xs
xsm
sm
md
lg

เครียด ผิดหวัง สอบเข้าไม่ได้.....ใครจะช่วย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รอยยิ้มเปื้อนหน้ากับลีลาดีใจสุดขีด เมื่อฉลากในมือถูกขานว่า “ได้”ขณะที่เด็กน้อยอีกคนน้ำตาไหลอาบแก้ม เมื่อรู้ผลว่าฉลากที่จับขึ้นมา เขียนคำว่า “ไม่ได้”อยู่ภายใน หนำซ้ำพ่อแม่บางคนตามซ้ำเติมให้น้ำตาร่วงหนักขึ้นไปอีก ช่างเป็นสองอารมณ์ที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง สำหรับการแย่งที่เรียนในระดับมัธยมศึกษาที่เปิดโอกาสให้กับนักเรียนที่พลาดจากการสอบแข่งขันได้ตัดสินชี้ชะตากันด้วยการจับฉลาก

โอกาสสำหรับทุกคนที่ล้วงมือหยิบฉลากต่างมี “ได้” และ “ไม่ได้” เท่าเทียมกัน แต่สำหรับเด็กบางคน หรือพ่อแม่บางครอบครัว กลับไม่ได้คิดถึงโอกาสที่อาจจะพลาดหวัง เมื่อคว้าเอากระดาษที่เขียนว่า “ไม่ได้” ขึ้นมา หลายครอบครัวจึงไม่อาจจะยอมรับ และผลักเอาโชคที่ไม่เข้าข้างให้กลายเป็น “ความล้มเหลว” ของนักเรียนผู้ไม่มีดวง

-1-
รศ.ดร.ไพฑูรย์ สินลารัตน์ อดีตคณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สะท้อนการศึกษาไทยที่ทำให้เด็กจำนวนมากต้องตกอยู่ในภาวะฝากอนาคตไว้กับโชคชะตาว่า ปัญหาใหญ่ของการศึกษาเมืองไทย คือโอกาสและความเท่าเทียมที่นักเรียนได้รับไม่เท่ากัน ซึ่งสภาพการณ์ของโรงเรียนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน แม้จะมีความพยายามที่จะสร้างให้สถานศึกษาทุกแห่งไม่แตกต่างกัน แต่ก็ต้องยอมรับว่าในเชิงคุณภาพและประสิทธิภาพในการรับรู้ของคนในสังคม รวมถึงในความเป็นจริง สถานศึกษาแต่ละแห่งมีความแตกต่างด้านคุณภาพอยู่

เมื่อเป็นเช่นนี้ผู้ปกครองก็ย่อมอยากให้ลูกเข้าเรียนในโรงเรียนที่เชื่อว่าดีและเชื่อว่าเหมาะกับลูกของตัวเอง ส่งผลให้โรงเรียนที่มีคุณภาพดีเหล่านั้น ไม่สามารถรับเด็กเข้าเรียนได้ตามที่ต้องการทั้งหมด ซึ่งทางโรงเรียนก็คงพยายามรับเด็กที่ต้องการเข้าเรียนอย่างเต็มที่ ที่สำคัญรัฐบาลควรสนับสนุนโรงเรียนลักษณะนี้ให้มีมากขึ้นด้วย

“แต่หากเข้าเรียนไม่ได้จริงๆ ผู้ปกครองก็ต้องทำความเข้าใจและอธิบายให้ลูกฟังว่า โรงเรียนมีข้อจำกัดอย่างไร ทำไมที่นั่งจึงมีไม่เพียงพอ และสอนให้เขาเข้าใจว่าการศึกษาที่แท้จริง แม้ว่าโรงเรียนและครู จะเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ แต่สิ่งที่สำคัญกว่า คือ ตัวเด็กและครอบครัว พ่อแม่ต้องอธิบายให้เด็กรู้ว่า การเรียนรู้และพัฒนา อยู่ที่ตัวเขาเอง เพราะการศึกษายุคใหม่ เด็กต้องเรียนรู้ด้วยตนเองมากขึ้น มีสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และเขาอาจจะพัฒนาด้วยตนเองได้ดีกว่าการเรียนในโรงเรียนด้วยซ้ำ หากเขาสนใจศึกษาจากแหล่งเรียนรู้อื่นๆ หรือเรียนรู้จากสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างออกไป”

