“ผมขอแสดงความเสียใจต่อความผิดพลาดบกพร่องที่เกิดขึ้น และขออภัย ขอโทษแก่ผู้ที่ต้องเกี่ยวข้องโดยเฉพาะนักเรียน ผู้ปกครอง ที่ต้องได้รับผลกระทบในครั้งนี้”นั่นคือคำกล่าวของ “จาตุรนต์ ฉายแสง” รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่มีต่อปัญหาการประกาศผลสอบโอเน็ต และเอเน็ตที่เกิดขึ้นถึง 2 ครั้ง 2 คราด้วยกัน
คำถามสำคัญที่เกิดขึ้นหลังเกิดความผิดพลาดอย่างใหญ่หลวงเช่นนี้คือ มูลเหตุและต้นตอของปัญหาทั้งหมดอยู่ที่ตรงไหน? และใครคือคนที่จะต้องรับผิดชอบ?

-1-
ชำแหละจุดอ่อนโอเน็ต-เอเน็ต
ต้นกำเนิดของระบบโอเน็ต-เอเน็ตนั้น มาจากความต้องการในการเปลี่ยนแปลงระบบเอนทรานซ์เก่าที่ใช้การสอบวัดผลเป็นเกณฑ์ในการสอบคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐมาเป็นระบบใหม่ที่มีชื่อว่า “แอดมิขชัน” โดยมีค่าเฉลี่ยของคะแนนโอเน็ต-เอเน็ตไปเป็นองค์ประกอบในการพิจารณารับนักศึกษา
โอเน็ต (Ordinary National Educational Test : O-NET) คือการทดสอบวัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ทั้งแบบปรนัย (ตัวเลือก) และอัตนัย (ข้อเขียน) 5 กลุ่มสาระการเรียนรู้คือ...ภาษาไทย, คณิตศาสตร์, วิทยาศาสตร์, สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม, ภาษาอังกฤษ
เอเน็ต (Advanced National Educational Test : A-NET) คือการทดสอบวัดการศึกษาขั้นสูง ทั้งแบบปรนัยและอัตนัย 5 กลุ่มสาระการเรียนรู้เช่นกัน คือ...ภาษาไทย 2, คณิตศาสตร์ 2, วิทยาศาสตร์ 2, สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม 2, ภาษาอังกฤษ 2
ทว่า เมื่อมีการใช้คะแนนโอเน็ต-เอเน็ตมาเป็นส่วนประกอบแอดมิชชันครั้งแรกก็ก่อให้เกิดปัญหาใหญ่ที่ก่อให้เกิดความไม่น่าเชื่อถือขึ้นมาในทันที เมื่อปรากฏว่า ขั้นตอนในการประมวลผลด้วยระบบคอมพิวเตอร์มีปัญหา เช่น คะแนนบางวิชาของผู้เข้าสอบเป็นศูนย์ หรือบางวิชาไม่ได้เข้าสอบแต่กลับมีคะแนน เป็นต้น
ถามว่า อะไรคือสิ่งที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์เช่นนั้น?
สิ่งที่ต้องพิจารณาเป็นอันดับแรกคือ หน่วยงานที่รับผิดชอบในการจัดการโอเน็ตและเอเน็ต ที่มีชื่อว่า “สำนักทดสอบการศึกษาแห่งชาติ(สทศ.)”
สทศ.ถือเป็นองค์กรอิสระ เป็นหน่วยงานมหาชนที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกา
ปัญหาของ สทศ.อยู่ที่ มีเจ้าหน้าที่ไม่ถึง 20 คน หนำซ้ำ “ทีมงาน” ที่มาร่วมในการออกข้อสอบ จัดสอบและประกาศผลสอบนั้น แม้จะเป็นอาจารย์หรือนักวิชาการที่เชี่ยวชาญด้านการวัดผลจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ก็จริง แต่ก็ต้องถือว่าเป็นมือใหม่หัดขับสำหรับการสอบวัดผลระดับประเทศที่มีคนเข้าสอบมากถึงเกือบ 400,000 คน
“หมอไม่เข้าใจว่า ระบบที่ซับซ้อนและมีข้อสอบที่ต้องตรวจนับเป็นล้านๆ ฉบับ ทำไมถึงไม่มีการทดลองก่อน”พญ.กมลพรรณ ชีวพันธุศรี ประธานเครือข่ายพ่อแม่เพื่อการปฏิรูปการศึกษาให้ทัศนะ
เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายประทีป จันทร์คง รักษาการณ์ ผอ.สทศ.ซึ่งเริ่มทำงานกับสถาบันนี้มาตั้งแต่ต้นระบุว่า สทศ.ไม่มีงบประมาณในการจัดทำ พัฒนาและทดสอบระบบในการตรวจข้อสอบ เนื่องจากร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง สทศ. ยังไม่ผ่านความเห็นชอบจาก ครม. ทำให้ สทศ.ไม่มีงบประมาณสำหรับดำเนินการเรื่องดังกล่าว ขณะที่งานของ สทศ.ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน ทำให้ สทศ.ต้องของบประมาณแฝงไว้กับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา จำนวน 50 ล้านบาท ซึ่งไม่เพียงพอสำหรับการพัฒนาระบบดังกล่าว รวมถึงทำให้ไม่สามารถทดสอบระบบก่อนนำมาใช้จริงได้ด้วย ทำให้เกิดปัญหาตามมามากมาย
“เรื่องงบประมาณเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาขึ้น แต่เมื่อมารวมกับระยะเวลากระชั้นชิดที่เราต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อรองรับแอดมิชชั่นส์ในปีการศึกษา 2549 ทำให้เราไม่สามารถจัดการทุกอย่างได้เรียบร้อย ซึ่งก็ยอมรับว่าเป็นความผิดพลาดที่เกิดขึ้น”นายประทีบกล่าว
ด้วยเหตุดังกล่าว จึงทำให้ สทศ.ยังไม่มีบุคลากรที่จะมารองรับงาน ทั้งๆ ที่ความจริงแล้ว สทศ.จำเป็นต้องวางระบบคอมพิวเตอร์และพัฒนาโปรแกรมต่างๆ ให้แล้วเสร็จ พร้อมทั้งต้องทดสอบระบบให้เรียบร้อยตั้งแต่ปีการศึกษา 2547 เพื่อรองรับกับการทดสอบนักเรียนสำหรับนำผลการทดสอบทั้งโอเน็ตและเอเน็ตไปใช้สำหรับแอดมิชชั่นส์ ในปีการศึกษา 2549
รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะศึกษาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองปัญหาที่เกิดขึ้นว่า ส่วนหนึ่งเพราะ สทศ. ไม่เคยประชาสัมพันธ์ให้เด็ก ผู้ปกครอง ประชาชนรับรู้ โครงสร้างตลอดจนการทำงาน ซึ่งมีความสลับซับซ้อนอยู่ให้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย ทั้งๆ ที่จะต้องเกี่ยวข้องกับเด็กไม่น้อยกว่า 5-6 แสนคน
“สทศ.ทำเหมือนกับว่าทำงานคนเดียว ไม่ยุ่งเกี่ยวกับใคร จึงไม่มีการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่างสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) กระทรวงศึกษาธิการ มหาวิทยาลัยต่างๆ”
นอกจากนี้ยังมีจุดอ่อนที่เป็นชนวนให้เกิดปัญหา นั่นก็คืองบประมาณที่รัฐบาลจัดสรรให้แก่ สทศ.น้อยนิดไม่เพียงพอต่อการดำเนินการ เพราะต้องสร้างเว็บไซต์ รับสมัครสอบ O-NET,A-NET ผู้ออกข้อสอบ บุคลากรและอื่นๆ จึงทำให้ผู้บริหาร สทศ.ต้องเจียดเงินอันน้อยนิดนี้ไปดำเนินการให้ครบถ้วน จึงมีผลกระทบด้านคุณภาพต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้
อีกทั้ง ผู้บริหาร สทศ. มีข้อผิดพลาดในการบริหารจัดการ คือไม่นำเอาระบบเอนทรานซ์เดิมซึ่งมีจุดแข็งมาหลอมรวมกับของใหม่ โดยเริ่มเองใหม่ทั้งหมด ภายใต้เงื่อนไขระยะเวลาที่กระชั้นชิด คนน้อย แถมยังเป็นกลุ่มคนที่ขาดประสบการณ์ ย่อมมีการผิดพลาดเกิดขึ้นได้ง่ายๆ ผลที่ออกมาก็เลยทำให้ระบบการศึกษารวนไปทั้งระบบ
เด็ก ผู้ปกครอง ขาดความเชื่อมั่นต่อ สทศ.เพราะฉะนั้น สทศ.จะต้องเร่งสร้างขวัญกำลังใจ เรียกศรัทธากลับคืนมาโดยเร็ว ซึ่งวันที่ 30 เมษายนนี้ จะเป็นตัวสะท้อนต่อการดำเนินการของ สทศ.

“ปัญหาบานปลาย ส่วนหนึ่งมาจากฝ่ายการเมืองหละหลวม ไม่มีการติดต่อการทำงานของหน่วยงานใหม่ๆ ทั้งๆ ที่หน่วยงานใหม่จะต้องมีการวางโครงสร้าง จัดตั้งผู้รับผิดชอบในแต่ละส่วนให้ชัดเจน แต่นี่ทุกอย่างขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้บริหารเพียงคนเดียว และท่านก็เป็นนักวิชาการ ไม่ใช่นักบริหาร”รศ.ดร.สมพงษ์สรุปอย่างตรงไปตรงมา
อย่างไรก็ตาม ตอนนี้เกิดปัญหาขึ้นแล้ว กระทรวงศึกษาธิการ สกอ. สทศ. ต้องหันหน้ามาจับมือกันฝ่าอุปสรรคเหล่านี้ไปให้ได้ แล้วเรียกขวัญกำลังใจของเด็ก ปกครอง ประชาชนกลับมาให้ได้และเร็วที่สุด แล้วเลิกคิดว่าไม่ใช่หน้าที่ของตัวเองก็ไม่สนใจได้แล้ว พร้อมกันนี้หากผ่านอุปสรรคครั้งนี้ได้แล้ว การเลือกผู้บริหารคนใหม่นั่ง สทศ.ตลอดจนบอร์ด คณะกรรมการ จะต้องเลือกคนดี มีความยุติธรรม แล้ววิธีการเข้ามาอย่างโปร่งใสด้วย
-2-
สรุปชัดรัฐบาลต้องรับผิด
คำถามที่สองที่ตามมาก็คือ ใครคือผู้ที่จะต้องรับผิดชอบ?
ตอบฟันธงลงไปทันทีเลยว่า มีอยู่ 4 คนด้วยกันคือ 1.พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี 2.ดร.อดิศัย โพธารามิก อดีตรมว.ศธ. 3.นายจาตุรนต์ ฉายแสง รักษาการรมว.ศธ.คนปัจจุบัน และ 4.นายภาวิช ทองโรจน์ เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.)
