ไร่ยาสูบสีเขียวขจี หมอกบางเบา ปกคลุมท้องไร่ ในฤดูเพาะปลูกช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมกราคมของทุกปี และเริ่มเก็บเกี่ยวในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน จากนั้นสถานีใบยาก็จะคึกคักไปด้วยชาวไร่ยาสูบที่นำใบยาตากแห้งมาขาย
...ชีวิตของชาวไร่ยาสูบวนเวียนอยู่เช่นนี้ทุกปีๆ
เนื่องใน “วันงดสูบบุหรี่โลก” 31 พ.ค.2549 เราจะพาย้อนไปดูที่มาของบุหรี่ ยาเส้น ยังสถานีใบยาหนองยาว และไร่ยาสูบบนเนื้อที่เกือบ 40,000 ไร่ ที่ ต.เกาะตาเลี้ยง อ.ศรีสำโรง จ. สุโขทัย รวมทั้งปรากฏการณ์สำคัญที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดกับความนิยมใน “บุหรี่ใบจาก” ที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
ชีวิตชาวไร่ยาสูบ
ในขณะที่การรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ดำเนินไปอย่างขะมักเขม้น ทั้งในไทยและในต่างประเทศ เพื่อสกัดกั้นโรคร้ายนานับชนิดที่มาพร้อมกับควันบุหรี่ แต่ยังมีชีวิตของคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ต้องดำเนินและเกี่ยวพันกับบุหรี่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นั่นคือ ชาวไร่ยาสูบ
เชี่ยวชาญ ขวัญวงศ์ ชาวไร่ยาสูบ จ.สุโขทัย วัย 39 ปี 1 ในสมาชิกที่ขึ้นทะเบียนกับสถานียาสูบหนองยาว เล่าว่า ยึดอาชีพปลูกยาสูบมากว่า 20 ปีแล้ว ปกติละแวกนี้จะทำไร่ยาสูบสลับกับการปลูกพืชประเภทอื่นๆ แต่ที่บ้านทำนาสลับ พอถึงช่วงฤดูเพาะปลูกยาสูบโดยจะใช้เวลา 3 – 4 เดือน ดูแลต้นกล้าเพื่อให้ใบยาโตเต็มที่ จากนั้นนำไปบ่มคลุมด้วยใบตองแห้งแล้วส่งให้โรงงานยาสูบ แต่ถ้าส่งให้พ่อค้าคนกลาง โรงงานเอกชนจะต้องหั่นเป็นฝอย
จากนั้นนำไปบ่มตากแดด 2 แดดเมื่อแห้งสนิท ก็นำไปตากน้ำค้างต่ออีก 2 วัน เพื่อรักษาความชื้น ให้ใบยามีความนุ่ม แล้วแบ่งเป็นห่อๆ ละ 10 กิโลกรัม นำไปขายต่อโรงาน หรือร้านค้าปลีก ที่เหลือก็จะเก็บไว้สูบเอง ซึ่งส่วนตัวชอบสูบบุหรี่มากกว่าเพราะมีรสอ่อนและนุ่ม ส่วนยาเส้นที่ทำเองจะมีรสฉุน กลิ่นแรงกว่า
“ใบยาที่นำมาขายโรงงานยาสูบส่วนใหญ่จะคัดเฉพาะที่มีคุณภาพดี ตรงตามความต้องการ เพราะได้ราคาดีกว่านำไปขายตามโรงงานหรือขายปลีกทุกวันนี้ผลิตออกมาเกินโควตาจึงคัดใบยาคุณภาพต่ำกว่าขายโรงงานเอกชน ใบยาคุณภาพดีจึงถูกส่งขายต่างประเทศหมดส่วนใบยาคุณภาพต่ำก็บริโภคภายในประเทศ”
เชี่ยวชาญ ยังเล่าให้ฟังถึงขั้นตอนการเดินทางมาขายใบยาให้โรงงานยาสูบด้วยว่า พอมาถึงที่สถานีใบยาราวๆ ตี 5 เพื่อต่อคิวรอขายในเวลา 8 โมงเช้าโดยเริ่มตรวจคุณภาพใบยา ชั่งน้ำหนัก กว่าจะเสร็จบ่ายโมงกว่าๆ จึงได้กลับบ้าน บางวันกว่าจะเสร็จเลิก 2-3 ทุ่ม ซึ่งปริมาณใบยาผลิตได้มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับดินฟ้าอากาศ และมีทุนมากหรือน้อย แต่ถ้ามีการรณรงค์ให้เลิกสูบบุหรี่มากขึ้น แล้วได้โควตาน้อยลง ก็ต้องลดการผลิต ซึ่งกำลังลองคิดว่าจะปลูกพืชอะไรทดแทนได้บ้าง ขณะที่รายได้จากการปลูกใบยาบางปีก็ดีบางปีก็ไม่ดีแต่ก็พออยู่ได้ รายได้ต่อไร่ต่อฤดูการผลิตเฉลี่ยประมาณ 10,000 บาท
