"พวงมาลัยไหมพี่ เอาไหม สามพวงห้าสิบ"
... แทบทุกบ่อยที่จอดรถรอสัญญาณไฟแดงให้เปลี่ยนเป็นเขียวตามสี่แยก เราๆ ท่านๆ จะได้เห็นพ่อค้าแม่ค้าทุกรุ่นทุกวัยเดินถือไม้แขวนพวงมาลัยเดินเกาะตามข้างรถกันให้ขวักไขว่ พร้อมส่งสัญญาณมือเรียกให้ผู้ที่ใช้รถใช้ถนนบริเวณสี่แยกได้ซื้อหา เพราะนั่นแปลว่าพวงมาลัยหอมกรุ่นเหล่านั้นจะผันแปรไปเป็นเงินค่ากับข้าว ค่าเช่าบ้าน และอื่นๆ
ปรากฏการณ์พวงมาลัยกับสี่แยกนั้น เป็นสิ่งที่อยู่คู่กับสังคมไทยมานานหลายปีดีดัก แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ปัจจุบันแนวการค้าตามสี่แยกเริ่มจะเปลี่ยนไป หรือพวงมาลัยอาจกลายเป็นของซ้ำซากที่ซื้อจนเบื่อ พ่อค้าแม่ค้าหัวใสจึงเปลี่ยนจากการเดินขายพวงมาลัย กลายเป็นค้าขายสินค้าใหม่ๆ เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ร่ม หมวก ปืนของเล่นฉีดฟองสบู่ หรือแม้กระทั่งกล้วยทอดดิลิเวอรี่ ที่ทอดกรอบๆ สุกใหม่ๆ มีคนวิ่งเสิร์ฟถึงรถ!!!
ถ้าใครเคยขับ เคยขี่ หรือแม้แต่โดยสารรถรับจ้างผ่านไปแถวๆ แยกนางเลิ้ง ในรอบปีที่ผ่านมา สิ่งแปลกๆ ตาอย่างหนึ่งก็คือภาพของหนุ่มสาวในชุดผ้ากันเปื้อนหลากสี ทั้งแดง น้ำเงิน และขาว เดินถือถุงกล้วยทอดกันให้ขวักไขว่ ... คนที่เพิ่งจะเคยเห็นเป็นครั้งแรกก็อาจจะงงว่า ... เอ...เขาถือกันทำไม
แล้วคำถามที่คิดสงสัยอยู่ก็ถึงบางอ้อ เมื่อสัญญาณไฟจราจรเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีแดง รถที่กำลังเคลื่อนตัวอย่างอ้อยอิ่งจอดสงบนิ่งอยู่บนถนน ปฏิบัติการ “ฟรายด์ บานาน่า ดิลิเวอรี่” ก็เริ่มขึ้น หนุ่มๆ สาวๆ ที่ใส่ชุดผ้ากันเปื้อนเหล่านั้นก็จะเดินเลียบๆ เคียงๆ ริมบาทวิถี ชูถุงกล้วยทอดบรรจุในถุงกระดาษสีขาวเป็นเชิงเชิญชวน ตาสอดส่องผ่านกระจกรถสีชาเหล่านี้เผื่อจะมีใครส่งซิกกวักมือเพื่อจะเรียกซื้อ
ไพบูลย์ ชูประเสิรฐวงษ์ เถ้าแก่วัย 40 ปี เจ้าของร้านกล้วยทอดแม่กิมยุ้ยที่ตั้งอยู่ย่านนางเลิ้ง หนุ่มใหญ่ผู้ร่ำรวยอารมณ์ขันและมุขตลก ผู้ซึ่งเป็นเจ้าของกล้วยทอดส่งถึงรถโดยมีสัญลักษณ์ “ผ้ากันเปื้อนแดง” เล่าให้ฟังว่า กล้วยที่ขายนั้น เป็นสูตรดั้งเดิมของคุณแม่ แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป คนรุ่นใหม่ใส่ใจสุขภาพกันมากขึ้น สูตรดั้งเดิมเหล่านั้นก็ต้องเปลี่ยนไป เช่น เติมผงขมิ้นชันลงไปในกระทะ เพราะนอกจากจะช่วยให้กล้วยทอดไม่อมน้ำมัน รับประทานแล้วไม่คอแห้ง ยังช่วยให้น้ำมันที่ทอดไม่ดำอีกด้วย ส่วนข้าวเม่าทอดนั้น ได้เติมงาดำลงไปเพื่อความหอมและเพื่อสุขภาพของผู้บริโภค ซึ่งก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากลูกค้า สำหรับร้านในปัจจุบันของเขานั้น เพิ่งจะตั้งมาได้ประมาณปีเศษ
