xs
xsm
sm
md
lg

พระราชประวัติพระราชอาคันตุกะที่เสด็จฯทรงร่วมงานฉลองราชย์ 60 ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


<1>


  • พระบาทสมเด็จพระบรมนาถนโรดม สีหมุนี แห่งกัมพูชา เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้านโรดม สีหนุ พระอิสริยยศปัจจุบันคือ พระมหาวีรกษัตริย์ พระวรราชบิดา เอกราช บูรณภาพดินแดน และความเป็นเอกภาพแห่งชาติเขมร กับพระราชินีนโรดม มณีนาถ สีหนุ พระอิสริยยศปัจจุบันคือ พระมหาวีรกษัตรี นโรดม มณีนาถ สีหนุ พระวรราชมารดาแห่งชาติเขมร ในเสรีภาพ ความมีคุณค่า และศุภมงคล
    พระบาทสมเด็จพระบรมนาถนโรดม สีหมุนีเสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พุทธศักราช 2547 และมีพระราชพิธีราชาภิเษกเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม พุทธศักราช 2547 ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 7 แห่งราชอาณาจักรกัมพูชา
     
    เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พุทธศักราช 2496 ปัจจุบันมีพระชนมพรรษา 53 พรรษา ยังไม่ทรงอภิเษกสมรส แม้พระบาทสมเด็จพระบรมนาถนโรดม สีหมุนี แห่งกัมพูชา จะทรงสนพระทัยศึกษาด้านนาฏกรรม ดนตรีและการละคร โดยทรงอำนวยการสร้างภาพยนตร์ และยังทรงรับบทนำในภาพยนตร์เรื่องเจ้าชายน้อย ซึ่งกำกับโดยพระราชบิดา และภาพยนตร์เรื่องดังกล่าว ได้รับรางวัลในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ ณ กรุงพนมเปญ เมื่อปี 2511 ด้วย แต่หลังจากเสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว ทรงพยายามบำเพ็ญพระราชกรณียกิจ จนเป็นที่สรรเสริญของประชาชนชาวกัมพูชา

    การเสด็จพระราชดำเนินมาทรงร่วมงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ของพระบาทสมเด็จพระบรมนาถนโรดม สีหมุนี แห่งกัมพูชา ในครั้งนี้ นับเป็นการเยือนราชอาณาจักรไทยอย่างเป็นทางการครั้งแรก ในฐานะประมุขของราชอาณาจักรกัมพูชา



  • <2>


    เชคฮามัด บิน คอลิฟะห์ อัลซานี เจ้าผู้ครองรัฐพระองค์ที่ 7 แห่งรัฐกาตาร์ เป็นพระโอรสพระองค์ที่ 2 ในเชค คอลิฟะห์ บิน ฮามัด อัลซานี เจ้าผู้ครองรัฐพระองค์ที่ 6 แห่งรัฐกาตาร์ เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พุทธศักราช 2538 ปัจจุบันมีพระชันษา 54 พรรษา ทรงสำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยการทหารจากสหราชอาณาจักร เมื่อปีพุทธศักราช 2514 ต่อมาทรงเข้ารับราชการทหารในกองทัพกาตาร์

    เชคฮามัด บิน คอลิฟะห์ อัลซานี เจ้าผู้ครองรัฐพระองค์ที่ 7 แห่งรัฐกาตาร์ ทรงสนพระทัยและทรงอุปถัมภ์ด้านการกีฬาและกิจการเยาวชน โดยทรงเป็นประธานคณะมนตรีเพื่อสวัสดิการเยาวชน ในปีพุทธศักราช 2522 – 2534 อีกทั้งยังทรงมีบทบาทสำคัญในกิจการสื่อมวลชน โดยประทานพระอนุญาตและทรงสนับสนุนด้านการเงิน ในการตั้งสำนักงานข่าวโทรทัศน์ อัล จาซีร่า แห่งรัฐกาตาร์ด้วย

    เชคฮามัด บิน คอลิฟะห์ อัลซานี  เสด็จเยือนราชอาณาจักรไทยอย่างเป็นทางการ ในฐานะแขกของรัฐบาลครั้งแรกเมื่อวันที่ 12-15 เมษายน พุทธศักราช 2542 และการเสด็จมาทรงร่วมงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี พร้อมด้วยเชคเคาะห์เมาซา บินด์ เนเซอร์ อัลมิสนัด พระชายาพระองค์ที่ 2 จะโดยเสด็จด้วย

     


    <3>

    เชคซอบะห์ อัลอะห์มัด อัลจาบีร์ อัลซอบะห์ เจ้าผู้ครองรัฐคูเวตพระองค์ที่ 15 เป็นพระโอรสพระองค์ที่ 4 ในเชคอะห์หมัด อัลจาบีร์ อัลซอบะห์ อดีตเจ้าผู้ครองรัฐคูเวตพระองค์ที่ 10 เสด็จขึ้นครองราชย์ เมื่อวันที่ 29 มกราคม พุทธศักราช 2549 ประสูติเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน พุทธศักราช 2472
     
    ปัจจุบันมีพระชันษา 77 ปี ทรงเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศาสนาและสารนิเทศ เมื่อปีพุทธศักราช 2505 ทรงเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ระหว่างปีพุทธศักราช 2506 ถึง 2546 จนได้รับการขนานพระนามว่าเป็น Dean of the Arab Diploma หรือ เจ้าคณะของทูตอาหรับ โดยในระหว่างนั้นยังทรงเป็นรัฐมนตรีอีกหลายกระทรวง เช่นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงน้ำมัน และทรงเป็นรองนายกรัฐมนตรีคนที่ 1
    และทรงเป็นนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 5 กรกฎาคม พุทธศักราช 2546 เป็นต้นมา และในช่วงที่ทรงเป็นนายกรัฐมนตรี ทรงได้รับมอบหมายให้บริหารและปกครองประเทศแทน อดีตเจ้าผู้ครองรัฐพระองค์ที่ 13 และอดีตเจ้าผู้ครองรัฐคูเวตพระองค์ที่ 14 ที่ทรงประชวรเรื้อรัง เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นมกุฎราชกุมาร

    ก่อนหน้าการเสด็จฯมาทรงร่วมงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในครั้งนี้ เชคซอบะห์ อัลอะห์มัด อัลจาบีร์ อัลซอบะห์ เจ้าผู้ครองรัฐคูเวตพระองค์ที่ 15 ได้เคยเสด็จเยือนจังหวัดภูเก็ตเป็นการส่วนพระองค์ ระหว่างวันที่ 26 ถึง 28 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2546


    <4>


    สมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลเลาะห์ที่ 2 บิน อัลอุสเซน แห่งราชอาณาจักรอัชไมต์จอร์แดน เป็นพระราชโอรสพระองค์แรกในสมเด็จพระราชาธิบดีฮุสเซน และสมเด็จพระราชินีมูนา อัล ฮุสเซน
    เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2542 ปัจจุบันมีพระชนมพรรษา 44 พรรษา ทรงอภิเษกสมรสกับนางสาว ราเนีย อัล ยาซิน ชาวปาเลสไตน์ มีพระราชโอรส 2 พระองค์ และพระราชธิดา 2 พระองค์ ทรงสำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยทหารแห่งสหราชอาณาจักร เมื่อปีพุทธศักราช 2523 และทรงเป็นผู้นำกองกำลังพิเศษ ผู้บัญชาการกองพันทหารยานเกราะที่ 2 ทรงประดับพระยศพลตรี เมื่อปีพุทธศักราช 2541 และเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2542 ทรงได้รับการสถาปนาพระอิสริยยศเป็นมกุฎราชกุมาร