...ทุกวันนี้ เชี่ยวชาญ ยังคงสูบบุหรี่และอยากจะเลิกเพราะตระหนักและเข้าใจพิษภัยของบุหรี่แต่เขาก็ยังเลิกไม่ได้โดยให้เหตุผลว่า “เรายังคงทำอาชีพนี้ ต้องอยู่กับมันทุกวัน ถ้าเลิกอาชีพนี้เมื่อไหร่คงจะเลิกสูบไปเอง”
ด้าน ธำรงศักดิ์ โพธิ์นิล หัวหน้าสถานีใบยาหนองยาง กองจัดหาใบยา สำนักงานยาสูบ จ. สุโขทัย อธิบายเพิ่มเติมว่า ในจังหวัดสุโขทัยมีสำนักงานยาสูบ 2 แห่ง คือ สถานียาสูบหนองยาวและสถานียาสูบศรีสำโรง ได้รับโควตาผลิต 11.6 ล้านกิโลกรัมต่อปีการผลิต มีเกษตรกรไร่ยาสูบเป็นสมาชิก 6,281 ราย นอกจากนี้ยังมีเกษตรกรรายย่อยที่ไม่ได้เป็นสมาชิกอีกจำนวนหนึ่ง
สำหรับเกษตรกรที่เป็นสมาชิกจะมีระบบโควตาการรับซื้อใบยาจัดส่งให้โรงงานยาสูบและบริษัทเอกชนผู้ส่งออกจำหน่ายในต่างประเทศ และหากผลิตภัณฑ์ส่วนเกินจากโควตาที่จัดสรรให้กับชาวไร่ ชาวบ้านก็จะนำใบยาสูบไปขายให้กับพ่อค้าคนกลางซึ่งจะส่งต่อยังโรงงานเอกชนต่างๆ อีกทีหนึ่ง
ทั้งนี้ ส่วนใหญ่ชาวไร่จะปลูกยาสูบพันธ์เบอร์เลย์ ส่วนพันธ์พื้นเมืองที่สำคัญมี 2 พันธุ์ คือ พันธุ์แท่งสินธุ์และพันธุ์เพชรมะเขือแต่ไม่เป็นที่นิยมในการปลูกเนื่องจากขายไม่ได้ราคานัก
ธำรงศักดิ์ บอกต่อว่า ขณะนี้ราคาใบยาสูบสูงขึ้นเนื่องจากมีการผลิตลดลงโดยเฉลี่ยราคาอยู่ที่ 45-48 บาท และปรับขึ้น 1 บาททุกชั้นใบยา ซึ่งแบ่งเกรดออกเป็น 43 ชั้น แบ่งเป็น 4 ระดับหลักๆ คือ ยายอด ยาบน ยากลาง ยาตีน ส่วนที่มีราคาแพงและเป็นที่นิยมเนื่องจากมีสี รสและกลิ่นดีเป็นใบยาชั้นกลาง ซึ่งจะแตกต่างกันตามการดูแล เพาะปลูก เก็บเกี่ยวและการบ่ม
การกลับมาของบุหรี่ใบจาก
ปีนี้องค์กรอนามัยโลกได้กำหนดคำขวัญว่า Tobacco : Deadly in any form or disguise ซึ่งแปลว่า “บุหรี่ทุกชนิด นำชีวิตสู่ความตาย” เพื่อให้คำเตือนประชาชนไม่ให้หลงเชื่อคำโฆษณาข้างซองบุหรี่บางประเภท หรือบางยี่ห้อที่ใช้คำว่าไลต์ (Light) อัลตราไลต์ (Ultra Light) มายด์ (Mild) โลว์ (Low) บุหรี่ชนิดอ่อนหรือบุหรี่กลิ่นผลไม้ เป็นต้น
ทั้งนี้ เนื่องจากข้อความดังกล่าวทำให้ผู้สูบเข้าใจผิดว่ามีสารอันก่อให้เกิดอันตรายน้อยกว่าบุหรี่ทั่วไป แต่ในความเป็นจริงสารนิโคติน (Nicotin) หรือสารทาร์ (Tar) รวมทั้งสารอื่นๆก็มีมากเช่นเดียวกันและเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคเป็นอย่างยิ่ง
อย่างไรก็ตาม อีกหนึ่งมรณะภัยที่น่าจับมามองเป็นอย่างยิ่งในขณะนี้ก็คือ การกลับมาของ “บุหรี่ใบจาก”
จากการตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมพบว่า ขณะนี้กำลังกลับมาได้ความนิยมอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากบุหรี่มวนเองมีราคาถูกกว่าบุหรี่ที่ผลิตจากโรงงานมาก
กล่าวคือ ใบจากมีราคาเพียงมัดละ 2-3 บาท หากนำมามวนเป็นบุหรี่จะได้ประมาณ 20-30 มวน และถ้ามียาเส้นมาพร้อมกับใบจากก็จะอยู่ที่ประมาณซองละ 3 บาท แตกต่างกับราคาบุหรี่ปัจจุบันยี่ห้อไทยซองละ 42 บาท ส่วนยี่ห้อนอกราคา 47 บาทขึ้นไป
นอกจากนี้ มีการปรุงใบยาให้มีกลิ่นต่างๆ ตามความนิยมของผู้บริโภค ซึ่งในบางครั้งมีการนำเอายาเส้นสำหรับบรรจุไปป์มาผสมเพื่อให้มีกลิ่นหอมมากยิ่งขึ้นอีกด้วย
ในส่วนของยาเส้นมวนเอง ปัจจุบันไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน อย่างไรก็ตามข้อมูลที่สำรวจได้สามารถแบ่งยาเส้นได้ตามขนาดบรรจุภัณฑ์ออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ ราคา 2-5 บาท/ห่อ ราคาบรรจุกระป๋อง 12-15 บาท และยาเส้นแบ่งขายแบบชั่งกิโลขาย ราคา 100 บาทต่อกิโลกรัม ทั้งยังมีให้เลือกมากมาย 100 กว่ายี่ห่อ เช่น ยี่ห้อแมวดำ สิงห์ นาค ลูกโลก บ้านแพง ตราแมว ตราไก่ บางรายส่งจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีรสชาติแบ่งเป็นฉุนและจืด โดยผสมใบยาหลายพันธุ์พื้นเมือง และพันธุ์อื่นๆ ตามแต่สูตรของตนเอง
ส่วนพฤติกรรมการเสพผู้สูบยาเส้น 95% เป็นผู้ชาย ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป มีปริมาณการเสพภาคอีสานสูงสุด 72% รองลงมาเป็นภาคเหนือ 52% ภาคใต้ 45% และภาคกลาง 34% ตามลำดับ
ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ และ ส.ว.กรุงเทพฯ กล่าวเพิ่มว่า ตามคำขวัญขององค์การอนามัยโลกระบุว่า บุหรี่ทุกชนิดนำไปสู่ความตาย ดังนั้น เราจึงให้ความสำคัญในการรณรงค์เลิกบุหรี่ทุกชนิดเหมือนกันทั้งหมด ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขเน้นที่การควบคุมบุหรี่ที่ผลิตมาจากโรงงาน แต่ยังไม่คลอบคลุมบุหรี่ประเภทอื่น ไม่ว่าจะเป็นยาเส้นมวนเอง หรือ ซิการ์ ไปป์ ซึ่งควบคุมได้ยากกว่า เนื่องจากไม่มีรูปแบบที่ชัดเจน
อย่างไรก็ตาม ต่อไปคงจะต้องมีการบังคับใช้กับยาสูบประเภทอื่นด้วย เช่นให้มีการพิมพ์คำเตือน หรือมาตรการทางภาษีซึ่งเป็นหน้าที่รับผิดชอบของสรรพกรที่จะนำไปพิจารณา
“ในส่วนของชาวไร่ยาสูบจริงๆ เราไม่จำเป็นต้องลดการผลิต เนื่องจากปัจจัยในการเลิกสูบบุหรี่ มิใช่อยู่ที่การลดปริมาณการผลิต และหากไม่มีการผลิตภายในประเทศก็สามารถนำเข้าได้อยู่ดี ขณะเดียวกันหากคนสูบบุหรี่น้อยลงก็จะทำให้ปริมาณความต้องการในตลาดน้อยลงและเพาะปลูกลดลงไปเอง เป็นไปตามกลไกของตลาด”ศ.นพ.ประกิตให้ความเห็น
...นี่คือ มรณภัยครั้งใหญ่ที่สังคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด