xs
xsm
sm
md
lg

เตือนเด็กไทยเสี่ยงโรค มือ เท้า ปาก ชนิดรุนแรง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เฝ้าระวังโรคมือ เท้า และปากทางห้องปฏิบัติการในเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปีซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงของการเกิดโรค พบเด็กไทยมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอย่างรุนแรง เหตุวิเคราะห์เชื้อไวรัสพบเป็นสายพันธุ์รุนแรง ชนิดเดียวกับที่ระบาดหนักในมาเลเซียและสิงคโปร์เมื่อปี 40 แนะดูแลสุขอนามัยอย่างมีประสิทธิภาพป้องกันได้ดีที่สุด

นพ.ไพจิตร์ วราชิต
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า ตั้งแต่ต้นปี พ.ศ.2549 จนถึงปัจจุบัน มีรายงานการแพร่ระบาดของโรคมือ เท้า และปาก (Hand, foot and mouth disease : HFMD) ในประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ ซึ่งอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวั่นวิตก ทั้งนี้จากรายงานการอุบัติซ้ำของโรคมือ เท้า และปากตั้งแต่ปี พ.ศ.2540 พบการระบาดในเขตเอเชียต่อเนื่องตลอดมาในหลายๆ ประเทศ เช่น สิงคโปร์ ญี่ปุ่น ไต้หวัน และมาเลเซีย
สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทยนั้น กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ดำเนินการเฝ้าระวังโรคมือ เท้า และปากทางห้องปฏิบัติการ โดยร่วมมือกับสำนักระบาดวิทยาในการสอบสวนโรคและเก็บตัวอย่างส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2541 ถึงเดือนมีนาคม 2549 ทั้งหมด 1,984 ตัวอย่าง ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการพบไวรัสเอนเตอโร 71 เป็นสาเหตุการเกิดโรคสูงสุดใน พ.ศ.2543-2547 จำนวน 298 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 15 ของจำนวนตัวอย่างทั้งหมด และใน พ.ศ.2548-2549 พบว่า ไวรัสคอกซากี เอ 10 และ เอ 16 เริ่มเข้ามามีบทบาทก่อโรคสูงขึ้น

นพ.ไพจิตร์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา ยังไม่พบรายงานอาการรุนแรงถึงเสียชีวิตในกลุ่มเด็กที่ส่งตัวอย่างยืนยันทางห้องปฏิบัติการสำหรับผลการศึกษาคุณสมบัติระดับโมเลกุลของไวรัสเอนเตอโรที่แยกจากผู้ป่วยไทย เปรียบเทียบกับเชื้อที่แยกได้ในประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงและภูมิภาคอื่นๆ ที่เคยมีการระบาดอย่างรุนแรง พบว่า ไวรัสเอนเตอโร 71 ที่แยกได้จากเด็กไทยมากกว่าร้อยละ 80 เป็นไวรัสเอนเตอโร 71 group B เช่นเดียวกับประเทศสิงคโปร์ ส่วนที่เหลือจัดอยู่ใน group C สายพันธุ์เดียวกับประเทศมาเลเซีย ซึ่งไวรัสทั้งสอง กลุ่มนี้เป็นสาเหตุการระบาดรุนแรงและเสียชีวิตของเด็กในประเทศสิงคโปร์และมาเลเซียในปี พ.ศ.2540 สรุปได้ว่า เชื้อไวรัสเอนเตอโร 71 ที่แยกได้จากเด็กป่วยในประเทศไทยจัดอยู่ในกลุ่มไวรัสเอนเตอโร 71 สายพันธุ์รุนแรง

“ข้อมูลดังกล่าวทำให้พออนุมานได้ว่าเด็กไทยมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอย่างรุนแรงได้ เช่นเดียวกับเด็กในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งการรายงานและเฝ้าระวังโรคเชิงรุกในระบบเครือข่ายในประเทศไทยอย่างต่อเนื่องทั้งจากเด็กที่ป่วย HFMD และเด็กที่เสียชีวิตฉับพลันในข่ายสงสัย ทำให้ทราบแนวโน้มการระบาดของโรคเพื่อประโยชน์ในการควบคุมโรคได้ทันต่อเหตุการณ์”