รศ.ดร.ไพฑูรย์ ยังย้ำให้พ่อแม่สร้างความเชื่อมั่นให้เด็กด้วยว่า การที่ไม่ได้เข้าเรียนในโรงเรียนที่เด็กคาดหวังไว้ตั้งแต่ต้น เด็กๆ ก็สามารถที่จะเรียนรู้ได้จากโรงเรียนใหม่ ขึ้นอยู่กับว่าเด็กจะใช้โอกาสในการศึกษาของตนเองได้ดีแค่ไหน ที่สำคัญการศึกษาที่จะได้รับจากโรงเรียนอีกแห่งนั้น มีคุณภาพดีไม่แตกต่างกัน

“ผู้ปกครองต้องให้กำลังใจ สร้างความเชื่อมั่นให้เด็ก ไม่ใช่ว่าเมื่อเข้าเรียนไม่ได้แล้วคือความสูญเสีย ไปเรียนที่อื่นก็ต้องสร้างความเชื่อมั่นให้ตนเองให้ได้ เพราะการเข้าเรียนไม่ได้ ไม่ใช่ความผิดหรือเป็นโชคร้ายหรือความสามารถไม่ถึง เพราะพ่อแม่บางคนกลับไปดุด่าหรือทำโทษอีก ขณะที่พ่อแม่บางคนเก่ง ก็คิดว่าลูกจะต้องสอบได้ ซึ่งเขาอาจจะมีความถนัดด้านอื่นมากกว่า พ่อแม่อย่าไปตัดสินตัวเขา ต้องอยู่ในฐานะที่ต้องให้กำลังใจ ที่สำคัญไม่ว่าลูกจะเข้าเรียนที่ไหน พ่อแม่ควรทำหน้าที่กระตุ้นให้เด็กเรียนรู้ด้วยตนเอง หนุนให้เขาช่วยตนเองได้ แล้วค่อยถอยออกมาก”

ใช่ว่าการพลาดหวังจากโรงเรียนดังจะมีแต่ข้อเสียเสมอไป เพราะอดีตคณบดีฯ ชี้ให้เห็นข้อดีที่ซุกซ่อนอยู่ว่า การไม่ได้เข้าเรียนโรงเรียนใหญ่มีชื่อ แต่อาจจะได้เข้าเรียนในโรงเรียนขนาดกลางหรือขนาดเล็กที่มีนักเรียนไม่แออัดเกินไป จะทำให้เด็กได้มีโอกาสใกล้ชิดกับครูผู้สอนมากขึ้น การดูแลเอาใจใส่เป็นไปอย่างทั่วถึง ขณะที่เด็กบางคนสามารถพัฒนาตัวเองขึ้นไปอยู่ในระดับหัวแถวได้ ก็จะทำให้เขาเกิดแรงใจ เกิดความภาคภูมิใจ ซึ่งเป็นผลในเชิงสร้างสรรค์และส่งผลดีต่อการดำเนินชีวิตในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ความคาดหวังในการหาที่เรียนในบางครอบครัว เด็กมิใช่ผู้กำหนดหรือเป็นคนเลือกโรงเรียนด้วยตนเอง หากแต่ผู้เป็นพ่อแม่กลับเป็นผู้กำหนดสถานศึกษาที่จะให้ลูกเข้าเรียนตามความคาดหวังของตนเอง

รศ.ดร.ไพฑูรย์ ฝากข้อคิดถึงผู้ปกครองที่ไม่สมหวังกับการหาที่เรียนให้ลูกว่า พ่อแม่มีสิทธิ์ที่จะคาดหวังได้ว่าอยากให้ลูกเรียนที่ไหน ตามความเชื่อหรือค่านิยมของสังคมที่มี แต่หากไม่ได้ตามที่คาดหวังก็ควรจะเข้าใจว่า สิ่งที่หวังไว้ไม่สามารถเป็นจริงได้ 100%

