xs
xsm
sm
md
lg

เรียนรู้ชีวิต ผ่านเส้นเวลา กับ “อิสรา สุนทรวัฒน์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ใครหลายคนอาจจะมีวิถีชีวิตแตกต่างกันไป แต่ใครอีกหลายคนเลือกที่จะเดินตามเส้นทางที่ผู้เป็นพ่อแม่ได้ขีดเขียนไว้ให้ ซึ่งก็คงไม่ต่างอะไรกับผู้ชายตัวโตคนนี้ “อิสรา สุนทรวัฒน์” ที่เลือกจะเดินเส้นทางชีวิตตามความใฝ่ฝันของผู้เป็นพ่อ “แสงชัย สุนทรวัฒน์” อดีตผอ.อสมท. ถึงว่าวันนี้เขาจะไม่มีพ่อแล้วก็ตาม…

วันนี้ อิสราเดินเข้าสู่ถนนการเมืองอย่างเต็มตัว โดยล่าสุดรับหน้าที่เป็น “โฆษกกรุงเทพมหานคร” ของผู้ว่าฯ อภิรักษ์ โกษะโยธิน

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะมาถึงวันนี้ ชีวิตของอิสราได้ผ่านประสบการณ์ที่หลากหลายและน่าสนใจไม่น้อยทีเดียว

-1-
จ๊อบ IN USA


อิสราเกิดและเติบโตที่แคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ “จ๊อบ” คือชื่อเล่นที่ผู้เป็นพ่อตั้งให้ในวันแรกที่ลืมตาออกมาดูโลกพร้อมๆ กับที่พ่อได้งานทำพอดี

อิสราบอกว่า เมื่อครั้งที่อยู่อเมริกาชีวิตของเขาไม่ได้สะดวกสบายเหมือนอย่างที่หลายคนคิด และยังจำได้ดีว่า วันที่เขาเกิดมานั้นพ่อมีเงินติดตัวเพียง 5 เหรียญ กับรถโฟล์กเต่าเก่าๆ อีก 1 คันเท่านั้น

“คุณพ่อไปเรียนต่อปริญญาโทที่นั่นด้วยทุนส่วนตัว คุณแม่ไปเรียนปริญญาตรี แต่พอมีลูกก็ต้องเลิกเรียนเพื่อมาทำงานและเลี้ยงดูผม ขณะที่คุณพ่อทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย ครอบครัวเราจึงไม่ได้สบายอย่างที่ใครคิด และต้องถือได้ว่าชีวิตลำบากพอสมควร”

จนกระทั่งอายุได้ 6-7 ขวบ ชีวิตก็เริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ มั่นคงมากขึ้น และเมื่ออายุ 8 ขวบ ครอบครัวก็มีร้านอาหารแบบคอฟฟี่ชอปสไตล์อเมริกัน คุณพ่อเป็นกุ๊ก คุณแม่เป็นพนักงานเสิร์ฟ มีลูกจ้างล้างจาน 1 คน ซึ่งในวันหยุดอิสราก็จะช่วยเก็บจาน เป็นแคชเชียร์

“ชีวิตผมก็เป็นแบบนี้มาเรื่อยๆ จนกว่าจะกลับเมืองไทย ถ้าถามว่าลำบากไหมก็ไม่ถึงกับลำบาก แต่ทำงานหนักมาตลอด อยู่อพาร์ตเมนต์ธรรมดาแต่มีความสุขดี”

-2-
กลับเมืองไทยรับใช้ชาติ


เมื่ออิสราอายุได้ 12 ปี ชีวิตก็มีอันต้องเปลี่ยนแปลงอีกครั้งเมื่อพ่อต้องการที่จะเดินทางกลับประเทศไทย โดยมีเหตุผลสั้นๆ ง่ายๆ ว่า ต้องการกลับมาตอบแทนบุญคุณของแผ่นดินเกิด

