เผยไทยสั่งยานอกปีละกว่า 4 หมื่นล้านบาท “อภ.” แนะไอเดีย “พาณิชย์-อย.” ควรคุยกันเพื่อกำหนดราคายานอก แจงเป้าหมาย อภ.มุ่งพัฒนายาให้ได้มาตรฐาน WHO หวังขายยาเพิ่มขึ้น เป้าต่อไปเจาะตลาดยาต่างประเทศ ขายยาเอดส์ให้ไนจีเรีย กาบอง
พล.ท.นพ.มงคล จิวะสันติการ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) กล่าวว่า ตลาดยาของไทยมีมูลค่าประมาณ 60,000 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นที่ผลิตภายในประเทศมีส่วนแบ่ง 30% และยาที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ 70% ซึ่งราคายาที่นำเข้าจากต่างประเทศแพงมาก แม้ราคาวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตจะไม่สูงมาก แต่ทางผู้ผลิตก็จะตั้งราคาสูงโดยอ้างว่าต้องลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาสูง แต่นอกจากเงินลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาแล้วยังบวกค่าการตลาดไปอีก ทำให้ราคายาสูงกว่าที่ควรจะเป็น
“ทางกระทรวงพาณิชย์ และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ควรคุยกันในเรื่องการตั้งราคายาให้สมเหตุสมผล ไม่เอาค่าการตลาดมาบวกมากเกินไป โดยเฉพาะยาที่มาจากต่างประเทศ เพื่อควบคุมราคายาให้เหมาะสมที่สุด เพราะแม้ยาจะแพงแต่คนไข้บางรายก็จำเป็นต้องใช้” พล.ท.มงคล กล่าว และว่า ส่วนผู้ผลิตยาไทยที่เข้าประมูลขายยากับโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขนั้น บางครั้งก็ตั้งราคาต่ำเกินจริง ดังนั้น หน่วยงานที่รับผิดชอบด้านมาตรฐานควรเข้ามาตรวจสอบให้เข้มงวดขึ้น
พล.ท.นพ.มงคล กล่าวถึงกรณีที่องค์การเภสัชกรรมจะก้าวขึ้นสู่ปีที่ 40 ในเดือนสิงหาคม 2549 ว่า ทิศทางการดำเนินงานต่อจากนี้จะเน้นการพัฒนากระบวนการผลิตยาให้ได้มาตรฐานการผลิตที่ดี (GMP) ขององค์การอนามัยโลกให้ได้ภายใน 2 ปี เพิ่มเติมจากเดิมที่ได้มาตรฐานจีเอ็มพี ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แล้ว ซึ่งหากได้มาตรฐานขององค์การอนามัยโลกจะทำให้องค์การเภสัชกรรมสามารถขายยาให้กับโครงการความช่วยเหลือขององค์การอนามัยโลกได้ ซึ่งในแต่ละปีองค์การอนามัยโลกมีงบประมาณไม่ต่ำกว่า 600 ล้านบาท ในการซื้อยาให้กับประเทศไทย และมีงบประมาณอีกมากที่จะซื้อยาให้ประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ
“ปัจจุบัน อภ.ผลิตวัคซีนและยาขายให้กับประเทศต่างๆ อยู่แล้ว โดยขายวัคซีนไข้สมองอักเสบให้กับประเทศศรีลังกา มูลค่าปีละประมาณ 100 ล้านบาท และขายให้กับประเทศกัมพูชาและประเทศลาว ปีละประมาณ 10 ล้านบาท นอกจากนั้น ยังมีประเทศอื่นสนใจชื่อยาต้านไวรัสเอดส์จากไทยด้วย เช่น ประเทศไนจีเรีย ประเทศกาบอง เป็นต้น ซึ่งเราคาดว่าจะขยายตลาดตรงนี้เพิ่มจากเดิมที่เราสามารถขายยาให้กับต่างประเทศปีละประมาณ 200 ล้านบาท
พล.ท.นพ.มงคล กล่าวว่า สำหรับผลิตภัณฑ์ใหม่ที่จะทยอยเปิดตัวนั้นจะเน้นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากสมุนไพร เช่น เจลล้างมือที่ผสมสารสกัดจากใบบัวบกที่จะทำให้มือนุ่ม และไม่แห้ง ส่วนยานั้นจะเน้นการผลิตยาที่โรงงานเอกชนไม่ผลิต เพราะไม่คุ้มกับการลงทุน แต่ยังจำเป็นต้องใช้อยู่ และยาที่ใช้ในการรักษาโรคเอดส์ ยาปฏิชีวนะ ยาโรคหัวใจ เบาหวาน ความดัน โดยจะสร้างโรงงานยาแห่งใหม่ในพื้นที่ประมาณ 100 ไร่ ที่รังสิต ใช้งบลงทุนกว่า 1,000 ล้านบาท ขณะเดียวกัน ยังจะเปิดร้านขายยาขององค์การเภสัชกรรมในชื่อ GPO Shop เพิ่มอีก 5 แห่ง เพื่อพัฒนาเป็นร้านขายยาต้นแบบ ที่มีคุณภาพ ต่อไปอาจจะพัฒนาเป็นระบบแฟรนไชส์ แต่ไม่ได้มีเจตนาที่จะมุ่งขายยาแข่งกับเอกชน ซึ่งยาที่ขายในร้านก็มีทั้งยาของ อภ.เอง และยาจากบริษัทอื่นๆ ด้วย