สถานการณ์ไข้หวัดนกเข้าขั้นอันตรายอีกครั้ง “พินิจ” ยอมรับความจริง พบผู้ป่วยเสียชีวิตแล้ว 1 รายที่ อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร สั่งควบคุมการแพร่ระบาดและสกัดการติดต่อทันที เผยตายตั้งแต่ 24 ก.ค. แต่เพิ่งมายอมรับความจริงวันนี้ ฉะสธ.ปิดข่าว สุดอันตรายพบผู้ป่วยเสียชีวิตจากอาการไข้เลือดออกพร้อมกับไข้หวัดนก ด้านอธิบดีกรมควบคุมโรคเผยถือเป็นครั้งแรกของโลกที่มีผู้ป่วยเสียชีวิตจากไข้หวัดนก และไข้เลือดออก แต่รับประกันไม่ส่งผลต่อกลายพันธุ์เพราะเป็นเชื้อคนละตัว ผสมกันไม่ได้ “ที่ปรึกษา WHO” เตือนอย่าตื่นตระหนกเกินเหตุ ระบุไม่ใช่เชื้อผสมกัน ให้ระวังระวังหวัดใหญ่ผสมกับหวัดนก เพราะระบาดได้เร็ว แนะทางสว่างต้องเฝ้าคุมให้เร็ว ถ้าเกิดโรคต้องแจ้ง ปชช.อย่าปิดข่าว เสียดายไม่น่ามีคนตายเกิดขึ้น
เช้าวันนี้ (26 ก.ค.) นายพินิจ จารุสมบัติ รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมคณะผู้บริหารกระทรวงสธ. เดินทางไปตรวจเยี่ยมติดตามมาตรการความพร้อม การควบคุมและป้องกันโรคไข้หวัดนกในคน ที่โรงพยาบาลพิจิตร และโรงพยาบาลบางมูลนาก จังหวัดพิจิตร เนื่องจากเป็นพื้นที่สีแดง มีการระบาดของโรคไข้หวัดนกรอบใหม่ในไก่พื้นเมือง ที่ตำบลภูมิ และตำบลเนินมะกอก อำเภอบางมูลนาก
นายพินิจ กล่าวว่า ในวันนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ขึ้นทะเบียนผู้ป่วยติดเชื้อไข้หวัดนกรายใหม่ 1 ราย เป็นชายอายุ 17 ปี อยู่บ้านเลขที่ 132/1 หมู่ 11 ต.ทับคล้อ อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร เสียชีวิตจากโรคไข้หวัดนกและมีอาการของโรคไข้เลือดออกด้วย เมื่อวันที่ 24 ก.ค. เวลา 20.00 น. ผู้เสียชีวิตรายนี้ เริ่มป่วยเมื่อวันที่ 15 ก.ค. ด้วยอาการไข้ ไอ ปวดศีรษะ ไปตรวจรักษาที่คลินิกฉีดยา 1 เข็ม และไปที่โรงพยาบาลทับคล้อเมื่อวันที่ 18 ก.ค.เวลาประมาณ 13.00 น. มีประวัติจับซากไก่ตายจำนวน 10 ตัวด้วยมือเปล่าไปฝังกลบในช่วง 7 วันก่อนป่วย ทีมงานกระทรวงสาธารณสุขได้ขึ้นทะเบียนเข้าสู่ระบบการคัดกรองสงสัยไข้หวัดนก ตรวจเชื้อไข้หวัดใหญ่เบื้องต้นด้วยชุดทดสอบภาคสนาม และส่งตรวจขั้นยืนยันที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์จังหวัดพิษณุโลก ไม่พบเชื้อ ผลเอกซเรย์ปอดปกติ มีไข้สูงปานกลาง
นายพินิจ กล่าวต่อว่า ต่อมาได้ส่งตรวจเลือดอีก 3 ครั้งในวันที่ 20,21,22 กรกฎาคม 2549 พบว่าเลือดมีความเข้มข้น (Hematocrit) มากกว่าปกติ และจำนวนเกล็ดเลือด (Platelet) น้อยลง ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าน่าจะเป็นไข้เลือดออกด้วย เนื่องจากขณะนี้พื้นที่พิจิตรกำลังมีการระบาดของไข้เลือดออก จังหวัดเร่งควบคุมอยู่แล้ว ทำให้แพทย์ผู้รักษาได้ให้การรักษาแบบไข้เลือดออกด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ทางแพทย์ผู้รักษาได้คำนึงถึงไข้หวัดนกเช่นกัน ดังนั้น เมื่อผู้ป่วยเสียชีวิต จึงได้ส่งเสมหะของผู้ป่วยตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2549 ผลการตรวจเมื่อเช้าวันนี้ (26 ก.ค.) เวลา 06.00 น. พบเป็นไข้หวัดนก ดังนั้นผู้เสียชีวิตรายนี้ อาจจะเป็นไปได้ที่เป็นทั้งไข้หวัดนกร่วมกับไข้เลือดออก ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อนในประเทศไทยและทั่วโลก ทีมแพทย์ได้ให้การดูแลอย่างดีที่สุด และไม่มีการปกปิดข้อมูลอย่างเด็ดขาด เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่กระทบไม่เฉพาะประเทศไทยเท่านั้น
สำหรับการควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขได้จัดส่งหน่วยสอบสวนเคลื่อนที่เร็วลงไปที่หมู่บ้าน หมู่ 11 ตำบลทับคล้อ ได้ควบคุมโรคผู้สัมผัสร่วมบ้าน 3 คน ขณะนี้ได้กินยาต้านไวรัสทั้งหมดแล้ว อาการปกติดี จะเฝ้าระวังต่ออีก 14 วัน และติดตามดูอาการทุกวันจนกว่าจะปกติ
นายพินิจ กล่าวว่า วันนี้ได้สั่งการให้ส่งผู้เชี่ยวชาญจากกรมการแพทย์ 2 คน มาประจำที่จังหวัดพิษณุโลก เป็นที่ปรึกษาของคณะแพทย์ผู้รักษาในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ พิษณุโลก พิจิตร กำแพงเพชรและสุโขทัย จะเดินทางมาในวันนี้ 1 คน และวันนี้กรมการแพทย์ได้เปิดสายปรึกษาการรักษาทางโทรศัพท์ 24 ชั่วโมง นอกจากนี้จะมีทีมเคลื่อนที่เร็วหากมีผู้ป่วยในพื้นที่ ผู้เชี่ยวชาญก็จะร่วมไปตรวจด้วย ผู้เสียชีวิตรายนี้ไม่โทษใครเพราะอาการเบื้องต้นไม่ชัดเจน
ทั้งนี้ ได้กำชับให้ทั้งผู้ว่าราชการจังหวัด หน่วยแพทย์ ปศุสัตว์จังหวัด ปฏิบัติการควบคุมป้องกันโรคเต็มที่ 24 ชั่วโมงไม่มีวันหยุด มีไก่ตายเวลาไหนต้องไปควบคุมทันที และได้ปรับแผนการตรวจเชื้อให้รวดเร็วขึ้น โดยสั่งการให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ส่งรถตรวจเชื้อไข้หวัดนกภาคสนาม มาประจำที่โรงพยาบาลพิจิตร เพื่อตรวจยืนยันเชื้อไข้หวัดนกให้เร็วที่สุดภายใน 6 ชั่วโมง ไม่ต้องส่งตรวจที่ จ.พิษณุโลก อีกทั้งจังหวัดใกล้เคียง เช่น นครสวรรค์ กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ ก็สามารถส่งตรวจได้ และรายงานผลทางอินเทอร์เน็ต แพทย์เจ้าของไข้สามารถดูผลได้ทันที คาดว่าจะมาถึงในเย็นวันนี้ ประการสำคัญที่สุดที่จะทำให้การควบคุมป้องกันโรคไข้หวัดนกของประเทศไทยสำเร็จก็คือ ประชาชนต้องให้ความร่วมมือทางการอย่างเข้มงวด โดยไม่กิน ไม่ใช้มือเปล่าจับสัตว์ปีกที่ป่วยหรือตายอย่างเด็ดขาด และต้องล้างมือหลังหยิบจับสิ่งของทุกครั้งและหมั่นล้างมือบ่อยๆ ซึ่งเป็นวิธีป้องกันและขจัดเชื้อโรคที่ติดมากับมือที่ได้ผลดีมาก
