xs
xsm
sm
md
lg

พม.เพิ่งตื่น! จี้เอาโทษพ่อแม่บังคับลูกขายพวงมาลัยตามสี่แยก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปลัด พม.ให้ตำรวจเอาโทษพ่อแม่ “น้องลี่” เด็กขายพวงมาลัยที่ถูกรถชนเสียชีวิต พร้อมเตรียมหารือ บช.น.และ กทม.เพื่อนำกฎหมายจราจร เอาผิดกับผู้ซื้อพวงมาลัยบริเวณสี่แยก เพราะทำให้กีดขวางการจราจร แจง พม.เคยนำเด็กไปฝึกอาชีพแต่พ่อแม่ขอตัวกลับอ้างให้เรียนหนังสือ

นายวัลลภ พลอยทับทิม ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวถึงกรณี ด.ญ.อนัญญา หรือน้องลี่ เหมือนสุวรรณ อายุ 9 ขวบ นักเรียนชั้น ป.2 โรงเรียนวัดพระยายัง เด็กขายพวงมาลัยที่ถูกรถชนเสียชีวิตบริเวณสี่แยกตึกชัยว่า เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา พม.เคยเข้าไปให้ความช่วยเหลือด้วยการนำน้องลี่ไปฝึกอาชีพ แต่พ่อแม่เด็กขอตัวเด็กกลับมาโดยอ้างว่าจะให้เรียนหนังสือ

ทั้งนี้ พม.ได้เข้าไปสำรวจและเข้าไปให้ความช่วยเหลือชุมชนริมทางรถไฟยมราช โดยให้ทุนประกอบอาชีพแล้ว 120 ครอบครัว แต่ยังมีอีก 20 ครอบครัว ที่ยังให้เด็กไปขายพวงมาลัยตามสี่แยก โดยบอกว่าเด็กทำให้คนซื้อสงสารและจะขายได้มาก ซึ่งต้องขอความร่วมมือจากผู้ซื้อด้วยว่าอย่าสนับสนุนซื้อพวงมาลัยหรือดอกไม้จากเด็กด้วย

ปลัด พม.กล่าวว่า ตนจะเร่งหารือกับกองบัญชาการตำรวจนครบาล และกรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อนำกฎหมายจราจรเอาผิดกับผู้ซื้อของในที่สาธารณะ ทำให้กีดขวางการจราจรมาดำเนินการตามกฎหมายอย่างจริงจัง ในส่วนของพ่อแม่เด็กมีกฎหมายคุ้มครองเด็ก ที่จะเอาผิดพ่อแม่ที่เลี้ยงดูเด็กอย่างไม่เหมาะสมอยู่แล้ว ในเมื่อพ่อแม่ยังดึงดันให้เด็กไปขายพวงมาลัยและดอกไม้ตามสี่แยก ซึ่งมีความเสี่ยงเรื่องความปลอดภัยสำหรับเด็ก ต้องเอาโทษตามกฎหมายอย่างจริงจัง โดยมีโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 3 เดือน

กรณีของเด็กคนนี้ พม.เคยนำไปดูแล สุดท้ายพ่อแม่มาขอกลับคืน โดยอ้างว่าจะพาไปเรียนหนังสือ โดยในชุมชนโค้งรถไฟยมราชรวมทั้งครอบครัวนี้ ทาง พม.และ บ.ชน.ได้มีการว่ากล่าวตักเตือนและมีการทำทัณฑ์บนแล้วเมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว ห้ามไม่ให้นำเด็กออกมาขายพวงมาลัย ดอกไม้บนพื้นผิวจราจร ส่วนในระยะยาวต่อไป จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้น่าจะทำอะไรให้ดีขึ้นกว่านี้ โดยได้สั่งการกรมพัฒนาสังคมฯ แล้ว ให้เข้าถึงครอบครัวอีก 20 ครอบครัวที่มีการทำทัณฑ์บนไว้ ให้แยกเด็กออกมาเพื่อนำไปเรียนหนังสือ โดยกรมพัฒนาสังคมฯ จะประสานกับกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) นำการศึกษานอกโรงเรียนเข้ามาสอนเด็ก ส่วนตัวพ่อแม่ จะส่งเสริมให้มีอาชีพต่อไป

อย่างไรก็ตาม องค์ประกอบที่สำคัญคือคนที่ซื้อพวงมาลัยและดอกไม้ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุต้องรณรงค์ไม่ให้ซื้อพวงมาลัยและดอกไม้บนถนน ซึ่งผู้ซื้อและอาจเข้าข่ายผิดกฎหมาย พ.ร.บ.จราจร ขณะที่ผู้ปกครองเด็กอาจเข้าข่ายผิด พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546

“เข้าใจสังคมไทยอยู่บนพื้นฐานช่วยเหลือเกื้อกูลกัน แต่ถ้าทำในสถานที่ที่ไม่เหมาะสมก็เกิดความเดือดร้อนได้ เช่นที่แยกยมราช สิ่งที่ขายคือ ดอกจำปี ใช้ประโยชน์แทบไม่ได้เลย แต่คนซื้อซื้อเพราะความสงสาร ดังนั้น ถ้าอยากทำบุญให้ไปวัด โรงเรียน สถานสงเคราะห์ เพราะทำอย่างนี้จะเกิดโทษทำความเดือดร้อนให้คนอื่น” นายวัลลภกล่าว

ด้านพล.ต.ต.วัจนนท์ ถิระวัฒน์ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (บ.ชน.) กล่าวว่า เรื่องของการห้ามขายพวงมาลัยและดอกไม้ตามท้องถนน ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการจริงจังมานานแล้ว แต่ยังมีการฝ่าฝืนและยังมีคนซื้อ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้เป็นโอกาสดีที่จะช่วยรณรงค์กับคนที่เป็นพ่อแม่เด็กว่าสิ่งที่ทำไม่ถูกต้อง จะต้องช่วยเอาเด็กออกจากท้องถนนให้เรียนหนังสือ ถ้าต้องการขายของต้องหาวิธีอื่น เพราะหลายครั้งที่เจ้าหน้าที่ดำเนินการจริงจังแทนที่จะได้รับคำชมเชยกลับถูกมองว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้มงวดกับคนที่หาเช้ากินค่ำ

นางพนิตา กำภู ณ อยุธยา อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กล่าวว่า กรมพัฒนาสังคมฯ จะทำหนังสือขอความร่วมมือไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการดูแลเด็ก และผู้ขายสินค้าในพื้นผิวจราจรทุกแห่ง ถ้าเป็นเด็กให้เชิญผู้ปกครองมาทำทัณฑ์บน ไม่ให้เด็กมาขายพวงมาลัยตามท้องถนนและต้องส่งกลับให้เด็กได้เรียนหนังสือ แต่ถ้าเกิดซ้ำในรายที่ทำทัณฑ์บนไว้ จะไม่ปล่อยตัวเด็กกลับไปให้เด็กอยู่มีที่เรียนประจำ ถ้าจะรับเด็กกลับช่วงปิดเทอม ผู้ปกครองต้องยืนยันชัดเจนว่าจะไม่นำไปทำอาชีพอันตราย ขณะเดียวกันจะดูแลครอบครัวในรายที่ทำทัณฑ์บนไว้ 20 ครอบครัว อาจจะมาทำกันใหม่ เพื่อไม่ปล่อยให้เด็กออกมาเสี่ยงขายของในพื้นที่ไม่ปลอยภัย

ทั้งนี้ กรมพัฒนาสังคมฯ จะทำการรณรงค์อีกครั้งหลังจากที่ผ่านมาใช้ไปรษณียบัตรสอบถามเรื่องการซื้อขายพวงมาลัยและดอกไม้บนท้องถนน ทางหลวง และทางขึ้นทางด่วน แจกตามห้างสรรพสินค้าจำนวน 10,000 ใบ ได้รับการตอบกลับ พบว่าร้อยละ 70 เห็นด้วยกับการรณรงค์ และปีนี้จะทำอีก
กำลังโหลดความคิดเห็น