เมื่อไม่นานมานี้ นิตยสารจีเอ็ม ได้จัดเสวนาประสาคนเมืองขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ภายใต้หัวข้อเรื่อง “รักใคร่ของคนเมือง” เป็นการเสวนาแบบถึงกึ๋นด้วย 3 วิทยากรตัวแทนมุมมองความรักแบบต่างๆ
นำทีมโดยหนุ่มเจ้าของโลกสีชมพูและมุมมองความรักที่สุดแสนสวยงาม “นภ พรชำนิ” ติดตามมาด้วยชายหนุ่มผู้มากความสามารถ เป็นทั้งนักเขียน นักวิจารณ์ ดารา นักแสดง พิธีกร อย่าง “คมสัน นันทจิต” และนักเขียนสาวผู้เป็นเจ้าของความมั่นใจทะลุร้อย เจ้าของผลงานหนังสือที่สร้างความตื่นตะลึงต่อผู้อ่านในความ “แรง” ของคมปากกาได้แทบทุกเรื่อง อาทิ “กระทู้ดอกทอง” หรือ “ฉัน - บ้า - กาม” ...เธอคือเจ้าของนำปากกา “คำ ผกา” และ “ฮิมิโตะ ณ โตเกียว” หรือในชื่อจริงๆ ว่า “ลักขณา ปันวิชัย”
สำหรับหนุ่มผู้มีมุมมองในการมองโลกและมองรักอย่าง “พี่โต- คมสัน” ให้ความเห็นว่า โดยส่วนตัวเชื่อมั่นในความรัก เชื่อมั่นว่าเป็นสิ่งสวยงามที่มีอยู่บนโลกนี้ แต่ไม่เชื่อมั่นในชีวิตคู่ คงเป็นเพราะบริบทของสังคมเมืองที่ทำให้ชีวิตรักของคู่รักในสังคมเมืองเปลี่ยนไป
“เดี๋ยวนี้คนรักรักกันเร็ว เลิกกันก็เร็ว การครองคู่สั้นลง เจอหน้าเพื่อนต้องคอยอัปเดตว่าตอนนี้ควงใคร คบใคร เป็นแฟนกับคนไหน สมมติว่าเจอเพื่อนมาเดี่ยว ก็อาจจะต้องถามอ้อมๆ ว่าคนเก่าไปไหน ไม่มาหรือ หรือว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร ผมยังหาคำตอบให้ตัวเองไม่ได้เหมือนกันว่าทำไมคนเมืองสมัยนี้คบกันสั้นลง เลิกกันง่ายขึ้น อาจจะเป็นบริบทที่เปลี่ยนไปของสังคมใหญ่ก็ได้” คมสันอธิบาย
ด้าน หนุ่มนภ สะท้อนแง่มุมความรักของตัวเองว่า ที่ผ่านมาเกือบจะสูญเสียความรักและคนรักไป เนื่องจากมีปัญหาชนิดที่เกือบจะทำให้การแต่งงานไม่ได้เกิดขึ้น โดยช่วงที่ไม่เข้าใจกับ “เพลิน” นั้น เพื่อนๆ รู้ดีว่ามีอาการแย่แค่ไหน แต่โชคดีที่ตัดสินใจเลือกที่จะไปตามความรัก ตามคนรักกลับคืนมา และได้ปรับความเข้าใจกันจนตกลงปลงใจแต่งงานใช้ชีวิตคู่ร่วมกันในที่สุด ซึ่งนั่นทำให้ชีวิตถูกเติมเต็มจนสมบูรณ์แบบแล้ว
“ผมมองความรักสวยงามและยิ่งใหญ่ มันเป็นความสุขในชีวิต หากเราทำให้ความรักมีค่า ผมคิดว่าการมีเพศสัมพันธ์ควรจะมีพื้นฐานจากความรัก และแน่นอนว่าควรจะกระทำเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม คือต้องแต่งงานเสียก่อน ทุกๆ เช้าผมจะตื่นขึ้นมา มองหน้าเพลิน แล้วบอกว่าตัวเองโชคดีเพียงไหนที่มีเค้าอยู่ข้างๆ จากนั้นผมก็จะเดินไปให้อาหารหมา แล้วก็เข้าห้องน้ำ อาบน้ำ ล้างหน้า แปรงฟัน ระหว่างแปรงฟัน ผมก็จะมองตาตัวเองในกระจกว่า วันนี้เราจะทำอะไรดีๆ บ้าง แล้วก็จะถามว่า ผมดูแลคนที่ผมรัก.... ดูแลเพลินได้ดีหรือยัง วันนี้ผมมีเพลินแล้วผมมีความสุข”