หากยังจำกันได้ เราคงไม่อาจปฏิเสธความเป็นจริงว่า รัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณคือเจ้าของแนวคิดในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเอนทรานซ์ของไทย อันนำมาสู่การใช้ระบบแอดมิชชันที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน โดย พ.ต.ท.ทักษิณให้เหตุผลในการต้องการปรับเปลี่ยนในครั้งนั้น 3 ข้อคือ 1.ระบบเอนทรานซ์เดิมส่งผลทำให้เด็กต้องไปกวดวิชาเป็นจำนวนมาก 2.ระบบเอนทรานซ์เดิมใช้ข้อสอบที่ยากสุดโต่งเกินไป และ 3.ระบบเอนทรานซ์เดิมทำให้นักเรียนไม่สนใจที่จะเรียนในห้องเรียน
จากแนวคิดดังกล่าวก็ได้นำไปสู่การแปรผลในการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมในสมัยที่ น.พ.เกษม วัฒนชัย ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้น พร้อมทั้งผลักดันให้มหาวิทยาลัยต่างๆ ช่วยกันคิดค้นระบบขึ้นมา โดยมีโอเน็ตและเอเน็ตเป็นส่วนหนึ่งของระบบ พร้อมๆ กับการออกพระราชกฤษฎีกาก่อตั้งสถาบันทดสอบการศึกษาแห่งชาติ(สทศ.) เพื่อทำหน้าที่ในการวัดและประเมินผลทางการศึกษาในแต่ละช่วงชั้น
ทว่า ปัญหาเรื่องแอดมิชชันปรากฏให้เห็นชัดเจนในยุคที่นายอดิศัย โพธารามิก เข้ามากุมบังเหียนเจ้ากระทรวงศึกษาธิการ เมื่อมีการปรับเพิ่มการใช้สัดส่วนผลการเรียนเฉลี่ยสะสมหรือจีพีเอจากร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 25 ซึ่งทำให้นักเรียนและผู้ปกครองต่างรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะไม่ได้เตรียมพร้อมกับเกณฑ์ใหม่ที่จะนำมาใช้
ที่สุดเมื่อกระแสคัดค้านขยายวงกว้างออกไปเรื่อยๆ จึงต้องมีการปรับลดสัดส่วนการนำค่าจีพีเอมาใช้เหลือเพียง 10%
ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อ ศธ.ประกาศย้ำชัดเจนว่า ในปีการศึกษา 2549 ระบบแอดมิชชั่นจะถูกนำมาใช้อย่างเต็มระบบ โดยจะนำค่าจีพีเอมาพิจารณาคัดเลือกนักเรียนเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาสูงถึง 40% ส่งผลให้กลุ่มนักเรียนขาสั้น คอซอง และผู้ปกครองนักเรียนต่างไม่เชื่อมั่นกับมาตรฐานของโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ที่ต้องยอมรับว่ามีความเหลื่อมล้ำระหว่างโรงเรียนในเมืองกับโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลอยู่มาก รวมถึงระบบใหม่ที่จะนำมาใช้ก็ยังไม่มีความพร้อม
ม็อบนักเรียนและผู้ปกครองจึงบุกถึงทำเนียบ เพื่อยื่นหนังสือต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ให้พิจารณาปรับลดสัดส่วนของจีพีเอดังกล่าวลง ซึ่งครั้งนั้น พ.ต.ท.ทักษิณ ถึงกับสั่งการให้นายอดิศัยไปสำรวจความคิดเห็นจากครู ผู้ปกครอง และเด็กนักเรียนว่ามีความต้องการในเรื่องดังกล่าวอย่างไร ...ทั้งที่ การสำรวจความคิดเห็นควรจะดำเนินการมาก่อนหน้าที่จะประกาศใช้ระบบแอดมิชชั่นส์แล้ว
ที่สุด ศธ.ก็ต้องยอมถอยอีกก้าว ปรับลดค่าจีพีเอที่จะใช้ในปีการศึกษา 2549 ลงมาอยู่ที่ 20% ซึ่งการถอยแต่ละครั้งจะเกิดขึ้นเมื่อความไม่พอใจขยายตัวออกไปในวงกว้าง ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์และคะแนนเสียงของพรรคไทยรักไทย เมื่อนั้น รมว.ศึกษาธิการก็จะมีท่าทีโอนอ่อนลง
การปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์แอดมิชชั่นส์บ่อยครั้งในสมัยของนายอดิศัย โดยคำนึงถึงผลทางการเมืองมากกว่าจะพิจารณาถึงผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นต่อวงการศึกษาของชาติ...ส่งผลให้การพัฒนาระบบแอดมิชชันซึ่งต้องนำมาใช้เต็มรูปแบบในปีการศึกษา 2549 ขาดความต่อเนื่อง จึงเป็นความผิดพลาดที่นายอดิศัยไม่อาจจะเลี่ยงหลบไปได้เลย

จบจากยุคนายอดิศัยก้าวเข้าสู่ยุคนายจาตุรนต์ ระบบแอดมิสชั่นส์ที่มีโอเน็ต-เอเน็ตเป็นองค์ประกอบหลักก็ยังคงดำเนินการต่อไป โดยมีนายภาวิชเป็นจักรกลสำคัญในการขับเคลื่อน
รศ.ดร.ไพฑูรย์ สินลารัตน์ อดีตคณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวว่า ไม่ว่าจะเป็นกรณีใดก็เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องเข้ามาดูแล แม้ว่า สทศ.จะเป็นหน่วยงานอิสระ แต่ก็เป็นหน่วยงานของรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นหน่วยงานที่ต้องทำหน้าที่ดูแลการสอบเข้ามหาวิทยาลัยของเด็กจำนวนมหาศาล รัฐจึงควรต้องสนใจให้ความดูแลอย่างเต็มที่
