พบคนไทยนิยมบริโภคอาหารหวาน มัน เค็มสูง เสี่ยงเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคมะเร็ง ขณะเดียวกันยังพบว่ากินผักน้อยทั้งวัยเด็กและผู้ใหญ่ ด้านภาคีเครือข่ายเร่งรณรงค์กินเป็นเน้นผัก ผลไม้ ด้วยเมนูชูสุขภาพ 10 ตำรับ นำร่อง 8 จังหวัด พร้อมเปิดตัวเทพีกินเป็น-กินไม่เป็น
นพ.สมยศ เจริญศักดิ์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดโครงการ “กินเป็นเน้นผัก ผลไม้ ระวังภัยหวาน มัน เค็ม” ภายใต้ความร่วมมือของกรมอนามัย สมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่ายด้านอาหารและโภชนาการทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและโภชนาการคนไทยหันมารับประทานผัก ผลไม้ ให้มากขึ้น ลดการกินหวาน มัน เค็ม โดยกลุ่มเป้าหมายการรณรงค์ คือ เด็กนักเรียน เน้นปลูกฝังนิสัยการบริโภคตั้งแต่วัยเด็ก หลังพบนิยมอาหารฟาสต์ฟู้ด ซึ่งไม่ค่อยมีผัก โดยจะขอความร่วมมือจากร้านอาหารให้จัดหาเมนูอาหารที่เหมาะสม
รศ.ดร.ประไพศรี ศิริจักรวาล สถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เด็กไทยกินผักแค่ช้อนครึ่งต่อวัน ทั้งที่ควรกินวันละ 12 ช้อนกินข้าวต่อวัน ขณะที่ผู้ใหญ่กินผักน้อยเช่นกัน โดยกินวันละ 2 ช้อนครึ่ง ทั้งที่ควรกิน 24 ช้อน หรือ 6 ทัพพี เป็นอย่างน้อย คนไทยกินน้ำตาล 29.2 กิโลกรัมต่อปี หรือ 20 ช้อนชาต่อวัน เกณฑ์ขององค์การอนามัยโลกให้กินไม่เกิน 6-8 ช้อนชา โดยเครื่องดื่ม 1 แก้ว มีน้ำตาล 8 ช้อนชา น้ำอัดลม 1 กระป๋อง มีน้ำตาล 10 ช้อนชา ส่วนอาหารมัน พบว่าพฤติกรรมบริโภคอาหารของวัยรุ่น พบว่านิยมรับประทานอาหารผัด ทอด เป็นอันดับ 1 สะท้อนว่า กินไขมันมาก
นอกจากนี้ พบการกินเค็มเกินเกณฑ์กำหนด โดยสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่ากลุ่มตัวอย่าง 360 คน เติมน้ำปลาในอาหารวันละเฉลี่ย 54 มิลลิกรัม ได้รับโซเดียมสูงถึงวันละ 5,218 มิลลิกรัม ทั้งที่เกณฑ์กำหนดไว้คือ ควรกินเพียงวันละ 1,500 มิลลิกรัม มากกว่าเกณฑ์ปกติ 4 เท่า การกินหวาน มัน เค็ม ดังกล่าว ทำให้มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคมะเร็ง โดยเฉพาะโรคหัวใจและหลอดเลือด พบแนวโน้มคนไทยเสียชีวิตจากโรคนี้ชั่วโมงละ 5 คน ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดคือ คนอ้วนลงพุง
ด้าน รศ.ดร.ภารดี เต็มเจริญ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า โครงการกินเป็นเน้นผัก ผลไม้ มีโรงเรียนเข้าร่วม 10 โรง ในจังหวัดเชียงใหม่ อุบลราชธานี อ.หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา และกรุงเทพฯ จัดรถขายผลไม้ในโรงเรียน งดการขายน้ำอัดลม
ขณะที่ นางปวรวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย กล่าวว่า ร้านอาหาร ภัตตาคารที่เข้าร่วมโครงการกินเป็นเน้นผัก ผลไม้ มี 8 จังหวัดนำร่อง โดยมีร้านอาหารที่จัดเมนูเน้นกินผัก ผลไม้ ลดหวาน มัน เค็ม จังหวัดละ 10 ร้าน คือ จังหวัดพิษณุโลก เชียงใหม่ สงขลา อุบลราชธานี ตรัง สุพรรณบุรี ปทุมธานี และกรุงเทพฯ สามารถดูรายละเอียดชื่อร้านอาหารได้ที่ www.thairestaurantassociation.com
สำหรับเมนูอาหารในร้านอาหารนำร่องมีสูตรเดียวกันคือ ส้มตำ แกงส้มผักรวม แกงเลียงนพเก้า ยำถั่วพู ยำตะไคร้ ลาบปลา น้ำพริกกะปิผักสด ปลาช่อนนึ่งสมุนไพร ต้มยำกุ้ง ผัดผักไตรรงค์
นอกจากนี้ ระหว่างเปิดโครงการฯ มีการเปิดตัวพรีเซ็นเตอร์ เทพีคนกินเป็นและกินไม่เป็นนั่งมาบนรถเข็น โดยผู้ที่กินไม่เป็น มาพร้อมกับอาหารหวาน มัน เค็ม มีน้ำหนักตัวถึง 150 กิโลกรัม ส่วนผู้ที่กินเป็นมาพร้อมกับผัก ผลไม้ น้ำหนักปกติ หน้าตาสวยงาม เป็นการเปรียบเทียบให้ทราบถึงผลลัพธ์ของพฤติกรรมการกินที่แตกต่างกัน