xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อ “นมแม่”แพ้เล่ห์ “นมผสม”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“…อยู่ๆ วันหนึ่งหลังจากที่คลอดน้องได้ 3 เดือน ก็มีโทรศัพท์จากบริษัทนมโทรมาซักถามข้อมูลถามเราว่า เลี้ยงลูกด้วยนมอะไร เราก็บอกว่า เลี้ยงด้วยนมแม่ ผู้หญิงคนนี้เป็นนางพยาบาลด้วยเขาก็แนะนำให้ใช้นมผสมเสริมนมแม่ เราก็ไม่ได้ปฏิเสธ เขาเลยส่งนมกระป๋องมาให้ทดลอง ซึ่งเราก็ตั้งใจแน่วแน่แล้วว่าจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก็ไม่ได้เอานมมาให้ลูกกิน เลี้ยงด้วยนมแม่ตลอด พอลูกครบ 6 เดือน เขาก็โทรมาอีก บอกเราว่าควรใช้นมผสมกับอาหารเสริมได้แล้ว จากนั้นก็ส่งนมมาให้ พอลูกอายุครบ 1 ขวบ ก็โทรมาอีกแล้วก็บอกว่า นมแม่ตอนนี้ไม่มีประโยชน์แล้ว ให้ใช้นมผสมซึ่งเสริมใยอาหาร สกัดสารแพ้โปรตีนน้ำนมวัวออกแล้วดีกว่านมแม่เยอะ พอ1 ขวบ 3 เดือน ก็โทรมาอีก คราวนี้บอกว่า นมแม่ไม่ดี ไม่ควรให้ลูกกินแล้ว จนเราได้ตัวอย่างนมยี่ห้อนี้มาเยอะมาก”

“แม่ปอ” ฐิติมา ศรีอัษฎาพร คุณแม่วัย 31 ปี ของน้องคิน ด.ช. ปพน หลีสกุล เล่าประสบการณ์ที่ถูกบริษัทนมแห่งหนึ่งใช้กลยุทธ์ทางการตลาดหลอกล่อ “คุณแม่มือใหม่” ด้วยการลด แลก แจก แถม รุกคืบถึงหน้าประตูบ้าน แต่ด้วยการค้นหาข้อมูลเพื่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างจริงจัง กอรปกับความตั้งอกตั้งใจทำให้ไม่ตกหลุมพรางง่ายๆ ขณะที่มีบรรดาคุณแม่หลายต่อหลายคนไม่รู้เท่าทัน ขาดความเข้าใจ ทำให้เสียโอกาสในการเลี้ยงลูกด้วยนมของตนเอง ซึ่งการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นสิ่งที่ดีที่สุด

ทั้งนี้การแจกผลิตภัณฑ์ตัวอย่าง การสมนาคุณชุดของขวัญฟรีๆ การโฆษณาที่บ่งบอกว่าผลิตภัณฑ์นั้น มีคุณประโยชน์ดีกว่าหรือเทียบเท่ากับนมแม่หรือการที่บริษัทนมติดต่อกับหญิงตั้งครรภ์ แม่และครอบครัว ไม่ว่าทางตรงหรืออ้อมถือเป็นการละเมิดหลักเกณฑ์สากลว่าด้วยการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง พ.ศ.2538 โดยองค์การอนามัยโลกได้สุ่มสำรวจเมื่อปี 2540 ปรากฏว่าไทยเป็นประเทศที่ละเมิดสูงสุดถึง 30% ขณะเดียวกันก็ส่งผลกระทบต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ซึ่งผลสำรวจของกรมอนามัย เมื่อปี 2546 พบว่าในกลุ่มแม่ที่เลี้ยงลูกช่วงวัย 6 เดือนแรกด้วยนมผสมนั้น 60% ได้รับแจกตัวอย่างนมผสมหลังคลอด

ที่น่าตกใจ คือ พบว่ามีการแจกตัวอย่างนมผสมในโรงพยาบาลเอกชนทุกจังหวัด รวมถึงโรงพยาบาลเอกชนที่มีชื่อเสียงเกือบทุกแห่งในกรุงเทพฯ และโรงพยาบาลของรัฐ ที่ไม่สังกัดกระทรวง และยังพบการแจกนมผสมทั้งในคลินิกหมอสูติและคลินิกหมอเด็กด้วย

