xs
xsm
sm
md
lg

“พิไล พูลสวัสดิ์” “เจ้าแม่นกเงือกเมืองไทย”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.พิไล พูลสวัสดิ์ เจ้าแม่นกเงือกเมืองไทยขณะสำรวจนกเงือกในป่า
ท่ามกลางสมดุลของธรรมชาติที่กำลังถูกทำลายอยู่ทุกขณะ ทั้งด้วยความตั้งใจและความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของมนุษย์ มีสมดุลธรรมชาติของสัตว์สายพันธุ์หนึ่งที่บ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า และพฤติกรรมการดำรงชีวิตของสัตว์กลุ่มนั้นที่ช่วยแพร่กระจายพรรณไม้ และยังช่วยควบคุมประชากรสัตว์ในผืนป่าได้ด้วย สัตว์สายพันธุ์นั้น คือ “นกเงือก”

ปัจจุบันประชากรนกเงือกในประเทศไทยอยู่ในอัตราที่น่าเป็นห่วง มีผู้หญิงคนหนึ่งที่ทุ่มเทกายและใจให้กับการอนุรักษ์นกเงือก คนทั่วไปรู้จักเธอในชื่อของ ดร.พิไล พูลสวัสดิ์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นักวิจัยที่คลุกคลีและผูกพันกับนกเงือกมาเกือบ 20 ปี

สาเหตุสำคัญที่ทำให้ดร.พิไลสนใจศึกษาเรื่องนกเงือก จนกระทั่งได้รับการขนานนามว่า เจ้าแม่นกเงือกเมืองไทย นั้น เป็นเพราะประทับใจกับชีวิตคู่ของนกเงือกนั่นเอง

-ประทับใจในชีวิตรัก-

“เริ่มแรกสนใจศึกษาเรื่องนกเงือก เนื่องจากได้รับภารกิจกับหัวหน้าออกไปศึกษานกที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และเกิดประทับใจกับภาพนกเงือกที่กำลังป้อนอาหารให้กับคู่และชีวิตน้อยๆที่อยู่ในรัง ที่สัมผัสได้ถึงความน่ารักและความอบอุ่น และด้วยความสงสารที่ปัจจุบันโพรงรังของนกเงือกลดน้อยลงไปทุกที จึงขอทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) เพื่อทำวิจัย นั่นเป็นจุดแรกก่อนที่จะมีการศึกษาหลายชิ้นตามมา รวมถึงโครงการอนุรักษ์นกเงือกด้วย”

ทั้งนี้ ชีวิตรักของนกเงือกเริ่มต้นขึ้น ราวเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ ในช่วงนี้จะพบเห็นนกเงือกอยู่กันเป็นคู่ ๆ นกเงือกจะออกไข่ในโพรง และรู้จักช่วยกันปิดโพรงโดยใช้มูลของตัวเอง เศษไม้ เปลือกไม้ ดิน และเศษอาหารที่สำรอกออกมา ผสมกันพอกปิดปากโพรงให้เล็กจนเหลือเพียงช่องแคบ ๆ พอที่พ่อนกจะส่งอาหารผ่านเข้า ไปได้ นับแต่นั้น นกเงือกตัวเมียก็จะขังตัวเองอยู่ในโพรงรัง เพื่อวางไข่ให้กำเนิดลูกน้อย เลี้ยงดูลูกนกเงือกจนโตพอที่จะบินได้ สองแม่ลูก จึงเจาะออกมาจากโพรงรัง บินไปเข้าฝูงต่อไป รวมเวลาประมาณ 4-5เดือน

ช่วงที่อยู่ในโพรงนี้เอง ที่แม่นกเงือกต้องฝากชีวิตไว้กับคู่ของมัน ซึ่งจะหาอาหารเอากลับมาป้อนทุกวัน ไม่นอกใจไปเที่ยวซุกซนกับนกเงือกสาว ๆ ตัวอื่น หากนกเงือกตัวผู้ถูกฆ่าตาย ตัวเมียในโพรงก็จะอดตายไปด้วย

ดร.พิไลเล่าถึงความประทับใจว่า“ถ้าใครได้เข้ามาสัมผัสวิถีชีวิตของนกเงือกแล้วจะรู้สึกประทับใจ ยิ่งถ้า ได้เห็นในช่วงที่ช่วยกันปิดปาก โพรง สร้างครอบครัว จะยิ่งรู้สึกทึ่งมาก เพราะการครองคู่ของนกเงือกมีความซื่อสัตย์ต่อกัน ยึดหลัก ผัวเดียว เมียเดียว จนเป็นต้นแบบในการครองคู่ การครองรักกัน พ่อนกเงือกจะทำหน้าที่ต่อครอบครัว ได้เป็นอย่างดี ถ้ามีใครมาใกล้รัง โดยเฉพาะตอนที่มีลูกแล้วลูกออกมานอกรังใหม่ ๆ จะร้องไล่ ถ้าเป็น คนจะบินไปหักกิ่งไม้โยนใส่แล้วร้องไล่ให้ออกไปไกล ๆ จะปกป้องครอบครัวเท่าที่ตัวเองจะทำได้ เมื่อมีภัยอันตราย หรือมีใครมาบุกรุกรังและลูก ๆ”