“ช่วงหลังรัฐบาลค่อนข้างจะปล่อยๆ เรื่องการศึกษา คล้ายอยากให้นักวิชาการทำกันเอง หรือเห็นว่าค่าใช้จ่ายสูงก็เลยให้ทำๆ ไปก่อน ทั้งที่เรื่องนี้เป็นภารกิจที่ต้องทำร่วมกันระหว่างรัฐ มหาวิทยาลัย ผู้ปกครองและนักเรียน แต่หากพิจารณาจะเห็นว่า หน่วยงานที่ต้องทำหน้าที่นี้ ยังได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลน้อย ขณะที่ต้องรับผิดชอบปริมาณงานจำนวนมาก และซับซ้อนเกินกว่าที่ สทศ.ในปัจจุบันจะแบกรับได้ไหว”
“รัฐบาลเองไม่ได้ตามมาดูแลจริงจัง ไม่ได้นึกล่วงหน้าว่าปัญหาจะเกิด ไม่ได้ประเมินว่าการเปลี่ยนแปลงระบบจะมีปัญหาอะไรตามมา ดังนั้น จะโทษ รศ.ประทีปคนเดียวไม่ได้ รัฐบาลต้องรับผิดชอบเรื่องนี้ด้วย”รศ.ดร.ไพฑูรย์กล่าว
....ดังนั้น ความผิดพลาดครั้งมโหฬารต่อระบบการคัดเลือกนักเรียนเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา จึงไม่พ้นจากความผิดของผู้นำรัฐบาล ไล่ลงมาถึงรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาในรัฐบาลไทยรักไทยทุกคนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนายจาตุรนต์และนายภาวิชในฐานะผู้ดูแล สกอ.ซึ่งเป็นมืออาชีพในการจัดสอบเอนทรานซ์ และต้องทำหน้าที่ประสานกับ สทศ.เพราะต้องร่วมมือกันวางระบบดำเนินการแอดมิชชันให้ราบรื่นไปด้วยดี เนื่องจาก สกอ.ก็ต้องนำผลโอเน็ต เอเน็ตไปใช้ในการคัดเลือกเด็กเข้ามหาวิทยาลัยด้วย
แอดมิชชันต้นตอของความยุ่ง
อย่างไรก็ตาม ปัญหาทั้งหลายทั้งปวงคงต้องย้อนกลับไปที่ต้นตอใหญ่คือ ระบบแอดมิสชั่นส์ เพราะโอเน็ต-เอเน็ตคือส่วนหนึ่งของระบบ และปัญหาที่เกิดขึ้นย่อมทำให้เกิดปัญหาต่อความน่าเชื่อถือของการสอบคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
ด้าน รศ.ดร.นภาภรณ์ หะวานนท์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ ม.ศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ให้ความเห็นอย่างตรงไปตรงมาว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องเฉพาะโอเน็ต-เอเน็ตอย่างเดียว แต่เป็นปัญหาที่เกิดกับระบบการสอบคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ และแสดงให้เห็นว่าระบบมีข้อผิดพลาดมากมาย แม้สุดท้ายจะแก้ปัญหาได้ก็ตาม แต่ก็ต้องยอมรับว่า ความน่าเชื่อถือและความสงสัยในระบบแอดมิชชันก็ยังคงดำรงอยู่ต่อไป
“ความไม่ไว้วางใจคือเรื่องใหญ่ เอนทรานซ์ระบบเดิมแม้หลายฝ่ายจะมองว่ามีปัญหา ทำให้เด็กไม่สนใจเรียนในห้องเรียน แต่ก็ต้องยอมรับว่า เอนทรานซ์ระบบเดิมเป็นระบบที่สร้างความไว้วางใจให้แก่สังคมไทยมาเป็นเวลานาน ทุกคนมั่นใจว่า เป็นระบบที่มีความยุติธรรม มั่นใจในระบบการตรวจข้อสอบ มั่นใจว่าคะแนนที่ออกมาเป็นคะแนนของเราแน่”
“จริงๆ แล้วปรัชญาของแอดมิชชันคือ ลดความสำคัญของการสอบ และเอาผลคะแนนในห้องเรียนหรือจีพีเอเข้ามามีส่วนสำคัญมากขึ้น ตรงนี้คือสิ่งที่คนจำนวนมากยอมรับ แต่เรื่องใหญ่ที่เกิดต่อเนื่องและเป็นปัญหาไม่รู้จบคือเรื่องการปล่อยเกรด เกรดเฟ้อ ตรงนี้จะมีการถ่วงน้ำหนักอย่างไรเพื่อให้เกิดการยอมรับ ถามว่า เอนทรานซ์แบบเดิมกับของใหม่ต่างกันไหม ตอบว่า ต่างกันนิดหนึ่ง แต่ก็ทำให้เกิดคำถามตามมาอีกมากมายเช่นกัน โดยเฉพาะเรื่องความเป็นธรรมของจีพีเอ”
รศ.ดร.นภาภรณ์ให้แง่คิดด้วยว่า จุดสำคัญของเรื่องทั้งหมดอยู่ตรงที่การเปลี่ยนถ่ายระบบที่เป็นไปอย่างรวดเร็วเกินไป โดยที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ได้เข้าไปแสดงความคิดเห็นเท่าที่ควร ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีการสังคายนากันครั้งใหญ่เพื่อปิดช่องโหว่ที่เกิดขึ้น และที่สำคัญคือต้องไม่รีบร้อนและไม่ใช้อำนาจสั่งการเพียงอย่างเดียว
คำถามสำคัญที่เกิดขึ้นหลังเกิดความผิดพลาดอย่างใหญ่หลวงเช่นนี้คือ มูลเหตุและต้นตอของปัญหาทั้งหมดอยู่ที่ตรงไหน? และใครคือคนที่จะต้องรับผิดชอบ?
