xs
xsm
sm
md
lg

แนะสูตรสร้างหมอรักท้องถิ่น แก้ปัญหาขาดแคลนหมอชนบท

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมาชิกสภาที่ปรึกษาฯเสนอผ่าทางตันปัญหาขาดแคลนหมอในชนบท ไม่ใช่แค่เพิ่มจำนวนแพทย์ แต่ต้องปรับหลักการกระจายบุคลากรของสธ.ด้วย ย้ำหลักการเหมาจ่ายตามจำนวนประชากรยังได้ผลหากทำจริง เตือนเร่งสร้างระบบประกันสุขภาพให้เข้มแข็งก่อน “เมดิคอลฮับ”ฉุดระบบสาธารณสุขดิ่งเหว ด้านแพทย์ชนบทแนะปรับหลักสูตรโรงเรียนแพทย์ เสริมหัวใจบริการที่เป็นมนุษย์ เพิ่มหลักสูตรลงชุมชน เลิกบ้าเงิน-วัตถุ สร้างหมอให้รักท้องถิ่น

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 9 พ.ค.ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการตามแผนลงทุนเสริมสร้างสาธารณสุขแห่งชาติ (2549-2552)เฉพาะในส่วนการเพิ่มการผลิตแพทย์และพยาบาลวิชาชีพในปี 2549 พร้อมทั้งอนุมัติเงินกว่า 300 ล้านบาทนั้น

น.ส.สุรีรัตน์ ตรีมรรคา ประธานคณะทำงานพัฒนาคุณภาพชีวิต สาธารณสุข และคุ้มครองผู้บริโภค สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวถึงโครงการนี้ว่า ไม่ว่าจะลงทุนอีกมากเท่าไหร่ แต่หากไม่พิจารณาถึงการกระจายกำลังบุคลากรทางสาธารณสุข ก็อาจไม่สำเร็จ เนื่องจากคนจะถูกดูดไปยังจุดที่มีค่าตอบแทนสูงอยู่แล้ว ซึ่งที่ผ่านมาระบบประกันสุขภาพก็พยายามแก้ไขปัญหานี้ โดยนำเงินมาเป็นตัวผลักดันการกระจายบุคลากรทางการแพทย์ไปยังชนบท โดยใช้หลักการการเหมาจ่าย หากโรงบาลไหนมีผู้มาใช้บริการเยอะก็จะได้เงินสูงตาม และได้ค่าตอบแทนจากการรักษา ซึ่งจะทำให้มีงบประมาณจ้างแพทย์ที่เชี่ยวชาญ หรือเพิ่มจำนวนได้

น.ส.สุรีรัตน์ กล่าวต่อว่า หลักการข้างต้นเป็นเพียงเพียงทฤษฎีเท่านั้น เพราะระบบเหมาจ่ายรายหัวยังทำงานไม่เต็มที่ เนื่องจากปัจจุบันโรงพยาบาลขึ้นตรงกับกระทรวงสาธารณสุข ส่วนแพทย์ก็เป็นข้าราชการ รับเงินเดือนจากส่วนกลาง ไม่ได้รับจากโรงพยาบาล ดังนั้นแรงจูงใจในการทำงานในพื้นที่ชนบทจึงต่ำ แพทย์ส่วนใหญ่เมื่อใช้ทุนเสร็จจึงไปเรียนต่อ หรือย้ายเข้ามาในเมือง ที่งานสบาย เงินดี เป็นต้น

“ทางออกต้องทำให้ระบบประกันสุขภาพเข้มแข็ง ทำให้เงินจำนวนมากไปอยู่กับโรงพยาบาลที่มีผู้ใช้บริการจำนวนมาก และต้องเปลี่ยนความคิดจากการเอาเด็กเรียนเก่งมาเป็นแพทย์ อีกทั้งควรเปิดโอกาสให้เด็กจากชนบทที่มีความรักท้องถิ่นเป็นทุนเดิมมาเรียนแพทย์ อบต.ก็จะมีส่วนร่วมในการสนับสนุน เพราะปัจจุบันนักเรียนแพทย์ส่วนใหญ่มาจากในเมือง และต้องปรับหลักสูตรจากการผลิตแพทย์ เฉพาะทางมาเป็นการเน้นแพทย์ชุมชนมากขึ้น” น.ส.สุรีรัตน์ กล่าว

ส่วนผลกระทบจากการผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการแพทย์นั้น น.ส.สุรีรัตน์ กล่าวว่า ทั้งเมดิคอลฮับ การเปิดเสรีการค้าลงทุน และสาธารณสุข เป็นเรื่องที่เชื่อมโยงกันอยู่ แต่ไม่ว่าจะมีการลงนามเอฟทีเอหรือไม่ ปัจจุบันก็มีชาวต่างชาติเข้ามาใช้บริการทางแพทย์ในโรงบาลเอกชนหลายแห่ง ทั้งการแปลงเพศ ผ่าตัดหัวใจ ฯลฯ แพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญจึงถูกดูดไปโรงบาลเอกชนซึ่งประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่าใครเป็นผู้ถือหุ้นในโรงพยาบาลเหล่านั้น ในวันนี้อาจยังเป็นคนไทยอยู่ แต่หากโรงพยาบาลจะทำอะไรใหญ่โตขึ้นก็ย่อมเปิดทางให้นักลงทุนชาวต่างชาติเข้ามาได้

นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของโครงการนี้ถือเป็นเรื่องดี และเป็นแนวคิดที่ชมรมผลักดันให้กระทรวงดำเนินการเมื่อ 4 ปีก่อน แต่ถึงอย่างไรความคิดที่ดีต้องควบคู่ไปกับวิธีดำเนินการและการบริหารจัดการที่มีความเข้าใจปัญหาการขาดแคลนแพทย์ด้วย ไม่อย่างนั้นจะซ้ำรอยความล้มเหลวดังโครงการผลิตแพทย์เพื่อชนบทจำนวนมาก ด้วยเหตุนี้ระบบการผลิตแพทย์เพื่อชนบทรูปแบบใหม่ นอกจากจะใช้ชุมชนท้องถิ่น อบต.มีส่วนคัดเลือก และสนับสนุนแล้ว หลักสูตรในโรงเรียนแพทย์ต้องคิดค้นกิจกรรมสร้างความผูกพันกับชุมชน ควรผลิตแพทย์ที่มีความรับผิดชอบ มีจิตอาสา ควบคู่กับการเรียนทางวิชาการตลอดทั้ง 6 ปีตามหลักสูตร

“ที่สำคัญต้องพัฒนาหลักสูตรการแพทย์ และการบริการที่เน้นหัวใจของการเป็นมนุษย์ ตามที่ อ.ประเวศได้กล่าวเอาไว้ เมื่อกระทรวงมาถูกทางก็ไม่ควรยึดติดกับกรอบ และแนวทางเดิมๆ และเพื่อไม่ให้ถูกมองว่าเป็นแค่โครงการหาเสียง ต้องมอบหมายงานนี้ให้ผู้ที่มีความเข้าใจดำเนินการต่อไป เพราะสาระสำคัญอยู่ที่การผสานความรู้ทางวิชาการ เข้ากับการบ่มเพาะทัศนคติและอุดมการณ์ของการเป็นแพทย์ที่มองเห็นถึงความเดือดร้อนของคนทุกข์ คนยากด้วย ไม่ใช่ให้ความสำคัญแต่เรื่องวิชาการ เงินตรา หรือวัตถุเพียงอย่างเดียว” นพ.พงศ์เทพ กล่าว

นพ.พงศ์เทพ กล่าวต่อว่า ปัญหาความไม่เท่าเทียมทางการแพทย์ระหว่างสังคมเมืองและชนบท มีมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน จนปรับเปลี่ยนทัศนคติของชาวบ้านให้ยอมรับสภาพ ซึ่งรัฐเองก็พยายามแก้ปัญหานี้อยู่ โดยส่วนตัวมองว่าการขาดแคลนอยู่ในขั้นวิกฤต ยิ่งไปกว่านั้นการส่งแพทย์ที่ไม่ความเชี่ยวชาญ เช่น แพทย์จบใหม่ และยังเปลี่ยนตัวบุคคลทุกปี จึงทำให้เกิดคำถามสำคัญที่ว่า ชาวบ้านนับหมื่นกำลังฝากสุขภาพไว้กับใคร

ด้าน ศ.นพ.ศุภสิทธิ์ พรรณารุโณทัย ศูนย์วิจัยและติดตามความเป็นธรรมทางสุขภาพ และคณบดีคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ให้ความเห็นว่า กลไกการตลาด ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้แพทย์ในระบบสาธารณสุขขาดแคลนอยู่ ซึ่งจะเกิดขึ้นเป็นช่วงๆ ตามสภาพเศรษฐกิจ นอกจากนี้ปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองและชนบท ภาระงานที่หนัก และความเสี่ยงจากการถูกคนไข้ฟ้องร้อง ก็เป็นปัจจัยเสริมที่ทำให้แพทย์ทำงานในชนบทได้ไม่นาน ยกตัวอย่างเช่น ในขณะที่แพทย์ 1 คนในเขตเมืองอาจต้องรับผิดชอบคนไข้ 1,000 คน แต่สำหรับบางอำเภอในชนบทอาจต้องดูแลประชาชนถึงหมื่นคนเป็นต้น ประสิทธิภาพในการให้บริการย่อมลดลงเป็นปกติ

ศ.นพ.ศุภสิทธิ์ เสนอแนะว่า ทางออกคือการเพิ่มแพทย์เข้าไปในภาคชนบท ปัจจุบันโครงการ 1 แพทย์ 1 อำเภอของรัฐบาลก็กำลังขับเคลื่อนอยู่ ซึ่งตนไม่แน่ใจว่าจะสัมฤทธิผลแค่ไหนโดยส่วนของมหาวิทยาลัยนเรศวรปีนี้ก็มีนิสิตจากโครงการดังกล่าวร้อยละ 15 จากทั้งหมด 120 คน ยิ่งไปกว่านั้นทางคณะฯยังมองไปถึงปัญหาการขาดแคลนแพทย์อย่างต่อเนื่องในบางอำเภอ จึงได้คิดค้นโครงการคัดเลือกเด็กนักเรียนจากท้องถิ่นเข้ามาเรียนด้วย ซึ่งทางคณะจะลงไปติดตามผลการเรียนตั้งแต่ ม.4 และคัดกรองเด็กนักเรียนที่มีความรักถิ่นฐาน ต้องการเรียนเพื่อกับไปพัฒนาชุมชนจริง

อย่างไรก็ตามนอกจากการเพิ่มจำนวนแพทย์แล้ว การส่งเสริมบุคลากรทางสาธารณสุขในท้องถิ่น รวมถึงแพทย์ประจำครอบครัว ให้เข้ามามีบทบาทมากขึ้น ก็เป็นอีกหนึ่งทางออก เพราะปัญหาทางสาธารณสุขในภาคชนบทบางอย่างไม่จำเป็นต้องใช้แพทย์เฉพาะทาง เพียงแต่ต้องมีการฝึกอบรม เพื่อยกระดับคุณภาพเท่านั้น

กำลังโหลดความคิดเห็น