“ตอนแรกที่กลับมาอยู่เมืองไทยค่อนข้างลำบากใจถือเป็นเรื่องช็อกพอสมควร ภาษาก็ไม่ได้พูด ไม่เคยกลับมาเมืองไทยเลยในระยะเวลา 12 ปี มันก็เลยลำบาก กลับมาเหมือนนักท่องเที่ยวฝรั่งคนหนึ่ง แต่โชคดีที่กลับมาอายุ 12 ปีที่ยังพอเปิดหูเปิดตายอมรับสิ่งอื่นๆ ได้ง่าย ถ้ากลับมาอายุ 16-17 รับไม่ได้แน่ มันหัวแข็งแน่ๆ เพราะมันรู้วิถีชีวิตที่อยู่ในอเมริกาเติบโตมาจากตรงนั้น เกิดมาก็อยู่สิ่งแวดล้อมนั้น ไม่เคยกลับมาอยู่เมืองไทย มีแต่เพื่อนฝรั่ง ไม่เคยคาดคิดว่าจะได้กลับมาอยู่เมืองไทย”

“ความจริงที่บ้านได้สอนเกี่ยวกับวัฒนธรรมไทยเหมือนกันแต่ไม่มาก ครอบครัวพาไปวัดไทยบ้าง แต่ก็ไม่ได้ทำให้ผมซึมซับความเป็นไทยเท่าที่ควร การที่เราอยู่กับสิ่งแวดล้อมที่เป็นฝรั่งทุกอย่าง เพื่อนก็ฝรั่ง ทีวีก็ฝรั่ง ถามว่ามันรับยากไหม มันรับยากเพราะคุณพ่อคุณแม่ไม่ค่อยคลุกคลีกับคนไทยมากนัก ความเป็นไทยของเราในตอนนั้นก็คือพูดง่ายๆ ชื่ออิสรา หน้าตาแบบไทย สายเลือดไทย แต่ใจไม่ใช่เลยในตอนนั้น”

แต่อิสราก็ใช้เวลาไม่นานในการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมแบบไทยๆ

-3-
ชีวิตเมื่อสิ้น “พ่อ”


..และแล้วการเดินทางของแผนที่ชีวิตของผู้ชายคนนี้จุดพลิกผันครั้งยิ่งใหญ่เมื่อเขาต้องสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักและเป็นเสาหลักของครอบครัวไปอย่างไม่คาดคิด

“ตอนที่คุณพ่อเสียแน่นอนมันเปลี่ยนแปลงมาก เพราะผมยังไม่เคยวางแผนชีวิตไว้เลย ผมไม่เคยนึกถึงเลย มีพ่ออยู่เราก็ใช้ชีวิตไปเรื่อยๆ ยังไม่ต้องคิดอะไร ไม่ต้องคิดอย่างเป็นรูปธรรมให้กับชีวิต แต่พอคุณพ่อเสียก็เหมือนเริ่มต้นใหม่ จาก 3 เหลือ 2 ชีวิตผมเปลี่ยนแปลงทันทีจากผู้ที่ไม่มีใครรู้จักกลับกลายเป็นบุคคลสาธารณะด้วยความที่เป็นลูกคุณพ่อ ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมาชีวิตก็ไม่เหมือนเดิม จะถามว่าไปในทางที่ดีกว่าหรือไม่ดี มันพูดยากแต่ถ้าให้เลือกอยากให้พ่อฟื้น ผมยอมแลกเปลี่ยนชื่อเสียงที่มีทุกอย่างเพื่อให้คุณพ่อมีชีวิตต่อไปแต่เราก็ต้องยอมรับกับสภาพความเป็นจริง ต้องสู้ต่อไป”