-1-
ชำแหละจุดอ่อนโอเน็ต-เอเน็ต
ต้นกำเนิดของระบบโอเน็ต-เอเน็ตนั้น มาจากความต้องการในการเปลี่ยนแปลงระบบเอนทรานซ์เก่าที่ใช้การสอบวัดผลเป็นเกณฑ์ในการสอบคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐมาเป็นระบบใหม่ที่มีชื่อว่า “แอดมิขชัน” โดยมีค่าเฉลี่ยของคะแนนโอเน็ต-เอเน็ตไปเป็นองค์ประกอบในการพิจารณารับนักศึกษา
โอเน็ต (Ordinary National Educational Test : O-NET) คือการทดสอบวัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ทั้งแบบปรนัย (ตัวเลือก) และอัตนัย (ข้อเขียน) 5 กลุ่มสาระการเรียนรู้คือ...ภาษาไทย, คณิตศาสตร์, วิทยาศาสตร์, สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม, ภาษาอังกฤษ
เอเน็ต (Advanced National Educational Test : A-NET) คือการทดสอบวัดการศึกษาขั้นสูง ทั้งแบบปรนัยและอัตนัย 5 กลุ่มสาระการเรียนรู้เช่นกัน คือ...ภาษาไทย 2, คณิตศาสตร์ 2, วิทยาศาสตร์ 2, สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม 2, ภาษาอังกฤษ 2
ทว่า เมื่อมีการใช้คะแนนโอเน็ต-เอเน็ตมาเป็นส่วนประกอบแอดมิชชันครั้งแรกก็ก่อให้เกิดปัญหาใหญ่ที่ก่อให้เกิดความไม่น่าเชื่อถือขึ้นมาในทันที เมื่อปรากฏว่า ขั้นตอนในการประมวลผลด้วยระบบคอมพิวเตอร์มีปัญหา เช่น คะแนนบางวิชาของผู้เข้าสอบเป็นศูนย์ หรือบางวิชาไม่ได้เข้าสอบแต่กลับมีคะแนน เป็นต้น
ถามว่า อะไรคือสิ่งที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์เช่นนั้น?
สิ่งที่ต้องพิจารณาเป็นอันดับแรกคือ หน่วยงานที่รับผิดชอบในการจัดการโอเน็ตและเอเน็ต ที่มีชื่อว่า “สำนักทดสอบการศึกษาแห่งชาติ(สทศ.)”
สทศ.ถือเป็นองค์กรอิสระ เป็นหน่วยงานมหาชนที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกา
ปัญหาของ สทศ.อยู่ที่ มีเจ้าหน้าที่ไม่ถึง 20 คน หนำซ้ำ “ทีมงาน” ที่มาร่วมในการออกข้อสอบ จัดสอบและประกาศผลสอบนั้น แม้จะเป็นอาจารย์หรือนักวิชาการที่เชี่ยวชาญด้านการวัดผลจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ก็จริง แต่ก็ต้องถือว่าเป็นมือใหม่หัดขับสำหรับการสอบวัดผลระดับประเทศที่มีคนเข้าสอบมากถึงเกือบ 400,000 คน
“หมอไม่เข้าใจว่า ระบบที่ซับซ้อนและมีข้อสอบที่ต้องตรวจนับเป็นล้านๆ ฉบับ ทำไมถึงไม่มีการทดลองก่อน”พญ.กมลพรรณ ชีวพันธุศรี ประธานเครือข่ายพ่อแม่เพื่อการปฏิรูปการศึกษาให้ทัศนะ
เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายประทีป จันทร์คง รักษาการณ์ ผอ.สทศ.ซึ่งเริ่มทำงานกับสถาบันนี้มาตั้งแต่ต้นระบุว่า สทศ.ไม่มีงบประมาณในการจัดทำ พัฒนาและทดสอบระบบในการตรวจข้อสอบ เนื่องจากร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง สทศ. ยังไม่ผ่านความเห็นชอบจาก ครม. ทำให้ สทศ.ไม่มีงบประมาณสำหรับดำเนินการเรื่องดังกล่าว ขณะที่งานของ สทศ.ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน ทำให้ สทศ.ต้องของบประมาณแฝงไว้กับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา จำนวน 50 ล้านบาท ซึ่งไม่เพียงพอสำหรับการพัฒนาระบบดังกล่าว รวมถึงทำให้ไม่สามารถทดสอบระบบก่อนนำมาใช้จริงได้ด้วย ทำให้เกิดปัญหาตามมามากมาย
“เรื่องงบประมาณเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาขึ้น แต่เมื่อมารวมกับระยะเวลากระชั้นชิดที่เราต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อรองรับแอดมิชชั่นส์ในปีการศึกษา 2549 ทำให้เราไม่สามารถจัดการทุกอย่างได้เรียบร้อย ซึ่งก็ยอมรับว่าเป็นความผิดพลาดที่เกิดขึ้น”นายประทีบกล่าว
