“หมอประเวศ” ชี้สังคมไทยแตกแยกเพราะ “ผู้นำ” มีความคิดแบบแบ่งแยกและแยกขั้ว มั่นใจ “ผู้นำ” ไม่มีทางแก้ปัญหานี้ได้ ระบุเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นเรียก “ตีกัน” ไม่ได้ เพราะถูกกระทำอยู่ฝ่ายเดียว เผยการชุมนุมหรือประท้วงนายกฯ ด้วยสันติวิธีด้วยการใช้ “คำพูด” ไม่ผิดกฎหมายและหลายประเทศก็ทำกัน ร้องสังคมช่วยกันหยุดยั้งอย่าให้ “อันธพาล” ไปทำร้ายผู้ชุมนุมโดยสันติวิธี
นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส กล่าวภายหลังประชุมคณะทำงานยุทธศาสตร์ครอบครัวเข้มแข็ง ที่บริษัท รักลูกแฟมิลี่กรุ๊ป จำกัด วันนี้ (23 ส.ค.) ถึงบรรยากาศของสังคมไทยที่มีความขัดแย้งกันมากขณะนี้ว่า ความขัดแย้งที่รุนแรงขณะนี้และมีแนวโน้มที่จะมากขึ้น เนื่องจากในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ส่วนนำทางการเมืองของไทยมีวิธีความคิดแบบแบ่งแยกและแยกขั้ว จึงชักนำความคิดของสังคมไทยให้เป็นไปแบบแบ่งแยก ซึ่งนำไปสู่ความแตกแยกรุนแรง เช่นกรณีปัญหาในภาคใต้ก็มีสาเหตุเกิดจากส่วนนำทางการเมืองมีความคิดแตกแยกจึงทำให้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้
สำหรับเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นจะเรียกว่า “ตีกัน” ก็ไม่ได้ เพราะว่าตีกันหรือปะทะกันจะต้องต่างฝ่ายต่างกระทำ แต่ที่ปรากฏคือตีอยู่ข้างเดียว และมีแนวโน้มจะเกิดขึ้นได้อีก ซึ่งการชุมนุมหรือการประท้วงนายกรัฐมนตรีด้วยสันติวิธี โดยใช้คำพูดแต่ไม่ได้มีการลงมือลงไม้ก็ไม่ถือว่าผิดกฎหมาย และเป็นวิธีการหลายๆ ประเทศก็กระทำกันอยู่ แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่มีการลงไม้ลงมือกับผู้คนเกิดขึ้นจึงจะถือว่าผิดกฎหมาย
“เหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นมาหลายครั้งแล้ว เช่น ที่เชียงใหม่ อุดรธานี คมชัดลึก เป็นต้น ซึ่งก็ต้องช่วยกันระมัดระวัง อย่าให้มีอันธพาลไปใช้กำลังกับผู้ที่ไปชุมนุมโดยสันติวิธี”
นพ.ประเวศ กล่าวต่อว่า การให้ผู้นำมาแก้ปัญหาดังกล่าวก็มีการพูดกันหลายครั้งแล้วว่า ผู้นำจะต้องทำให้เกิดความสมานฉันท์เกิดขึ้นในสังคม หรือผู้นำต้องเลิกคิดแบ่งฝ่ายเพื่อไม่ให้เกิดความแตกแยก แต่ก็อย่าไปคาดหวังเพราะคงทำไม่สำเร็จ ถ้าทำไม่สำเร็จ สังคมก็ต้องเข้ามาช่วย
“แม้แต่พระพุทธเจ้าก็ยังไม่สามารถห้ามให้พระสงฆ์ทะเลาะกันได้เลย ในสมัยนั้นพระสงฆ์เมืองโกสัมพีทะเลาะกัน แบ่งกันเป็นสองฝ่าย พระพุทธเจ้าทรงห้าม แต่คณะสงฆ์ก็ไม่เชื่อ ในที่สุดเมื่อประชาชนทนไม่ไหวก็หยุดใส่บาตร คณะสงฆ์ทั้งสองฝ่าย พระสงฆ์จึงหันหน้าเข้าหากันได้ ทำนองเดียวกัน เมื่อทำให้ผู้นำคิดแยกฝ่ายไม่สำเร็จ สังคมก็ต้องเคลื่อนไหวที่จะเข้ามาจัดการเรื่องนี้เองเพื่อให้บรรยากาศดีขึ้น”