“จากที่เป็นลูกของพ่อกับลูกของแม่ ต้องมาเป็นลูกของแม่และเพื่อนของแม่ด้วย เป็นเสาหลักให้ซึ่งกันและกัน และเมื่อวันที่ 11 เมษายนที่ผ่านมาก็ครบ 10 ปีที่คุณพ่อจากไป ซึ่งถึงวันนี้ทีไรมันก็ต้องรู้สึกแต่ก็ต้องเดินต่อไป ผมจะนึกถึงความดีของคุณพ่อ กำลังใจที่ได้รับจากหลายคนตั้งแต่ที่คุณพ่อเสีย ถ้าเราท้อแท้เราก็จะได้กำลังใจจากตัวนี้ เขาก็บอกว่าพ่อคุณเป็นคนดี สู้ต่อไปนะ ตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ตลอดไปมันเป็นสิ่งที่ซาบซึ้ง มันเป็นสิ่งที่เหลือเชื่อ เราได้กำลังใจจากใครหลายๆ คนที่ไม่รู้จักมันทำให้มีแรงบันดาลใจที่จะเดินต่อไป”

อิสราเล่าต่อว่า การสูญเสียที่เกิดขึ้นทำให้เขาพบเห็นสังคมไทยอีกแง่มุมหนึ่ง เพราะเมื่อหมดอำนาจ หมดประโยชน์ หมดความสำคัญ คนที่อยู่รอบข้างก็หายไป แต่ก็ทำให้ตนเองและแม่เห็นสัจธรรม มีความเข้มแข็งและพึ่งตนเองเป็นสำคัญ

“หลักคำสอนที่พ่อและแม่จะสอนอยู่เสมอๆคือให้สังเกตพฤติกรรมของคน ให้ยึดคนดีไว้ ให้นับถือตัวบุคคลมากกว่าตำแหน่ง เพราะความดีของคนติดตัวตลอดเวลา แต่ตำแหน่งถอดออกได้ ซึ่งเวลาทำอะไรจะนึกถึงคำสอนนี้เสมอ แล้วก็จะพยายามทำให้ดีไปเลย”

ทั้งนี้ หลังจากเสียพ่อ สิ่งแรกที่อิสราคิดจะทำก็คือทำความใฝ่ฝันของพ่อให้เป็นจริงด้วยการทำรายการโทรทัศน์ เพราะพ่อเคยมีความฝันอยากให้คอลัมน์ฟุด ฟิด ฟอ ไฟ เป็นรายการโทรทัศน์ ซึ่งนั่นไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะไม่เคยมีประสบการณ์ด้านนี้มาก่อน แต่ก็เชื่อมั่นว่า ในฐานะที่เป็นลูกพ่อก็น่าจะทำได้

“กระแสตอบรับดีพอสมควร ก็เลยทำมาตลอด 9 ปีและคิดว่าจะทำตลอดไปตราบใดที่ยังมีคนดู”

-4-
ก้าวสู่โลกการเมือง


ถามว่าเคยมีความฝันที่จะมาทำงานการเมืองไหม?

อิสราตอบว่า ในช่วงที่พ่อยังมีชีวิตอยู่ คิดว่าสักวันพ่อต้องเล่นการเมืองอย่างแน่นอน และตนเองก็คงจะเป็นหนึ่งในทีมงานเช่นกัน

ดร.สม จาตุศรีพิทักษ์ เพื่อนของคุณพ่อได้พูดให้ผมฟังครั้งหนึ่งว่าอย่าไปคาดหวังอะไรกับอนาคตให้มันมากนัก ทำวันนี้ให้ดีที่สุด การจะก้าวสู่เส้นทางที่คุณต้องการต้องสร้างชื่อเสียงให้ตนเอง ให้เป็นที่ยอมรับ เพราะรู้จักอย่างเดียวไม่พอ หลังจากนั้นเงินก็จะเข้ามา โอกาสมันก็จะเข้ามาอีก”

