"พินิจ" เต้น สั่งเดินหน้าค้านญี่ปุ่นดอดจดลิขสิทธิ์ "ฤาษีดัดตน" อธิบดีแพทย์แผนไทยลั่นเป็นสมบัติดั้งเดิมของคนไทย ใครจะนำไปเป็นทรัพย์สินส่วนตัวไม่ได้ มั่นใจมีหลักฐานต่อสู้
จากกรณีที่มีข่าวว่า นายมาซากิ ฟุรุยะ ซึ่งดำเนินกิจการนวดแผนโบราณไทย ได้ยื่นขอจดลิขสิทธิ์ และเครื่องหมายการค้า คำว่า “ฤาษีดัดตน” และชื่อบริษัท “ห้างหุ้นส่วน ฤาษีดัดตน จำกัด ไว้กับหน่วยงานทรัพย์สินทางปัญญาของญี่ปุ่น (Japan Patent Office:JPO) และระบุในเวบไซต์ว่าหากผู้ใดนำคำว่า “ฤาษีดัดตน” ไปใช้จะมีความผิดตามกฎหมาย
นายพินิจ จารุสมบัติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่าตนจะสั่งการให้กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกดูแลเรื่องนี้ หากมีการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า หรือลิขสิทธิ์จริง ก็ต้องเจรจากับทางญี่ปุ่น เราคงยอมไม่ได้ เพราะรู้กันอยู่แล้วว่าท่าฤาษีดัดตนเป็นของไทย มีมานานตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 และจะให้กรมดูภูมิปัญญาด้านอื่นๆ ด้วย เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นอีก
นพ.วิชัย โชควิวัฒน อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกกล่าวว่า ทางกรมทรัพย์สินทางปัญญาของไทยได้ยื่นหนังสือคัดค้านการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า และลิขสิทธิ์ กับทางเจพีโอของญี่ปุ่นแล้วในวันที่ 26 พฤษภาคม 2549 และทางอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาเองก็ยืนยันมาว่าสามารถยื่นคัดค้านได้จนถึงวันที่ 29 พฤษภาคม นี้ และการยืนคัดค้านสามารถยื่นได้ตั้งแต่ขั้นตอนการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าและช่วงหลังจากที่จดทะเบียนไปแล้วก็สามารถที่จะฟ้องร้องเพื่อเพิกถอนได้ภายใน 5 ปี แต่อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่แน่ชัดว่าทางนายฟุรุยะจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า หรือลิขสิทธิ์ แต่จากที่มีเอกสารน่าจะจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ามากกว่า
นพ.วิชัยกล่าวว่าในการคัดค้านนั้นทางกรมทรัพย์สินทางปัญญาจะเป็นผู้ดำเนินการหลัก ส่วนทางกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯ จะเป็นผู้สนับสนุนข้อมูล และส่งตัวแทนไปร่วมดำเนินการ เพราะถือว่า “ฤาษีดัดตน” เป็นสมบัติดั้งเดิมของคนไทย ใครจะนำไปเป็นทรัพย์สินส่วนตัวไม่ได้ ซึ่งเชื่อว่าไทยน่าจะคัดค้านได้ผล เนื่องจากมีเอกสารหลักฐานหลายอย่างที่สามารถพิสูจน์ได้ว่า “ฤาษีดัดตน” มีในไทยมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงปฎิสังขรวัดโพธาราม หรือวัดพระเชตุพนวิมนมังคลาราม (วัดโพธิ์) เมื่อพ.ศ.2331 และมีท่าทั้งหมดประมาณ 127 ท่า มีรูปปั้นแสดงท่าฤาษีดัดตนที่วัดโพธิ์ 80 ท่า
นพ.วิชัยกล่าวว่า การเฝ้าระวังไม่ให้ต่างชาติจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาของไทยในส่วนของภูมิปัญญาไทยนั้นเป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะต้องเฝ้าดูทุกประเทศ ซึ่งทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันเพื่อดูแลเรื่องนี้ ทั้งกระทรวงการต่างประเทศ กรมทรัพย์สินทางปัญญา อย่างไรก็ตามการที่ญี่ปุ่นนำภูมิปัญญาไทยไปจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาแสดงให้เห็นว่าภูมิปัญญาของไทยมีคุณค่า และได้รับความนิยมในต่างประเทศ ซึ่งส่งผลดีกับการประชาสัมพันธ์ภูมิปัญญาไทย
นพ.วิชัยกล่าวว่า ในส่วนของการคัดค้านการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นควรทำในระหว่างที่เปิดให้คัดค้าน เพราะจะง่ายกว่า และเสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่า แต่เมื่อจดได้แล้วจะต้องฟ้องร้องต่อศาลซึ่งจะยากมาก เพราะต้องผ่านหลายศาล กระบวนการจะยามนานและต้องเสียค่าใช้จ่ายมากกว่า รวมทั้งต้องเตรียมเอกสารมากกว่า