xs
xsm
sm
md
lg

มี “ออม” ไม่มี “อด” ปรัชญาแห่งชัยในยุคต้อง “พอเพียง”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เป็นเวลากว่า 1 ปีที่ศูนย์ส่งเสริมการบริหารเงินออมครอบครัวหรือที่เรียกกันจนติดปากว่าศูนย์เงินออมของกรุงเทพมหานคร(กทม.) ได้ถือกำเนิดขึ้นภายใต้นโยบายของอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คนปัจจุบันที่ต้องการให้มหานครแห่งนี้เป็นเมืองแห่งโอกาสที่ทุกคนสามารถตั้งตัวและเติบโตได้ รวมทั้งเพื่อต้องการสนองกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในเรื่อง “เศรษฐกิจพอเพียง”
  

อย่างไรก็ตาม อาจจะยังมีอีกหลายคนที่ไม่รู้จักกับเจ้าศูนย์ฯแห่งนี้อย่างดีพอว่า วัตถุประสงค์และหน้าที่ของศูนย์เงินออมนั้นเป็นอย่างไรกัน

-1-


พนิช วิกิตเศรษฐ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครฝ่ายการเงินและการคลัง เล่าให้ฟังว่า กทม.ได้จัดตั้งศูนย์ส่งเสริมการบริหารเงินออมครอบครัวขึ้นโดยประสานงานกับธนาคารออมสิน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สมาคมบริษัทจัดการลงทุน สมาคมประกันชีวิตไทย และสถานธนานุบาลของกทม.ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านการเงิน การออม

ทั้งนี้ ศูนย์ดังกล่าวต้องการส่งเสริมให้ประชาชนกลุ่มผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลางที่มีอยู่ถึงร้อยละ 60 จากประชากรทั้งหมดให้รู้จักใช้เงินเป็น บริหารเงินได้ มีเงินเหลือเก็บออมเพื่อสร้างความมั่นคงให้แก่ครอบครัวทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยศูนย์เงินออมจะมีส่วนสำคัญในการให้ความรู้ ให้คำปรึกษาแนะนำแก่ประชาชนให้สามารถบริหารจัดการเงินของตนเอง ตลอดจนมีวินัยในการออม เพื่อนำไปสู่รายได้ที่เพิ่มขึ้น

เกิดการมีส่วนร่วมในการสร้างครอบครัวให้เข้มแข็ง เศรษฐกิจเมืองก็จะมีความก้าวหน้า และที่สำคัญที่สุดคือประชาชนก็จะเกิดความภาคภูมิใจในตนเองที่สามารถบริหารจัดการเงินของตนเองจนสามารถนำอนาคตที่ดีมาสู่ครอบครัวและสังคมในส่วนรวมได้ในที่สุด

ขุนคลังกทม. เล่าอีกว่า ในปีที่ผ่านมากทม.ได้เปิดศูนย์เงินออมนำร่องที่สำนักงานเขต 12 แห่งครอบคลุมในพื้นที่ 12 กลุ่มโซนของกทม.เพื่อให้ประชาชนในเขตต่างๆได้ไปใช้บริการอย่างทั่วถึง ซึ่งศูนย์เงินออมที่เปิดไปแล้วคือที่ศูนย์เงินออม เขตพญาไท พระนคร  สาทร พระโขนง บางพลัด ภาษีเจริญ หลักสี่ บางกะปิ คลองสามวา ลาดกระบัง บางแค บางบอน และในกลางปีนี้กทม.จะเปิดศูนย์เงินออมขึ้นอีก 12 แห่ง ที่เขตดุสิต ปทุมวัน เขตจตุจักร คลองเตย จอมทอง ลาดพร้าว สวนหลวง หนองจอก มีนบุรี ประเวศ ทวีวัฒนา และเขตทุ่งครุ

