เกาะสินไห ตั้งอยู่ในทะเลอันดามัน ทางทิศตะวันตกห่างจากชายฝั่งระนอง ประมาณ 18 กิโลเมตร เป็นเกาะที่มีความอุดมสมบูรณ์ โดยท้องทะเลรอบเกาะมีสัตว์น้ำชุกชม ปัจจุบันมีประชากรอาศัยอยู่ราว 215 ครัวเรือน 1,075 คน มีอาชีพประมงเป็นหลัก นับถือศาสนาอิสลาม 100 % ภาษาที่ใช้มีทั้งภาษามลายูและไทยปักษ์ใต้
ชาวบ้านที่อาศัยอยู่บนเกาะสินไห ส่วนหนึ่งเป็นคนสัญชาติไทยแท้ แต่อีกส่วนหนึ่งเป็นคนไทยพลัดถิ่น กล่าวคือ มีเชื้อสายไทย มีความเป็นไทยทุกอย่าง แต่มีสัญชาติพม่า หรือบางคนก็ไม่มีทั้งสัญชาติไทยและสัญชาติพม่า ซึ่งมีอยู่หลายสิบครอบครัวด้วยกัน
ที่เกาะสินไหแห่งนี้ มีเรื่องราวที่น่าสนใจหลายอย่าง ทั้งเรื่องความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์ทะเล สัตว์ป่า ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมความเชื่อ และภูมิปัญญาท้องถิ่น
“การอ่านคัมภีร์รักษาโรค” เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจ เนื่องจากเป็นความเชื่อหรือเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ได้รับการสืบทอดมาอย่างยาวนาน
ฉัตรชัย ชาญสมุทร หรือ “บังหลาบ” อายุ 40 ปี ชาวบ้านเกาะสินไห และเป็นคนไทยพลัดถิ่น ที่มีความชำนาญการอ่านคัมภีร์รักษาโรค เล่าว่า การอ่านคัมภีร์รักษาโรค เป็นพิธีที่มีการสืบทอดกันมาเรื่อยๆ ตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษจนกระทั่งถึงปัจจุบัน เพื่อช่วยให้คนเจ็บไข้ได้ป่วยหายจากโรคภัยต่างๆ โดยเฉพาะโรคที่เกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ และไปหาแพทย์แผนปัจจุบันแล้วไม่สามารถวินิจฉัยได้ว่าเป็นโรคอะไร แล้วรักษาอย่างไรก็ไม่หายสักที เมื่อเป็นอย่างนี้ก็ทำให้คนป่วยต้องหันมาพึ่งการรักษาด้วยวิธีนี้แทน
ทั้งนี้ คนป่วยที่มารักษา มีทุกประเภท มีทั้งปวดหัว หมดเรี่ยวหมดแรง ร้อนตามเนื้อตามตัว มือเท้าชา เหม่อลอย ทั้งนี้จะต้องเกิดขึ้นอย่างไม่ทราบสาเหตุ และไปหาหมอสมัยใหม่แล้วไม่หายหรือบอกไม่ได้ว่าเป็นโรคอะไร ซึ่งชาวบ้านเชื่อกันว่าอาจจะโดนคนอื่นทำของใส่ หรือทำร้ายโดยใช้ไสยศาสตร์ หรือไม่ก็อาจจะเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น ไปเหยียบที่ฝังศพคนอื่น หรือไปลบหลู่เจ้าที่ต่างๆ เลยทำให้ถูกวิญญาณต่างๆ เล่นงาน ซึ่งจำเป็นต้องรีบทำการรักษาโดยด่วนถ้าหากอาการหนัก รักษาไม่ทัน อาจจะทำให้ตายได้ แต่ถ้ารักษาทัน ก็จะทำให้หายได้ โดยให้ผู้ที่ทำพิธีกรรมต้องเป็นผู้ที่มีความรู้เชี่ยวชาญในคัมภีร์อัลกุรอ่าน และรู้ประวัติศาสตร์ของพื้นที่นั้นๆ อย่างดีด้วย ซึ่งจะรักษาให้โดยไม่คิดเงินหรือค่าตอบแทนใดๆ ทั้งสิ้น
ส่วนขั้นตอนการทำพิธีกรรมนั้น เริ่มจากคนป่วยหรือญาติทำการเตรียมอุปกรณ์สำหรับการประกอบพิธีเอาไว้ คือ น้ำ 1 แก้ว หมากพลู 3 คำ และกำยานสำหรับจุดขณะทำพิธี เมื่อหมอพิธีหรือคนทำพิธีมาถึง ก็จะถามอาการคนป่วยว่ามีอาการเป็นอย่างไร ก่อนหน้านี้ไปที่ไหน ไปทำอะไรมาบ้าง เมื่อคนป่วยบอกอาการเสร็จแล้ว ก็จะมอบหมากพลูและแก้วน้ำให้กับหมอพิธี หมอพิธีก็จะทำพิธีรักษา โดยการนั่งอ่านหรือท่องคัมภีร์อัลกุรอ่านซึ่งเป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาอิสลาม ขณะที่คนป่วยก็นั่งฟังตามปกติ และระหว่างนั้นก็จะทำการจุดกำยานขึ้น เมื่อหมอพิธีอ่านคัมภีร์จบแล้ว ก็จะหยิบแก้วน้ำและหมากพลูมาถือไว้ในมือ และบริกรรมคาถาเสกน้ำดื่มและหมากพลู เมื่อเสร็จแล้วก็ยื่นหมากพลูและแก้วน้ำให้กับคนป่วยสำหรับเคี้ยวกินและดื่ม พร้อมทั้งบอกสาเหตุของการเจ็บป่วยรวมทั้งวิธีการรักษาให้คนป่วยทราบ ถือเป็นการเสร็จพิธีแต่เพียงเท่านี้
“ก็เป็นความเชื่อหรือภูมิปัญญาของท้องถิ่นน่ะ คล้ายๆ กับความเชื่อของชาวพุทธในเรื่องน้ำมนต์หรือการทำพิธีกรรมต่างๆ นั่นแหละ เรื่องนี้ไม่สามารถพิสูจน์ได้ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ แต่สำหรับทางด้านจิตวิทยาแล้ว นับเป็นวิธีการช่วยให้คนป่วยได้ผ่อนคลายจิตใจและมีที่พึ่งทางจิตใจ ซึ่งถ้าหากคนป่วยมีจิตใจเข้มแข็งก็สามารถทำให้โรคภัยไข้เจ็บหายได้ ซึ่งที่ผ่านมา ส่วนใหญ่รักษาแล้ว ก็หายเป็นปกติดี เรื่องนี้ไม่เชื่อ ก็อย่าลบหลู่น่ะ” บังหลาบบอก
หากพิเคราะห์ตามเหตุและผลแล้วจะพบว่า ชาวบ้านไม่ได้เชื่องมงายแต่อย่างใด เพราะคนป่วยที่เข้าสู่พิธีกรรมทุกคนได้ผ่านมือหมอสมัยใหม่มาแล้วทั้งสิ้น และพบว่า ไม่ได้มีอาการป่วยทางกาย หากแต่จิตใจอ่อนแอด้วยผู้ป่วยคิดว่าตนไปล่วงเกินสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือที่ต้องห้ามมา ดังนั้น การเข้าสู่พิธี “อ่านคัมภีร์รักษาโรค” จึงเป็นหม้อยาฟื้นกำลังใจให้กลับคืนมานั่นเอง