xs
xsm
sm
md
lg

ตาเหล่! ใครว่ารักษาไม่ได้/รศ.พญละอองศรี อัชชนียะสกุล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์สายตรงสุขภาพกับศิริราช
รศ.พญละอองศรี อัชชนียะสกุล จักษุแพทย์

ตาเหล่สำหรับคนทั่วไป อาจคิดว่าเป็นโรคที่รักษายาก แต่สำหรับจักษุแพทย์แล้วมีทางเลือกในการรักษาผู้ป่วยตาเหล่อยู่หลายวิธี


โรคตาเหล่เป็นภาวะที่ตาสองข้างไม่อยู่ในแนวแกนเดียวกัน เป็นผลให้ไม่สามารถมองวัตถุเดียวกันพร้อมกันด้วยตาทั้งสองข้าง โดยทั่วไปผู้ป่วยจะใช้ตาข้างที่ปกติจ้องวัตถุ ส่วนตาข้างที่เหล่อาจเบนเข้าด้านใน หรือเบนออกด้านนอก หรือขึ้นบนลงล่าง ทั้งนี้ขึ้นกับว่าเป็นตาเหล่ประเภทใด ผู้ป่วยบางรายอาจมีตาเหล่สลับ หมายถึงในบางเวลาผู้ป่วยจะใช้ตาขวามองวัตถุส่วนตาซ้ายจะเหล่หรือกลับกัน และในบางรายอาจตาเหล่ตลอดเวลา (constant) หรือเป็นครั้งคราว (intermittent) ก็มี

เมื่อเริ่มเป็นโรคนี้ สำหรับเด็กอาจแสดงอาการหยีตาบ่อย โดยเฉพาะเวลาอยู่ในที่มีแสงจ้า การหยีตาข้างหนึ่งช่วยให้การมองเห็นภาพซ้อนหายไป ผู้ป่วยโรคตาเหล่บางประเภทอาจมีอาการปวดศีรษะเวลาใช้สายตามองใกล้เป็นเวลานาน เนื่องจากมีการเกร็งกล้ามเนื้อลูกตาเพื่อแก้ไขภาวะตาเหล่

จากการศึกษาพบว่า ประมาณร้อยละ 5 ของเด็กทั้งหมด จะตรวจพบโรคตาเหล่ซึ่งอาจเป็นน้อยหรือมาก และเป็นประเภทต่างๆ กันไป ในระยะแรกเด็กอาจมองเห็นภาพซ้อน เนื่องจากตาสองข้างมองไปยังจุดที่ต่างกัน แต่ในระยะต่อมาสมองจะปรับตัวโดยไม่สนใจภาพที่เห็นจากตาข้างหนึ่ง (suppression) ช่วยให้ภาวะเห็นภาพซ้อนหายไปได้

สาเหตุสำคัญของโรคตาเหล่ ในเด็กมักไม่ทราบสาเหตุ และมากกว่าครึ่งหนึ่งจะตรวจพบความผิดปกติตั้งแต่แรกเกิดหรือภายในอายุ 6 เดือน ผู้ป่วยบางราย เมื่อซักถามถึงประวัติครอบครัว พบว่ามีผู้เป็นโรคตาเหล่ อยู่ แสดงถึงโรคนี้สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ ซึ่งหากสมองไม่สนใจภาพที่เห็นจากตาข้างที่เหล่เป็นระยะเวลานานๆ อีกทั้งไม่ได้รับการรักษา เด็กอาจเกิดภาวะสายตาขี้เกียจ (amblyopia) จนทำให้ตาข้างที่ไม่ได้ใช้งานมองภาพไม่ชัด

สำหรับโรคตาเหล่ในผู้ใหญ่อาจเกิดจากอุบัติเหตุทางตาและสมอง หรือเกิดจากโรคเบาหวานทำให้มีการไหลเวียนเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อลูกตาลดลง เป็นผลให้กล้ามเนื้อลูกตาเป็นอัมพาตและตาเหล่ตามมา และไม่ว่าจะสูญเสียสายตาข้างหนึ่งจากสาเหตุใดก็ตาม มักพบว่าตาข้างนั้นค่อยๆ เหล่ออกด้านนอก ส่วนภาวะสายตาขี้เกียจในเด็ก มักไม่พบในผู้ใหญ่ เนื่องจากสมองได้พัฒนาการมองเห็นจนสมบูรณ์แล้ว

รักษาได้ผลแน่
ผู้ป่วยโรคตาเหล่ทุกรายควรได้รับการตรวจตาโดยละเอียด และให้การรักษาโรคภายในลูกตาที่เป็นสาเหตุของตาเหล่ เช่น โรคมะเร็งจอตาในเด็ก โรคต้อกระจก เป็นต้น ซึ่งการรักษามีทั้งปิดตาข้างที่สายตาดี เพื่อกระตุ้นให้ผู้ป่วยใช้ตาข้างที่มีสายตาขี้เกียจบ่อยขึ้น การให้แว่นสายตาหรือการฝึกกล้ามเนื้อลูกตาอาจช่วยรักษาโรคตาเหล่บางประเภทได้ อย่างไรก็ตามผู้ป่วยโรคตาเหล่ส่วนใหญ่มักต้องได้รับการรักษาโดยการผ่าตัดกล้ามเนื้อลูกตา

ทั้งหมดที่เล่ามานี้ การรักษาตาเหล่จะหายหรือไม่ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวผู้ป่วย คนในครอบครัว แพทย์ หรือสิ่งแวดล้อม แต่ที่สำคัญต้องร่วมมือกันทุกฝ่าย

ต้องการแสดงความคิดเห็นหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ www.sirirajonline.com
---------------------------------------------------------
อบรมดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองฟรี
ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ขอเชิญผู้สนใจเข้าร่วมการอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “เสริมความรู้สู่ผู้ดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง” รุ่นที่ 2 วันศุกร์ที่ 21 กรกฎาคม 2549 เวลา 8.00 – 16.00 น. ณ รพ.ศิริราช ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ดูแลและครอบครัวมีความรู้ความเข้าใจผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองมากขึ้น และสามารถดูแลผู้ป่วยได้อย่างต่อเนื่องทุกด้านและถูกต้อง สมัครโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ หรือสอบถามเพิ่มเติมที่ 0 2419 7508

อบรมเทคนิคใหม่ผ่าตัดมะเร็งเต้านม
ภาควิชาศัลยศาสตร์ ขอเชิญแพทย์เข้าร่วมอบรมระยะสั้นเรื่อง “เทคนิคการผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองเซนทิเนลในผู้ป่วยมะเร็งเต้านม” ครั้งที่ 9 วันที่ 24 - 28 กรกฎาคม 2549 ค่าลงทะเบียนคนละ 3,500 บาท ติดต่อสมัครได้ที่ งานการศึกษาต่อเนื่อง ตึกอดุลยเดชวิกรม ชั้น 6 หรือเช็ค/ ธนาณัติ (ปณ.ศิริราช) สั่งจ่ายในนาม “ผศ.นพ.สุรพล กอบวรรธนะกุล” และสามารถดาวน์โหลดใบสมัครพร้อมรายละเอียดของการอบรม สอบถามเพิ่มเติมที่ 0 2419 6436
กำลังโหลดความคิดเห็น