“ขณะนี้ศูนย์เงินออมของเรากำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ผมเคยไปพูดในหลายๆบริษัทว่าเป้าหมายและนโยบายของกทมปีนี้คือ เรื่องชีวิตพอเพียง เศรษฐกิจพอเพียง ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และในตอนนั้นที่คนเขาพูดกันว่าจะแก้ไขปัญหาความยากจนของประชาชนแต่ผมคิดว่านโยบายของผู้ว่าฯอภิรักษ์ คงไมใช่นโยบายเพราะของเรามุ่งหวังที่จะทำยังไงให้คนอยู่แล้วมีความสุข และการออมเงินเป็นเรื่องพื้นฐาน หากวันนี้ไม่เริ่มคิด อนาคตทั้งระยะกลาง ระยะยาว ก็ไม่สามารถมีความสุขได้ เพราะคุณจะใช้เงินหมดไป การออมเงินก็เหมือนกับการสร้างวินัยให้เริ่มคิดว่าเราน่าจะมีเก็บไว้บ้างเพื่ออนาคตของลูกหลาน ของตัวเราเองเวลาที่เกษียณ”

นอกจากศูนย์เงินออมแล้ว กทม.ยังส่งเสริมให้ประชาชนจัดทำบัญชีรายรับ – รายจ่าย ในครัวเรือน 1 ล้านเล่ม ภายในปี 2549 นี้ เพื่อให้แต่ละครอบครัวในกทม.ได้บันทึกรายรับ - รายจ่าย ของครอบครัวตนเอง ซึ่งจะทำให้สามารถวางแผนการใช้เงินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

“กิจกรรมตอนนี้ไปได้ดีมาก เพราะเรามี 2 เรื่อง คือการแนะนำการออมเงิน แนะนำการลงทุน และการทำบัญชีรายรับ - รายจ่ายซึ่งเป็นแนวทางตามพระราชดำริ ซึ่งกทม.ได้แจกหนังสือดังกล่าวไปทำให้ศูนย์เงินออมมีคนเข้ามาตลอด อีกทั้งยังมีการจัดกิจกรรมในชุมชนอย่างต่อเนื่อง และตัวผมเองก็เริ่มขับเคลื่อนเข้าไปในบริษัทต่างๆ เช่นโตโยต้าได้คนเข้าร่วมกิจกรรมตั้ง 1 หมื่นคน ไปที่ศรีไทยซูเปอร์แวร์ กัด ก็ได้คนเข้าร่วมกิจกรรมตั้งหลายพัน เคยมีคนถามผมเหมือนกันว่า นี่เป็นภารกิจของกทม.ด้วยเหรอ ผมก็ตอบไปว่าตรงๆ เลย แม้ว่าเราไม่ใช่รัฐบาลที่ต้องดูแลทั้งประเทศ แต่เราก็จะต้องดูแลคนกทม. เพื่อให้คนกทม.มีวินัยในการออม รู้จักการออม จะต้องได้ข้อมูลในการออม ดังนั้น กิจกรรมอันนี้คนถึงให้ความสนใจมาก”

“ครั้งหนึ่งเคยมีนายกอบต.คนหนึ่งถามผมตอนที่ไปพูดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นฟังว่า ทำไมกทม.ไม่ทำกองทุนหมู่บ้านแบบรัฐบาลซึ่งดีมากเลย ผมก็บอกว่า นโยบายของผู้ว่าฯ อภิรักษ์ คือการแก้ไขปัญหาของสังคม ไม่ใช่ให้เงินอย่างเดียว ต้องสอนวิธีการใช้เงิน คุณมีเงินพันล้านแต่คุณไม่มีความสุข กับคุณมีเงินอยู่ 10,000 บาท แต่คุณมีความสุขอยู่ตลอดเวลา มันดีกว่ากันกว่าเยอะ  ดังนั้น ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสถึงอยู่เสมอ แต่คนอ่านกันไม่ค่อยออกคือพอเพียง คำว่าพอเพียงคือพอใจในสิ่งที่คุณมี ไม่ใช่มีเงินเป็นโหล มีเงินตลอดเวลา เงินอาจจะเยอะจริง แต่ปัญหาสังคมมันมหาศาลนะ ”

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าการทำงานของศูนย์เงินออม กทม.จะราบรื่น ปัญหาก็มีบ้าง ซึ่งปัญหาส่วนใหญ่ที่เจอ คือคนที่เข้ามาพยายามขนเงินเข้ามาฝาก ซึ่งก็ต้องทำความเข้าใจว่า ศูนย์ฯ ไม่ใช่สถาบันการเงิน และไม่มีหน้าที่มาดูแลเรื่องเงินให้ แต่มีหน้าที่คอยแนะนำตรวจดูสุขภาพเงินให้ได้รู้เรื่อง

