xs
xsm
sm
md
lg

ลอยเรือ”ปาจั๊ก” : วิถีรักชุมชนแบบอูรักลาโว้ย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ใกล้ค่ำของก่อนพิธีลอยเรือ คนหนุ่มสาว เด็กและผู้เฒ่าอูรักลาโว้ยแห่งชุมชนสังกะอู้-หัวแหลม ต.เกาะลันตาใหญ่ อ.เกาะลันตา จ.กระบี่ สนุกสนานอยู่กับวงรำวงที่บรรเลงด้วยเครื่องดนตรีสมัยใหม่โดยไม่มีทีท่าว่าจะเหนื่อยล้าและย้ายเท้าไฟออกมาง่ายๆ ขณะที่อีกฟากหนึ่งของถนน กลองรำมะนาใบใหญ่ ใบจ้อยถูกนักดนตรีหนุ่มเหลือน้อยหนุ่มใหญ่จับจองหมดทุกใบ รอบๆ ศาลา 3 ด้านรายล้อมด้วยบ้านพักชั่วคราวที่สร้างด้วยฟากไม้ไผ่ และสังกะสี เด็กๆ จับกลุ่มกันวิ่งไล่จับและเล่นลูกประทัดเป็นกลุ่มๆ โดยมี “เรือปาจั๊ก” ซึ่งเป็นเรือสำคัญในพิธีลอยเรือตั้งเด่นสง่าอยู่ด้านหน้า ดึงดูดให้คนต่างถิ่นเข้าไปสำรวจใกล้ๆ ด้วยทึ่งในความงามอันมหัศจรรย์ที่พี่น้องอูรักลาโว้ยรังสรรค์ขึ้นจากไม้ระกำและไม้ตีนเป็ดผสมด้วยความเชื่อ ความศรัทธาและฝีมืออันประณีต


สำหรับสมาชิกในกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล การจัดพิธีลอยเรือมีความหมายมากกว่าเป็นงานพบปะสังสรรค์ประจำปี แต่เป็นพิธีกรรมที่สะท้อนถึงตัวตนและการธำรงชาติพันธุ์อูรักลาโว้ย ชุมชนอูรักลาโว้ยจัดพิธีลอยเรือขึ้นเพื่อแสดงเคารพและขอขมาต่อธรรมชาติและบรรพบุรุษ รวมทั้งเชื่อว่าเรือ “ปาจั๊ก” ที่ทุกคนช่วยกันสร้างขึ้นมาจะเป็นพาหนะบรรทุกโรคภัยไข้เจ็บ ความทุกข์อุปสรรคในชีวิตให้ลอยหายไปในทะเล คงเหลือแต่ความสุขและพลังใจเป็นเสบียงไว้ต่อสู้ชีวิต

ด้วยเหตุนี้ชุมชน อูรักลาโว้ยทั้งสองแห่งของเกาะลันตา คือ บ้านในไร่-คลองดาวและบ้านสังกะอู้จึงจัดพิธีลอยเรือ 2 ครั้งต่อปี คือ ในวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 6 และในวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 (ราวเดือนพฤษภาคมและตุลาคม) แต่ละครั้งที่จัดพิธีนี้ใช้เวลา 3 วัน เริ่มตั้งแต่การขึ้นเขาไปตัดไม้ตีนเป็ดกับไม้ระกำเพื่อนำมาต่อเรือปาจั๊ก การเกลาและแกะสลักลวดลายเพื่อประกอบเข้ากันเป็นตัวเรือ การแห่เรือมาไว้ในจุดลอยเรือ การลอยเรือ การปักไม้กายูอาดัต ก่อนจะสิ้นสุดพิธีหลังการสาดน้ำมนต์หรือ “เลฮบาเลฮ”

ที่น่าสนใจก็คือ การจัดพิธีดังกล่าวต้องอาศัยการร่วมแรงร่วมใจจากสมาชิกในชุมชนหรือมีลักษณะเป็นองค์กรทางสังคมที่มีจิตวิญญาณในวัฒนธรรมของตนเอง จะเห็นได้ว่าแต่ละขั้นตอนของพิธีนับแต่การขึ้นเขาไปตัดไม้จนถึงการปักไม้กายูอาดัต การระดมคนเข้ามามีส่วนร่วมตามศักยภาพหรือกำลังความสามารถที่มีอยู่ในแต่ละคน

