xs
xsm
sm
md
lg

หา “รูมเมต” ทางอินเทอร์เน็ต ควรระวัง!!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โลกที่แสนสะดวกสบาย อยากได้ข้อมูลอะไร อยากจะไปที่ไหน อยากทำอะไร ก็เพียง แค่ปลายนิ้วสัมผัสคลิกๆๆ โดยปราศจากการระแวดระวังป้องกันภัยที่แฝงมากับโลกยุคไซเบอร์ก็อาจสร้างความยุ่งยากให้กับชีวิตโดยที่คาดไม่ถึง อย่างการหา “รูมเมต”ที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้

“รูมเมต” (Roommate) โดยทั่วไปก็คือ เพื่อนร่วมห้อง คนที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน แม้ว่าเป้าหมายของคนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ต้องการประหยัดค่าใช้จ่ายโดยการแชร์ค่าเช่าห้อง แต่จะหารูมเมตจากที่ไหนและแบบไหนที่ไว้ใจได้ คงจะต้องผ่านการพิจารณากลั่นกรองพูดคุยกัน หากแต่คนกลุ่มหนึ่งที่เลือกใช้บริการหารูมเมตทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งไม่รู้จักและไม่เคยเห็นหน้ากันมาก่อนพวกเขาต้องระมัดระวังตัวอย่างไรบ้าง

ชวน จุดาบุตร วัย 28 ปี เจ้าของเว็บไซต์แห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นเว็บไซต์บริการศูนย์รวมหอพัก บ้านเช่า อพาร์ตเมนท์ทางอินเทอร์เน็ต ให้คำแนะนำว่า สำหรับข้อปฏิบัติเบื้องต้นที่ทางเว็บไซต์กำหนดขึ้นเป็นข้อตกลงร่วมกันระหว่างรูมเมต คือ ควรถ่ายสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ร่วมแชร์ค่าห้องเก็บไว้ ขอข้อมูลสถานที่ทำงาน หมายเลขโทรศัพท์ติดต่อของสถานที่ทำงาน ซึ่งเป็นหมายเลขโทรศัพท์พื้นฐาน ไม่ใช่มือถือ ทำสัญญาการแชร์ค่าห้องร่วมกัน และหาพยานหรือผู้ค้ำประกันทั้ง 2 ฝ่าย เพื่อลงลายมือชื่อเป็นหลักฐาน โดยให้ชำระค่าเช่าเท่ากันและพร้อมกันโดยไม่มีข้อยกเว้น หากไม่สามารถชำระได้ให้ใช้สิ่งของค้ำประกันกับอีกฝ่าย รวมถึงอาจสอบถามรูมเมตเดิมของผู้ที่ต้องการแชร์ค่าห้องว่าเขาเป็นอย่างไร , สอบถามเจ้าของหอพักเดิมที่เขาเคยอยู่ว่าเขาเป็นอย่างไร ข้อสุดท้าย คือ อย่าไว้ใจวางใจรูมเมตมากเกินไป!

สำหรับที่มาของการเปิดเว็บบอร์ดลักษณะนี้นั้น ปกติแล้วเว็บไซต์ทั่วๆ ไปจะมีเว็บบอร์ดเพื่อให้สมาชิกมีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ซึ่งเมื่อเข้าไปสำรวจความต้องการของผู้ใช้บริการในเว็บไซต์ก็พบว่า มีสมาชิกจำนวนมากที่ต้องการหารูมเมตเพื่อร่วมแชร์ค่าห้อง และได้เข้ามาโพสต์ข้อความ รายละเอียด ลักษณะของบ้าน ค่าเช่าที่พัก รวมถึงเบอร์โทรศัพท์หรืออีเมล์ติดต่อกลับ ดังนั้น จึงตัดสินใจแยกเว็บบอร์ดเพื่อเปิดให้บริการเป็นสัดส่วน ซึ่งในช่วงแรกที่เปิดเว็บบอร์ดคนทั่วไปสามารถเข้ามาโพสต์ข้อความต่างๆ ได้ ทำให้มีผู้แอบอ้าง หรือผู้กลั่นแกล้งเข้ามาป่วนกระทู้อยู่เนืองๆ เช่น นำเบอร์ผู้อื่นมาตั้งกระทู้ไว้ หรือบางรายโทรศัพท์มาแจ้งว่ามีคนโรคจิตโทรรบกวน จนทีมงานต้องคอยสอดส่องและจัดการลบกระทู้ที่มีปัญหาออก