ดร.พิไล ระบุว่า นกเงือกมีบทบาทสำคัญต่อความสมดุลของระบบนิเวศของป่าดิบเมืองร้อน โดยมีบทบาทเด่นชัด ในการเป็นผู้แพร่กระจายเมล็ดพันธุ์ไม้ และช่วยควบคุมประชากรกรสัตว์เล็กในฐานะผู้ล่า ในบางประเทศ นักพฤกษศาสตร์ได้ศึกษาป่าที่นกเงือกหายไป พบว่าต้นไม้บางชนิดเริ่มลดลง เพราะไม่มีนกเงือกช่วยกระจายพันธุ์
ปัจจุบัน ดร.พิไลมีโครงการอุปการะครอบครัวนกเงือก โครงการปรับปรุงรังนก และโครงการสร้างโพรงเทียมสำหรับนกเงือก เพราะนกเงือกไม่สามารถเจาะไม้ได้เอง แต่จะอาศัยโพรงไม้ที่มีอยู่ตามธรรมชาติหรือที่มีสัตว์ชนิดอื่นๆ ทำโพรงไว้ก่อนแล้วเพื่อเป็นรัง

จากการคลุกคลีกับนกเงือกมาเกือบ 20 ปี สิ่งที่ ดร.พิไลคาดหวังคือ อยากให้คนรุ่นหลังใส่ใจเรื่องธรรมชาติ ความสมดุลในระบบนิเวศน์ เข้าใจปฏิสัมพันธ์ของสรรพสิ่ง ไม่เฉพาะการสนใจแต่เรื่องนกเงือก

“นกเงือกเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความสมดุลของระบบนิเวศน์ ถ้ารุ่นหลังตระหนักในเรื่องปฏิสัมพันธ์นี้ เราจะมีท่าทีใหม่ในการสร้างความสัมพันธ์กับสรรพสิ่งในโลกนี้ไปด้วย”ดร.พิไลอธิบาย

-ชีวิตนักสำรวจในป่าใหญ่-

ดร.พิไล เล่าถึงชีวิตนักสำรวจนกเงือกในป่าว่า เต็มไปด้วยความสนุกสนานและความยากลำบาก การเดินทางไปเก็บข้อมูลแต่ละครั้งก็ต้องมีการเตรียมความพร้อมของร่างกายเป็นอย่างดีเพราะจะต้องเดินป่าและตั้งแคมป์ในป่าเป็นเวลานาน ผู้ช่วยวิจัยหลายคนต้องล้มหมอนนอนเสื่อไปด้วยไข้มาลาเรียกันถ้วนหน้า ยิ่งถ้าฤดูฝนแล้วพื้นที่การวิจัยก็จะจมน้ำเหมือนติดเกาะ

“จะต้องเผชิญกับสัตว์ป่าน้อยใหญ่ ผู้ช่วยวิจัยบางคนต้องวิ่งหนีช้าง หนีเสือ กันอย่างอลหม่าน เนื่องจากบังเอิญไปหลบฝนที่ต้นไม้ต้นเดียวกับช้างเจ้าป่า บางครั้งก็ต้องเสี่ยงกับแมลงหรือสัตว์เลื้อยคลานที่อาศัยอยู่ในโพรงที่ต้องขึ้นไปวัด ดังนั้นผู้ช่วยในการทำงานวิจัยซึ่งต้องเป็นคนที่รักงานด้านนี้จริงๆเนื่องจากการทำงานค่อนข้างลำบาก”

ดร.พิไลเล่าถึงครั้งที่ไปสำรวจนกเงือกในป่าว่า เป็นธรรมดาสำหรับการสำรวจนกเงือก ที่คณะนักวิจัย เมื่อเห็นนกเงือกก็จะสะกดรอยตามนกเงือก หลายครั้งที่ถึงขั้นต้องวิ่งตาม เพราะนี่ถือเป็นจุดสำคัญนำไปสู่การเก็บข้อมูลการขยายพันธุ์ของนกเงือก เพราะในปีหนึ่งนกเงือกจะผสมพันธุ์เพียงครั้งเดียว ถ้าเราทราบรัง จุดนี้จะมีความสำคัญในการอนุรักษ์นกเงือก