ก่อนถึงวันงานชาวชุมชนบ้านสังกะอู้ที่เป็นผู้ชายจะช่วยกันซ่อม-สร้างเรือนพักชั่วคราวรอบบริเวณศาลาพิธีลอยเรือที่บ้านหัวแหลมกลางเพื่อใช้เป็นที่พักผ่อน รับประทานอาหารและค้างแรมระหว่างเข้าร่วมพิธี ผู้ชายอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งมักจะเป็นผู้สูงวัยล้อมวงกันซ่อมเครื่องดนตรีรองเง็ง กลุ่มชายวัยรุ่นอีกกลุ่มทำความสะอาดศาลารำวงไว้ล่วงหน้า กลุ่มชายร่างกำยำอีกกลุ่มก็ชวนกันขึ้นเขาไปหาไม้ตีนเป็ดและไม้ระกำเตรียมทำเรือ คนที่ต่อเรือปาจั๊กไม่เป็นก็ช่วยเหลาไม้หรือแกะลายเป็นลวดลายตามที่ช่างเรือบอก คนที่ว่างงานจะตีกลองสร้างความครื้นเครงให้กับงาน ส่วนผู้หญิงจะจัดหาขนมและจัดเตรียมของเซ่นไหว้ โดยเฉพาะข้าวตอก บุหรี่และหมากพลู แม้กระทั่งคนที่จำเป็นต้องออกไปรับจ้างในวันเตรียมงานก็ช่วยสมทบขนม-บุหรี่-เหล้ายา

เมื่อเรือปาจั๊กต่อเสร็จก็ช่วยกันแบกไป ร้องรำทำเพลงไปจนถึงศาลจัดพิธีที่บ้านหัวแหลมกลาง ถึงตอนเย็นตัวแทนของแต่ละครัวเรือนจะนำขนมและเครื่องเซ่นไหว้ไปเซ่นไหว้ที่ศาลบรรพบุรุษ “โต๊ะอาโฆะบราตัย” เพื่อบอกกล่าวเชิญชวนให้บรรพบุรุษเข้ามาร่วมพิธีลอยเรือและตรวจสอบโชคชะตาของลูกหลาน

ทุกขั้นตอนในพิธีกรรมนี้มีโต๊ะหมอ ผู้นำทางความเชื่อและจิตวิญญาณซึ่งมีความสามารถในการ “แลเทียน” หรือ ผู้รู้ที่สื่อสารกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้เป็นผู้นำและกำกับพิธี อูรักลาโว้ยจึงให้ความเคารพต่อคำแนะนำของโต๊ะหมอค่อนข้างเคร่งครัด มิฉะนั้นจะเกิดสิ่งอัปมงคลขึ้นกับหมู่บ้านหรือเรือลอยกลับมาที่ชายฝั่งซึ่งเท่ากับความโศกเศร้ายังคงอยู่กับชุมชน

นอกจากนั้น ก่อนจะเคลื่อนเรือปาจั๊กไปสู่ท้องทะเล ผู้เฒ่าผู้แก่จะนำลูกหลานล้อมรอบเรือและนำข้าวตอกลูบตามร่างกายแล้วซัดลงไปในเรือเป็นการนำสิ่งชั่วร้ายจากร่างกายฝากไปกับเรือ โดยการลอยเรือจะต้องนำเรือปาจั๊กไปยังจุดที่แน่ใจว่าเรือจะไม่ถูกคลื่นซัดกลับเข้าฝั่ง

ทันทีที่ เรือปาจั๊กถูกยกพ้นเขตชายหาดเพื่อไปลอยในทะเล โต๊ะหมอก็กล่าวคาถาแล้วใช้ไม้ขีดเป็นทางยาวเป็นสัญลักษณ์กั้นความชั่วร้ายไม่ให้กลับเข้ามา จากนั้นก็ใช้ไม้กายูอาดัตหรือไม้กันผี 7 ต้นปักไว้รอบๆ ชุมชนและขั้นสุดท้ายคือการสาดน้ำมนต์เป็นอันเสร็จพิธี

ม๊ะรีย๊ะ ทะเลลึก (ม๊ะ ในภาษาอูรักลาโว้ย หมายถึง แม่) แม้วัยจะล่วงมา 70 กว่าปีแล้วแต่ไม่เคยเลยที่จะไม่มาร่วมงาน

ม๊ะบอกว่า ทุกครั้งที่มาลอยเรือก็ได้รับความสุขใจกลับไป เพราะถือว่าได้ทำตามที่ปู่ยาตายายได้สั่งสอนไว้แล้วและยิ่งเห็นลูกหลานมากันพร้อมหน้ากันทุกปีก็รู้สึกมีความสุข และอยากให้ลูกๆ หลานๆ สืบทอดพิธีลอยเรือนี้ไปชั่วลูกชั่วหลานเพื่อจะมั่นใจได้ว่า ชุมชนอูรักลาโว้ยจะอยู่กันด้วยความรักและศานติสุขเช่นนี้ตลอดไป
กำลังโหลดความคิดเห็น