“บางโรงพยาบาลแพทย์เป็นผู้แนะนำให้ใช้นมผสม บางโรงพยาบาลมีการตั้งโต๊ะแจกชิมฟรีมีเจ้าหน้าที่คอยเชียร์อยู่ข้างๆ ทำเหมือนให้ความรู้ หลายแห่งเจ้าหน้าที่รพ.เป็นตัวแทนจำหน่าย บางโรงพยาบาลให้เด็กกินนมตั้งแต่ในห้องคลอด หรือแจกฟรีให้แม่หลังคลอด โดยเขียนข้างกล่องเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือว่า "ผลิตภัณฑ์เพื่อการศึกษาทางการแพทย์ห้ามจำหน่าย" บริษัทนมบางแห่ง เข้าไปถึงสถานีอนามัย โดยให้เจ้าหน้าที่อนามัยเป็นตัวแทนจำหน่ายเอง นอกจากนั้นยังมีบางบริษัทไปแจกถึงเทศบาล หรือที่ว่าการอำเภอ เพราะจะมีคุณแม่ไปแจ้งเกิดให้ลูก และหลายบริษัทเข้าไปแจกในสำนักงานประกันสังคมจังหวัด เพราะคุณแม่จะไปเบิกค่าทำคลอด” ทพ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ ผอ.สำนักสนับสนุนการสร้างสุขภาวะและลดปัจจัยเสี่ยงรอง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ให้ข้อมูล

ทพ.ศิริเกียรติ บอกอีกว่า การแจกตัวอย่างนมผสมเป็นกลยุทธ์การตลาดที่บริษัททำมาอย่างต่อเนื่องในประเทศไทย โดยอาศัยบุคลากรสาธารณสุขและ สถานบริการสาธารณสุข เพราะมีประสิทธิภาพมากที่สุด เสียค่าใช้จ่ายน้อยเมื่อเทียบกับการโฆษณาตามสื่อต่างๆ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นน่าห่วงมาก จึงขอวิงวอนแพทย์ พยาบาล ไม่ควรตกเป็นเครื่องมือของบริษัทนมผสม ควรคำนึงถึงสุขภาพเด็กไทยมากกว่าผลประโยชน์

ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกระบุชัดว่า เด็กควรได้รับนมแม่อย่างเดียวจนอายุ 6 เดือนแรกอย่างเต็มที่ จึงเริ่มให้อาหารอื่นคู่ไปกับนมแม่จนลูกอายุ 2 ปี การได้รับนมผสมตั้งแต่แรกเกิดโดยไม่มีข้อบ่งชี้ เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ลูกต้องพึ่งพานมผสม เพราะทำให้ลูกดูดนมแม่น้อยลง การสร้างน้ำนมแม่ก็ลดลงตามไปด้วย เพราะแม่ไม่ถูกกระตุ้นให้สร้างน้ำนม ในที่สุดลูกก็ต้องใช้นมผสมไปตลอด

ด้าน พญ.ยุพยง แห่งเชาวนิช กรรมการโภชนาประถมวัยแห่งชาติ เสริมว่า มีงานวิจัยในต่างประเทศจำนวนมากยืนยันแล้วว่า การแจกตัวอย่างนมผสมดัดแปลงสำหรับทารกแก่แม่หลังคลอดเมื่อออกจากรพ. ทำให้ระยะเวลาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ลดลง เพราะเมื่อให้นมผสมร่วมไปกับนมแม่การสร้างน้ำนมแม่จะลดลงและแห้งไปในที่สุด สุดท้ายแม่จะต้องหันมาใช้นมผสมชนิดนั้นเลี้ยงลูก นั่นคือบริษัทได้ผลกำไรกลับคืน ซึ่งการสำรวจพบว่า 95% ของแม่ที่ได้รับตัวอย่างนมผสมจากโรงพยาบาลจะซื้อนมผสมยี่ห้อเดียวกับที่ได้รับ

ด้านพญ.ศิราภรณ์ สวัสดิวร ผู้จัดการศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย ตอกย้ำและสร้างความเข้าใจใหม่ว่า การแยกแม่กับลูกหลังคลอด ทำให้ต้องมีการใช้นมผสมกับลูก เพราะลูกไม่ได้อยู่กับแม่ ซึ่งเป็นแนวคิดเก่า ที่กังวลว่าลูกยังไม่แข็งแรง ต้องแยกรอทดสอบให้นมผสมหรือน้ำ ก่อนให้มาอยู่กับแม่ ในความเป็นจริง เด็กที่คลอดครบกำหนด และไม่มีปัญหาแทรกซ้อน ควรให้แม่และลูกอยู่ด้วยกัน

ผู้จัดการศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย บอกอีกว่า นักวิชาการทั่วโลกยืนยันชัดเจนว่า นมแม่เป็นอาหารมหัศจรรย์ที่ดีที่สุดสำหรับทารกโดยเฉพาะระยะ 6 เดือนแรกของชีวิตเพราะทารกที่กินนมแม่จะมีโอกาสเจ็บป่วยน้อยกว่าเด็กที่ได้รับนมผสม 2-7 เท่า เพราะนมแม่มีภูมิคุ้มกันที่จำเป็นสำหรับทารก ช่วยสร้างเสริม-ซ่อมแซมเนื้อเยื่อ ถ้าเจ็บป่วย ก็จะหายเร็วกว่า เช่น เด็กที่กินนมแม่จะท้องเสียเพียง 3-4% ขณะที่เด็กที่กินนมผสมมีโอกาสท้องเสียถึง 15% อีกทั้งมีความมหัศจรรย์ คือ น้ำนมแม่จะปรับเปลี่ยนส่วนผสมตามความต้องการของทารก เช่น ระยะหลังคลอด จะเป็นน้ำนม โคลอสตรัม ที่มีภูมิคุ้มกันและวิตามินสำคัญสูงกว่านมระยะหลังถึง 10 เท่า และเด็กที่กินนมแม่ยังมีโอกาส เป็นโรคภูมิแพ้น้อยกว่า โดยเฉพาะโรคแพ้โปรตีนนมวัวซึ่งผลการวิจัยระบุชัดเจนว่า ในเด็ก 1,799 คน พบเด็กที่แพ้โปรตีนนมวัว 39 คน โดย 30 คนเป็นเด็กที่กินนมผสม และ 9 คนกินนมแม่แต่มีประวัติการให้นมผสมช่วงวัยแรกเกิด 0-3 วันแรก

