xs
xsm
sm
md
lg

จากบั้งไฟ สู่พลุระเบิด อุบัติภัยซ้ำซ้อนจากสารเคมี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


บทความโดย : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

นักวิจัยเตือนภัยเหตุพลุระเบิด ชี้เป็นอุบัติภัยจากสารเคมี อันตรายที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง เผยในรอบยี่สิบปี เกิดอุบัติเหตุจากการระเบิดของวัตถุระเบิดเช่นนี้มาแล้วถึง 18 ครั้ง 7 ครั้ง ในจำนวนนี้เกิดจากพลุ ดอกไม้ไฟ บั้งไฟ ย้ำผู้ทำงานเกี่ยวข้องกับสารเคมีที่ก่อให้เกิดการระเบิด ทั้งผู้ใช้ และโรงงานผลิต ต้องใช้ความระมัดระวังอย่างสูง รวมถึงหน่วยราชการที่รับผิดชอบควรให้การดูแลและควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด

จากเหตุการณ์บั้งไฟพุ่งเปลี่ยนทิศทาง การระเบิดของบั้งไฟแสน ที่จังหวัดยโสธร มาจนถึงเหตุการณ์พลุระเบิดที่บ้านช่างทำดอกไม้ไฟ จังหวัดเพชรบุรี ที่แรงระเบิดได้ทำให้บ้านทั้งหลังแหลกเป็นจุณ มีผู้เสียชีวิต 6 คน บาดเจ็บอีก 12 ราย ขณะเดียวกัน แรงระเบิดยังทำให้บ้านเรือนละแวกใกล้เคียงได้รับความเสียหายไปด้วยอีก 15 หลัง รวมมูลค่าไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท โดยเหตุเกิดขึ้นจากไฟฟ้าลัดวงจร ทำให้เกิดไฟช็อต ประกายไฟกระเด็นไปถูกดินปืนสำหรับผลิตพลุที่มีอยู่จำนวนมาก

ทั้งนี้ จากการรวบรวมสถิติการเกิดอุบัติเหตุในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา พบว่า มีเหตุการณ์ที่เกิดจากวัตถุระเบิดถึง 18 ครั้ง 7 ครั้ง ในจำนวนนี้เกิดจากพลุ ดอกไม้ไฟ และบั้งไฟ ตัวอย่างเช่น

วันที่ 17 ตุลาคม 2543 โรงงานพลุประทัดดอกไม้ไฟย่านหนอกจอกระเบิด เป็นโรงงานที่ดัดแปลงบ้านเป็นโรงงาน มีผู้เสียชีวิต 6 ราย บาดเจ็บ 7 ราย

วันที่ 22 สิงหาคม 2543 โรงงานดอกไม้ไฟในชุมชนหนองบัว จ.เชียงราย ระเบิด มีผู้เสียชีวิต 2 ราย บาดเจ็บ 5 ราย เกิดจากการใช้สว่านไฟฟ้าเจาะรูเพื่อใส่สายชนวน ขณะมีการบรรจุดินระเบิดใส่บั้งไฟยักษ์

วันที่ 7 พฤศจิกายน 2543 ร้านขายพลุที่ตลาดมหาชัย จ.สมุทรสาคร ระเบิด เนื่องจากการจุดประทัดสาธิตให้ลูกค้า ความตกใจทำให้โยนประทัดลงไปที่แผงขาย เสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บ 84 ราย โดยที่ความเสียหายทั้งหมดนี้ ยังไม่ได้นับรวมถึงความเสียหายของบ้านเรือนที่เกิดขึ้นอีกมากมาย

รศ.สุชาตา ชินะจิตร ผู้อำนวยการฝ่ายสวัสดิภาพสาธารณะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวว่า จากเหตุการณ์เหล่านี้น่าจะเป็นอุทาหรณ์ได้ว่า เมื่อมีการทำงานเกี่ยวข้องกับวัตถุอันตรายที่ระเบิดได้ สิ่งที่ต้องพึงระวัง คือ การระมัดระวังมิให้เกิดการเสียดสี และการใช้ประกายไฟ หรือความร้อนในบริเวณที่มีวัตถุระเบิด เพราะอาจจะนำมาซึ่งสาเหตุแห่งการเกิดปฏิกิริยาของวัตถุระเบิด ทำให้เกิดระเบิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและรุนแรงได้ในที่สุด

“วัตถุระเบิดที่เกี่ยวข้องกับการผลิตบั้งไฟ พลุ หรือดอกไม้ไฟ มีทั้ง ดินปืน กำมะถัน ดินประสิว โปตัสเซียมไนเตรต โปตัสเซียมคลอเรต แอมโมเนียมไนเตรต ฯลฯ ซึ่งสารเคมีเหล่านี้ถือเป็นวัตถุระเบิด มี พ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้องอยู่ คือ ควบคุมยุทธภัณฑ์ และ พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน กำหนดให้มีการอนุญาตในการนำเข้าการผลิตการมีไว้ครอบครอง”

ทั้งนี้ จากการติดตามการนำเข้าของสารเคมีดังกล่าว ในพิกัดอัตราศุลกากร ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกับสารกลุ่มที่นำมาใช้เป็นปุ๋ยและวัตถุระเบิด พบว่า ในแต่ละปี มีการนำเข้าสารเคมีกลุ่มวัตถุระเบิดจำนวนมาก เช่น ในปี พ.ศ.2547 และ 2548 ประมาณ 4,800 ตัน เป็นข้อมูลที่สามารถค้นความรู้เรื่องสารเคมีอันตรายได้จากฐานการจัดการความรู้เรื่องความปลอดภัยด้านสารเคมี ที่ www.chemtrack.org

อย่างไรก็ดี เหตุการณ์เศร้าสลดจากเหตุการณ์พลุระเบิด ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนมากที่ผ่านมานี้ น่าจะเป็นข้อเตือนใจให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการใช้วัตถุระเบิด หลายหน่วยงานที่รับผิดชอบควรจะรีบเข้าไปดูแลและควบคุมอย่างใกล้ชิด ทำความเข้าใจกับผู้ผลิต ผู้ประกอบการให้มีการใช้สารเคมี และมีการจัดเก็บอย่างถูกต้อง ที่สำคัญผู้ผลิตจะต้องได้รับการอนุญาตในการนำสารเคมีไปใช้เท่านั้น มิฉะนั้น การระเบิดจากการทำพลุ ดอกไม้ไฟ และบั้งไฟในชุมชนก็จะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้เช่นนี้อีก
กำลังโหลดความคิดเห็น