ด้วยเหตุดังกล่าว จึงทำให้ สทศ.ยังไม่มีบุคลากรที่จะมารองรับงาน ทั้งๆ ที่ความจริงแล้ว สทศ.จำเป็นต้องวางระบบคอมพิวเตอร์และพัฒนาโปรแกรมต่างๆ ให้แล้วเสร็จ พร้อมทั้งต้องทดสอบระบบให้เรียบร้อยตั้งแต่ปีการศึกษา 2547 เพื่อรองรับกับการทดสอบนักเรียนสำหรับนำผลการทดสอบทั้งโอเน็ตและเอเน็ตไปใช้สำหรับแอดมิชชั่นส์ ในปีการศึกษา 2549
รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะศึกษาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองปัญหาที่เกิดขึ้นว่า ส่วนหนึ่งเพราะ สทศ. ไม่เคยประชาสัมพันธ์ให้เด็ก ผู้ปกครอง ประชาชนรับรู้ โครงสร้างตลอดจนการทำงาน ซึ่งมีความสลับซับซ้อนอยู่ให้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย ทั้งๆ ที่จะต้องเกี่ยวข้องกับเด็กไม่น้อยกว่า 5-6 แสนคน
“สทศ.ทำเหมือนกับว่าทำงานคนเดียว ไม่ยุ่งเกี่ยวกับใคร จึงไม่มีการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่างสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) กระทรวงศึกษาธิการ มหาวิทยาลัยต่างๆ”
นอกจากนี้ยังมีจุดอ่อนที่เป็นชนวนให้เกิดปัญหา นั่นก็คืองบประมาณที่รัฐบาลจัดสรรให้แก่ สทศ.น้อยนิดไม่เพียงพอต่อการดำเนินการ เพราะต้องสร้างเว็บไซต์ รับสมัครสอบ O-NET,A-NET ผู้ออกข้อสอบ บุคลากรและอื่นๆ จึงทำให้ผู้บริหาร สทศ.ต้องเจียดเงินอันน้อยนิดนี้ไปดำเนินการให้ครบถ้วน จึงมีผลกระทบด้านคุณภาพต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้
อีกทั้ง ผู้บริหาร สทศ. มีข้อผิดพลาดในการบริหารจัดการ คือไม่นำเอาระบบเอนทรานซ์เดิมซึ่งมีจุดแข็งมาหลอมรวมกับของใหม่ โดยเริ่มเองใหม่ทั้งหมด ภายใต้เงื่อนไขระยะเวลาที่กระชั้นชิด คนน้อย แถมยังเป็นกลุ่มคนที่ขาดประสบการณ์ ย่อมมีการผิดพลาดเกิดขึ้นได้ง่ายๆ ผลที่ออกมาก็เลยทำให้ระบบการศึกษารวนไปทั้งระบบ
เด็ก ผู้ปกครอง ขาดความเชื่อมั่นต่อ สทศ.เพราะฉะนั้น สทศ.จะต้องเร่งสร้างขวัญกำลังใจ เรียกศรัทธากลับคืนมาโดยเร็ว ซึ่งวันที่ 30 เมษายนนี้ จะเป็นตัวสะท้อนต่อการดำเนินการของ สทศ.
“ปัญหาบานปลาย ส่วนหนึ่งมาจากฝ่ายการเมืองหละหลวม ไม่มีการติดต่อการทำงานของหน่วยงานใหม่ๆ ทั้งๆ ที่หน่วยงานใหม่จะต้องมีการวางโครงสร้าง จัดตั้งผู้รับผิดชอบในแต่ละส่วนให้ชัดเจน แต่นี่ทุกอย่างขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้บริหารเพียงคนเดียว และท่านก็เป็นนักวิชาการ ไม่ใช่นักบริหาร”รศ.ดร.สมพงษ์สรุปอย่างตรงไปตรงมา
อย่างไรก็ตาม ตอนนี้เกิดปัญหาขึ้นแล้ว กระทรวงศึกษาธิการ สกอ. สทศ. ต้องหันหน้ามาจับมือกันฝ่าอุปสรรคเหล่านี้ไปให้ได้ แล้วเรียกขวัญกำลังใจของเด็ก ปกครอง ประชาชนกลับมาให้ได้และเร็วที่สุด แล้วเลิกคิดว่าไม่ใช่หน้าที่ของตัวเองก็ไม่สนใจได้แล้ว พร้อมกันนี้หากผ่านอุปสรรคครั้งนี้ได้แล้ว การเลือกผู้บริหารคนใหม่นั่ง สทศ.ตลอดจนบอร์ด คณะกรรมการ จะต้องเลือกคนดี มีความยุติธรรม แล้ววิธีการเข้ามาอย่างโปร่งใสด้วย
-2-
สรุปชัดรัฐบาลต้องรับผิด
คำถามที่สองที่ตามมาก็คือ ใครคือผู้ที่จะต้องรับผิดชอบ?
ตอบฟันธงลงไปทันทีเลยว่า มีอยู่ 4 คนด้วยกันคือ 1.พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี 2.ดร.อดิศัย โพธารามิก อดีตรมว.ศธ. 3.นายจาตุรนต์ ฉายแสง รักษาการรมว.ศธ.คนปัจจุบัน และ 4.นายภาวิช ทองโรจน์ เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.)