ส่วนการเข้าสู่เส้นทางการเมืองอย่างเต็มตัวนั้น อิสรา เล่าย้อนหลังให้ฟังว่า หลังจากที่พ่อเสียชีวิตได้ 1 ปีก็มีนิตยสารเล่มหนึ่งได้มาสัมภาษณ์และก็ถามว่าในสังคมนี้ตนชื่นชอบและชื่นชมใครเป็นพิเศษหรือไม่ที่ไม่ใช่พ่อแม่ ก็ตอบว่าอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จึงทำให้มีโอกาสเข้ามาที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นครั้งแรกเพราะนิตยสารดังกล่าวพามาถ่ายรูปคู่ด้วย

“ในวันที่เจอคุณอภิสิทธ์ ท่านให้นามบัตรมาพร้อมกับถามว่าสนใจจะเป็นผู้แทนในอนาคตไหม เราต้องการคนอย่างคุณ แต่ผมก็ยังไม่ได้ตอบตกลง...”

จากนั้นไม่นาน ผู้ชายคนนี้ก็เริ่มเดินเข้าสู่เส้นทางการเมืองจากจุดเล็กๆ ที่ร้านทำผมแห่งหนึ่งด้วยการพูดคุยของบุคคลอันเป็นที่รักของทั้ง 2 คือ คุณแม่ของเขา และภรรยาของ พ.อ.วินัย สมพงษ์ ซึ่งลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯกทม.ในสมัยเดียวกับที่สมัคร สุนทรเวช ได้รับเลือกตั้ง ซึ่งทำให้เขาได้สัมผัสการเมืองเป็นครั้งแรกในวัย 29 ปี

และผลพวงจากครั้งนั้นทำให้มีหลายพรรคการเมืองติดต่อมาเพื่อทาบทามให้เป็นสมาชิกของพรรค แต่อิสราก็ได้บอกปฏิเสธไป จนกระทั่งเมื่อการเมืองไทยเปลี่ยนไปใช้การเลือกตั้งแบบใหม่โดยให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระบบบัญชีรายชื่อ(ปาร์ตี้ลิสต์) และแบบแบ่งเขต ซึ่งทำให้บุคคลที่เขาชื่นชอบต้องไปลงสมัครในระบบปาร์ตี้ลิสต์

“ก่อนหน้านี้ก็ได้คุยเมลกับคุณอภิสิทธิ์ตลอด ทั้งเรื่องการบ้านการเมือง ปีใหม่ผมก็ส่งการ์ดอวยพร จนสุดท้ายก็ได้คุยกันด้วยการติดต่อผ่านทางเลขาฯ และในที่สุดท่านก็เสนอให้ผมลงสมัคร ส.ส.ในเขตห้วยขวาง-วัฒนาแทน เพราะคุณอภิสิทธิ์จะไปลงปาร์ตี้ลิสต์ ผมก็คิดหนัก ช่วงนั้นทั้งพรรคชาติพัฒนาก็ติดต่อ ไทยรักไทยก็ติดต่อ ตลอดระยะเวลาที่พรรคอื่นติดต่อก็ได้บอกกล่าวให้คุณอภิสิทธิ์ได้ฟังเสมอเพราะหากจะได้ยินอะไรก็ขอให้ได้ยินจากปากเรา พรรคอื่นเสนอผลประโยชน์ที่แตกต่างกัน แต่คุณอภิสิทธิ์ท่านให้เกียรติ ท่านเสนอให้ผมลงแทนท่าน ถึงแม้ว่าพรรคอื่นจะเสนออะไรที่เป็นรูปธรรม แต่นี่มันเป็นสิ่งที่เราภาคภูมิใจ ก็เลยเลือกอยู่พรรคนี้และก็ได้เป็นส.ส.ในตอนนั้น”

อิสราเล่าเพิ่มเติมว่า พอเป็น ส.ส.ก็ต้องปรับชีวิตเหมือนกัน เวลาส่วนตัวน้อยลงต้องทำงานให้มวลชนมากขึ้น จะต้องอยู่ในพื้นที่มากขึ้น ยอมรับว่าบางทีคนที่มาหาส.ส.ร้อยละ 99 มักจะมาหาในเวลาที่มีปัญหา ต้องรับเรื่องมากขึ้น รับกับอารมณ์ของคน แต่ก็ไม่ท้อกับวันเวลาที่หายไป เพราะนี่คือเส้นทางที่เลือกและก็จะทำให้เต็มที่

-5-
กับชีวิตโฆษก กทม.

