xs
xsm
sm
md
lg

ความมหัศจรรย์ จาก สิ่งธรรมดาๆ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


มีเรื่องเล่าในเน็ตเรื่องหนึ่ง ว่า ครูคนหนึ่งถามเด็กๆ ในชั้นเรียนว่า อะไรที่เด็กๆ คิดว่าเป็น “สิ่งมหศจรรย์ในโลก” คำตอบมีต่างๆ นานา บางคนก็ว่า พีระมิดของอียิปต์ บ้างก็ว่ากำแพงเมืองจีน บ้างก็คิดว่าน่าจะเป็นนครวัดนครธม และหลายคนก็เห็นว่ายานอวกาศที่ส่งมนุษย์ไปเหยียบดวงจันทร์เป็นสิ่งมหัศจรรย์ ฯลฯ
 
แต่มีเด็กคนหนึ่งกลับบอกว่า การที่คนเราได้ยิน ได้เห็น ได้กลิ่น ได้รับรส และมีความรู้สึกนึกคิด นี่ซิ คือ สิ่งมหัศจรรย์ของโลก ซึ่งโดยแท้จริงสิ่งที่ว่านี่ ก็คือ ประสาทสัมผัสทั้งห้า อันเป็นสภาพปกติของร่างกายมนุษย์นั่นเอง คนเราเมื่อมีหู ตา จมูก ลิ้น กาย และใจ ก็สามารถรับรู้สิ่งต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตได้ แล้วทำไมลักษณะปกติธรรมดาที่ว่า จึงจะกลายเป็น “ความมหัศจรรย์” ไปได้ เชื่อว่า หลายๆ คนคงจะรู้สึกแปลกใจ และสงสัยเช่นกัน ซึ่งแท้ที่จริง หากเราจะคิดให้ลึกซึ้ง เราก็คงเห็นด้วยกับความคิดของเด็กที่ว่านี้ เพราะด้วยหู ตา จมูก ลิ้น กาย และใจนี่เอง ที่ทำให้ “ชีวิต” ดำรงและดำเนินไปได้อย่างปกติสุข และทำให้เกิดสิ่งมหัศจรรย์ขึ้นในโลก ดังที่กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม จะขอนำเสนอเป็นแนวคิด ดังนี้

คำว่า “มหัศจรรย์” ถ้าแปลตามพจนานุกรม จะหมายถึง แปลกประหลาดมาก น่าพิศวงมาก หรือผิดปรกติวิสัยของธรรมชาติ ส่วนคำว่า “ธรรมดา” หมายถึง อาการหรือความเป็นไปแห่งธรรมชาติ เช่นการกิน การถ่าย การสืบพันธุ์ เป็นต้น

โดยปกติสิ่งมหัศจรรย์ หรือความมหัศจรรย์ต่างๆ มักจะเป็นสิ่งที่มนุษย์ประดิษฐ์คิดค้นขึ้น ดังตัวอย่างข้างต้น ไม่ว่าจะเป็นพีระมิด กำแพงเมืองจีน นครวัดนครธม ยานอวกาศ หรือแม้แต่การทำมัมมี่เพื่อรักษาสภาพศพไม่ให้เน่าเปื่อยไปตามกาลเวลา การโคลนนิงสัตว์ การผสมเทียม ฯลฯ เพราะสิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ดูเกินกำลังมนุษย์ ดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้ และเกินคาดคิด แต่มนุษย์ก็สามารถทำได้สำเร็จ ซึ่งในอนาคตก็คงจะมีสิ่งประดิษฐ์ที่ทำให้ทึ่ง และมหัศจรรย์ใจตามมาอีกมากมาย แต่กระนั้น หากมองย้อนมาดูตัวเราเอง “สิ่งธรรมดา” ที่เราคุ้นชินมาตั้งแต่เกิด ไม่ว่าการได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ได้รู้รสและการมีความรู้สึกนึกคิด กลับสร้างให้เกิด “ความอัศจรรย์” ยิ่งกว่า เพราะว่า

-การได้ยิน ทำให้เราได้รับรู้ถึงสรรพสำเนียงต่างๆ ในโลกได้ ไม่ว่าจะเป็นบทเพลง หรือดนตรีที่ไพเราะ เสียงธรรมชาติ เช่น นกร้อง น้ำไหล เสียงกระซิบด้วยความรัก หรือแม้แต่เสียงตะโกนด้วยความโกรธหรือดีใจ หากเราไม่ได้ยินเสียงแล้ว ชีวิตทั้งชีวิตของเราก็คงจะเงียบเหงา การสื่อสารต่างๆก็เป็นไปด้วยความยากลำบาก