หากยังจำกันได้ เราคงไม่อาจปฏิเสธความเป็นจริงว่า รัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณคือเจ้าของแนวคิดในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเอนทรานซ์ของไทย อันนำมาสู่การใช้ระบบแอดมิชชันที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน โดย พ.ต.ท.ทักษิณให้เหตุผลในการต้องการปรับเปลี่ยนในครั้งนั้น 3 ข้อคือ 1.ระบบเอนทรานซ์เดิมส่งผลทำให้เด็กต้องไปกวดวิชาเป็นจำนวนมาก 2.ระบบเอนทรานซ์เดิมใช้ข้อสอบที่ยากสุดโต่งเกินไป และ 3.ระบบเอนทรานซ์เดิมทำให้นักเรียนไม่สนใจที่จะเรียนในห้องเรียน
จากแนวคิดดังกล่าวก็ได้นำไปสู่การแปรผลในการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมในสมัยที่ น.พ.เกษม วัฒนชัย ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้น พร้อมทั้งผลักดันให้มหาวิทยาลัยต่างๆ ช่วยกันคิดค้นระบบขึ้นมา โดยมีโอเน็ตและเอเน็ตเป็นส่วนหนึ่งของระบบ พร้อมๆ กับการออกพระราชกฤษฎีกาก่อตั้งสถาบันทดสอบการศึกษาแห่งชาติ(สทศ.) เพื่อทำหน้าที่ในการวัดและประเมินผลทางการศึกษาในแต่ละช่วงชั้น
ทว่า ปัญหาเรื่องแอดมิชชันปรากฏให้เห็นชัดเจนในยุคที่นายอดิศัย โพธารามิก เข้ามากุมบังเหียนเจ้ากระทรวงศึกษาธิการ เมื่อมีการปรับเพิ่มการใช้สัดส่วนผลการเรียนเฉลี่ยสะสมหรือจีพีเอจากร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 25 ซึ่งทำให้นักเรียนและผู้ปกครองต่างรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะไม่ได้เตรียมพร้อมกับเกณฑ์ใหม่ที่จะนำมาใช้
ที่สุดเมื่อกระแสคัดค้านขยายวงกว้างออกไปเรื่อยๆ จึงต้องมีการปรับลดสัดส่วนการนำค่าจีพีเอมาใช้เหลือเพียง 10%
ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อ ศธ.ประกาศย้ำชัดเจนว่า ในปีการศึกษา 2549 ระบบแอดมิชชั่นจะถูกนำมาใช้อย่างเต็มระบบ โดยจะนำค่าจีพีเอมาพิจารณาคัดเลือกนักเรียนเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาสูงถึง 40% ส่งผลให้กลุ่มนักเรียนขาสั้น คอซอง และผู้ปกครองนักเรียนต่างไม่เชื่อมั่นกับมาตรฐานของโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ที่ต้องยอมรับว่ามีความเหลื่อมล้ำระหว่างโรงเรียนในเมืองกับโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลอยู่มาก รวมถึงระบบใหม่ที่จะนำมาใช้ก็ยังไม่มีความพร้อม
ม็อบนักเรียนและผู้ปกครองจึงบุกถึงทำเนียบ เพื่อยื่นหนังสือต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ให้พิจารณาปรับลดสัดส่วนของจีพีเอดังกล่าวลง ซึ่งครั้งนั้น พ.ต.ท.ทักษิณ ถึงกับสั่งการให้นายอดิศัยไปสำรวจความคิดเห็นจากครู ผู้ปกครอง และเด็กนักเรียนว่ามีความต้องการในเรื่องดังกล่าวอย่างไร ...ทั้งที่ การสำรวจความคิดเห็นควรจะดำเนินการมาก่อนหน้าที่จะประกาศใช้ระบบแอดมิชชั่นส์แล้ว
ที่สุด ศธ.ก็ต้องยอมถอยอีกก้าว ปรับลดค่าจีพีเอที่จะใช้ในปีการศึกษา 2549 ลงมาอยู่ที่ 20% ซึ่งการถอยแต่ละครั้งจะเกิดขึ้นเมื่อความไม่พอใจขยายตัวออกไปในวงกว้าง ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์และคะแนนเสียงของพรรคไทยรักไทย เมื่อนั้น รมว.ศึกษาธิการก็จะมีท่าทีโอนอ่อนลง
การปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์แอดมิชชั่นส์บ่อยครั้งในสมัยของนายอดิศัย โดยคำนึงถึงผลทางการเมืองมากกว่าจะพิจารณาถึงผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นต่อวงการศึกษาของชาติ...ส่งผลให้การพัฒนาระบบแอดมิชชันซึ่งต้องนำมาใช้เต็มรูปแบบในปีการศึกษา 2549 ขาดความต่อเนื่อง จึงเป็นความผิดพลาดที่นายอดิศัยไม่อาจจะเลี่ยงหลบไปได้เลย
จบจากยุคนายอดิศัยก้าวเข้าสู่ยุคนายจาตุรนต์ ระบบแอดมิสชั่นส์ที่มีโอเน็ต-เอเน็ตเป็นองค์ประกอบหลักก็ยังคงดำเนินการต่อไป โดยมีนายภาวิชเป็นจักรกลสำคัญในการขับเคลื่อน
