อดีตผู้อำนวยการสำนักพระพุทธศาสนาฯ ตั้งคำถาม ใหญ่ ใครเป็นคนพิสูจน์ว่า “พระธัมมชโย” ได้คืนทรัพย์สินให้กับวัดพระธรรมกายจริง รวมทั้งคำสอนที่กระทำถูกต้องตามพระไตรปิฏกแล้วจริงหรือไม่ ขณะที่สำนักพุทธฯ ยืนยันชัดเจนเรื่องนี้จบแล้ว
จากกรณีเมื่อวันที่ 22 ส.ค.ที่ผ่านมา ศาลสั่งจำหน่ายคดีวัดพระธรรมกาย หลัง “อัยการสูงสุด” ยื่นคำร้องขอถอนฟ้อง “พระธัมมชโย” กับลูกศิษย์ 2 สำนวนข้อหายักยอกเงินบริจาควัดกว่า 35 ล้าน พร้อมทั้งยกเหตุจำเลยคืนเงินวัดกว่า 930 ล้าน และยอมเผยแผ่ศาสนาตามพระไตรปิฎกตามพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราช รวมถึงคดีธรรมกายอีก 3 สำนวนที่อัยการพร้อมยุติคดีสั่งไม่ฟ้องเช่นกันนั้น
นพ.จักรธรรม ธรรมศักดิ์ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) กล่าวว่า จากการติดตามข่าวสารเกี่ยวกับเรื่องนี้และเหตุผลที่อัยการถอนฟ้อง สามารถสรุปได้2 ประการคือ หนึ่ง-คำสอนของพระธัมมชโยนั้นไม่มีอะไรที่ผิดไปจากพระไตรปิฏก และสอง-พระธัมมชโยได้คืนเงินวัดกว่า 930 ล้านแล้ว
แต่สิ่งที่สังคมอาจจะต้องตั้งคำถามเกี่ยวกับการถอนฟ้องในครั้งนี้ก็คือ ใครคือคนพิสูจน์ว่าพระธัมมชโยคืนทรัพย์ให้กับทางวัดแล้วจริง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของคำสอนที่ถูกต้องตามพระไตรปิฏกแล้ว ซึ่งตรงนี้เป็นประเด็นที่สำคัญและเป็นกุญแจของเรื่องที่เกิดขึ้นทั้งหมด
“ตอนที่ผมเป็นผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ทางอัยการสูงสุดได้เชิญผมไปคุย ผมก็ให้ความเห็นไปว่า ตามที่ผมได้อ่านลิขิตของสมเด็จพระสังฆราชฯก็มีผิด 2 เรื่องคือสอนผิดกับเรื่องการคืนทรัพย์ให้กับวัด ถ้า 2 ประเด็นคลี่คลายไปตามที่สมเด็จพระสังฆราชฯ มีพระบัญชาก็น่าจะคลี่คลายได้"
"อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผมต้องตั้งคำถามก็คือ แล้วใครมีไปตรวจสอบว่าทรัพย์สินเป็นของวัดตามที่กล่าวอ้างหรือไม่ และมีใครไปตรวจว่าคำสอนเหมือนหรือเปลี่ยนไปจากเดิม โดยเฉพาะเรื่องนิพพานเป็นอนัตตาหรืออัตตา ตรงนี้ต้องมีองค์กรชาวพุทธต้องไปตรวจสอบเพื่อให้เกิดความยอมรับในภาพรวม ถ้าเผื่อไม่เป็นไปตามนั้นก็ต้องไปบอกอัยการสูงสุด”นพ.จักรธรรมกล่าว
ส่วนนายมนัส ภาคภูมิ ผู้อำนวยการกองกลาง สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) กล่าวว่า การตั้งกรรมการสอบวินัยถือเป็นอำนาจของคณะสงฆ์ แต่ถ้ามีการฟ้องร้องคดีกันในทางโลกก็ต้องรอให้ศาลทางโลกตัดสินก่อน ซึ่งในกรณีวัดพระธรรมกาย ศาลทางโลกได้ตัดสินแล้ว ก็ถือว่าพ้นจากความผิดไป ถึงแม้ว่าในอดีตจะเคยถูกกล่าวหาว่า เคยมีการกระทำในลักษณะดังกล่าวก็ตาม
อย่างไรก็ตาม จากการที่ "ผู้จัดการรายวัน" ตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องนี้ไปที่แหล่งข่าวหลายต่อหลายคน ทั้งฆราวาสและพระสงฆ์ส่วนใหญ่ไม่อยากให้ความคิดเห็น แต่ก็ระบุชัดเจนว่า น่าจะมีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องแน่นอน เพราะวัดธรรมกายและพระธัมมชโยนั้นก็มีลูกศิษย์ลูกหาที่เป็นนักการเมืองมากมาย หรือดังที่ พระราชธรรมนิเทศหรือพระพยอม กัลยาโณ ให้ความเห็นเอาไว้ก่อนหน้านี้ว่า คงยากที่จะเอาผิดวัดธรรมกายและคิดมาก่อนหน้านี้แล้วว่าจะเป็นแบบนี้ เพราะศิษย์วัดพระธรรมกายในบ้านเมืองเรามีเยอะ เป็นผู้มีอิทธิพลทางการเมือง หากศาลตัดสินว่าผิดก็อาจเกรงว่าศิษยานุศิษย์อาจจะลุกฮือเกิดการจลาจลฆ่ากันได้ ในส่วนของรัฐบาลเองก็อาจจะไม่เอาจริงเรื่องนี้เพราะอาจจะเห็นประโยชน์ที่จะเกื้อกูลกัน อย่างเรื่องที่รัฐบาลไปใช้สถานที่จัดประชุมผู้แทนองค์กรท้องถิ่นที่ผ่านมา เป็นต้น
อนึ่ง ถ้าหากยังจำกันได้คงต้องย้อนกลับไปเหตุการณ์เมื่อวันที่ 17-18 กรกฎาคมที่ผ่านมาที่กระทรวงมหาดไทยได้จัดงาน “รวมใจทุกศาสนาพัฒนาท้องถิ่นไทย ถวายองค์ราชา ครองราชย์ 60 ปี”ที่วัดพระธรรมกาย โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้ทำหนังสือแจ้งไปจังผู้ว่าราชการทุกจังหวัดเพื่อประสานกับผู้นำองค์ปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) กว่า 8,000 แห่งทั่วประเทศให้ส่งตัวแทนท้องถิ่นละ 10 คนมาร่วมงาน ทำให้มีผู้มาร่วมงานกว่า 7.8 หมื่นคน
นอกจากนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรียังได้กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “การนำหลักการและคำสอนของศาสนามาใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานและการพัฒนาประเทศให้เกิดความผาสุกกับประชาชน” โดยชื่นชมถึงความยิ่งใหญ่ของวัดพระธรรมกาย