นพ.ไพจิตร์ กล่าวต่อว่า การระบาดของโรคมือ เท้า และปากในประเทศไทย แบ่งเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม และเดือนพฤศจิกายน – กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นช่วงที่เด็กเปิดเรียน จากรายงานการเกิดโรคที่ผ่านมาพบว่า โรคนี้จะระบาดรวดเร็วมากในโรงรับเลี้ยงเด็กอ่อนและโรงเรียนอนุบาล ทั้งนี้ เด็กอายุต่ำกว่า 10 ปีเป็นกลุ่มเสี่ยงของการเกิดโรค โดยเฉพาะในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีมีรายงานการป่วยสูงสุด สำหรับอาการของโรค เริ่มแรกจะมีไข้ มีตุ่มใสขึ้นตามบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า และในช่องปาก มีแผลพุพองในช่องปากลักษณะเหมือนแผลในปากที่พบในผู้ใหญ่ ทำให้เด็กมีอาการเจ็บแผล รับประทานอาหารไม่ได้และจะร้องโยเย เบื่ออาหาร เจ็บคอ คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปวดตามกล้ามเนื้อ ในส่วนของการรักษา ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนและยาชนิดใดที่ใช้ในการป้องกันและรักษาโรคมือ เท้า และปากได้

“นอกจากการรักษาโรคตามอาการ เช่น ให้ยาลดไข้ ยาแก้ปวด เช็ดตัวเพื่อลดไข้เป็นระยะ ให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารอ่อนๆ รสไม่จัด ดื่มน้ำและน้ำผลไม้ และนอนพักผ่อนให้มากๆ เมื่อรักษาตามอาการอย่างใกล้ชิดแล้ว ส่วนใหญ่จะหายภายใน 1 สัปดาห์ แต่ถ้าเชื้อรุนแรงจะมีอาการชัก ไข้สูง ซึม ไม่ยอมรับประทานอาหารและน้ำ อาเจียนบ่อย หอบ แขนขา อ่อนแรง ให้นำส่งโรงพยาบาลโดยด่วน เพราะอาจมีภาวะแทรกซ้อน เช่น โรคสมองอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ อัมพาต กล้ามเนื้ออ่อนปวกเปียก กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้”นพ.ไพจิตร์ กล่าวในที่สุด

ทั้งนี้ โรคมือ เท้า และปากที่พบในประเทศไทยยังไม่มีความรุนแรงถึงขั้นทำให้เสียชีวิต แต่เนื่องจากเป็นโรคที่ติดต่อกันได้ง่ายโดยการรับเชื้อเข้าทางปาก จมูก การไอ จาม หรือติดมากับมือที่สัมผัสสิ่งของ และการใช้ภาชนะในการรับประทานอาหารหรือน้ำดื่มร่วมกัน จึงต้องมีการเฝ้าระวังกันอย่างต่อเนื่อง สำหรับวิธีการป้องกันและควบคุมโรคที่ได้ผลดี คือ ต้องรักษาสุขอนามัย ความสะอาดในการกินอยู่ หมั่นล้างมือให้สะอาด ใช้ช้อนกลาง อย่าใช้แก้วน้ำหรือหลอดดูดน้ำร่วมกัน และหลีกเลี่ยงการอยู่ร่วมกันแบบแออัด เพราะเป็นสาเหตุของการติดต่อและแพร่กระจายของโรคได้อย่างรวดเร็ว หากพบเด็กป่วยต้องแยกตัวให้อยู่กับบ้านเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด แต่หากเกิดการระบาดในเด็กจำนวนมากต้องใช้มาตรการปิดโรงเรียนชั่วคราว แล้วทำความสะอาดบริเวณที่คาดว่าจะมีการปนเปื้อนของเชื้อโดยใช้น้ำยาฆ่าเชื้อที่มีส่วนผสมของสารคลอรีนหรือไอโอดีนจึงจะทำลายเชื้อชนิดนี้ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น