ทั้งนี้ จากสถิติการดำเนินการศูนย์เงินออมที่เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 6 พ.ค.48 – 10 มี.ค.49 มียอดรวมของประชาชนที่เข้ามาใช้บริการศูนย์ฯ จำนวน 42,430 คน ซึ่งในจำนวนนี้มีผู้สนใจตรวจสุขภาพการเงิน รับฟังคำปรึกษาจำนวน 37,372 คน โดยส่วนใหญ่ผู้มาใช้บริการเป็นเพศหญิงจำนวน 20,690 คน คิดเป็นร้อยละ 55.36 เพศชายจำนวน 16,682 คน คิดเป็นร้อยละ 44.64  

แยกตามกลุ่มอายุ : ส่วนใหญ่เป็นผู้มีกลุ่มอายุระหว่าง 31 – 40 ปี จำนวน 9,652 คน คิดเป็นร้อยละ 25.83 มีรายได้ต่อเดือน : ส่วนใหญ่เป็นผู้มีรายได้ระหว่าง 3,001 – 6,000 บาทต่อเดือน จำนวน 8,219 คน คิดเป็นร้อยละ 21.99  และส่วนใหญ่เป็นผู้จบการศึกษาระดับประถมศึกษาเข้ารับบริการจำนวน 10,355 คน รองลงมาระดับปริญญาตรี มัธยมศึกษา ปริญญาโทตามลำดับ

แยกตามกลุ่มอาชีพ ส่วนใหญ่ผู้เข้ารับบริการประกอบอาชีพรับจ้างจำนวน 12,165 คน คิดเป็นร้อยละ 32.55 คน รองลงมาประกอบอาชีพรับราชการ พ่อค้า แม่ค้าตามลำดับ

แยกตามวัตถุประสงค์ของผู้มาใช้บริการ ผู้ใช้บริการส่วนใหญ่จะปรึกษาเรื่องการออมเงิน จำนวน 20,615 คน คิดเป็นร้อยละ 55.16 ส่วนคำแนะนำที่เจ้าหน้าที่ให้กับผู้มาใช้บริการ นักบริหารเงินออมได้ให้คำแนะนำกับผู้มาใช้บริการส่วนใหญ่คือ การทำบัญชีรายรับ – รายจ่าย จำนวน 22,325 คน คิดเป็นร้อยละ 59.74

นอกจากนี้ จากการติดตามผลผู้ที่มาใช้บริการศูนย์เงินออม จำนวน 3,812 คน พบว่า ผู้มาใช้บริการเริ่มออมเงินจำนวน 1,267 คน คิดเป็นร้อยละ 33.24 ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น จำนวน 1,162 คน คิดเป็นร้อยละ  30.48 จัดทำบัญชีรายรับ – รายจ่าย จำนวน 905 คน คิดเป็นร้อยละ 23.75 หาวิธีเพิ่มรายได้โดยการฝึกอาชีพ จำนวน 369 คน คิดเป็นร้อยละ 9.67 และอื่นๆ จำนวน 109 คน คิดเป็นร้อยละ 2.86

ทั้งนี้ ศูนย์ฯ ที่มีผู้เข้ามาใช้บริการมากที่สุด 3 อันดับแรกคือ เขตบางแค เขตสาทร และเขตพญาไท ตามลำดับ

-2-


ทีนี้....ลองมาฟังความเห็นของผู้ใช้บริการกันบ้าง

วรรณนิภา สุวรรณประภา อายุ  26 ปี อาชีพพนักงานบริษัท มีรายได้  10,000 บาท บอกถึงเหตุผลที่เข้ามาใช้บริการศูนย์ฯเงินออมว่า ทำงานมาหลายปีแล้ว แต่ไม่มีเงินเก็บเป็นของตนเองเลย พอเห็นในหนังสือพิมพ์มีข่าวของศูนย์ฯเงินออม จึงลองมาปรึกษาดูเพื่อจะได้มีเงินเหลือเก็บมากขึ้น ซึ่งเมื่อมาใช้บริการดูเจ้าหน้าที่ศูนย์ฯเงินออมให้การต้อนรับอย่างดี และให้คำแนะนำที่ดีมากโดยแนะนำให้วางแผนการใช้จ่ายในแต่ละเดือน และตั้งเป้าหมายในชีวิต เพื่อจะได้มีแรงจูงใจในการออมเงิน แนะนำให้เก็บเงินออม 10% ของรายได้ในแต่ละเดือน เผื่อเวลาฉุกเฉินที่เราต้องการใช้เงิน