เมื่อถามถึงแนวคิดการบริการเดินขายถึงรถ เจ้าของร้านกล้วยทอดแม่กิมยุ้ยกล่าวว่า เริ่มจากการที่คนจอดซื้อไม่ใคร่สะดวก เมื่อรถจอดติดสัญญาณไฟแดง ลูกค้าบางคนก็อาศัยเปิดกระจกตะโกนสั่ง จึงเกิดการบริการส่งถึงรถเกิดขึ้น แต่ก็ยืนยันว่าไม่ได้ลงไปบนพื้นถนนทีละนับ 10 คน อย่างที่เป็นข่าว เพราะที่ร้านมีเด็กวิ่งขายถึงรถเพียง 2 คนเท่านั้น ซึ่งก็ไม่ใช่คนงานที่จ้างมา แต่เป็นหลานๆ ในครอบครัวทั้งนั้น พร้อมทั้งยืนยันว่าการเดินไปส่งกล้วยทอดผลิตภัณฑ์ของทางร้านนั้น ไม่ได้เดินในช่วงไฟจราจรเป็นสีเขียวอย่างที่ถูกร้องเรียน แต่จะเลือกส่งในช่วงรถติดไฟแดงเท่านั้น
“แต่พอข่าวมีออกไปมากๆ เจ้าหน้าที่ตำรวจกับทางเขตก็ขอร้องเรามาว่าการเดินขายบริเวณพื้นผิวจราจรเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย ก็มีการประชุมกัน ว่าขอให้ขายแค่บนไหล่ทาง คือให้คนขายยืนถือถุงรออยู่บนฟุตบาธ แล้วถ้าคันไหนจะซื้อก็ให้โฉบเข้ามาแวะซื้อ ซึ่งเราก็ปฏิบัติตามได้ไม่เดือดร้อน”
ไพบูลย์กล่าวต่อไปอีกว่า ตามปกตินั้นที่ร้านมีหน้าร้านและมีลูกค้าประจำอยู่แล้ว การขายให้รถที่ผ่านไปผ่านมานั้น คิดเป็นเพียง 10 – 20% เท่านั้น รายได้ส่วนใหญ่ของร้านมาจากการขายหน้าร้านและการรับสั่งทางโทรศัพท์ ดังนั้นหนุ่มใหญ่รายนี้จึงยืนยันได้ว่าไม่จำเป็นจะต้องฝืนกฎหมายแอบลงไปขายบนผิวการจราจร เนื่องจากหากฝ่าฝืนกฎหมายดังกล่าว จะต้องถูกปรับในอัตราสูงสุดคือ 2,000 บาท ดังนั้นเห็นจะไม่คุ้มรายได้ที่วิ่งลงไปขายบนถนน
“แค่ให้รถโฉบๆ มาซื้อริมถนน แล้วให้เด็กๆ ยืนถือถุงส่งผ่านกระจกรถให้ก็แฮปปี้แล้วครับ” ไพบูลย์กล่าว
ขณะที่เจ้าของกิจการกล้วยทอดอีกเจ้าหนึ่ง เป็นสตรีวัย 50 ที่ไม่เปิดเผยชื่อกล่าวว่า ค่อนข้างได้รับความเดือดร้อนกับกฎห้ามเดินขายบนพื้นผิวการจราจรเป็นอย่างยิ่ง รายได้ลดลงกว่าเท่าตัว ทำให้บางวันไม่ได้แม้กระทั่งค่าจ้างเด็กๆ ลูกมือ
“ป้าเองก็ลำบากมาก เพราะจากที่เคยขายได้พอจะเลี้ยงตัวเองแล้วก็เด็กๆ ในร้านได้ ตอนนี้มาห้ามไม่ให้ลงไปวิ่งส่งขายที่รถ ไม่ให้ลงบนพื้นถนน เราไม่มีหน้าร้าน ก็ต้องตั้งโต๊ะขาย ป้าได้กำไรถุงละสองบาท นานๆ ถึงจะมีคนเดินมาซื้อสักคน บางครั้งแค่เราเหยียบพื้นถนนก็โดนจับแล้ว ต้องคอยระวังบอกเด็กๆ ว่าอย่าไปทำผิดกฎหมาย ไม่งั้นโดนจับ โดนปรับ สามีป้าเคยเอากล้วยไปส่งให้ลูกค้าฝั่งตรงข้าม