    ขณะที่สมเด็จพระราชินีราเนีย อัลอับดุลเลาะห์ พระมเหสี ปัจจุบันมีพระชนมพรรษา 36 พรรษา ทรงสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านบริหารธุรกิจจาก อเมริกัน ยูนิเวอซิตี้ กรุงไคโร สาธารณรัฐอียิปต์ ทรงมีบทบาทสำคัญในการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพของสตรีให้มีความเม่าเทียมกับบุรุษ จนได้รับการขนานพระนามจากสื่อมวลชนว่าเป็น “a mover and shaker” ที่มีบทบาทสำคัญในการเรียกร้องสิทธิสตรีในโลกอาหรับ

    ก่อนการเสด็จฯมาทรงร่วมงานเฉลิมฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในครั้งนี้ สมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลเลาะห์ที่ 2 บิน อัลอุสเซน แห่งราชอาณาจักรอัชไมต์จอร์แดน เคยเสด็จเยือนราชอาณาจักรไทยอย่างเป็นทางการในระหว่างวันที่ 3 สิงหาคม พุทธศักราช 2547 และเสด็จเยือนราชอาณาจักรไทยเป็นการส่วนพระองค์อีก 2 ครั้ง ระหว่างวันที่ 31 กรกฎาคม ถึง 2 สิงหาคม 2547 และระหว่างวันที่ 13 และ 14 ธันวาคม 2548 โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออกทรงรับเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2548


    <5>

    สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโต เป็นพระราชโอรสพระองค์แรกในสมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโต และสมเด็จพระจักพรรดินีโคจุน เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พุทธศักราช 2476 ณ กรุงโตเกียว
    ปัจจุบันมีพระชนมพรรษา 73 พรรษา เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่ 7 มกราคม พุทธศักราช 2532 เป็นพระประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญตามระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ทรงอภิเษกสมรสเมื่อวันที่ 10 เมษายน พุทธศักราช 2502 กับนางสาว มิชิโกะ โชดะ ซึ่งต่อมาได้รับการสถาปนาพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระจักรพรรดินี มีพระราชโอรส 2 พระองค์ และพระราชธิดา 1 พระองค์
    สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโต และสมเด็จพระจักรพรรดินี สนพระราชหฤทัยในการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคนพิการ ผู้สูงอายุ และเด็ก โดยได้เสด็จฯไปทรงเยี่ยมพสกนิกรครบทั้ง 47 จังหวัดและในหมู่เกาะต่างๆที่ห่างไกลของญี่ปุ่น โดยเฉพาะสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับกิจการสวัสดิการสังคม วัฒนธรรม และอุตสาหกรรมพื้นบ้านมากกว่า 450 แห่ง

    ในระหว่างที่ดำรงพระอิสริยยศมกุฎราชกุมาร เคยเสด็จฯเยือนและผ่านราชอาณาจักรไทยทั้งสิ้น 6 ครั้ง โดยเฉพาะการเยือนราชอาณาจักรไทยพร้อมด้วยสมเด็จพระจักรพรรดิอย่างเป็นทางการครั้งแรก

    ในปีพุทธศักราช 2507 ได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพันธุ์ปลาทิลาเปียนิโลติกา แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้โปรดเกล้าให้เลี้ยงไว้ในบ่อสวนจิตรลดา ทรงศึกษาจนทราบว่า เป็นปลาที่เลี้ยงง่าย เติบโตเร็ว รสชาติดี สามารถช่วยประชาชนที่ยากจนได้ จึงได้พระราชทานชื่อปลานี้ว่า “ ปลานิล ” และให้กรมประมงนำไปเพาะขยายพันธุ์แจกจ่ายให้ราษฎร จนกลายเป็นปลาน้ำจืดที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในปัจจุบัน
    สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโต และสมเด็จพระจักรพรรดินี จะเสด็จพระราชดำเนินเยือนราชอาณาจักรไทย เพื่อทรงร่วมงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในระหว่างวันที่ 11 ถึง 15 มิถุนายนนี้


    <6>

    เจ้าชายเฮนริก พระราชสวามีในสมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเธอที่ 2 แห่งเดนมาร์ก เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน พุทธศักราช 2477 ณ เมือง Talance สาธารณรัฐฝรั่งเศส ทรงได้รับการสถาปนาเป็นเจ้าชายแห่งเดนมาร์ก ภายหลังการอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงมาร์เกรเธอ มกุฎราชกุมารีแห่งเดนมาร์ก เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน พุทธศักราช 2510 ซึ่งต่อมาได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเธอที่ 2
    เจ้าชายเฮนริก พระราชสวามีในสมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเธอที่ 2 แห่งเดนมาร์ก ทรงเป็นผู้ริเริ่มและองค์ประธาน World Found for Nature สาขาเดนมาร์ก เคยเสด็จฯเยือนราชอาณาจักรไทยและสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามเป็นการส่วนพระองค์เมื่อเดือนมีนาคม พุทธศักราช 2542 เพื่อทอดพระเนตรแหล่งอนุรักษ์ทรัพยากรทางธรรมชาติ ที่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาและสิ่งแวดล้อมแห่งเดนมาร์ก
    และในเดือนกุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2544 ได้เสด็จเยือนราชอาณาจักรไทยอย่างเป็นทางการ พร้อมด้วยสมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเธอที่ 2 แห่งเดนมาร์ก ในฐานะพระราชอาคันตุกะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ และทรงร่วมในโครงการคืนช้างสู่ป่า ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ทรงเป็นผู้ริเริ่ม โดยทรงปล่อยช้างบ้านคืนสู่ป่าจำนวน 1 เชือก

    และในโอกาสที่รัฐบาลได้จัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เจ้าชาย เฮนริก จะ เสด็จฯมาทรงร่วมงานด้วย ในฐานะผู้แทนพระองค์ สมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเธอที่ 2 แห่งเดนมาร์ก


    <7>

    เจ้าชายทูโพทัว มกุฎราชกุมารแห่งตองกา เป็นพระราชโอรสพระองค์แรกในสมเด็จพระราชาธิบดีเทาฟาเฮา ทูโพ ที่ 4 กับพระราชินีฮงเลวาลู ทรงได้รับการสถาปนาเป็นมกุฎราชกุมาร เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม พุทธศักราช 2509
    ปัจจุบันมีพระชนมายุ 58 พรรษา ทรงสำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยทหาร และด้านการต่างประเทศจากสหราชอาณาจักร ทรงเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศระหว่างปีพุทธศักราช 2522 – 2541 และทรงเป็นประธานบริษัทซึ่งประกอบธุรกิจด้านโทรคมนาคม ไฟฟ้า และอสังหาริมทรัพย์ทั้งในและต่างประเทศ