“มีเรื่องตลกอยู่ครั้งหนึ่ง ตอนที่ไปสำรวจนกเงือก เราไปเจอนกเงือกตัวผู้กับตัวเมียอยู่ในป่า เป็นช่วงที่เขากำลังดูใจกันอยู่ อยู่ดีๆมันก็กรี๊ดกราด scream ขึ้นมา ซึ่งเป็นเรื่องแปลกมาก ปกตินกเงือกตัวผู้เวลาจะจีบตัวเมียจะเก๊กแมนมาก ตัวเมียพอเห็นนกเงือกตัวผู้เป็นแบบนั้นก็คงจะเกิดความสับสน มันเลยบินตามตัวผู้ไปดูที่รัง ก็ปรากฎว่าไปเจองูอยู่ในรังของนกเงือกตัวผู้ ก็เลยเข้าใจว่า ที่ตัวผู้ scream ขึ้นมาเพราะกลัวงูนั่นเอง นักวิจัยก็เลยโล่งอก ตอนแรกคิดว่ามันเบี่ยงเบนทางเพศหรือเปล่า”

“หรืออย่างตอนที่ไปสังเกตการณ์การใช้ชีวิตของนกเงือกในป่า นักวิจัยจะทำห้างอยู่บนต้นไม้เพื่อเฝ้าสังเกตพฤติกรรม แต่ด้วยความที่กลัวการแปลกแยกกับสัตว์ป่าในแวดล้อม ก็เลยทำเสียงหนึ่งขึ้นมาหวังจะให้กลมกลืนกับสัตว์ป่า คือถ้าเป็นนกเงือก นกก็จะมีเสียงร้องว่า กวักๆๆ แบบนี้ หรือนกกาฮัง ก็จะร้อง กาฮัง กาฮัง นักวิจัย ก็จะร้องเหมือนกัน เราร้องว่า ใครวะ ใครวะ แล้วก็ตอบกันเองว่า กูว่ะ กูว่ะ คือถ้าพูดเร็วฟังแล้วมันจะรู้สึกเหมือนเสียงนก ก็เป็นเรื่องเฮฮากันในป่าของนักวิจัย แต่ก็ได้ผลนะ”ดร.พิไลย้ำ

เส้นทางชีวิตศ.ดร.พิไล พูลสวัสดิ์

ที่ทำงาน ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
E-mail: scpps@mahidol.ac.th

ประวัติการศึกษา
- ปริญญาเอก (D. Sc.) (Biology: Avian Ecology), Osaka City University, Japan
- ปริญญาโท วิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต (จุลชีววิทยา) สถาบัน มหาวิทยาลัยมหิดล
- ประกาศนียบัตรชั้นสูง (นิวเคลียร์เทคโนโลยี) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- ปริญญาตรี ครุศาสตร์บัณฑิต (มัธยมศึกษา) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สาขาวิชาที่เชี่ยวชาญ ปักษีวิทยา (Ornithology) และ ปรสิตวิทยา (Parasitology)

รางวัลที่ได้รับ
1. เกียรติบัตร ในด้านความสนใจในการรณรงค์ เพื่อรักษาสภาวะแวดล้อมที่ดีของประเทศไทยในปี 2537 จากชมรมสภาวะแวดล้อมสยาม
2. โล่เกียรติยศ "นักอนุรักษ์ดีเด่น" ประจำปี 2539 สาขา "การวิจัยสัตว์ป่า" จาก คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และกรมป่าไม้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
3. รางวัลจาก "โครงการร่วมใจพัฒนาสิ่งแวดล้อมและสังคมไทย" ประจำปี 2544-2546 เรื่อง "โครงการชุมชนอนุรักษ์นกเงือกเทือกเขาบูโด" จาก บริษัท ฟอร์ด โอเปอเรชั่นส์ (ประเทศไทย) จำกัด

บางส่วนของโครงการวิจัยปัจจุบัน
1. การศึกษาผลของการสูญพันธุ์ของนกเงือกต่อกระบวนการแพร่กระจายเมล็ดไม้ในป่า เขตร้อน: การเปรียบเทียบอัตราการสูญเสียของผลไม้ และพลวัตรของกล้าไม้ของพันธุ์ ไม้ที่นกเงือกช่วยแพร่กระจายพันธุ์ระหว่างป่าสมบูรณ์กับป่าเสื่อมโทรม ทุนวิจัยจาก ทุนอุดหนุนงานวิจัยจากงบประมาณแผ่นดิน

2. นิเวศวิทยาการกินอาหารของนกเงือก : ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเลือกกินอาหารของนกเงือกทุนวิจัยจาก โครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย





กำลังโหลดความคิดเห็น