ด้าน นพ.ไพจิตร์ วราชิต อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ขณะนี้ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ 13 แห่ง ได้ตรวจยืนยันเชื้อไข้หวัดนกเฉลี่ยวันละ 30 กว่าตัวอย่าง เฉพาะที่ศูนย์ จ.พิษณุโลก แห่งเดียวตรวจวันละ 20 กว่าตัวอย่าง ผลการตรวจที่ผ่านมาครึ่งต่อครึ่งเป็นเชื้อไข้หวัดใหญ่ และเชื้อไข้หวัดธรรมดา ยังไม่พบเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ นอกจากนี้ยังได้เฝ้าระวังเชื้อดื้อยาโอเซลทามิเวียร์ด้วย ไม่พบปัญหาแต่อย่างใด ยายังใช้ได้ผลดี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในความเป็นจริงมีข้อมูลทางโรงพยาบาลได้ทำการซักประวัติผู้ป่วยและทราบว่า มีประวัติสัมผัสซากไก่ตาย 10 ตัวก่อนที่จะส่งผลเลือดไปตรวจพิสูจน์ จึงก่อให้เกิดข้อสงสัยว่า ผลการตรวจในคราวนั้นทำไมจึงไม่พบเชื้อไข้หวัดนก ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าอาจจะมีการปกปิดข้อมูลในเรื่องนี้เอาไว้
หมอเตือนอย่าตระหนก
ขณะที่ นพ.ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นเพราะมีความผิดพลาดในการตรวจรักษาแต่ประการ มุมกลับกันคือทางคณะแพทย์และเจ้าหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุขขยันที่จะเกินเหตุด้วยซ้ำไป เพราะในการตรวจผลแล็บเบื้องต้นสรุปออกมาชัดว่า เป็นไข้เลือดออก แต่เนื่องจากพิจิตรเป็นพื้นที่สีแดง 1 ใน 7 จังหวัด ดังนั้น เจ้าหน้าที่จึงได้รับคำสั่งให้ตรวจเรื่องหวัดนกด้วย จึงรับรู้ในภายหลังว่าเป็นไข้หวัดนก เพราะถ้าไม่ได้ระวังเข้ม ผลก็พิสูจน์ออกมาว่าเป็นไข้เลือดออก และผู้ป่วยรายนี้ก็คงมีความเห็นทางการแพทย์ว่าเสียชีวิตเพราะไข้เลือดออก
ที่สำคัญคือ ผู้ป่วยรายนี้มีอาการไม่เหมือนไข้หวัดนก แต่มีอาการเหมือนเป็นไข้เลือดออก คืออาเจียนเป็นเลือด
“เป็นเรื่องโชคร้าย เพราะผู้ป่วยรายนี้เป็น 2 โรคในเวลาเดียวกัน ถือว่าเจอแจ็กพอต ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยาก และรายนี้ก็คือเป็นรายแรกของโรคที่ผู้ป่วยคนเดียวมีทั้งเชื้อไข้เลือดออก และไข้หวัดนก อย่างไรก็ตาม ในทางการแพทย์ถือว่าไม่น่าเป็นห่วงในเรื่องของการกลายพันธุ์ เนื่องจากเชื้อไข้เลือดออกและเชื้อไข้หวัดนกเป็นคนละตัวกัน ไม่สามารถผสมกันได้ แต่ถ้าเป็นไข้หวัดใหญ่ผสมกับไข้หวัดนกจึงจะอันตราย แน่นอนว่า เราก็ต้องรายงานองค์การอนามัยโลกเป็นปกติอยู่แล้ว”
นอกจากนั้น ผู้สื่อข่าวยังได้รายงานจาก จ.พิจิตร วันนี้ ที่โรงพยาบาลอำเภอทับคล้อ แพทย์ได้รับตัวผู้ป่วยต้องสงสัยติดเชื้อไข้หวัดนก เป็นเด็กชายวัย 9 ขวบ จากหมู่ที่ 5 บ้านสายคลองแห้ง ตำบลทับคล้อ มาเจาะเลือดและสังเกตอาการ หลังจากมารดาแจ้งว่า เด็กชายคนดังกล่าวป่วยมีไข้สูง ไอ เจ็บคอ โดยผู้ป่วยรายดังกล่าวไม่ได้มีประวัติสัมผัสกับสัตว์ปีกที่ล้มตาย แต่บริเวณบ้านพักและบ้านใกล้เคียงเลี้ยงไก่พื้นเมืองจำนวน 50 ตัว และทยอยล้มตายลงจนเกือบหมดแล้ว จากนั้นก็ล้มป่วยมีไข้ดังกล่าว มารดาจึงนำตัวมารักษาที่โรงพยาบาล ซึ่งแพทย์ได้ซักประวัติและเจาะตัวอย่างเลือดส่งไปตรวจหาเชื้อไข้หวัดนก นอกจากนี้ ที่ศูนย์คัดกรองผู้ป่วยต้องสงสัยติดเชื้อไข้หวัดนก โรงพยาบาลพิจิตร แพทย์ได้รับตัวชายวัย 56 ปี และพระภิกษุสงฆ์อายุ 78 พรรษา จากอำเภอเมืองพิจิตร ไว้เฝ้าระวัง พร้อมกับเจาะผลตัวอย่างเลือด ส่งไปตรวจหาเชื้อไข้หวัดนกที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์เขต 8 จังหวัดนครสวรรค์