“นมแม่ถือเป็นต้นทุนสุขภาพที่ดีของเด็กไทย ช่วยในการพัฒนาทางสมอง(ไอคิว)ได้ดีกว่านมผสมตั้งแต่ 2 ถึง 11 จุด เพราะมีไขมันที่เหมาะสมกับการพัฒนาสมองทารก เช่น สาร DHAและAA ซึ่งต่างจากการเติมสารนี้ในนมผสม ที่ปัจจุบันผู้เชี่ยวชาญ ไม่ยอมรับให้มีการโฆษณา ว่า การเติม DHAและAA ในนมผสมแล้ว ทำให้เด็กมีพัฒนาการทางสมองดีเพราะยังมีปัญหาว่าเมื่อกินเข้าไปแล้วร่างกายจะนำไปใช้ได้จริงหรือ และอาจมีการสลายตัวได้หลังจากเติมลงในนมผสม ที่สำคัญอย่างยิ่ง คืออ้อมกอด การสัมผัส และการพูดคุย จากแม่ในทุกครั้งที่กินนมแม่ อย่างน้อยก็วันละ 8-10 ครั้ง ช่วยกระตุ้นจุดเชื่อมต่อในสมองซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาสมองลูกได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังมีผลดีต่อแม่ทำให้น้ำหนักเข้าที่ได้ดี โอกาสเป็นมะเร็งรังไข่ มะเร็งเต้านม ก็น้อยกว่าอีกด้วย”

พญ.ศิราภรณ์ บอกอีกว่า การให้ความรู้ ความเข้าใจกับแม่ พ่อและบุคคลในครอบครัวเป็นสิ่งที่สำคัญ นอกจากกระทรวงสาธารณสุขจะกำหนดนโยบายห้ามแจกนมผสมแก่แม่หลังคลอดแล้ว แม่ก็ควรควรรู้จักปฎิเสธ การแจก แถมที่มีผลประโยชน์ทางธุรกิจเคลือบแฝงเพื่อที่จะไม่ตกเป็นเหยื่อ

นี่จึงเป็นที่มาของการเคลื่อนไหวของ กลุ่มเครือข่ายนมแม่ 14 ภาคี ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดี ที่กระทรวงสาธารณสุขเองก็ขานรับข้อเรียกร้องที่ห้ามแจกนมผสมแม่หลังคลอด พร้อมขยายขนาดคำเตือน “นมแม่เป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารกเพราะมีคุณค่าโภชนาการครบถ้วน, ควรใช้ตามคำแนะนำของแพทย์ พยาบาล และนักโภชนาการ และการใช้ส่วนผสมไม่ถูกต้องเป็นอันตรายต่อทารก”

ดร.วัชระ พรรณเชษฐ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นผู้รับมอบหนังสือฯ ในวันนั้น ระบุว่า เห็นด้วยกับข้อเสนอ ในการห้ามแจกนมผสมให้แม่หลังคลอดในโรงพยาบาล เนื่องจากตนเป็นผู้หนึ่งที่มีลูก และเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ จึงทราบถึงประโยชน์มหาศาลของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ สำหรับการดำเนินการนั้นในส่วนโรงพยาบาลของรัฐ 700 แห่ง คงไม่เป็นปัญหา แต่ในส่วนของโรงพยาบาลเอกชน 300 แห่งทั่วประเทศนั้น จะมีการหารือเพื่อให้เป็นไปในแนวทางเดียวกันทั้งหมด พร้อมกันนี้ยังจะส่งหนังสือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้ออีกครั้ง ทั้งสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) กรมการปกครอง และองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อย้ำความร่วมมือไม่ให้มีการแจกนมผสมตามสถานที่ราชการและโรงพยาบาล โดยกำหนดระยะเวลาภายใน 1 เดือน หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงจะเรียกผู้ประกอบการมาหารือเพื่อขอความร่วมมือ ขณะเดียวกันก็ต้องมีการเสนอแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มีบทลงโทษผู้ประกอบการที่ไม่ดำเนินการตามด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น