อนึ่ง ก่อนหน้านี้ในระหว่างที่ นพ.ประเวศ ไปประชุมคณะทำงานยุทธศาสตร์ครอบครัวเข้มแข็ง ที่บริษัท รักลูกแฟมิลี่กรุ๊ป จำกัด วันนี้ (23 ส.ค.) นพ.ประเวศได้ให้ข้อเสนอกับคณะทำงานว่า การจะสร้างครอบครัวหรือศีลธรรมให้เข้มแข็งนั้น จะต้องใช้ศีลธรรมเป็นพื้นฐาน และเป็นกลไกสำคัญ ไม่เช่นนั้นก็จะกลายเป็นกลโกงได้ง่ายๆ ซึ่งจะต้องเปลี่ยนมุมมองใหม่ว่าทุกคนมีศักดิ์ศรี มีคุณค่า และมีความรู้ โดยให้วัฒนธรรมเป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงและใช้ตำราเป็นเครื่องมือ ให้ความเคารพซึ่งกันและกัน แต่เดิมเราถูกจองจำอยู่ในความไม่จริง แต่หากเราเอาคนไปเชื่อมกับความเป็นจริงได้มนุษย์ทุกคนก็จะมีความสุข ซึ่งการดำเนินการจะต้องไม่ใช้เงินเป็นตัวตั้ง แต่ต้องใช้คนเป็นตัวตั้ง แล้วประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน สิทธิเด็ก เรื่องต่างๆ ก็จะเกิดขึ้นตามมาในสังคม
“ผมได้เคยเสนอต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรีในช่วงปี 2544 ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยแรกว่ารัฐบาลควรจะจัดงบประมาณปีละ 1 พันล้านบาท เพื่อสนับสนุนให้มหาวิทยาลัยต่างๆ ทำแผนที่ชีวิตของคนในพื้นที่ เพื่อสร้างคุณค่าให้กับทุกคน เปลี่ยนเป็นเศรษฐกิจวัฒนธรรม แต่ก็ไม่ได้เกิดขึ้น”
นพ.ประเวศ กล่าวต่อไปอีกว่า หากสังคมไทยมีครอบครับเข้มแข็ง ทุกคนก็จะมีความสุข โจทย์ของคนทำงานคือทำอย่างไรครอบครัวจึงจะเข้มแข็ง ซึ่งเป็นโจทย์ที่ทุกคนต้องมองเป็นเป้าหมายตลอดไป และขอเสนอแนะต่อคณะทำงาน 7 ประเด็นด้วยกันคือ 1.ภาคีทั้ง 9 จังหวัดที่ทำงานอยู่ จะสร้างความเข้มแข็งของภาคีและเครือข่ายให้เป็นสถาบันได้อย่างไร หาก สสส.ไม่ได้สนับสนุนงบประมาณแล้วทั้ง 9 ภาคีก็จะต้องสามารถทำงานต่อไป โดยต้องแสวงหาความรู้ บริการสังคม และสอนหรืออบรมคนได้ 2.การเชื่อมโยง การพัฒนาคณะทำงานต้องเชื่อมโยงเครือข่ายต่างๆ เข้าด้วยกัน เหมือนการทำงานของร่างกายที่อวัยวะต่างๆ ทำงานประสานกัน ซึ่งควรมีการประชุมเครือข่ายร่วมกันปีละ 4 ครั้งใน 4 ภูมิภาค
3.การวิจัยเพื่อหาว่ามีอะไรดีอยู่ตรงไหน และนำความรู้ไปเผยแพร่ต่อไป 4.การสื่อสาร คณะทำงานจะต้องเผยแพร่โครงการดีๆ
ในการทำงานให้กับสาธารณชนได้รับรู้ ซึ่งจะทำให้เกิดพลังในการทำตามหรือเข้ามาเป็นเครือข่ายเพิ่มเติม 5.ส่งเสริมให้มีอาสาสมัครเพื่อชุมชนและครอบครัวอยู่ในทุกพื้นที่ของสังคมไทย 6.เชื่อมโยงเครือข่ายในพื้นที่ ทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานรัฐ หรือเอกชนให้มาทำงานร่วมกัน และ 7.ต้องมีการพัฒนานโยบาย เพราะหากกำหนดเป็นนโยบายก็จะมีงบประมาณสนับสนุน และต้องนำไปปฏิบัติจริง
“หากกำหนดเป็นนโยบาย ก็อาจจะมีกฎหมายครอบครัวเข้มแข็งออกตามมา การทำงานก็จะเข้มแข็งขึ้น ยกตัวอย่างเช่น องค์กรต่างๆ ซึ่งมีอิทธิพลสำคัญอย่างมากต่อคน เราต้องดูว่าครอบครัวของพนักงานในองค์กรมีครอบครัวที่เข้มแข็งหรือไม่ เขามีคุณภาพชีวิตที่ดี มีเวลาอยู่กับครอบครัว ดูแลคนในครอบครัวหรือไม่ หากองค์กรไหนสามารถทำ พัฒนาคุณภาพชีวิตพนักงานได้ดี ก็อาจจะมีการลดภาษีให้ สิ่งเหล่านี้ควรกำหนดเป็นนโยบายก็จะทำให้ครอบครัวของสังคมไทยเข้มแข็งขึ้น และทุกคนก็จะมีความสุข”ราษฎรอาวุโสกล่าว