xs
xsm
sm
md
lg

สธ.-กาชาด-30 บ.ผ่าตัดเด็กปากแหว่งเพดานโหว่ ให้หมดในปี 50

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับสภากาชาดไทย และสำนักงานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เร่งค้นหาเด็กปากแหว่ง เพดานโหว่ เข้ารับการผ่าตัดทุกรายให้หมดภายในปี 2550 เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมายุ 50 พรรษา สมเด็จพระเทพรัตราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

วันนี้ (1 กรกฎาคม 2549) ที่จังหวัดกระบี่ นายพินิจ จารุสมบัติ รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายกว้าง รอบคอบ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข แพทย์หญิงศรีวรรณา พูลสรรพสิทธิ์ ที่ปรึกษากระทรวงสาธารณสุขด้านเวชกรรม พลโทนายแพทย์อำนาจ บาลี ผอ.สำนักบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย และนายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เดินทางไปตรวจเยี่ยมความคืบหน้าโครงการ “ยิ้มสวย เสียงใส” เทิดพระเกียรติ 50 พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่โรงพยาบาลกระบี่ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง 3 หน่วยงาน คือ กระทรวงสาธารณสุข สภากาชาดไทยและสำนักงานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพื่อร่วมกันบูรณาการและสร้างเครือข่ายการดูแลผู้ป่วย ตั้งแต่การค้นหา การคัดกรอง การรักษาทางศัลยกรรม ทันตกรรม การฝึกพูด รวมถึงการค้นหาปัจจัยเสี่ยงการเกิดโรค โดยหวังผลให้ทารกปากแหว่ง เพดานโหว่ทุกรายได้รับการดูแลในระยะเวลาที่เหมาะสม เพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีและลดอุบัติการณ์การเกิดโรค หลังจากนั้นได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมที่โรงพยาบาลตรัง จังหวัดตรัง

นายพินิจ กล่าวว่า โครงการ “ยิ้มสวย เสียงใส” นับเป็นจุดเริ่มการแก้ปัญหาความพิการปากแหว่ง เพดานโหว่ในประเทศไทยอย่างเป็นระบบและครบวงจร ที่สำคัญการค้นหาเด็กปากแหว่ง เพดานโหว่ ยิ่งพบเร็ว รักษาเร็ว ยิ่งได้ผลดี วงการศัลยแพทย์ยอมรับว่าระยะเวลาที่เหมาะสมในการผ่าตัดได้ผลดีคือ เด็กปากแหว่งอายุ 3-6 เดือนหรือแข็งแรงเพียงพอ ส่วนเด็กเพดานโหว่ช่วงอายุ 9-12 เดือน จึงขอความร่วมมือให้อาสาสมัครสาธารณสุข(อสม.) เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันค้นหาเด็กดังกล่าว เพื่อขึ้นทะเบียนรอรับการผ่าตัดแก้ไขความพิการบนใบหน้า ให้เหมือนคนปกติทั่วไปให้มากที่สุด โดยตั้งเป้าหมายผ่าตัดเด็กปากแหว่ง เพดานโหว่ที่เกิดตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2547 เป็นต้นมา ให้หมดภายในปี 2550

นายพินิจ กล่าวต่อไปว่า จากการสำรวจพบว่า ขณะนี้มีเด็กปากแหว่ง เพดานโหว่ที่เกิดตั้งแต่ 1 มกราคม 2547 ขึ้นทะเบียนไว้ที่โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 707 ราย เป็นเด็กปากแหว่ง – เพดานโหว่ 345 ราย ปากแหว่ง 178 ราย เพดานโหว่ 139 ราย อื่นๆ 45 ราย ผ่าตัดไปแล้ว 423 ราย หลังผ่าตัดทีมงานจะนัดเด็กมาพบทันตแพทย์ และนักอรรถบำบัด ดูแลเรื่องฟันและการพูดให้เหมือนเด็กปกติ

ปัญหาที่ผ่านมาพบว่าผู้ป่วยปากแหว่ง เพดานโหว่ ไม่มารับการผ่าตัดตามนัดหมาย เนื่องจากไม่มีเงินใช้จ่ายในการเดินทาง ทำให้เด็กจำนวนมากไม่ได้รับการผ่าตัดตามเวลาที่เหมาะสม ดังนั้นโครงการ “ยิ้มสวย เสียงใส” จึงได้ระดมศัลยแพทย์ทั้งจากภาครัฐและเอกชน ร่วมผ่าตัดแก้ไขความพิการดังกล่าว โดยโครงการฯมีเงินสนับสนุนเป็นค่าพาหนะเดินทาง ที่พักและค่าอาหาร เพื่อให้เด็กได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่องและครบวงจร ผู้ปกครองที่มีปัญหาเด็กปากแหว่ง เพดานโหว่ดังกล่าว ติดต่อเข้าร่วมโครงการได้ที่สถานบริการสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทุกแห่ง และเหล่ากาชาดจังหวัดทุกจังหวัด นายพินิจกล่าว

สำหรับอุบัติการณ์การเกิดโรค แต่ละปีจะมีเด็กปากแหว่ง เพดานโหว่ประมาณ 1,000-1,500 ราย โดยจะพบเด็กปากแหว่ง 1 รายในเด็กที่คลอดทุก 600 ราย และพบเด็กเพดานโหว่ 1 รายในเด็กที่คลอดทุก 2,500 ราย
ทางด้านนายแพทย์นิพนธ์ โพธิ์พัฒนาชัย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกระบี่ กล่าวว่า จังหวัดกระบี่ มีเด็กปากแหว่ง เพดานโหว่ ขึ้นทะเบียนไว้ 48 ราย ผ่าตัดไปแล้ว 40 ราย ขณะนี้อยู่ระหว่างการติดตามพัฒนาการด้านการพูด 1 ราย ที่เหลือรอผ่าตัด 8 ราย

ด้านนายแพทย์สมนึก เชื้อทอง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลตรัง กล่าวว่า จากการสำรวจพบว่าจังหวัดตรัง ค้นพบเด็กปากแหว่ง เพดานโหว่นำมาขึ้นทะเบียนไว้ 28 ราย ผ่าตัดโดยทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญศัลยกรรมช่องปาก 11 ราย ส่งไปผ่าตัดโดยศัลยกรรมตกแต่งที่โรงพยาบาลนครศรีธรรมราช 7 ราย และรอผ่าตัด 10 ราย
กำลังโหลดความคิดเห็น