“พ่อแม่ต้องสามารถปรับความคาดหวังกับความเป็นจริงให้ได้ หากยึดติดกับความคาดหวังก็จะทำให้ทั้งครอบครัวไม่มีความสุข เมื่อปรับความคาดหวังกับความจริงได้แล้ว เราก็ต้องใช้โอกาสของความเป็นจริงให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับลูก เพราะผมเชื่อว่าครอบครัวทุกครอบครัวสามารถส่งเสริมลูกของตนได้ในทุกโอกาส ทุกสถานที่ ไม่จำเป็นต้องอยู่โรงเรียนดังเสมอไป ไม่ใช่ว่าเราผิดหวังแล้วจะสูญเสียไปทั้งหมด บางครั้งโอกาสและความคาดหวัง เป็นสิ่งที่เราสร้างขึ้นมาเอง เราอาจตกเป็นเหยื่อของสังคมเพราะคิดว่าสังคมคาดหวังว่าต้องเรียนโรงเรียนดี ดัง เราก็เลยคาดหวังตามเขาไป เราควรคาดหวังถึงสิ่งที่เหมาะสมและพิจารณาจากความจริงที่เป็นไปได้ด้วย”

-2-
ส่วน นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ให้ข้อแนะนำสำหรับผู้เป็นพ่อแม่ ซึ่งลูกอยู่ในช่วงพลาดหวังว่า ให้พ่อแม่สังเกตบุตรหลานของตนเอง เนื่องจากอาการเครียดและผิดหวังจะส่งผลทางด้านจิตใจ และอารมณ์ โดยอาจแสดงอาการได้ตั้งแต่ซึม เงียบ หรือถึงขั้นร้องไห้ให้เห็น

นอกจากนี้อาจส่งผลถึงพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป เด็กอาจจะหงุดหงิดง่ายขึ้น มีอารมณ์ก้าวร้าวมากขึ้น หรือมีพฤติกรรมต่อต้าน ซึ่งเกิดจากความรู้สึกขัดแย้งที่เกิดขึ้นในจิตใจ เมื่ออยากได้แต่ไม่ได้

“พ่อแม่ต้องสังเกตพฤติกรรมของลูกให้ได้ก่อน สำหรับเด็กมัธยมต้นอาจจะไม่ค่อยมีอาการมากนัก แต่พฤติกรรมเหล่านี้จะเห็นได้ชัดกับเด็กที่สอบเข้าระดับมหาวิทยาลัย เพราะเป็นช่วงที่ตรงกับจุดเด่นของพฤติกรรมในช่วงวัย 17-19 ปี ซึ่งบุคลิกภาพยังไม่คงที่ ตามหลักทางจิตวิทยา บุคลิกภาพมนุษย์จะนิ่ง เมื่ออายุ 18 ปี หากเราสามารถสังเกตพฤติกรรมและบุคลิกภาพของลูกได้ว่ามีอารมณ์ก้าวร้าว ก็ควรเข้าไปแก้ไขก่อนอายุ 18 ปี โดยเฉพาะเด็กที่มีความก้าวร้าวรุนแรงเมื่อผิดหวัง”

สำหรับพฤติกรรมที่เด็กอาจจะแสดงออกเมื่อพลาดหวังนั้น ที่เห็นได้ชัดเจนคือ ปาข้าวของ อยากทำร้ายคนอื่น ส่วนอีกประเภทหนึ่งคือ ทำร้ายตนเอง หยิก ตีข่วน หรืออาจรุนแรงถึงขั้นฆ่าตัวตายได้