“ผมไม่รู้เหมือนกันว่าถ้าวันหนึ่งหากผมต้องเสียเพลินไปมันจะเศร้าแค่ไหน ผมกับเพลินเคยคุยกันว่าหากชาติหน้ามีจริงขอเราเกิดเป็นคน คนเดียวกัน มีใจเดียวกัน เป็นพระหรือเป็นนักบวชก็ได้ เพราะถ้าเรามีใจเดียวกัน มีวิญญาณเดียวกัน เราก็จะได้อยู่ด้วยกันตลอดไป” นภแจกแจง
สำหรับ “คำ ผกา” ได้เอ่ยถึงทัศนคติส่วนตัวในเรื่องของความรักและความใคร่ในสังคมเมืองใหญ่ว่า ส่วนตัวไม่คิดว่าคำว่า “ครอบครัว” คือความหมายของการอยู่ร่วมกันระหว่างเพศหญิงและเพศชายในรูปแบบของผัวเดียว-เมียเดียวเสมอไป เพราะสังคมเมืองใหญ่มีพื้นที่ของรูปแบบครอบครัวที่เปลี่ยนไป เช่น สังคมครอบครัวแบบเกย์ เลสเบี้ยน โฮโมเซ็กชวล หรือกระทั่งครอบครัวที่ออกนอกกรอบสังคมแบบสุดๆ อย่าง “สามคนผัวเมีย” ซึ่งก็สามารถเป็นครอบครัวที่อยู่กันได้อย่างมีความสุข
นอกจากนี้ เธอยังอยากเห็นบริบทสังคมครอบครัวเปลี่ยนจากสังคมแนวดิ่ง คือ ต้องเชื่อฟังพ่อแม่ ต้องเกรงกลัว ต้องเคารพกันเป็นลำดับชั้น เป็นแนวราบคือใช้เหตุผล พูดคุยกันได้ พ่อแม่สามารถเป็นทั้งผู้ปกครอง ในขณะที่ยังเป็นเพื่อน เป็นผู้กอดคอให้คำปรึกษาลูกได้อีกด้วย ซึ่งจะทำให้ช่องว่างในครอบครัวลดแคบลงมา จนกลายเป็นไม่มีช่องว่างได้ในที่สุด
“ส่วนตัวไม่คิดว่าหากผู้หญิงไม่มีความสุขกับชีวิตคู่กับสามีแล้วจะจำเป็นต้องทรมานตัวเองด้วยการทนอยู่ภายใต้กรอบของสังคมในความเชื่อของความดีงามในทัศนคติ ผัวเดียว-เมียเดียวมาค้ำคอเอาไว้ คิดว่าผู้หญิงน่าจะมีสิทธิเลือกดังเช่นผู้ชายที่มีสิทธิเลือกผู้หญิงมานานแล้ว แต่ก็เห็นเหมือนกันว่ากระแสสังคมโดยเฉพาะสังคมเมืองเปลี่ยนไป เช่น สาวๆ เริ่มไม่ใช้คำว่า เสียตัว แล้วหากเกิดกิจกรรมทางเพศกับผู้ชายสักคน แต่จะเลี่ยงคำมาเป็น Affair อะไรแบบนี้ หรือเมื่อผู้ชายบางส่วนที่ชอบสาวที่เด็กกว่า มักจะใช้คำว่า เลี้ยงต้อย สาวๆ ในสังคมเมืองยุคปัจจุบันก็ใช้คำว่า กินเด็ก กับผู้ชายที่อายุน้อยกว่าเหมือนกัน”
คำผกามองว่า คำว่า “กินเด็ก” หรือคำว่า Affair เหล่านี้ ถูกใช้โดยผู้หญิงในสังคมเมืองที่เริ่มมีมุมมองในความรักและความใคร่เปลี่ยนไป คือมีพื้นที่ให้ผู้หญิงได้มีโอกาสเลือกมากขึ้นจากเดิมที่เคยแต่เป็นฝ่ายถูกเลือกโดยผู้ชาย
ส่วนในเรื่องของความสุขตามแบบฉบับของสาวสังคมเมือง คำผกาบอกว่าคำว่า “ความสุข” ยิ่งใหญ่เกินไป มันให้ความรู้สึกเหมือน “นิพพาน” มากกว่าอารมณ์ที่ถูกใจในสิ่งที่ชอบ ดังนั้น ชีวิตจะไม่เรียกว่าความสุข เพราะตั้งแต่เกิดมาทุกคนก็เกิดมาพร้อมกับความทุกข์ เกิดมาก็ร้องไห้ก่อนหัวเราะอยู่แล้ว คิดว่าชีวิตคือความทุกข์ แต่หากมีช่วงอารมณ์ดีๆ ถูกใจ มีอะไรที่เป็นเชิงบวก จะเรียกมันว่า “ความรื่นรมย์ในชีวิตมากกว่า”