ยังโดนตำรวจจับกลางทางม้าลาย โดนปรับก็แพง สองพันบาท เค้าบอกว่าปรับอัตราสูงสุดเพราะจะได้ให้หลาบจำ จะได้เข็ด เราก็ต้องอยู่เฉพาะขอบๆ ทาง ก็ขายไม่ดีเหมือนเมื่อก่อน ยืนยันว่าเวลาเราลงไปบนถนนเราก็ลงไปตอนที่รถติดไฟแดง ไปขายเฉพาะคนที่เรียกซื้อเรา ไม่ได้ลงไปเดินเร่ขายเกะกะ บางทีคนทำมาหากินอย่างเราก็ท้อเหมือนกันนะ” ป้าขายกล้วยทอดผู้ไม่ประสงค์จะออกนามกล่าว
ด้านพ.ต.อ.ชำนาญ ชำนาญเวช ผกก.สน.นางเลิ้งเจ้าของพื้นที่ยอมรับว่า ปัญหาผู้ค้ากล้วยทอดเร่เดินขายบนพื้นผิวการจราจรนั้นเป็นปัญหามาได้ระยะหนึ่งแล้ว และได้รับการร้องเรียนจากประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนอยู่เป็นจำนวนมาก โดยส่วนตัวก็รู้สึกเห็นใจพ่อค้าแม่ค้าอยู่เหมือนกัน แต่ทั้งนี้การประกอบอาชีพต่างๆ ก็จำเป็นจะต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย ซึ่งถ้าหากพบว่ามีการกระทำผิด เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ต้องทำหน้าที่ และยืนยันว่าไม่ใช่เฉพาะกล้วยทอดเท่านั้น หากเป็นสินค้าประเภทอื่นๆ ที่มีการกระทำผิดในรูปแบบคล้ายกันกับกล้วยทอด ก็จะดำเนินการโดยเท่าเทียมกัน
แต่สำหรับ “เด็กส่งกล้วย” ตัวจริงเสียงจริงอย่าง “แบงค์” ธนวัฒน์ อุดมเลิศวุฒิกุล หนุ่มอายุ 19 ที่มีความสุขและภูมิใจกับอาชีพวิ่งส่งกล้วยของตนเองกล่าวว่า โดยส่วนตัวเชื่อแน่ว่าไม่มีใครใจกล้าพอที่จะลงไปส่งกล้วยทอดบนถนนที่รถกำลังวิ่งอยู่ และยืนยันว่าไม่เคยมีส่วนในการกีดขวางการจราจร การส่งถึงรถถือเป็นการบริการความสะดวกต่อผู้ซื้อเสียด้วยซ้ำ และเงินค่าขนมที่ได้จากการวิ่งส่งกล้วย ยังเป็นน้ำพักน้ำแรงจากการใช้เวลาว่างในทางที่ถูกที่ควร ที่เจ้าตัวภูมิใจเอามากๆ เสียด้วย
...ถึงตรงนี้ต้องบอกว่าเห็นใจทั้งตำรวจทั้งแม่ค้า ที่ฝ่ายหนึ่งก็ต้องปฏิบัติตามหน้าที่ รักษากฎหมายอย่างเข้มแข็ง แถมต้องดูแลความเรียบร้อยของสังคม แต่อีกฝ่ายก็จำเป็นต้องทำมาหาเลี้ยงชีพ เห็นทีว่าการละเล่นวิ่งไล่จับระหว่างทีมสีกากีและทีมผู้ค้ากล้วยทอดอาจจะมียืดเยื้อ งานนี้คงจะต้องเล่นเอาเถิดเจ้าล่อกันอีกนาน เหมือนสมัยก่อนในยุคหนึ่งบรรดาพ่อค้าแม่ค้าขายพวงมาลัย หนังสือพิมพ์ ผลไม้ดอง น้ำหวานใส่ถุง ก็ต้องขายไปหลบไปเหมือนกัน แต่สำหรับผู้บริโภคอย่างเราๆ ท่านๆ สิ่งที่ได้รับก็คือการเห็นปรากฏการณ์ขายของในรูปแบบใหม่ๆ ที่ (จำต้อง) มาพร้อมกับการระมัดระวังในการขับขี่ยานพาหนะ เพราะถ้าเผื่อไปเสยเด็กวิ่งกล้วยทอด เห็นทีจะกลายเป็นเรื่องยุ่งๆ แน่