xs
xsm
sm
md
lg

LO ปฏิรูปสื่อครูยุคดิจิทัล ค้นหาความลับใต้ต้น “ถั่ว”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

มีใครรู้บ้างว่า แมกมา เกิดขึ้นได้อย่างไร? แล้วมีใครรู้บ้างว่า ต้นถั่วมีความลับอะไรซ่อนอยู่? บทเรียน ตำรา หรือสื่อการสอนแผนภาพ รูปภาพ หรือแม้แต่การทดลองทางวิทยาศาสตร์ บางครั้งก็ไม่สามารถอธิบายเนื้อหาวิชาที่แสนยากเย็นเหล่านี้ให้เข้าใจได้ทั้งหมด

ความลับของต้นถั่ว
ดังนั้น สื่อการเรียนการสอนที่จะช่วยให้เข้าใจบทเรียนได้ง่ายขึ้นจึงเกิดขึ้นภายใต้โครงการความร่วมมือไทย-ออสเตรเลีย การพัฒนาสื่อดิจิทัลประกอบหลักสูตรระดับโรงเรียน : Schools Digital Curriculum Resources Initiative–Thailand (SDCRIT) ซึ่งอยู่ในการดูแลของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี (สสวท.)
โดยมีการร่วมกันผลิต “เลิร์นนิง ออบเจกต์” หรือเรียกสั้นว่า แอลโอ ( Learning
Object : LO)
ซึ่งขณะนี้ได้นำร่องผลิต 17 โปรแกรม ในวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี/คอมพิวเตอร์

ดร.พรพรรณ ไวทยางกูร รองผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์
และเทคโนโลยี (สสวท.) อธิบายถึงการดำเนินงานเกี่ยวกับการพัฒนา Learning Object (LO) ว่า Learning Object เป็นสื่อการเรียนรู้ดิจิทัลในรูปแบบที่อินเตอร์แอคทีฟ มัลติมีเดียที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ โดยออกแบบโปรแกรมให้สอดคล้องกับการเรียนรู้หลักสูตรการศึกษาที่มีอยู่ โดยแต่ละเรื่องจะนำเสนอแนวคิดหลักย่อยๆ ซึ่งครูสามารถที่จะนำสื่อการเรียนการสอนนี้ไป ผสมผสานกับการจัดการเรียนการสอนแบบอื่นๆ ได้อย่างหลากหลาย มีความยืดหยุ่นในการใช้งานทั้ง Off-line และ On-line ในรูปแบบ e-Learning

ทั้งนี้ Learning Object แตกต่างจากสื่อดิจิตอลอื่นๆ ก็คือเน้นกระบวนการเรียนรู้
โดยเฉพาะการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับมาตรฐานของหลักสูตรวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ที่ครูสามารถนำไปใช้เป็นสื่อการเรียนรู้ได้อย่างเหมาะสม หรือใช้สำหรับการเรียนรู้แบบออนไลน์ตามศักยภาพและความสนใจที่หลากหลายแตกต่างของผู้เรียนแต่ละคน สามารถจัดเก็บและค้นหาในระบบฐานข้อมูลได้ ผู้เรียนได้ฝึกวิเคราะห์ นำเสนอข้อมูล อย่างสะดวกรวดเร็ว ผู้เรียนสนุก ไม่เบื่อและเข้าใจบทเรียนมากยิ่งขึ้น

ดร.พรพรรณ บอกอีกว่า ขณะที่มีการพัฒนาแอลโอทั้ง 3 สาขา วิทย์ คณิต
เทคโนโลยี ถึง 17 เรื่อง วิชาวิทยาศาสตร์ ประกอบด้วย เกมต่อติด, กำเนิดหินอัคนี, ชนิดของหินอัคนี, กำเนิดแมกมา, ชนิดของแมกมา, ห้องหินตะกอน, ตระกร้อลอดห่วง, ความลับของต้นถั่ว, pH ดิน, ดีเอ็นเอลูกผสม,ปรากฎการณ์ไฟโตอิเล็กทริก,กฎของบอยย์ วิชาคณิตศาสตร์ เรื่องเปรียบเทียบเศษส่วน, มองต่างมุมและวิชาเทคโนโลยีและคอมพิวเตอร์ เรื่อง การออกแบบกล่องซีดี, รอบรู้เรื่องเลน และการแปลงรหัส