"ช่วงที่เกิดปัญหามากๆ เราก็คิดจะปิดบอร์ดเหมือนกันแต่มีผู้ใช้บริการโทรศัพท์มาขอร้องไม่ให้ปิด เพราะบางคนก็จำเป็นจริงๆ ดังนั้นคนที่เข้ามาประกาศหารูมเมตจึงต้องเป็นคนที่ต้องการหาเพื่อนเช่าห้องอยู่ด้วยกันจริงๆ จากนั้นเมื่อมีผู้สนใจติดต่อเข้ามาก็ควรสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ซึ่งเคยมีกรณีที่เมื่อเข้าไปอยู่ร่วมกันแล้วเกิดปัญหาตามมา ถึงขั้นเกือบขึ้นโรงขึ้นศาล ทะเลาะกันวุ่นวาย เพราะอีกฝ่ายค้างค่าเช่าแล้วขนข้าวขนของออกจากที่พักโดยไม่บอกล่วงหน้า หลักฐาน สัญญาไม่มี ยังดีที่ของสำคัญของอีกฝ่ายอยู่ครบถ้วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดปัญหาใดๆ ขึ้น เราไม่สามารถเป็นพยานให้บุคคลใดได้เนื่องจากเราไม่สามารถทราบได้เลยว่าฝ่ายใดถูกฝ่ายใดผิด อีกทั้งเราเป็นเพียงสื่อกลางเท่านั้น”

ชวน อธิบายถึงวิธีการแก้ปัญหาในเบื้องต้นว่า เมื่อเกิดการเข้ามาป่วนหรือมีกระทู้ที่มีนัยแอบแฝงมากขึ้น จึงมีการใช้ระบบ Log in ซึ่งคนที่จะโพสต์ในกระทู้จะต้องกรองรายละเอียดข้อมูลส่วนตัวรวมถึงที่อยู่และเบอร์โทรศัพท์ที่ติดต่อได้ เป็นการคัดกรองขั้นตอนหนึ่งก่อนจะสามารถเข้าไปใช้บริการ นอกจากนี้ยังตั้งกฎและขึ้นบัญชีดำ เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาอีกด้วย

ขณะที่ ชานัน กาศสกุล วัย 25 ปี อาชีพค้าขาย หนึ่งในบรรดาผู้หารูมเมตทางอินเทอร์เน็ต เล่าว่า จริงๆ อยากได้รูมเมตที่รู้จักกันอยู่ก่อนแล้ว แต่ช่วงนั้นไม่มีใครที่ต้องการหาห้องพัก หรือบ้านเช่า ซึ่งก่อนหน้านี้เคยใช้บริการหาอพาร์ตเมนท์จากเว็บไซต์หนึ่ง เมื่อได้บ้านราคาค่าเช่า 8,000 บาทต่อ 1 เดือน จึงต้องการเพื่อนเพื่อมาแชร์ค่าห้องและลองโพสต์ข้อความประกาศไว้ในเว็บบอร์ด ซึ่งหลังจากนั้นไม่นานก็มี

ผู้สนใจโทรศัพท์มาสอบถามหลายราย บางรายเดินทางมาดูบ้านด้วยตนเอง ซึ่งเบื้องต้นก็พูดคุยตกลงกันก่อนว่าเราอยู่อย่างนี้เขาจะอยู่ได้ไหมแล้วเขาใช้ชีวิตอย่างไรบ้าง รวมทั้งการเก็บค่าเช่า และขอหลักฐานบุคคลอย่างสำเนาบัตรประชาชน และที่ติดต่อโทรศัพท์พื้นฐานไว้

“หากถามว่าคุ้มไหมหากเกิดปัญหาในภายหลัง ส่วนตัวแล้วผมไม่กลัว เนื่องจากเราขอสำเนาบัตรประชาชนไว้ มีการทำสัญญา หากหลอกลวงก็สามารถตามตัวได้ เมื่อมาอยู่รวมกันก็ห้องใครห้องมันแบ่งสัดส่วนชัดเจน”

ส่วนกรณีการเข้าไปโพสต์ข้อความโดยมีวัตถุประสงค์อื่นแอบแฝง ชานัน มองว่า แล้วแต่บุคคลมากกว่า หากแอบแฝงเรื่องเซ็กซ์ เดี๋ยวนี้ไม่จำเป็นเสียเงินลงทุนมาเช่าบ้านอยู่ด้วยกันแล้ว

ส่วน ชนัญญา ชาติญานนท์ วัย 26 ปี อาชีพผู้จัดการตลาด บริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ซึ่งถูกภัยจากการหารูมเมตทางอินเทอร์เน็ตเล่นงาน เล่าว่า เคยไปโพสต์ข้อความไว้ เพื่อหารูมเมตตามคำแนะนำของเพื่อน โดยทิ้งอีเมล์และเบอร์โทรศัพท์ไว้ แต่ผู้ที่ติดต่อเข้ามาแย่มากๆ ด้วยเหตุที่เข้าไปเพื่อหาเพื่อนร่วมแชร์ค่าห้องที่เป็นผู้หญิง แต่กลับเข้าใจเจตนาเป็นอย่างอื่น โดยมองว่าเราโพสต์ไว้เพื่อขายบริการ ทำให้เสียความรู้สึกอย่างมาก