    เจ้าชายทูโพทัว มกุฎราชกุมารแห่งตองกา โปรดการเสด็จฯเยือนราชอาณาจักรไทยเป็นการส่วนพระองค์ เพื่อทรงซื้อของและตัดฉลองพระองค์ โดยเสด็จเยือนราชอาณาจักรไทยครั้งล่าสุดระหว่างวันที่ 16 – 25 มกราคม 2549 ที่ผ่านมา
    เคยรับเสด็จสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ในโอกาสเสด็จเยือนราชอาณาจักรตองกาเมื่อปี พุทธศักราช 2539 ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราขสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ตรัสถึงพระราชอัธยาศัยของเจ้าชายมกุฎราชกุมารในพระนิพนธ์เรื่องมนต์รักทะเลใต้ในหลายตอน

    เจ้าชายทูโพทัว มกุฎราชกุมารแห่งตองกา จะเสด็จฯแทนพระองค์สมเด็จพระราชาธิบดี และพระราชินีแห่งตอกา เยือนราชอาณาจักรไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาล เพื่อทรงร่วมงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในครั้งนี้ด้วย


    <8>

    เจ้าชายโฮกุ้น มกุฎราชกุมารแห่งนอร์เวย์ เป็นพระราชโอรสพระองค์เดียว ในสมเด็จพระราชาธิบดีฮาราลด์ที่ 5 กับสมเด็จพระราชินีซอนยา เสด็จพระราชสมภพ เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม พุทธศักราช 2516
     
    ได้รับการสถาปนาพระอิสริยยศเป็น มกุฎราชกุมารแห่งนอร์เวย์เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2534 ทรงอภิเษกสมรสกับนางสาวเมตเต-มาริต เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม พุทธศักราช 2544 ซึ่งต่อมาได้รับการสถาปนาพระอิสริยยศเป็นเจ้าหญิงเมตเต – มาริต มกุฎราชกุมารี มีพระธิดา และพระโอสรรวม 2 พระองค์
     
    เจ้าชายโฮกุ้น มกุฎราชกุมารแห่งนอร์เวย์ ทรงเป็นสมาชิกคณะผู้แทนราชอาณาจักรนอร์เวย์ในการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก และมีพระราชดำรัสเรื่องความหลากหลายของเชื้อชาติในสังคม ทรงเป็นทูตสันถวไมตรีในโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ โดยได้เสด็จฯเยือนราชอาณาจักรกัมพูชา เมื่อเดือนตุลาคม พุทธศักราช 2547

    เจ้าชายโฮกุ้น มกุฎราชกุมารแห่งนอร์เวย์ เคยเสด็จฯเยือนราชอาณาจักรไทยพร้อมด้วย เจ้าหญิงเมตเต – มาริต ในฐานะพระราชอาคันตุกะส่วนพระองค์ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ระหว่างวันที่ 23 – 27 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2547 ในโอกาสฉลองครบรอบ 100 ปี แห่งความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับนอร์เวย์ ในปีพุทธศักราช 2548 และในการจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เจ้าชายโฮกุ้น มกุฎราชกุมารแห่งนอร์เวย์ ทรงเป็นผู้แทนพระองค์ สมเด็จพระราชาธิบดีฮาราลด์ที่ 5 มาทรงร่วมงานในครั้งนี้ด้วย

    <9>
    เจ้าชายวิลเลม-อเล็กซานเดอร์ มกุฎราชกุมารแห่งเนเธอแลนด์ เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระราชินีนาถเบียทริกซ์ และเจ้าชายเคลาส์ เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 27 เมษายน พุทธศักราช 2510 ทรงได้รับการสถาปนาพระอิสริยยศเป็นเจ้าชายแห่งออร์เรนจ์ มกุฎราชกุมารแห่งเนเธอร์แลนด์ เมื่อปี 2523 ทรงอภิเษกสมรสกับนางสาว มักซิมา ซอร์เรเกตา ชาวอาร์เจนตินา และทรงได้รับการสถาปนาพระอิสริยยศเป็นเจ้าหญิงแห่งออร์เรนจ์ มกุฎราชกุมารีแห่งเนเธอร์แลนด์ มีพระธิดา 2 พระองค์

    เจ้าชายวิลเลม-อเล็กซานเดอร์ มกุฎราชกุมารแห่งเนเธอแลนด์ เคยเสด็จฯเยือนราชอาณาจักรไทยครั้งแรก ในฐานะพระราชอาคันตุกะส่วนพระองค์ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เมื่อวันที่ 15 – 17 ธันวาคม พุทธศักราช 2530 และครั้งที่สอง ทรงตามเสด็จสมเด็จพระราชินีนาถเบียทริกซ์ เยือนราชอาณาจักรไทยอย่างเป็นทางการในฐานะพระราชอาคันตุกะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถระหว่างวันที่ 19 – 23 มกราคม 2547

    และในงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี เจ้าชายวิลเลม-อเล็กซานเดอร์ มกุฎราชกุมารแห่งเนเธอแลนด์ และเจ้าหญิงมักซิมา มกุฎราชกุมารีแห่งเนเธอร์แลนด์ จะเสด็จทรงเป็นผู้แทนพระองค์ สมเด็จพระราชินีนาถเบียทริกซ์ มาทรงร่วมงานที่รัฐบาลและประชาชนร่วมเป็นเจ้าภาพในครั้งนี้ด้วย

    <10>
    สมเด็จพระราชาธิบดีคยาเนนทระ วีระ วิกรม ศาหเทวะ เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระราชาธิบดีมเหนทระ วีระ วิกรม ศาหเทวะ กับ สมเด็จพระราชินีอินทราราชย์ ลักษมี รานา
     เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม พุทธศักราช 2490 ทรงอภิเษกสมรสกับสมเด็จพระราชินีโกมาลราชย์ ลักษมี เทวี ชาห์ เมื่อปีพุทธศักราช 2513 มีพระราชโอรส 1 พระองค์ และพระราชธิดา 1 พระองค์ เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน พุทธศักราช 2544 เป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญตามระบอบประชาธิปไตย ทรงเป็นนายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการทหารสูงสุด

    สมเด็จพระราชาธิบดี คยาเนนทระ วีระ วิกรม ศาหเทวะ สนพระราชหฤทัยด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติ การทรงพระอักษร และการพระราชนิพนธ์ คติประจำพระองค์คือ “Knowledge is power , work is Worship”

    สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งเนปาล จากข้อมูลที่ผ่านมาไม่ปรากฏหลักฐาน การเสด็จฯเยือนราชอาณาจักรไทยแต่อย่างใด ขณะที่ สมเด็จพระราชินีโกมาลราชย์ ลักษมี เทวี ชาห์ เคยเสด็จฯเยือนราชอาณาจักรไทยพร้อมด้วยพระราชธิดาเป็นการส่วนพระองค์ระหว่างวันที่ 26 กรกฎาคม – 2 สิงหาคม พุทธศักราช 2547 และในงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี สมเด็จพระราชาธิบดีและสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งเนปาล จะเสด็จฯเยือนราชอาณาจักรไทยในฐานะแขกของรัฐบาลเป็นครั้งแรก

    <11>
    เชคคอลิฟะห์ บิน ซัลมาน อัลคอลิฟะห์ นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรบาห์เรน เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 2 ของเชคซัลมาน บิน ฮามัด อัล คอลิฟะห์ อดีตเจ้าผู้ครองรัฐบาห์เรน และเป็นพระปิตุลาของสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบาห์เรน ประสูติเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2478
    ปัจจุบันมีพระชันษา 71 ปี ทรงเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เมื่อพุทธศักราช 2503 ได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานสภาแห่งรัฐ และทรงเป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อปีพุทธศักราช 2514

    นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรบาห์เรน เสด็จเยือนราชอาณาจักรไทยหลายครั้ง ทั้งที่เป็นทางการ และเป็นการส่วนพระองค์ โดยเฉพาะการเสด็จเยือนราชอาณาจักรไทยในฐานะแขกของรัฐบาล
    และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเมื่อวันที่ 21 มกราคม พุทธศักราช 2544 และในการเสด็จเยือนราชอาณาจักรไทยเป็นการส่วนพระองค์ระหว่างวันที่ 22 พฤศจิกายน ถึง 7 ธันวาคม 2546 ซึ่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม พุทธศักราช 2546 นับเป็นชาวอาหรับคนแรกที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นมหาปรมาภรณ์ช้างเผือก

    และจากการที่พระองค์ ทรงโปรดราชอาณาจักรไทยเป็นอย่างมาก จึงได้เสด็จมาพักผ่อนเป็นการส่วนพระองค์ที่จังหวัดภูเก็ตเกือบทุกปี และในปีมหามงคลที่รัฐบาลไทยได้จัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรบาห์เรน จะเป็นผู้แทนพระองค์เจ้าผู้ครองรัฐบาห์เรน เสด็จมาทรงร่วมงานในครั้งนี้

    <12>
    สมเด็จพระราชาธิบดีฮัจญี ฮัสซานัล โบลเกียห์ มูอิซซัดดิน วัดเดาละห์ เป็นพระราชโอรสพระองค์แรกในสุลต่าน เซอร์ มูดา โฮมาร์ อาลี ไซฟุดดิน สมเด็จพระราชาธิบดีพระองค์ที่ 28 เสด็จพระราชสมภพ เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม พุทธศักราช 2489 ทรงอภิเษกสมรสกับพระมเหสี 3 พระองค์ ทรงได้รับการสถาปนาพระอิสริยยศเป็นมกุฎราชกุมารแห่งบรูไนดารุสซาลาม เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม พุทธศักราช 2504 เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม พุทธศักราช 2510 ทรงเป็นนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

    สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบรูไนดารุสซาลาม เสด็จฯเยือนราชอาณาจักรไทยอย่างเป็นทางการ ในฐานะพระราชอาคันตุกะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 2 ครั้ง ครั้งแรก ระหว่างวันที่ 1 – 4 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2531 และครั้งที่ 2 เสด็จฯพร้อมด้วยสมเด็จพระราชินีและพระมเหสีแห่งเนการาบรูไนดารุสซาลาม ระหว่างวันที่ 26 – 28 สิงหาคม พุทธศักราช 2545 ทรงเข้าร่วมการประชุมผู้นำอาเซียน และผู้นำอาเซียน-จีนสมัยพิเศษ ว่าด้วยโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรงหรือโรคซาร์ ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ เมื่อวันที่ 29 เมษายน พุทธศักราช 2546 และระหว่างวันที่ 20 และ 21 ตุลาคม พุทธศักราช 2546 ได้เสด็จฯเยือนราชอาณาจักรไทย โดยทรงเข้าร่วมประชุมเอเปค ครั้งที่ 11 และจะเสด็จฯมาทรงร่วมงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ระหว่างวันที่ 12 – 13 มิถุนายนนี้

    <13>
    เจ้าชายฟิลิป มกุฎราชกุมารแห่งเบลเยียม เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งชาวเบลเยียมกับสมเด็จพระราชินีเปาลา
    เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 15 เมษายน พุทธศักราช 2503 ทรงได้รับการสถาปนาเป็นดยุกแห่งบราบันต์ มกุฎราชกุมารแห่งเบลเยียม เมื่อปีพุทธศักราช 2536 ทรงอภิเษกสมรสกับนางสาวมาธิลด์ ดูเดอเกม ดาคอช เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พุทธศักราช 2542 ต่อมาได้รับการสถาปนาพระอิสริยยศเป็นเจ้าหญิงมาธิลด์ มกุฎราชกุมารีแห่งเบลเยียม มีพระธิดา 1 พระองค์ และพระโอรส 2 พระองค์

    เจ้าชายฟิลิป มกุฎราชกุมารแห่งเบลเยียม ทรงสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยแห่งราชอาณาจักรเบลเยียม เมื่อปี 2524 ระดับปริญญาโท สาขารัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ด เมื่อปีพุทธศักราช 2528 และทรงสำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรของราชอาณาจักรเบลเยียม เมื่อปี 2532 ขณะที่เจ้าหญิงมาธิลด์แห่งเบลเยียม ทรงสำเร็จการศึกษาหลักสูตรการฝึกเด็กที่มีปัญหาด้านการรับฟัง และทรงสำเร็จระดับปริญญาตรีสาขาจิตวิทยา(เกียรตินิยม) จากมหาวิทยาลัยคาทอลิก เมื่อปี 2545

    ทั้งสองพระองค์เคยเสด็จฯเยือนราชอาณาจักรไทย พร้อมด้วยคณะนักธุรกิจและเจ้าหน้าที่ระดับสูง ประมาณ 100 คน ระหว่างวันที่ 11 – 16 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2544 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท
    และในปีมหามงคลฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เจ้าชาย ฟิลิป มกุฎราชกุมาร และเจ้าหญิงมาธิลด์มกุฎราชกุมารีแห่งเบลเยียม จะเป็นผู้แทนพระองค์สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งเบลเยียม เสด็จมาทรงร่วมงานในระหว่างวันที่ 12 และ 13 มิถุนายนนี้ด้วย

    <14>
    มกุฎราชกุมารจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก แห่งภูฏาน เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี ซิงเย วังชุก และสมเด็จพระราชินีอาชิ เธอริง ยังดอง วังชุก เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2523 ยังไม่ทรงอภิเษกสมรส
     
    ทรงสำเร็จการศึกษาหลักสูตรการอบรมด้านการทูต ด้านรัฐศาสตร์และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จากมหาวิทยาลัย Oxford สหราชอาณาจักร และทรงสำเร็จหลักสูตรการป้องกันประเทศ จาก National Defence College สาธารณรัฐอินเดีย และหลักสูตร Innovations in Governance จากมหาวิทยาลัย สหรัฐอเมริกา

     

    <15>

    สมเด็จพระราชาธิบดีตวนกู ไซอิด ซิรัจอุดดิน อิบนี อัลมาร์ฮูม ตวนกูไซอิด ปุตรา จามาลุลไลล์ ยังดีเปอร์ตวน อากง แห่งมาเลเซีย เป็นพระราชโอรสใน ตวนกู ไซอิด ปุตรา อิบนี อัลมาร์ฮูม ไซอิด ฮัสสัน จามาลุลไลล์ อดีตสมเด็จพระราชาธิบดีพระองค์ที่ 3 และราชารัฐปะลิส กับเติงกู บูเดรียห์ บินตี อัลมาฮูม เติงกู อิสมาอิล
    เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พุทธศักราช 2486 ทรงอภิเษกสมรสเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2510 กับสมเด็จพระราชินีตวนกู เฟาซิอะห์ บินตี อัลมาร์ฮูม เติงกู อับดุล รอชีด รายา ประไหมสุหรี อากง ซึ่งสืบเชื้อสายพระราชวงศ์สุลต่านรัฐกลันตันและตรังกานู มีพระราชโอรส 1 พระองค์ และพระราชธิดา 1 พระองค์
    ทรงสำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยวิชาการทหารจากสหราชอาณาจักร เมื่อปีพุทธศักราช 2508 ทรงได้รับการสถาปนาพระอิสริยยศเป็นราชาแห่งรัฐปะลิส เมื่อวันที่ 17 เมษายน พุทธศักราช 2543 หลังจากตวนกู ไซอิด ปุตรา สมเด็จพระราชบิดาเสด็จสวรรคต และมีพระราชพิธีราชาภิเษก เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2544
    โดยเสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พุทธศักราช 2544 ทรงเป็นสมเด็จพระราชาธิบดีพระองค์ที่ 12 แห่งมาเลเซีย

