xs
xsm
sm
md
lg

เตรียมอุดมฯ-มหิดลวิทยานุสรณ์ สุดเจ๋ง กวาดแชมป์คะแนนสูงสุด O-NET

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“เตรียมอุดมฯ” เจ๋ง กวาดเรียบคะแนนเฉลี่ยสูงสุดโอเน็ต ภาษาไทย สังคมศึกษา อังกฤษ ส่วน “มหิดลวิทยานุสรณ์” ครองคะแนนเฉลี่ยสูงสุดในวิชาคณิตศาสตร์-วิทยาศาสตร์ สทศ.ส่งข้อมูลคะแนนโอเน็ตให้ ศธ.และเร่งวิเคราะห์ข้อสอบเพื่อปรับปรุงการศึกษาที่ยังเป็นจุดอ่อนต่อไป ด้าน จุฬาฯ เล็งเสนอ ทปอ.ยกเลิก GPA กลุ่มสาระให้ใช้แค่ GPAX 25% รวมกับ O-NET 25% เชื่อจะทำให้การกวดวิชาลดลง และได้ใช้ผลการเรียนและกิจกรรมจากในโรงเรียน 50% ตามเจตนารมณ์ที่ตั้งใจไว้


คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ ประธานคณะกรรมการบริหารสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) กล่าวภายหลังการประชุมบอร์ดบริหาร สทศ.ว่า ที่ประชุมได้รายงานผลการวิเคราะห์แบบทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน หรือ โอเน็ต ปีการศึกษา 2548 เรียบร้อยแล้ว โดยจากจำนวนผู้เข้าสอบโอเน็ต 300,000 กว่าคน พบว่า วิชาภาษาไทย มีคะแนนเฉลี่ย 48.68 คะแนน ส่วนคะแนนต่ำสุด 1 คะแนน และคะแนนสูงสุด 92 คะแนน วิชาสังคมศึกษา มีคะแนนเฉลี่ย 42.69 คะแนน คะแนนต่ำสุด 2.5 คะแนน คะแนนสูงสุด 92.5 คะแนน วิชาวิทยาศาสตร์ มีคะแนนเฉลี่ย 33.94 คะแนน คะแนนต่ำสุด 4 คะแนน คะแนนสูงสุด 98 คะแนน วิชาภาษาอังกฤษ มีคะแนนเฉลี่ย 30.18 คะแนน คะแนนต่ำสุด 1 คะแนน คะแนนสูงสุด 97 คะแนน และวิชาคณิตศาสตร์ มีคะแนนเฉลี่ย 28.74 คะแนน คะแนนต่ำสุด 4 คะแนน โดยมีคะแนนสูงสุด 100 คะแนน ซึ่งในวิชาคณิตศาสตร์นี้มีผู้ทำคะแนนได้เต็ม 100 คะแนน มากถึง 54 คน

คุณหญิงสุมณฑา กล่าวต่อไปว่า ส่วนโรงเรียนที่มีคะแนนเฉลี่ยสูงสุดตามรายวิชามีดังนี้

วิชาภาษาไทย โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา มีคะแนนเฉลี่ย 76.59 คะแนน ซึ่งนักเรียนที่ได้คะแนนวิชาภาษาไทยสูงเป็นอันดับ 1 เป็นนักเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา 6 คน โรงเรียนสตรีวิทยา 2 คน และโรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์ 1 คน

วิชาสังคมศึกษา โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา มีคะแนนเฉลี่ยสูงสุด 71.24 คะแนน ซึ่งนักเรียนที่ได้คะแนนวิชาสังคมศึกษาสูงเป็นอันดับ 1 เป็นนักเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา 1 คน

วิชาภาษาอังกฤษ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษามีคะแนนเฉลี่ยสูงสุด 68.77 คะแนน ซึ่งนักเรียนที่ได้วิชาภาษาอังกฤษสูงสุดเป็นอันดับ 1 เป็นนักเรียนโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 1 คน

วิชาคณิตศาสตร์ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์มีคะแนนเฉลี่ยสูงสุด 87.13 คะแนน โดยมีนักเรียนที่ทำคะแนนได้เต็ม 100 คะแนน เป็นนักเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา 33 คน โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ 6 คน โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2 คน โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย โรงเรียนโยธินบูรณะ โรงเรียนทวีธาภิเษก โรงเรียนฤทธิยะวรรณาลัย โรงเรียนราชินี โรงเรียนส่วนบุญโญปถัมภ์ ลำพูน โรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย จ.ลำปาง โรงเรียนพิริยาลัย จ.แพร่ โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย จ.สงขลา และโรงเรียนแสงทองวิทยา แห่งละ 1 คน