นอกจากนั้น ยังได้รับหนังสือคู่มือชีวิตพอเพียง ตามแนวพระราชดำริ ไว้จดทำบัญชี รายรับ-รายจ่ายในแต่ละเดือน พร้อมทั้งตั้งปณิธานถวายพระเจ้าอยู่หัวว่าจะใช้ชีวิตพอเพียง ใช้จ่ายอย่างประหยัดเท่าที่จำเป็น และจะทำให้ได้ตามที่ได้ตั้งปณิธานไว้

“ตอนนี้ก็เริ่มมีเงินเก็บบ้างแล้ว จากแต่ก่อนที่ไม่เคยทำบัญชี รายรับ-รายจ่ายเลย เงินเดือนที่ได้มาก็แบ่งเก็บออมไว้บางส่วน ที่เหลือไว้ใช้จ่ายในแต่ละเดือนให้รายรับ-รายจ่ายสมดุลกันเพราะถ้าเราไม่จดทำบัญชีเงินเดือนที่ได้มาไม่รู้หายไปไหนหมด และจะทำต่อไปเรื่อยๆ เพื่อสร้างวินัยในการออมเงินให้แก่ตนเอง”

ด้านสมาน มั่งสอน อายุ  38 ปี อาชีพ พนักงานบริษัท รายได้  13,970 บาท บอกว่า วันนี้มาตรวจสุขภาพทางการเงินของตนเองกับเจ้าหน้าที่ศูนย์ฯเงินออม และได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับการออมเงินจากเจ้าหน้าที่  เพิ่งใช้ครั้งแรกรู้สึกประทับใจมาก เจ้าหน้าที่ยิ้มแย้ม แจ่มใส พูดจาเป็นกันเอง และให้คำแนะนำดีมาก โดยให้ข้อมูลเกี่ยวกับการออมเงินได้เข้าใจ ชัดเจน ตรงตามความประสงค์ของตนเอง ประทับใจมาก และคิดว่าจะกลับมาใช้บริการอีกบ่อยๆ

ทั้งนี้ คิดว่าดีที่มีการจัดตั้งศูนย์ฯเงินออมขึ้น เพราะสามารถประสานงานกับสถาบันการเงินต่างๆได้ และช่วยแก้ไขปัญหาได้ตรงตามความต้องการของตนเองได้

“อยากให้ศูนย์ฯเงินออมมีตู้ฝากเงินด่วนเพิ่มขึ้นมา และการให้บริการอินเตอร์เน็ตแก่ประชาชนที่มาใช้บริการในศูนย์ฯเงินออม”

สมานบอกอีกว่า หลังจากได้ตรวจสุขภาพทางการเงินของตนเองแล้ว  สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่ายเงินมากขึ้น ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นบางส่วนลง รู้จักวางแผนการใช้เงินในแต่ละเดือนตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ศูนย์ฯเงินออม ทำให้ตนเองมีเงินเหลือเก็บมากขึ้น และจะบอกต่อเพื่อนๆและญาติพี่น้องให้มาใช้บริการต่อไป

ส่วนพรเทพ มูลานนท์ อายุ  27 ปี อาชีพ เจ้าหน้าที่ของรัฐ รายได้ 12,000 บาท บอกว่า ตอนแรกก็ไม่รู้จักศูนย์ฯเงินออมหรอกแต่พอมาติดต่อราชการที่สำนักงานเขตพญาไท เห็นศูนย์ฯเงินออมก็อยากรู้ว่าทำเกี่ยวกับอะไร เลยเข้าไปสอบถามเจ้าหน้าที่ในศูนย์ฯ ดูซึ่งเจ้าหน้าที่ให้บริการดีมาก