ด้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ล่าสุดได้รับรายงานว่าขณะนี้มีผู้เสียชีวิตด้วยไข้หวัดนก เป็นชายวัย 17 ปี ที่โรงพยาบาลอำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร เมื่อคืนวันที่ 24 กรกฎาคม 2549 เวลาประมาณ 20.00 น. โดยผู้ป่วยรายดังกล่าวมีประวัติสัมผัสไก่ และสงสัยว่าจะเป็นไข้เลือดออกควบคู่กันไปด้วย และจะต้องรายงานผลดังกล่าวให้กับ สมาชิกองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ หรือ OIE และองค์การอนามัยโลก หรือ WHO ทราบ เพื่อทำงานร่วมกันต่อไป
ทั้งนี้ รักษาการนายกรัฐมนตรียืนยันว่า ไม่จำเป็นต้องประกาศเป็นพื้นที่สีแดง เนื่องจากมีการแพร่ระบาดเพียงจุดเดียว อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรี ยังได้ร้องขอความร่วมมือกับประชาชน หากพบไก่ตายขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่ที่ในพื้นที่ทันที เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นอาจเกิดจากประชาชนไม่แจงข้อมูลข่าวสาร เนื่องจากเกรงว่าเจ้าหน้าที่จะเข้าไปทำลายไก่ของตนเอง
อนึ่ง ประเทศไทยพบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อไข้หวัดนกรายสุดท้าย ที่จังหวัดนครนายก เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2548
“ที่ปรึกษา who” บ่นไม่น่ามีคนตาย
นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยา และที่ปรึกษาองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า กรณีมีผู้ป่วยเสียชีวิตด้วยโรคไข้หวัดนก และเป็นไข้เลือดออกด้วยนั้น ไม่ใช่เรื่องที่น่าวิตกแต่อย่างใด และไม่ต้องกังวลว่าจะเกิดเชื้อผสมกันเหมือนไข้หวัดใหญ่ผสมกับไข้หวัดนก เพราะเป็นเชื้อคนละแบบ คนละตัว ทั้งนี้ ที่ผู้ป่วยรายนั้นป่วยทั้งไข้หวัดนกและไข้เลือดออกด้วยนั้น ก็เนื่องมาจากในพื้นที่นั้นมีการระบาดของไข้เลือดออกอยู่แล้ว คืออาจจะป่วยด้วยไข้เลือดออกหรืออย่างใดอย่างหนึ่งมาก่อน แต่เมื่อไปสัมผัสไก่ก็รับเชื้อหวัดนกมาด้วย ซึ่งไม่ใช่เฉพาะไข้เลือดออกอย่างเดียว โรคอะไรก็เป็นได้ ถ้าพื้นที่นั้นมีการระบาดของโรคอื่นอยู่แล้ว และมีหวัดนกระบาดด้วย
“แต่ที่ต้องระวังคือ อย่าให้เชื้อแบบเดียวกัน ชนิดเดียวกัน มาปนอยู่กับหวัดนก เช่น ไข้หวัดใหญ่ เพราะจะทำให้การแพร่ระบาดเป็นวงกว้าง เกิดการติดต่อจากคนสู่คน ซึ่งได้มีการเตือนในเรื่องนี้ตลอดเวลา ปัญหาของโรคไข้หวัดนกคือ มันเป็นไปได้เร็วมาก ทางป้องกันคือเฝ้าระวังโรคอย่างเคร่งครัด และเมื่อเกิดโรคก็ต้องคุมให้เร็ว อย่าให้ลาม แจ้งประชาชนทราบโดยเร็ว อย่าปิดข่าว เพราะถ้าชักช้าจะเกิดปัญหา เช่นตอนนี้มีคนเสียชีวิต ซึ่งน่าเสียดายมาก ไม่น่าเกิดขึ้น อายุยังน้อยอยู่มาก” นพ.ประเสริฐกล่าวในที่สุด