที่แต่งงานกับต่างชาติส่วนใหญ่มีรายได้ประจำจากสามี และการแต่งงานดังกล่าวได้ทำให้เกิดกระแสไหลเวียนของรายได้เพิ่มขึ้น และส่งผลต่อทรัพยากรอื่น ๆ เช่น ครัวเรือนที่หญิงแต่งงานกับต่างชาติและประสบความสำเร็จทางวัตถุ ได้รับการยกย่อง การนับหน้าถือตา สถานภาพก็ปรับเปลี่ยนในทางที่ดีขึ้น

นอกจากนี้ การแต่งงานข้ามวัฒนธรรมยังเป็นที่ยอมรับของชุมชน คนในครอบครัวของหญิงที่แต่งงานข้ามวัฒนธรรม หรือญาติพี่น้องในชุมชนต่างสนับสนุนหญิงในการแต่งงานดังกล่าว เนื่องจากมีความหมายทางเศรษฐกิจมาก คนในชุมชนจะมองว่าเป็น “ช่องทาง” ในการมีรายได้เพิ่มมากกว่าที่อาจจะได้มาจากช่องทางอื่น ๆ และที่สำคัญคือ “เขยต่างชาติ” สามารถสนับสนุนจุนเจือครอบครัวด้านรายได้มากกว่า “เขยไทย”
กำลังโหลดความคิดเห็น