“ว.วชิรเมธี” ชี้ชัดเรื่องคำสอนของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่เรื่องของความเห็น แต่ต้องใช้ความรู้ในพระไตรปิฎกที่เป็นสัจธรรมมาตัดสิน แนะคณะสงฆ์ต้องตั้งคณะกรรมการเพื่อพิสูจน์อย่างเป็นทางการกรณี “พระธัมมชโย” เพื่อให้เกิดความชัดเจน
จากกรณีเมื่อวันที่ 22 ส.ค.ที่ผ่านมา ศาลสั่งจำหน่ายคดีวัดพระธรรมกาย หลัง “อัยการสูงสุด” ยื่นคำร้องขอถอนฟ้อง “พระธัมมชโย” กับลูกศิษย์ 2 สำนวนข้อหายักยอกเงินบริจาควัดกว่า 35 ล้าน พร้อมทั้งยกเหตุจำเลยคืนเงินวัดกว่า 930 ล้าน และยอมเผยแผ่ศาสนาตามพระไตรปิฎกตามพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราช รวมถึงคดีธรรมกายอีก 3 สำนวนที่อัยการพร้อมยุติคดีสั่งไม่ฟ้องเช่นกันนั้น
พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี หรือ ว.วชิรเมธี ให้ความเห็นว่า กรณีเรื่องคำสอนว่าถูกต้องตามพระไตรปิฎกแล้วหรือไม่เป็นสิ่งที่สำคัญมาก ดังนั้น คณะสงฆ์ควรมีคณะกรรมการตรวจสอบการเผยแผ่คำสอนของพระธัมมชโยอย่างเป็นทางการ ไม่ใช่แค่บอกว่าทำถูกแล้ว แต่ไม่มีกระบวนการตรวจสอบเลย ซึ่งดูง่ายเกินไป เพราะเรื่องคำสอนของพระพุทธเจ้าต้องใช้พระไตรปิฎกเป็นบรรทัดฐาน ไม่ใช่แค่ใช้ความเห็น
“เรื่องความถูกต้องของสัจธรรมในพระพุทธศาสนาไม่ใช่เรื่องที่สามารถใช้ความเห็นมาตัดสิน แต่เป็นเรื่องระดับความรู้ อย่าเอาความเห็นมาตัดสินสัจธรรม เรื่องสัจธรรมต้องใช้สิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้เอาไว้ในพระไตรปิฎก แล้วมาพิสูจน์ให้ถูกต้อง ยกตัวอย่างให้เห็นชัด ใครๆ ก็พูดได้ว่า เมื่อก่อนนี้เคยเป็นขโมยแต่ตอนนี้เลิกแล้วถามว่าน่าเชื่อถือไหม อาตมาคิดว่าสังคมไทยให้ความสำคัญกับความจริงให้มากกว่านี้ โดยเฉพาะเรื่องของสัจธรรมที่ไม่ควรใช้ท่าทีอย่างหยวนๆ มาตัดสิน ไม่เช่นนั้นจะเกิดรอยร้าวขึ้นในพระพุทธศาสนาของไทยได้” พระมหาวุฒิชัยกล่าว
พระมหาวุฒิชัย กล่าวต่อว่า การพิสูจน์ที่เกิดขึ้นจะเกิดผลดีต่อพระพุทธศาสนาในอนาคต เพราะถ้าได้รับคำยืนยันจนเป็นที่ยอมรับแล้วว่า เป็นคำสอนที่ถูกต้องจริงพุทธศาสนาในประเทศไทยก็จะได้วัดพระธรรมกายเป็นกำลังสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้กว้างขวางออกไป เพราะต้องยอมรับว่า วัดพระธรรมกายนั้นประสบความสำเร็จในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในเชิงรุก ถึงขนาดมีดาวเทียมเป็นของตนเอง ซึ่งคณะสงฆ์เองก็ต้องเรียนรู้เรื่องที่ดีเหล่านี้มาประยุกต์ใช้ แต่ถ้าไม่ถูกต้องก็เป็นเรื่องที่จะต้องจัดการให้ถูกต้อง ไม่เช่นนั้นแล้วมาตรฐานคำสอนในพระพุทธศาสนาจะเกิดการลักลั่นได้
ด้านพระพรหมสุธี กรรมการ มส.และในฐานะผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศ กล่าวให้สัมภาษณ์ “มติชน” ว่า เรื่องนี้ต้องยอมรับตามที่อัยการได้พิจารณา จะให้ มส.ไปต่อสู้อะไร ส่วนพระธรรมกิตติเมธี โฆษกกรรมการ มส.กล่าวว่า เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับ พศ.จะตัดสิน เพราะเป็นอำนาจของอัยการ และ มส.คงไม่มีอำนาจในการตัดสินใจ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีอัยการยกเหตุผลหนึ่งในการถอนฟ้องคดี ธัมมชโย ฐานยักยอกทรัพย์สินวัดพระธรรมกายนั้น ธัมมชโยกับพวกมอบทรัพย์สินทั้งหมดคืนให้แก่วัดแล้ว การกระทำดังกล่าวของธัมมชโยจึงเป็นการปฏิบัติตามพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ครบถ้วนทุกประการแล้ว
แต่ล่าสุด จากการตรวจสอบเนื้อหาในพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราช เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2542 เรื่อง “วินิจฉัยปัญหาของวัดพระธรรมกาย” พบว่า สาระสำคัญในพระลิขิตยังเหลือการดำเนินการให้พ้นจากความเป็นสมณะโดยอัตโนมัติตามความผิดที่เกิดขึ้นแล้ว
พระลิขิตมีใจความว่า “ความบิดเบือนพระพุทธธรรมคำสอน โดยกล่าวหาว่าพระไตรปิฎกบกพร่อง เป็นการทำให้สงฆ์ที่หลงเชื่อคำบิดเบือน แตกแยกออกไป กลายเป็นสอง มีความเข้าใจความเชื่อถือพระพุทธศาสนาตรงกันข้าม เป็นการทำลายพระพุทธศาสนา ทำให้สงฆ์แตกแยก เป็นอนันตริยกรรม มีโทษทั้งปัจจุบันและอนาคตที่หนัก”
“ส่วนที่มิใช่เป็นการลงโทษ แต่เป็นการทำที่ถูกต้อง คือ ต้องมอบสมบัติทั้งหมดที่เกิดขึ้นในขณะเป็นพระให้แก่วัดทันที (5 เม.ย.2542) ไม่คิดให้มีโทษ เพราะติดในแง่ยกประโยชน์ให้ว่าในขั้นต้นอาจมิใช่มีเจตนาถือเอาสมบัติของวัดเป็นของตนจริงๆ แต่เมื่อถึงอย่างไรก็ไม่ยอมมอบคืนสมบัติทั้งหมดที่เกิดขึ้นในขณะเป็นพระให้แก่วัด ก็แสดงชัดแจ้งว่าต้องอาบัติปาราชิก ต้องพ้นจากความเป็นสมณะโดยอัตโนมัติ ต้องถูกจัดการอย่างเด็ดขาด เช่นเดียวกับผู้ไม่ใช่พระปลอมเป็นพระด้วยการนำผ้ากาสาวพัสตร์ไปครอง ทำความเศร้าหมองเสื่อมเสียให้เกิดแด่สงฆ์ในพระพุทธศาสนา”