เส้นทางของผู้ชายคนนี้เปลี่ยนแปลงอีกครั้งจากการเมืองระดับชาติมาสู่การเมืองระดับท้องถิ่นในตำแหน่งโฆษกประจำกรุงเทพมหานครที่มีอภิรักษ์นั่งเป็นพ่อเมืองอยู่

“เมื่อปลายปีที่แล้วผู้ว่าฯอภิรักษ์ได้ทาบทามให้มาเป็นที่ปรึกษาด้านการต่างประเทศของกทม. แต่พอเกิดเรื่องการฮั้วประมูลขึ้นก็เลยชะงัก จากนั้นพอมีข่าวจะปรับผู้บริหาร ทางผู้ว่าฯอภิรักษ์ก็โทร. มาหาผมอีกครั้งโดยเสนอตำแหน่งโฆษกฯ ให้เพราะตำแหน่งที่ปรึกษาเต็มแล้ว ซึ่งผมมองว่ามันเป็นงานที่ผมไม่ถนัดไม่เคยเป็นมาก่อนและไม่อยากเป็นด้วย แต่พอได้สัมผัสมันเป็นสิ่งที่ดีที่ท้าทาย”

“ช่วงแรกยอมรับว่ากทม.เหมือนรถไฟ วิ่งไปเรื่อยๆ ผมยืนอยู่ที่สถานีผมไม่ได้ขึ้นรถแบบธรรมดาแต่ผมต้องกระโดดขึ้นกว่าจะหาที่นั่งได้มั่นคง ยืนหยัดได้ด้วยตัวเองๆ ก็ต้องอาศัยเวลาสักระยะ”

อิสราเล่าถึงความตั้งใจที่ต้องการจะทำในฐานะโฆษกกทม.ให้ฟังว่า อยากให้ตั้งเป็นสำนักโฆษกฯ ขึ้นมาเหมือนกับสำนักโฆษกรัฐบาล โดยทำหน้าที่เป็นฐานข้อมูลแก่ผู้ว่าฯกทม. โดยเฉพาะซึ่งจะจัดทำให้เป็นสำนักข้อมูลข่าวสารที่ไม่ได้เป็นการโฆษณาผลงาน เป็นคลังสมองในด้านการสื่อ ด้านข้อมูลเป็นหลัก เป็นธนาคารข้อมูลดึงใช้เมื่อไหร่ก็ได้ เป็นความตั้งใจที่อยากทำ

หากพูดง่ายๆ ก็คือเป็นที่ปรึกษาด้านข้อมูลให้แก่ผู้ว่าฯกทม.นั่นเอง

อิสรา บอกถึงจุดมุ่งหมายของชีวิตว่า ตราบใดที่ทางพรรคยังคงไว้วางใจ ยังมีโอกาสก็จะอยู่อย่างนี้ อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวมีเป้าหมายอยู่แล้ว แต่คงไม่สามารถตอบได้ ทั้งนี้ หากจะมองดูก็เปรียบเหมือนแผนที่กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ กว่าจะถึงเชียงใหม่ต้องผ่านสิงห์บุรี แม้จะมีหลงบ้างแต่มันก็ต้องกลับเข้ามาในแผนที่

“การเป็นโฆษกกทม.ไม่ได้อยู่ในแผนที่ในตอนแรก เป็นทางลัดหรือเปล่าไม่รู้ แต่มันก็ไม่ได้อยู่ในเส้นหลัก แต่เมื่อเข้ามาแล้วก็จะทำให้ดีที่สุด และการเดินทางครั้งนี้ยังเป็นเพียงเศษ 1 ส่วน 4 ของชีวิตเท่านั้น...”
กำลังโหลดความคิดเห็น