    สมเด็จพระราชาธิบดีและสมเด็จพระราชินีแห่งมาเลเซีย เคยเสด็จฯเยือนราชอาณาจักรไทยเป็นการส่วนพระองค์หลายครั้ง แต่ยังไม่เคยเสด็จฯเยือนราชอาณาจักรไทยอย่างเป็นทางการหลังจากเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระราชาธิบดี โดยเฉพาะในปีมหามงคลนี้ ทั้งสองพระองค์จะเสด็จฯเยือนราชอาณาจักรไทย เพื่อทรงร่วมงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวระหว่างวันที่ 12 และ 13 มิถุนายนนี้

    <16>

    เจ้าชายอัลแบร์ที่ 2 ประมุขแห่งราชรัฐโมนาโก เป็นพระโอรสในเจ้าชายเรนีเยร์ที่ 3 และเจ้าหญิงเกรซ ประสูติเมื่อวันที่ 14 มีนาคม พุทธศักราช 2501 ทรงสำเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษาสาขารัฐประศาสนศาสตร์ ณ Amherst Collage จากสหรัฐอเมริกา และทรงเข้ารับการฝึกอบรมด้านราชนาวี บนเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ แห่งกองทัพเรือฝรั่งเศส เมื่อปีพุทธศักราช 2504 เสด็จขึ้นครองราชย์ เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2548 ภายหลังการสิ้นพระชนม์ของเจ้าชายเรนิเอที่ 3 เมื่อวันที่ 6 เมษายน ปีเดียวกัน โดยทรงเป็นกษัตริย์พระองค์ที่ 32 แห่งราชวงศ์กริมัลดี ซึ่งมีประวัติความเป็นมาถึง 700 ปี

    หลังจากขึ้นครองราชย์ เจ้าชายอัลแบร์ที่ 2 ทรงกำหนดบทบาทที่ชัดเจนของโมนาโกในประชาคมโลกในฐานะ “ ผู้ถือสาร ” ที่จะช่วยสนับสนุนกระบวนการความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ มากกว่าที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาโลกในลักษณะที่ต้องเผชิญกับความเสี่ยง ทรงสนพระทัยในประเด็นสิ่งแวดล้อม การแก้ไขปัญหาความยากจน และการพัฒนาสิทธิเด็ก ตามเจตนารมณ์ของเจ้าหญิงเกรซ พระมารดา ในการพัฒนากฎหมายคุ้มครองเด็ก

    เจ้าชายอัลแบร์ที่ 2 สนพระทัยในการเจริญสัมพันธไมตรีกับภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะกับไทยเป็นพิเศษ โดยได้เสด็จฯเยือนราชอาณาจักรไทยเป็นประเทศแรกระหว่างวันที่ 17 – 18 มิถุนายน 2539
    ขณะที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จฯเยือนโมนาโกระหว่างวันที่ 20 – 23 กันยายน 2539 และในโอกาสที่รัฐบาลได้จัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในระหว่างวันที่ 12 และ 13 มิถุนายนนี้ เจ้าชายอัลแบร์ที่ 2 ประมุขแห่งราชรัฐโมนาโก จะเสด็จมาทรงร่วมงานด้วย

    <17>
    ราชอาณาจักรโมร็อกโก ตั้งอยู่ทางมุมตะวันตกเฉียงเหนือของทวีปอาฟริกา ทิศเหนือติดกับทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ทิศตะวันตกติดกับมหาสมุทรแอตแลนติก ทิศใต้ติดกับประเทศมอริเตเนีย และทิศตะวันออกติดกับประเทศแอลจีเรีย มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ปัจจุบันคือสมเด็จพระราชาธิบดีโมฮัมเมดที่ 6 เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม พุทธศักราช 2543

    โมร็อกโก เป็นประเทศอาหรับสายกลางที่มีบทบาทมากทั้งในเวทีภูมิภาคและเวทีโลก มีนโยบาย สนับสนุนการแสวงหาสันติภาพในโลกอาหรับ เนื่องจากสมเด็จพระราชาธิบดีโมฮัมเมดที่ 6 ทรงเป็นพระประมุขคนรุ่นใหม่ มีการศึกษาดี ทรงมีวิสัยทัศน์กว้างไกล ทรงตระหนักว่า หากภูมิภาคอาหรับยังไม่สามารถมีความเป็นปึกแผ่น ย่อมไม่สามารถพัฒนาประเทศให้เจริญทัดเทียมประเทศในภูมิภาคอื่นหรือโลกตะวันตกได้

    สมเด็จพระราชาธิบดีโมฮัมเมดที่ 6 เคยเสด็จฯเยือนประเทศไทยเป็นการส่วนพระองค์ เมื่อวันที่ 11 – 15 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2545 และในปีแห่งการเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี สมเด็จพระราชาธิบดีโมฮัมเมดที่ 6 แห่งโมร็อกโค
    ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้เจ้าหญิงลัลลา ซัลมา เบนนานี พระมเหสี ซึ่งเคยเสด็จฯเยือนญี่ปุ่น โดยแวะประเทศไทยเพื่อเสด็จกลับโมร็อกโก เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม พุทธศักราช 2548 เสด็จแทนพระองค์ มาทรงร่วมงานที่รัฐบาลและประชาชนไทยจัดขึ้นในวันที่ 12 และ 13 มิถุนายนนี้

    <18>
    ราชรัฐลักเซมเบิร์ก ตั้งอยู่ทางภาคตะวันตกของยุโรป ทิศเหนือและตะวันตกติดกับเบลเยียม ทิศตะวันออกติดกับเยอรมนี และทิศใต้ติดกับฝรั่งเศส มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นพระประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ ปัจจุบันคือ แกรนด์ ดยุก อองรี แห่งราชรัฐลักเซมเบิร์ก เป็นพระโอรสพระองค์แรกใน แกรนด์ ดยุก ฌอง กับ แกรนด์ ดัชเชส โจเซฟิน-ชาลอต เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 16 เมษายน พุทธศักราช 2498 ทรงอภิเษกสมรสกับนางสาว มาเรีย เทเรซา เมสต์ เชื้อชาติสเปน มีพระโอรส 4 พระองค์ และพระธิดา 1 พระองค์ เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พุทธศักราช 2543

    ลักเซมเบิร์ก เคยให้เงินสนับสนุนโครงการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ เนื่อในโอกาสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี เป็นจำนวน 10 ล้านแฟรงค์ลักเซมเบิร์ก โดยนำไปใช้ปลูกป่าในพื้นที่ 3,333 ไร่ ณ ตำบลริมโขง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย และได้รับรางวัลชนะเลิศในการประกวดแปลงปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ ระดับประเทศ ประจำปี 2542