“โปรแกรมเหล่านี้เหมาะสำหรับเด็กประถมและมัธยมซึ่งในปีแรกนี้เราจะเน้นไปที่นักเรียนมัธยมฯ ซึ่งโปรแกรมสื่อการเรียนการสอนไม่มีความซับซ้อนยุ่งยากมาหนัก
ระหว่างนี้อยู่ในขั้นตอนการอบรมครูเพื่อให้สามารถใช้สื่อในการจัดการเรียนการสอน สุดท้ายจึงทำการแจกจ่ายให้กับโรงเรียนที่แสดงความสนใจมีคำขอมายังสสวท. ซึ่งจะจัดส่งโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ พร้อมคู่มือการจัดกิจกรรม ส่วนบุคคลทั่วไปที่มีความสนใจสามารถโหลดได้จากเว็บไซต์ของสสวท.พร้อมกันนี้สสวท.ก็ยังจะคิดค้นพัฒนาแอลโอที่มีคุณภาพอื่นๆ อีก”


ขณะที่อาจารย์ดวงสมร คล่องสารา หัวหน้าสาขาวิทยาศาสตร์มัธยมศึกษา สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี (สสวท.) เล่าว่า เริ่มทดลองใช้แอลโอกับนักเรียนชั้น ม.1 - ม.3 ในโรงเรียนทุรกันดาร โรงเรียนตชด.ซึ่งทั้งเด็กและครูประทับใจมาก ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า สนุกกับสื่อใหม่ๆ และวิธีการเรียนรู้ใหม่ๆ ทำให้เข้าใจปรากฏการณ์ธรรมชาติต่างๆ ที่เขาไม่เคยเห็นแต่เมื่อใช้สื่อนี้แล้วก็สามารถเห็นได้ชัดเจนขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเกิดแผ่นดินไหว การเปลี่ยนแปลงของโลก

“การเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์ยิ่งในต่างจังหวัดซึ่งโดยมากไม่ใช่ครูที่สอนเฉพาะวิชาแต่สอนทุกวิชาทำให้ขาดทักษะความเข้าใจในเนื้อหาวิชาที่ถูกต้อง หลายครั้งที่พบว่าครูเลือกที่จะไม่สอนหรืออธิบายแบบผิดๆ ซึ่งเด็กก็จะจำแบบผิดๆ การนำสื่อแอลโอไปทดลองใช้ยังช่วยให้ครูและนักเรียนสามารถเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน จนกระทั่งครูเกิดความเชี่ยวชาญ ดังนั้นสิ่งสำคัญคือเราต้องอธิบายให้ครูเข้าใจ เพราะถ้าครูไม่สนใจแล้วก็ไม่มีประโยชน์”

อาจารย์ดวงสมร ยกตัวอย่างเกมตระกร้อลอดห่วง ซึ่งเล่นง่ายๆ โดยการยิงตะกร้อให้ลงห่วงโดยสามารถปรับเปลี่ยนมุมยิงและความเร็วต้นในการยิงได้ สำหรับเด็กช่วงชั้นที่ 3 อายุ 13-15 ปี ตระกร้อลอดห่วงจะช่วยสอนวิชาวิทยาศาสตร์ ฟิสิกส์เรื่องแรงและการเคลื่อนที่ หรือ "ความลับของต้นถั่ว" ที่เด็กจะมีโอกาสได้เลือกผสมพันธุ์ถั่วลันเตา จากนั้นผู้เรียนจึงศึกษาภาพเคลื่อนไหวประกอบคำบรรยาย เพื่อทำความเข้าใจกลไกทางพันธุกรรมในระดับยีนและโครโมโซม เมื่อผู้เรียนมีความเข้าใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างลักษณะคู่ยีน และลักษณะที่ปรากฏ จะได้คาดคะเนผลการผสมพันธุ์ถั่วลันเตาที่ทราบลักษณะคู่ยีนซึ่งจะทำให้ผู้เรียนสามารถอธิบายลักษณะเด่นและลักษณะด้อยของสิ่งมีชีวิตได้และคาดคะเนจีโนไทป์และฟีโนไทป์ของสิ่งมีชีวิตที่เป็นผลจาก Monohybrid cross ได้ จากนั้นจึงบันทึกผล วิเคราะห์และเปรียบเทียบการถ่ายทอดทางพันธุกรรม ซึ่งวิถีการเหล่านี้ เสมือนเป็นการทดลองด้วยตนเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น