-การได้เห็น ก็เช่นเดียวกับการได้ยิน ที่ทำให้เราได้มองเห็น ได้สัมผัสกับความสวยงามของโลก ได้รับรู้สีสันของสรรพสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นสีเขียวของใบไม้ สีขาวของก้อนเมฆ สีสดใสของท้องฟ้า หรือแม้แต่ความมืดมนของราตรีกาล ฯลฯ หากมองไม่เห็น เราก็มิอาจจรับรู้ความงดงามใดๆ ของโลกได้เลย โลกของเราคงมีแต่สีดำมืดมิด

-การได้รู้รส การได้กลิ่น หรือการสัมผัส ทำให้เราได้รับรู้ถึงความแตกต่างของสรรพสิ่ง ทำให้เราสามารถแยกแยะ และเลือกสรรสิ่งที่ต้องการ หรือไม่ต้องการได้ ทำให้เรารับรู้ถึงรสชาติ และกลิ่นที่พึงปรารถนา หรือไม่พึงปรารถนา สามารถสื่อความคิด หรือรับรู้ถึงความรู้สึกต่างๆ ผ่านการสัมผัสได้

-การมีความรู้สึกนึกคิด หรือ มี “หัวใจ” ก็ทำให้คนเรามีความรู้สึกต่างๆ มีความรัก มีความคิดที่จะทำสิ่งที่ดีกว่า ทำให้เราสามารถถ่ายทอดความรู้สึกที่ดีงามจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่งได้ หรืออาจจะก่อให้เกิดความเกลียดชัง ความกลัว จนทำลายล้างโลกได้เช่นกัน

อาจจะกล่าวได้ว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ของเราที่ดูจะเป็น “สิ่งธรรมดาๆ” เพราะความเคยชินนี้ โดยตัวมันเองก็แสนจะเป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่ไม่มีทางจะทำทดแทน เลียนแบบได้ แม้ว่าวิทยาการจะก้าวหน้าไปเช่นไรก็ตาม ขณะเดียวกัน มันก็เป็นจุดเริ่มต้นอันก่อให้เกิดสรรพสิ่งอื่นๆ ที่ไม่น่าเชื่ออีกมากมายตามมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทางโลกหรือทางธรรม แม้แต่พระพุทธองค์ก็ยังทรงสอนให้เราพิจารณาร่างกายของเราเป็นเบื้องต้น โดยเฉพาะ “ใจ” เพราะด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ นี่แหละที่ทำให้คนเราต้องเสาะแสวงหา ต้องประดิษฐ์คิดค้นสารพัดสิ่งมาตอบสนองความต้องการของตน จนเป็น บ่อเกิดแห่งการสร้าง “สิ่งมหัศจรรย์” ทั้งหลายในโลก และยังเป็นมูลฐานแห่งความทุกข์และสุขทั้งมวลของมนุษย์

สมมติว่า วันใดวันหนึ่งเราตื่นขึ้นมา แล้วไม่สามารถมองเห็นได้ตามปกติ ตาเจ็บตาแดง หรือจมูกไม่ได้รับกลิ่น เกิดเป็นหวัด หายใจไม่สะดวก ลิ้นเจ็บเป็นแผล กินได้ แต่ไม่ได้รับรสชาติ เพียงแค่นี้ เราก็คงรู้สึกเดือดร้อน ทรมาน แทบทนไม่ไหว เพราะสิ่งปกติธรรมดาๆในชีวิต กลับกลายเป็นความไม่ปกติ และเราจะรู้สึกได้ทันทีว่า การดำรงชีวิตที่อวัยวะทุกส่วนที่ว่า สามารถทำหน้าที่ได้อย่างปกติธรรมดาเป็นสิ่งมีค่าเกินกว่าความคาดคิดของเรามากมาย ดังนั้น เราจึงควรดีใจที่ทุกวันของเรามี “ความปกติ” เป็น “ความมหัศจรรย์” ของชีวิต


..............................................

อมรรัตน์ เทพกำปนาท / กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
กำลังโหลดความคิดเห็น