"ก็เข้าใจว่าคนที่มาเล่นมีหลายรูปแบบ มีหลายรายแอดอีเมลเข้ามาคุยด้วยเกี่ยวกับเซ็กซ์ ชวนมีเพศสัมพันธ์ บางคนโทร.เข้ามาเล่นเซ็กซ์โฟนด้วย เราต้องคอยปฏิเสธว่าไม่ใช่นะ ไม่ต้องการคุยแบบนี้ บางครั้งนั่งทำงานอยู่แล้วมีคนโทรเข้ามาเป็นแบบโรคจิตเลยก็มี ส่วนที่จะโทรมาเพื่อเป็นรูมเมตกันจริงๆ ก็มีเข้ามา แต่เราไม่มั่นใจแล้วรู้สึกไม่ดีและไม่ปลอดภัย ตอนนี้จึงไม่ต้องการรูมเมตแล้ว และกำลังติดต่อเว็บมาสเตอร์ให้ช่วยลบกระทู้ที่เราไปโพสต์ไว้ออกแต่ก็ยังติดต่อไม่ได้”

ชนัญญาบอกอีกว่า ในเว็บบอร์ดเราไม่รู้ว่าใครเป็นใครบางคนมีเจตนาแอบแฝง อย่างเข้ามาโพสต์ว่า ผู้ชายอยากได้เพื่อนผู้ชายหรือเกย์ก็ได้มาเป็นรูมเมตกัน หรือ บางรายโพสต์ข้อความเป็นภาษาอังกฤษให้ที่อยู่ฟรีเพียงอยากได้ภาษา ต้องการชาวต่างประเทศมาเป็นรูมเมต ดังนั้นจึงรู้สึกว่ามันอันตรายและไม่ปลอดภัยจึงควรมีการควบคุม ดูแลอย่างจริงจัง โดยเว็บมาสเตอร์ควรคอยสอดส่องลบกระทู้ที่ไม่เหมาะสม ซึ่งเว็บบอร์ดที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่มี เหมือนไม่ใส่ใจไม่มีใครดูแลเลย

ด้าน ลัดดา ตั้งสุภาชัย ผู้อำนวยการสำนักเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม ให้ทัศนะว่า สังคมมันเปลี่ยนแปลงไปมาก จากที่จับต้องสัมผัสได้เข้าสู่สังคมไซเบอร์ที่ไม่เห็น ซ่อนเร้น ไม่รู้จักอีกฝ่าย ในขณะที่แม้จะรู้จักหน้าค่าตากันก็ยังเกิดข้อผิดพลาด พบปัญหาในการคบหา และแม้ว่าการใช้ไซเบอร์สามารถช่วยให้เกิดความสะดวกสบายได้ก็จริง แต่แน่นอนว่าก็จะเกิดปัญหาตามมามากมาย เมื่อแต่ละคนต่างก็มีพฤติกรรมส่วนตัวที่เราไม่รู้ซ่อนอยู่ เขาอาจจะขี้ขโมย ขี้อิจฉาก็จะอยู่อย่างไม่สบายใจ ข้าวของก็ต้องคอยดูแลตลอด หรือบางคนเคยใช้ชีวิตอิสระจนเคย อาจจะพาเพื่อนชายเข้ามาในที่พัก หรือบางคนเป็นโรคติดต่อซึ่งสามารถแพร่กระจายได้ แต่ไม่เคยบอกให้เรารู้เลย พฤติกรรมเหล่านี้เป็นความล่อแหลมที่เสี่ยงอันตรายอยู่เหมือนกัน คนรุ่นใหม่ที่ค่อนข้างฉาบฉวยและอาศัยโลกไซเบอร์มากเกินไป จึงถูกหลอกมาแล้วหลายราย

ส่วนการใช้ชีวิตการเป็นรูมเมตในต่างประเทศเป็นชีวิตปกติซึ่งจะนำมาเปรียบเทียบกับประเทศไทยไม่ได้ เนื่องจากมิติทางวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ในต่างประเทศการมีรูมเมทเป็นวิถีชีวิตวัฒนธรรมของเขา แต่ไม่ใช่ส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของคนไทย

ผอ.สำนักเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม ยังเตือนด้วยว่า การการูมเมตทางอินเทอร์เน็ตมีปัจจัยเสี่ยงสูงมาก ในโลกของความเป็นจริงซึ่งมีการปฏิสัมพันธ์กันอย่างตรงไปตรงมายังไว้วางใจกันได้ยาก ยิ่งในโลกไซเบอร์คนส่วนใหญ่จะไม่พูดความจริงกัน เช่น เข้ามาโพสต์ด่าหรือทำให้เสียหาย โดยไม่สามารถตามตัวมาลงโทษหรือดำเนินคดีได้ ยิ่งเว็บไซต์เปิดและปิดหายไปง่ายๆ ภายในเวลาไม่ถึงชม.

การสื่อสารในโลกไซเบอร์จึงควร ระมัดระวังตัว ใช้อย่างมีความรู้ มีสติ และมีความเข้าใจจะได้ไม่ถูกหลอก!!!
กำลังโหลดความคิดเห็น