รศ.ดร.ไพฑูรย์ สินลารัตน์ อดีตคณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวว่า ไม่ว่าจะเป็นกรณีใดก็เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องเข้ามาดูแล แม้ว่า สทศ.จะเป็นหน่วยงานอิสระ แต่ก็เป็นหน่วยงานของรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นหน่วยงานที่ต้องทำหน้าที่ดูแลการสอบเข้ามหาวิทยาลัยของเด็กจำนวนมหาศาล รัฐจึงควรต้องสนใจให้ความดูแลอย่างเต็มที่
“ช่วงหลังรัฐบาลค่อนข้างจะปล่อยๆ เรื่องการศึกษา คล้ายอยากให้นักวิชาการทำกันเอง หรือเห็นว่าค่าใช้จ่ายสูงก็เลยให้ทำๆ ไปก่อน ทั้งที่เรื่องนี้เป็นภารกิจที่ต้องทำร่วมกันระหว่างรัฐ มหาวิทยาลัย ผู้ปกครองและนักเรียน แต่หากพิจารณาจะเห็นว่า หน่วยงานที่ต้องทำหน้าที่นี้ ยังได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลน้อย ขณะที่ต้องรับผิดชอบปริมาณงานจำนวนมาก และซับซ้อนเกินกว่าที่ สทศ.ในปัจจุบันจะแบกรับได้ไหว”
“รัฐบาลเองไม่ได้ตามมาดูแลจริงจัง ไม่ได้นึกล่วงหน้าว่าปัญหาจะเกิด ไม่ได้ประเมินว่าการเปลี่ยนแปลงระบบจะมีปัญหาอะไรตามมา ดังนั้น จะโทษ รศ.ประทีปคนเดียวไม่ได้ รัฐบาลต้องรับผิดชอบเรื่องนี้ด้วย”รศ.ดร.ไพฑูรย์กล่าว
....ดังนั้น ความผิดพลาดครั้งมโหฬารต่อระบบการคัดเลือกนักเรียนเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา จึงไม่พ้นจากความผิดของผู้นำรัฐบาล ไล่ลงมาถึงรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาในรัฐบาลไทยรักไทยทุกคนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนายจาตุรนต์และนายภาวิชในฐานะผู้ดูแล สกอ.ซึ่งเป็นมืออาชีพในการจัดสอบเอนทรานซ์ และต้องทำหน้าที่ประสานกับ สทศ.เพราะต้องร่วมมือกันวางระบบดำเนินการแอดมิชชันให้ราบรื่นไปด้วยดี เนื่องจาก สกอ.ก็ต้องนำผลโอเน็ต เอเน็ตไปใช้ในการคัดเลือกเด็กเข้ามหาวิทยาลัยด้วย
แอดมิชชันต้นตอของความยุ่ง
อย่างไรก็ตาม ปัญหาทั้งหลายทั้งปวงคงต้องย้อนกลับไปที่ต้นตอใหญ่คือ ระบบแอดมิสชั่นส์ เพราะโอเน็ต-เอเน็ตคือส่วนหนึ่งของระบบ และปัญหาที่เกิดขึ้นย่อมทำให้เกิดปัญหาต่อความน่าเชื่อถือของการสอบคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
ด้าน รศ.ดร.นภาภรณ์ หะวานนท์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ ม.ศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ให้ความเห็นอย่างตรงไปตรงมาว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องเฉพาะโอเน็ต-เอเน็ตอย่างเดียว แต่เป็นปัญหาที่เกิดกับระบบการสอบคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ และแสดงให้เห็นว่าระบบมีข้อผิดพลาดมากมาย แม้สุดท้ายจะแก้ปัญหาได้ก็ตาม แต่ก็ต้องยอมรับว่า ความน่าเชื่อถือและความสงสัยในระบบแอดมิชชันก็ยังคงดำรงอยู่ต่อไป
“ความไม่ไว้วางใจคือเรื่องใหญ่ เอนทรานซ์ระบบเดิมแม้หลายฝ่ายจะมองว่ามีปัญหา ทำให้เด็กไม่สนใจเรียนในห้องเรียน แต่ก็ต้องยอมรับว่า เอนทรานซ์ระบบเดิมเป็นระบบที่สร้างความไว้วางใจให้แก่สังคมไทยมาเป็นเวลานาน ทุกคนมั่นใจว่า เป็นระบบที่มีความยุติธรรม มั่นใจในระบบการตรวจข้อสอบ มั่นใจว่าคะแนนที่ออกมาเป็นคะแนนของเราแน่”
“จริงๆ แล้วปรัชญาของแอดมิชชันคือ ลดความสำคัญของการสอบ และเอาผลคะแนนในห้องเรียนหรือจีพีเอเข้ามามีส่วนสำคัญมากขึ้น ตรงนี้คือสิ่งที่คนจำนวนมากยอมรับ แต่เรื่องใหญ่ที่เกิดต่อเนื่องและเป็นปัญหาไม่รู้จบคือเรื่องการปล่อยเกรด เกรดเฟ้อ ตรงนี้จะมีการถ่วงน้ำหนักอย่างไรเพื่อให้เกิดการยอมรับ ถามว่า เอนทรานซ์แบบเดิมกับของใหม่ต่างกันไหม ตอบว่า ต่างกันนิดหนึ่ง แต่ก็ทำให้เกิดคำถามตามมาอีกมากมายเช่นกัน โดยเฉพาะเรื่องความเป็นธรรมของจีพีเอ”
รศ.ดร.นภาภรณ์ให้แง่คิดด้วยว่า จุดสำคัญของเรื่องทั้งหมดอยู่ตรงที่การเปลี่ยนถ่ายระบบที่เป็นไปอย่างรวดเร็วเกินไป โดยที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ได้เข้าไปแสดงความคิดเห็นเท่าที่ควร ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีการสังคายนากันครั้งใหญ่เพื่อปิดช่องโหว่ที่เกิดขึ้น และที่สำคัญคือต้องไม่รีบร้อนและไม่ใช้อำนาจสั่งการเพียงอย่างเดียว