ไม่เพียงแต่เด็กเท่านั้นที่ต้องได้รับการดูแลเพื่อลดความเครียดจากความผิดหวังในการแย่งที่เรียน กลุ่มพ่อแม่ที่มีความคาดหวังในตัวลูกค่อนข้างสูงก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่คุณหมอให้ความเป็นห่วง เนื่องจากพ่อแม่กลุ่มนี้มักจะมีการคาดการณ์ในเชิงลบล่วงหน้า ซึ่งความวิตกดังกล่าวจะถูกถ่ายทอดมาสู่ลูก และสร้างแรงกดดันให้ลูกได้สูง

“พ่อแม่กลุ่มนี้เมื่อคาดหวังสูง ก็จะผิดหวังสูง และอาจจะแสดงความรู้สึกผิดหวังได้มาก การแสดงความผิดหวังก็จะกลับไปเป็นแรงกดดันที่เด็ก เพราะเด็กทุกคนไม่อยากให้พ่อแม่ผิดหวัง เขาต้องการการยอมรับจากพ่อแม่ และต้องการความมั่นใจ แต่ยิ่งพ่อแม่แสดงออกว่าผิดหวังมากเท่าไหร่ก็จะทำให้เขาสูญเสียความมั่นใจไปหมด เพราะตัวเด็กเองก็มีความวิตกอยู่แล้ว และรู้สึกว่าทำไมไม่ได้รับการดูแลจากพ่อแม่”

การรับมือกับข่าวร้ายที่เกิดขึ้นในการสอบคัดเลือกหรือจับฉลากเข้าเรียนไม่ได้นั้น นพ.ทวีศิลป์ แนะนำว่า ผู้เป็นพ่อแม่ต้องระลึกเสมอว่า มันมีโอกาสทั้ง “ได้” และ “ไม่ได้” ใช้การคาดคะเนอย่าคาดหวัง อย่าทุ่มเททั้งใจว่าต้องได้อย่างเดียว ต้องเผื่อใจด้านลบไว้บ้าง เพื่อตั้งรับกับความผิดหวังที่อาจจะเกิดขึ้นได้ และเมื่อเกิดความผิดหวังขึ้นแล้ว พ่อแม่ต้องรีบจัดการจิตใจของตนเองอย่างรวดเร็ว เพราะต้องดูแลลูกที่อยู่สถานการณ์เดียวกันตรงนั้นด้วย

“เมื่อเราคิดว่ามันพลาดได้ เราก็จะเตรียมรับมือกับมันได้ พาลูกไปสมัครโรงเรียนอื่นๆ นำแผน 2 แผน 3 มาใช้ หาที่เรียนให้ลูกต่อไป เพราะต้นเหตุของปัญหาคือ ลูกยังไม่มีที่เรียน เราก็ต้องแก้ปัญหาตรงนั้นให้ได้เพื่อจบปัญหาให้เร็วที่สุด ไม่ควรอยู่กับปัญหายืดเยื้อ”

นอกจากนี้คุณหมอ ยังแนะนำวิธีการผ่อนคลายความเครียดด้วยตนเอง เช่น นอนพักผ่อน ดูหนัง ฟังเพลง ซึ่งถือเป็นการผ่อนคลายด้านร่างกาย เพราะความเครียดอาจทำให้เกิดอาการทางร่างกายได้ อาทิ ปวดหัว ปวดท้อง หรือเด็กบางคนอาจมีอาการฉี่บ่อย ก็ควรไปพบแพทย์ เพื่อรักษาอาการทางกาย ส่วนด้านจิตใจนั้น ให้ฝึกทำสมาธิ พักผ่อนพาลูกไปเที่ยวหรือหากิจกรรมการละเล่นเพื่อผ่อนคลาย แต่ที่สำคัญต้องแก้ต้นเหตุของปัญหา คือหาที่เรียนให้ลูกให้เรียบร้อย เพราะหากปัญหาดังกล่าวยังไม่ได้รับการแก้ไข แม้จะพักผ่อนอย่างไร แต่ต้องกลับมาพบปัญหาเดิมอีก ความเครียดก็จะกลับมาเยือนอย่างแน่นอน
กำลังโหลดความคิดเห็น