    สำหรับความสัมพันธ์ในระดับราชวงศ์นั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จฯเยี่ยมลักเซมเบิร์กอย่างเป็นทางการในระหว่างวันที่ 17 – 19 ตุลาคม พุทธศักราช 2503 ขณะที่ แกรนด์ ดยุก อองรี แห่งราชรัฐลักเซมเบิร์ก เคยเสด็จฯเยือนราชอาณาจักรไทย 3 ครั้งในปี 2536 , 2539 และ 2541 ช่วงที่ทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นมกุฎราชกุมาร ขณะที่แกรนด์ ดัชเชส มาเรีย เทเรซา พระชายาเคยเสด็จฯเยือนราชอาณาจักรไทยในฐานะแขกของกระทรวงการต่างประเทศระหว่างวันที่ 23 – 25 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2546

    <19>
    ราชรัฐลิกเตนสไตน์ ตั้งอยู่ใจกลางของทวีปยุโรป พรมแดนด้านตะวันออกความยาว 34.9 กิโลเมตร ติดกับออสเตรีย พรมแดนด้านตะวันตกความยาว 41.1 กิโลเมตร ติดกับสวิสเซอร์แลนด์ โดยไม่มีทางออกทะเล มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา โดยมีพระประมุขปกครองประเทศ ปัจจุบันคือ เจ้าชายฮันส์-แอดัมที่ 2 ซึ่งเสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2532

    ไทยกับลิกเตนสไตน์ สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม พุทธศักราช 2540 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเคยเสด็จฯเยือนราชรัฐลิกเตนสไตน์อย่างไม่เป็นทางการตั้งแต่ครั้งยังทรงพระเยาว์ และในระหว่างที่ทรงศึกษาอยู่ในสวิตเซอร์แลนด์
    ขณะที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เคยเสด็จฯเยือนราชรัฐลิกเตนสไตน์ ตามคำทูลเชิญของเจ้าชายฮันส์-แอดัมที่ 2 เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พุทธศักราช 2541 โดยประทับที่ปราสาทวาดุซ ของเจ้าผู้ครองราชรัฐลิกเตนสไตน์

    สำหรับการจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในระหว่างวันที่ 12 และ 13 มิถุนายนนี้ เจ้าชายฮันส์-แอดัมที่ 2 แห่งราชรัฐลิกเตนสไตน์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้เจ้าชายอาโลอิส มกุฎราชกุมารแห่งราชรัฐลิกเตนสไตน์ และเจ้าหญิงโซฟี มกุฎราชกุมารีแห่งราชรัฐลิกเตนสไตน์ เสด็จฯแทนพระองค์ มาทรงร่วมงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของทั้งสองพระองค์ในการเสด็จฯเยือนราชอาณาจักรไทยด้วย

    <20>
    ราชอาณาจักรเลโซโท ตั้งอยู่ในภูมิภาคแอฟริกาตอนใต้ อาณาบริเวณล้อมรอบด้วยประเทศแอฟริกาใต้ เมืองหลวงชื่อกรุงมาเซรู มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา โดยมีพระมหากษัตรย์เป็นพระประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ ปัจจุบันคือ สมเด็จพระราชาธิบดีเลตซี่ ภาษาท้องถิ่นออกเสียงว่า เลตซีเย่ ที่ 3 เป็นพระราชโอรสพระองค์แรกในสมเด็จพระราชาธิบดีโมชูชูที่ 2 กับสมเด็จพระราชินีมาโมฮาโต เซเอโซ เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม พุทธศักราช 2506 เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อปีพุทธศักราช 2533 เนื่องจากพระราชบิดาทรงอยู่ระหว่างการลี้ภัยทางการเมือง และทรงสละราชสมบัติเมื่อปีพุทธศักราช 2538 และในวันที่ 31 ตุลาคม พุทธศักราช 2540 ได้เสด็จขึ้นครองราชย์อีกครั้งจนถึงปัจจุบัน
    สมเด็จพระราชาธิบดีเลตซี่ ที่ 3 ทรงอภิเษกสมรสกับสมเด็จพระราชินีมาเซเนต โมฮาโต เซเอโซ ภาษาท้องถิ่นอ่านออกเสียงว่า มาเซนาที เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2543 มีพระราชธิดา 2 พระองค์
    ไทยได้สถาปนาทางการทูตกับเลโซโทเมื่อวันที่ 17 เมษายน พุทธศักราช 2532 โดยเลโซโท ให้การสนับสนุนไทยในเวทีการเมืองระหว่างประเทศมาโดยตลอด ขณะที่ไทยได้ให้ความร่วมมือด้านวิชาการเกี่ยวกับการป้องกันและบำบัดผู้ติดเชื้อเอชไอวี
    และในปีพุทธศักราช 2538ไทยได้ให้ความช่วยเหลือเพื่อบรรเทาภาวการณ์ขาดแคลนพืชพันธุ์ธัญญาหาร เนื่องจากความแห้งแล้งแก่รัฐบาลเลโซโทเป็นเงิน 10,000 ดอลล่าร์สหรัฐ และในปีพุทธศักราช 2539 ไทยได้ให้ความช่วยเหลืออีก 10,00 ดอลล่าร์สหรัฐเมื่อเลโซโทประสบภัยจากหิมะ
    ในโอกาสที่รัฐบาลจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ในวันที่ 9 มิถุนายน 2549 สมเด็จพระราชาธิบดีเลตซี่ ที่ 3 และสมเด็จพระราชินีมาเซเนต โมฮาโต เซเอโซ แห่งเลโซโท จะเสด็จฯมาทรงร่วมงานด้วย และนับเป็นครั้งแรกของการเยือนราชอาณาจักรไทยของสมเด็จพระราชาธิบดีและสมเด็จพระราชินีแห่งเลโซโท


    สมเด็จพระราชินีโซเฟีย แห่งสเปน เสด็จฯแทนพระองค์พระราชาธิบดีฮวน คาร์ลอส ที่ 1

    <21>
    ราชอาณาจักรสเปน ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของทวีปยุโรปบนคาบสมุทรไอบีเรีย ทิศเหนือ ติดกับราชรัฐอันดอร์รา และประเทศฝรั่งเศส ทิศตะวันออกและทิศใต้ ติดกับทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ทิศตะวันตก ติดกับประเทศโปรตุเกส มีการปกครองในระบอบ ประชาธิปไตยแบบรัฐสภาโดยมีกษัตริย์เป็นประมุข ปัจจุบันคือ สมเด็จพระราชาธิบดีฮวน คาร์ลอส ที่ 1 ทรงอภิเษกสมรสกับ สมเด็จพระราชินีโซเฟีย เมื่อปีพุทธศักราช 2505 และทรงขึ้นครองราชย์วันที่ 22 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2518

    สเปนเริ่มติดต่อกับไทยตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช แต่ได้มีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2413

    โดยในปีพุทธศักราช 2503 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ เยือนสเปนอย่างเป็นทางการ และในระหว่างวันที่ 17-28 มกราคม
    พุทธศักราช 2539 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรม ราชินีนาถเสด็จฯ เยือนสเปนเพื่อประกอบพิธีปล่อยเรือรบหลวงจักรีนฤเบศรลงน้ำ ณ เมืองเอล เฟร์โรล นอกจากนี้ ยังมีพระราชวงศ์ของไทยหลายพระองค์ เสด็จฯเยือนราชอาณาจักรสเปนหลายครั้ง ขณะที่ สมเด็จพระราชาธิบดี ฮวน คาร์ลอส ที่ 1 ซึ่งขณะนั้นดำรงพระยศเจ้าชายแห่งสเปนและสมเด็จพระราชินีโซเฟีย เสด็จฯ เยือนไทยเป็นการส่วนพระองค์ ในปีพุทธศักราช 2505 และ 2508 และในระหว่างวันที่ 18 – 22 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2530 สมเด็จพระราชาธิบดี ฮวน คาร์ลอสที่ 1 แห่งสเปนและสมเด็จพระราชินีโซเฟียเสด็จฯ เยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะพระราชอาคันตุกะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

    และในโอกาสที่รัฐบาลและปวงชนชาวไทยได้จัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี สมเด็จพระราชาธิบดี ฮวน คาร์ลอส ที่ 1 แห่งสเปน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระราชินีโซเฟีย แห่งสเปน เสด็จฯแทนพระองค์ เยือนราชอาณาจักรไทย เพื่อทรงร่วมงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในระหว่างวันที่ 12 และ 13 มิถุนายนนี้


    สมเด็จพระราชาธิบดีสวาติที่ 3 และพระชายา

    <22>
    ราชอาณาจักรสวาซิแลนด์ ตั้งอยู่ในภูมิภาคแอฟริกาใต้ ที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล มีอาณาเขตติดกับแอฟริกาใต้ประเทศเพื่อนบ้านขนาดใหญ่ และ โมซัมบิก มีเมืองหลวงชื่อ อัมบาบาเน มีการปกครองในระบอบสมบูรณาญษสิทธิราชย์ โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นพระประมุขปกครองประเทศ ปัจจุบันคือ สมเด็จพระราชาธิบดีสวาติที่ 3 อ่านออกเสียงตามภาษาท้องถิ่นว่า “ อึมสวาติ ” เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 2 จากจำนวนพระโอรสทั้งหมด 67 พระองค์ ในสมเด็จพระราชาธิบดีซบบูชาที่ 2 และเป็นพระราชโอรสพระองค์เดียวในสมเด็จพระราชชนนีเนตอมบี

    ไทยและสวาซิแลนด์ ได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ 17 มกราคคคม พุทธศักราช 2534 มีการแลกเปลี่ยนการเยือนทั้งในระดับพระราชวงศ์ และระดับรัฐบาลค่อนข้างบ่อย โดยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เคยเสด็จฯ เยือนราชอาณาจักรสวาซิแลนด์อย่างเป็น ทางการระหว่างวันที่ 31 สิงหาคม ถึง 4 กันยายน พุทธศักราช 2537 ขณะที่ สมเด็จพระราชาธิบดีสวาติที่ 3 เคยเสด็จฯเยือนราชอาณาจักรไทยพร้อมด้วยพระชายา 2 ครั้ง ครั้งแรกระหว่างวันที่ 28-30 พฤษภาคม พุทธศักราช 2540 เสด็จเยือนราชอาณาจักรไทยอย่างเป็นทางการ ในฐานะทรงเป็นอาคันตุกะของรัฐบาล
    ในโอกาสนี้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารได้เข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระราชาธิบดีสวาติที่ 3 ด้วย และครั้งที่ 2 ในปีพุทธศักราช 2545 สมเด็จพระราชาธิบดีสวาติที่ 3 และพระชายา ได้เสด็จฯเยือนจังหวัดภูเก็จเป็นการส่วนพระองค์ วันที่ 16-21 ตุลาคม พุทธศักราช 2545 สมเด็จพระราชาธิบดีสวาติ ที่ 3 และพระชายา เสด็จฯ เยือนจังหวัดภูเก็ตเป็นการส่วนพระองค์
     
    และในปีมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี สมเด็จพระราชาธิบดีสวาติที่ 3 แห่งราชอาณาจักรสวาซิแลนด์ จะเสด็จฯมาร่วมงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีที่รัฐบาลและพสกนิกรไทยจัดถวาย ในระหว่างวันที่ 12 และ 13 มิถุนายนนี้


    สมเด็จพระราชาธิบดีคาร์ลที่ 16 กุสตาฟ แห่งสวีเดน และพระราชีนิซิลเวีย

    <23>
    ราชอาณาจักรสวีเดน ตั้งอยู่บนคาบสมุทรสแกนดิเนเวียทางตอนเหนือของทวีปยุโรป ทิศตะวันตก และทิศเหนือติดกับนอร์เวย์และฟินแลนด์บอธเนีย ทิศตะวันออกติดกับอ่าวบอธเนีย และทิศใต้ติดกับทะเลบอลติก ลักษณะภูมิประเทศเป็น มีการปกครองในระบอบ ประชาธิปไตยแบบรัฐสภาเดียว โดยมีกษัตริย์เป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ
    ซึ่งสวีเดนมีรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรที่เก่าแก่ที่สุดในยุโรป ประกอบด้วยกฎหมายขั้นมูลฐาน รวม 4 ฉบับ เริ่มใช้มาตั้งแต่ปี พุทธศักราช 2552 ประมุขในปัจจุบันคือ สมเด็จพระราชาธิบดีคาร์ลที่ 16 กุสตาฟ แห่งสวีเดน
    เสด็จพระราชสมภพ เมื่อวันที่ 10 เมษายน พุทธศักราช 2589 เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระราชาธิบดีพระองค์ที่ 7 เมื่อวันที่ 15 กันยายน พุทธศักราช 2516 ทรงอภิเษกสมรสกับนางสาวซิลเวีย ซอมเมอเรท ต่อมาได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชินีซิลเวีย มีพระราชธิดาและพระราชโอรสรวม 3 พระองค์

    สมเด็จพระราชาธิบดีคาร์ลที่ 16 กุสตาฟ แห่งสวีเดน เสด็จฯเยือนราชอาณาจักรไทย ทั้งที่เป็นทางการและเป็นการส่วนพระองค์รวม 15 ครั้ง และนับตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2542 ได้เสด็จฯเยือนราชอาณาจักรไทยเป็นประจำทุกปี โดยเสด็จฯเยือนราชอาณาจักรไทยอย่างเป็นทางการครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ถึงวันที่ 1 มีนาคม พุทธศักราช 2546 และเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยพระราชินีซิลเวีย เยือนราชอาณาจักรไทยในฐานะพระราชอาคันตุกะการส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เมื่อวันที่ 17 ถึง 20 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2548 ภายหลังเกิดเหตุธรณีพิบัติภัยทางภาคใต้ของไทย
    และในระหว่างวันที่ 12 และ 13 มิถุนายน พุทธศักราช 2549 จะเสด็จเยือนราชอาณาจักรไทยอีกครั้ง เพื่อทรงร่วมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี


    เชคโมฮัมเมด บิน ไซอิด อัลนะห์ยัน มกุฎราชกุมารแห่งอาบูดาบี แสด็จฯ ในฐานะผู้แทนพระองค์ เชคคอลีฟะห์ บิน ไซอิด อัลนะห์ยัน ประธานาธิบดีสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