ทั้งนี้ หลังจากมาใช้บริการที่ศูนย์ฯเงินออมแล้วรู้จักประหยัดมากขึ้น รู้จักวางแผนในการใช้จ่ายเงิน ลดค่าใช่จ่ายที่ไม่จำเป็น ทำให้ตอนนี้มีเงินเก็บมากขึ้น และคิดว่าจะทำต่อไปเรื่อยๆ และบอกต่อให้ญาติพี่น้องทำแบบตนเองบ้าง

สุดท้ายไพศาล ปิ่นทอง อายุ  29 ปี อาชีพ ลูกจ้างชั่วคราว  รายได้  7,400 บาท บอกว่า โดยส่วนตัวแล้วเป็นคนเก็บเงินไม่อยู่ เจ้าหน้าที่ศูนย์ฯเงินออม จึงแนะนำให้ฝากประจำหรือทำประกันชีวิต เพื่อเป็นการบังคับตัวเองให้ออมเงินอย่างมีวินัย แนะนำวิธีการบริหารเงินให้รู้จักใช้เงินเป็นเป็นประโยชน์ดีมาก เพราะสามารถตรวจสอบสุขภาพทางการเงินและได้เรียนรู้วิธีการเก็บออมและหลักการใช้เงิน ซึ่งทำให้ตนมีการเปลี่ยนแปลงเรื่องสถานะทางการเงิน เพราะทำให้รู้จักใช้เงินมากขึ้นกว่าที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม อยากให้ศูนย์ฯเงินออมเป็นที่ฝากเงินควบคู่กับการให้คำแนะนำ เปิดเป็นศูนย์รับฝากเงินไปในตัวด้วย




Tips สำหรับคนอยากออม

1.วางแผนให้ดี ทำบัญชีให้เป็นนิจ ก่อนจะใช้จ่ายในแต่ละเดือนควรมีการวางแผนให้ดี เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าใช้จ่ายต่างๆ จะได้รู้ว่าเงินหมดไปกับอะไรบ้าง พร้อมทั้งฝึกจดจำและทำบัญชีให้เป็นนิสัย เพราะจะช่วยให้เราตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออกไปได้

2. ต้องมีวินัย จิตใจเด็ดเดี่ยวเมื่อคิดจะตั้งตัว ก็ควรตั้งใจให้มั่น เช่น กำหนดไปเลยว่า จะแบ่งส่วนเงินส่วนหนึ่งไว้ เพื่อเป็นเงินออมทุกเดือนก็ควรทำให้ได้ทุกเดือน และต้องมีใจเด็ดเดี่ยว ไม่เผลอใจไปกับสิ่งฟุ่มเฟือย เมื่อทำได้ก็จะภาคภูมิใจกับเงินออมของตนที่ค่อยๆ เพิ่มพูนขึ้นทีละน้อย

3.แม้เงินนิดเดียวก็เก็บออมได้ อย่าท้อใจว่ามีเงินน้อย เพราะหากคุณมีเงินเพียง 1 บาท ก็สามารถออมได้ ถ้าตั้งใจจริง และรู้จักใช้ รู้จักเก็บ ไม่นานเงินเพียง 1 บาท ก็ค่อยๆเพิ่มขึ้นเป็นหลักร้อย หลักพันในที่สุด

4.ค่อยเป็นค่อยไปอย่าใจร้อน เพราะการออมเงินก็เหมือนการปลูกต้นไม้จะให้โตภายในข้ามคืนคงเป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าหมั่นรดน้ำ พรวนดิน ใส่ปุ๋ย ต้นกล้าที่เราเฝ้าเอาใจใส่ก็จะค่อยๆ เติบโตออกผลให้เราเก็บเกี่ยวได้อย่างภาคภูมิใจ

5. ยิ่งออมก่อน ยิ่งได้เปรียบ การออมเงินเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยระยะเวลา ดังนั้น เมื่อใครเริ่มออมได้ไว ยิ่งนานเท่าไร เงินออมที่เก็บไว้ยิ่งทวีค่าขึ้นตามระยะเวลา ดังนั้นเราควรเริ่มฝึกนิสัยให้รักการออมเสียแต่วันนี้

กำลังโหลดความคิดเห็น