“จากคะแนนที่ปรากฏวิชาภาษาไทย มีค่าเฉลี่ยเกือบ 50% ขณะที่วิชาสังคมศึกษาก็อยู่ในระดับน่าพอใจ ส่วนวิชาวิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ และคณิตศาสตร์ เป็นเรื่องที่ต้องปรับปรุงกันต่อไป อย่างไรก็ตาม เห็นได้ว่า โรงเรียนในต่างจังหวัดก็สามารถทำคะแนนได้ดี แสดงให้เห็นถึงคุณภาพมาตรฐานที่พัฒนาใกล้เคียงกันมากขึ้น นอกจากนี้ ยังเห็นได้ว่าข้อสอบโอเน็ตไม่ยากจนเกินไปออกตามหลักสูตรที่นักเรียนได้เรียนไปแล้ว ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า ในจังหวัดที่มีโรงเรียนสาธิตของมหาวิทยาลัยดูแลการศึกษาก็สามารถทำคะแนนได้ดี ซึ่งควรให้การสนับสนุนต่อไป” คุณหญิงสุมณฑา กล่าว

คุณหญิงสุมณฑา กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับผลการวิเคราะห์ข้อสอบโอเน็ต สทศ.จะนำเสนอต่อนายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศธ.เพื่อให้เห็นภาพรวมของการศึกษา โดย สทศ.จะทำการวิเคราะห์ข้อสอบอย่างละเอียดในทุกรายวิชา และ สทศ.จะจัดส่งข้อมูลคะแนนของโรงเรียนแต่ละแห่งให้กับทุกสถานศึกษา เพื่อได้ทราบถึงจุดอ่อนของการศึกษาจะได้ปรับปรุงแก้ไขต่อไป

วันเดียวกันนี้ รศ.ดร.ไพฑูรย์ สินลารัตน์ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ในการประชุมของที่ประชุมอธิการบดี ในวันที่ 17 มิถุนายน นี้ ขอเสนอให้แอดมิชชันปีหน้ายกเลิก คะแนนเฉลี่ยรายกลุ่มสาระการเรียนรู้ หรือ GPA กลุ่มสาระออกไปเสีย แล้วใช้คะแนนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตร หรือ GPAX 25% O-NET 25% และ A - NET และ/หรือความถนัด รวมกัน 50% เพื่อให้เด็กนักเรียนเรียนในโรงเรียนอย่างรอบด้าน และมุ่งพัฒนาตนเองอย่างแท้จริง เพราะถ้ามี GPA กลุ่มสาระจะทำให้เด็กสนใจเฉพาะกลุ่มสาระและมุ่งแต่คะแนนในกลุ่มสาระไม่สนใจกิจกรรมอื่นๆ เท่าที่ควร เมื่อใช้ GPAX 25% รวมกับ O - NET 25% ก็จะเป็นคะแนนจากความสามารถในโรงเรียนทั้งหมด 50% ตามเจตนารมณ์ที่จะให้เด็กเรียนในโรงเรียนอีก 50% จาก A - NET เป็นความสามารถในทางวิชาการที่เด็กสนใจเฉพาะสาขาโดยตรง

รศ.ดร.ไพฑูรย์ กล่าวอีกว่า การยกเลิก GPA จะทำให้การกวดวิชาลดลง ไม่ต้องกวดรายวิชาทุกปี แต่ถ้าเป็นการกวด GPAX รวมก็จะต้องกวดวิชาไปตามกิจกรรมและการเรียนในโรงเรียน ซึ่งจะส่งเสริมการเรียนในโรงเรียนได้ดีกว่า นอกจากนั้น การสอบ O- NET ก็จะเป็นการทดสอบความรู้ความสามารถจากโรงเรียนส่วนหนึ่งอีกด้วย ซึ่งจะช่วยให้มีความสมดุลขึ้น การเตรียมตัวของผู้เรียนที่จะเข้ามหาวิทยาลัยจะได้ชัดเจน และส่งเสริมชีวิตในโรงเรียนได้เต็มที่ และพัฒนาสามารถที่จะเข้ามหาวิทยาลัยได้ตรงมากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น