    <24>
    สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นประเทศหนึ่งใน ตะวันออกกลาง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของ คาบสมุทรอาหรับ ในภูมิภาค เอเชียตะวันตกเฉียงใต้ริม อ่าวเปอร์เซีย ประกอบด้วย รัฐเจ้าผู้ครองนคร 7 รัฐ ได้แก่ อาบูดาบี, ดูไบ, อัจมาน, ฟูไจราห์, ราสอัลไคมาห์, ชาร์จาห์ และ อุมม์อัลไกไวน์ มีการปกครองในระบบสหพันธรัฐ ประธานาธิบดีเป็นประมุข โดยสภาสูงสุดพิจารณาเลือกสรรจากเจ้าผู้ครองรัฐทั้ง 7 ปัจจุบันคือ เชคคอลีฟะห์ บิน ไซอิด อัลนะห์ยัน เจ้าผู้ครองรัฐอาบูดาบี ไทยและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม พุทธศักราช 2518

    ไทยและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มีการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างกันในระดับรัฐบาลหลายครั้ง สำหรับระดับราชวงศ์นั้น สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราช นครินทร์ เสด็จเยือนสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นการส่วนพระองค์ ระหว่างวันที่ 11 -15 มีนาคม2541

    ขณะที่ เชคโมฮัมเมด บิน ไซอิด อัลนะห์ยัน เสด็จเยือนราชอาณาจักรไทยเป็นการส่วนพระองค์ เมื่อปีพุทธศักราช 2546 เพื่อทอดพระเนตรการแข่งขันฟุตบอลเอเชี่ยนคัพระหว่างทีมสโมสรของไทย กับทีมสโมสรของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ปัจจุบัน เชคโมฮัมเมด บิน ไซอิด อัลนะห์ยัน ทรงเป็นมกุฎราชกุมารแห่งอาบูดาบี รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด และประธานองคมนตรีในประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ทรงได้รับการคาดหมายว่า จะสืบทอดตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นคนต่อไป

    และในโอกาสที่รัฐบาลและประชาชนชาวไทยได้จัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เชคโมฮัมเมด บิน ไซอิด อัลนะห์ยัน ทรงเป็นมกุฎราชกุมารแห่งอาบูดาบี จะเป็นผู้แทนพระองค์ เชคคอลีฟะห์ บิน ไซอิด อัลนะห์ยัน ประธานาธิบดีสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เสด็จฯมาทรงร่วมงานด้วย


    เจ้าฟ้าชายแอนดรูว์ ดยุคแห่งยอร์ก ในฐานะผู้แทนพระองค์สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2

    <25>
    สหราชอาณาจักร เป็นประเทศในทวีปยุโรป ประกอบ อังกฤษ สกอตแลนด์ เวลส์ และ ไอร์แลนด์เหนือบน เกาะไอร์แลนด์ นอกจากนี้ สหราชอาณาจักร ยังมีดินแดน อาณานิคม และดินแดนใต้การปกครองอื่น ๆ กระจายอยู่ทั่วโลก จึงได้ชื่อว่า ดินแดนพระอาทิตย์ไม่เคยตกดิน
     มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ปัจจุบันคือ สมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 2 ประสูติเมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2469 เสด็จขึ้นครองราชย์ เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2496 ทรงอภิเษกสมรสกับเจ้าฟ้าชายฟิลิป ดยุคแห่งเอดินบะระ มีพระโอรสธิดา 4 พระองค์ ได้แก่ เจ้าฟ้าชายชาลส์ เจ้าชายแห่งเวลส์, เจ้าฟ้าหญิงแอนน์, เจ้าฟ้าชายแอนดรูว์ ดยุคแห่งยอร์ก และ เจ้าฟ้าชายเอ็ดเวิร์ด เอิร์ลแห่งเว็สเส็กส์

    ไทยกับสหราชอาณาจักรสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 18 เมษายน พุทธศักราช 2398 ปัจจุบันความสัมพันธ์ระหว่างกันเป็นไปอย่างราบรื่นบนพื้นฐานของมิตรภาพ และมีการแลกเปลี่ยนการเยือนทั้งในระดับพระราชวงศ์ และระดับรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเสด็จฯเยือน ราชอาณาจักรไทยอย่างเป็นทางการ ของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 พร้อมด้วยเจ้าชาย ฟิลิป ดยุกแห่งเอดินเบอระ พระราชสวามี ในฐานะพระราชอาคันตุกะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ระหว่างวันที่ 28 ตุลาคม ถึง 1 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2539
    และในงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ที่รัฐบาลและประชาชนชาวไทยจัดขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในระหว่างวันที่ 12 และ 13 มิถุนายนนี้ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ เจ้าฟ้าชายแอนดรูว์ ดยุคแห่งยอร์ก พระราชโอรส เสด็จแทนพระองค์มาทรงร่วมงานด้วย โดย ดยุกแห่งยอร์ก เคยฯเสด็จเยือนประเทศไทย เพื่อทรงเยี่ยมและทรงขอบใจหน่วยงานต่างๆที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการช่วยเหลือผู้ประสบเหตุธรณีภิบัติภัยทางภาคใต้ของไทย


    เจ้าชาย ซัยยิด ชีฮาบ บิน ตาริก ตัยมูร อัล-ซาอิด ที่ปรึกษาประจำพระองค์ และเป็นพระญาติสนิทในสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งโอมาน ในฐานะผู้แทนพระองค์สมเด็จพระราชาธิบดีกอบูส บิน ซาอิสแห่งโอมาน

    <26>
    รัฐสุลต่านโอมาน
    ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของคาบสมุทรอาระเบีย อยู่ติดกับทะเลอาระเบียและอ่าวโอมาน พรมแดนด้านตะวันตก ติดกับซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับฯ และเยเมน

    มีระบบการปกครองแบบราชาธิปไตย โดยสุลต่านแห่งรัฐมีอำนาจสูงสุดในทุกด้าน ปัจจุบันคือ สมเด็จพระราชาธิบดีกอบูส บิน ซาอิสแห่งโอมาน

    ไทยกับโอมานสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม พุทธศักราช 2523 มีการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างกันทั้งในระดับราชวงศ์ และระดับรัฐบาลหลายครั้ง
    โดยเฉพาะในระดับราชวงศ์นั้น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินเยือนรัฐสุลต่านโอมานอย่างเป็นทางการตามคำกราบบังคมทูลเชิญฯ ของรัฐบาลโอมาน ระหว่างวันที่ 8 - 10 มีนาคม พุทธศักราช 2532
    และในระหว่างวันที่ 15 - 18 มีนาคม พุทธศักราช 2541สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เสด็จฯ เยือนโอมานเป็นการส่วนพระองค์

    และในโอกาสที่รัฐบาลและพสกนิกรชาวไทยได้ร่วมกันจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี โดยเชิญพระประมุขและพระราชวงศ์ต่างประเทศมาร่วมงานในวันที่ 12 และ 13 มิถุนายนนี้ สมเด็จพระราชาธิบดีกอบูส บิน ซาอิสแห่งรัฐสุลต่านโอมาน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ เจ้าชาย ซัยยิด ชีฮาบ บิน ตาริก ตัยมูร อัล-ซาอิด ที่ปรึกษาประจำพระองค์ และเป็นพระญาติสนิทในสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งโอมาน ซึ่งเคยเสด็จฯเยือนราชอาณาจักรไทยเป็นการส่วนพระองค์หลายครั้ง
    กำลังโหลดความคิดเห็น