xs
xsm
sm
md
lg

อึ้ง! อย.ตรวจพบคุกกี้ใส่สีผสมอาหารเกินมาตรฐาน 20 เท่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อึ้ง! อย.ตรวจพบขนมเด็กบางชนิดมีการใช้สีผสมอาหารมากกว่ากฎหมายกำหนดถึง 20 เท่า เตือนผู้ประกอบการอย่าเอาแต่ประโยชน์ทางการค้า ดูแลสุขภาพผู้บริโภคด้วย

วันนี้ (7 เม.ย.) นพ.ไพจิตร์ วราชิต อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า ข้อมูลจากศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์อุบลราชธานี ได้รายงานผลการตรวจวิเคราะห์ขนมคุกกี้ที่ได้รับตัวอย่างจากสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี พบว่า มีการใช้สีผสมอาหาร (สีสังเคราะห์) ในปริมาณที่มากเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดถึง 20 เท่า ซึ่งขนมเด็กที่วางจำหน่ายอยู่ทั่วไป มักจะมีการผสมสีสวยสดให้ดูน่ารับประทาน เพื่อดึงดูดความสนใจของเด็กๆ หรือปิดบังความบกพร่องบางประการของผลิตภัณฑ์ เช่น การใช้วัตถุดิบที่ไม่ได้คุณภาพ หรือมีกรรมวิธีในการผลิตที่ไม่สะอาด เป็นต้น ซึ่งการใช้สีผสมอาหาร (สีสังเคราะห์) ในปริมาณที่มากเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดอาจทำให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภคได้ โดยเฉพาะเด็กซึ่งร่างกายมีภูมิต้านทานน้อยกว่าผู้ใหญ่ ก็อาจเป็นอันตรายได้มากหรือร้ายแรงกว่า

สำหรับสีสังเคราะห์ถ้าได้รับในปริมาณที่มากเกินมาตรฐานหรือบ่อยครั้งย่อมก่อให้เกิดอันตรายได้ เพราะสีจะไปเคลือบเยื่อบุกระเพาะอาหารและลำไส้ ทำให้น้ำย่อยอาหารออกมาไม่สะดวก อาหารย่อยยาก เกิดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ และขัดขวางการดูดซึมอาหาร ทำให้ท้องเดิน น้ำหนักลด อ่อนเพลีย อาจมีอาการของตับและไตอักเสบ นอกจากนี้ ในการผลิตสีสังเคราะห์อาจมีการปนเปื้อนของสารต่างๆ ที่เป็นอันตราย เช่น ตะกั่ว สารหนู ปรอท โครเมียม ซึ่งหากสะสมในร่างกายอาจเป็นสาเหตุก่อให้เกิดโรคมะเร็งและเป็นอันตรายแก่ชีวิตได้

“จึงขอเตือนผู้ประกอบการผลิตขนมเด็ก ให้ใส่ใจถึงสุขภาพของผู้บริโภคมากกว่าการหวังผลกำไรจากการขาย โดยอย่าใส่สีผสมอาหาร (สีสังเคราะห์) มากเกินปริมาณที่กฎหมายกำหนดตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 281 (พ.ศ.2547) เรื่องวัตถุเจือปนอาหาร กำหนดการใช้สีผสมอาหาร (สีสังเคราะห์) สำหรับอาหารประเภทเครื่องดื่ม ไอศกรีม ลูกกวาด และขนมหวาน คือ สีตาร์ตราซีน (สีเหลือง) ใช้ได้ไม่เกิน 70 มิลลิกรัม/กิโลกรัม สีเอโซรูบีน (สีชมพูเข้ม) ใช้ได้ไม่เกิน 70 มิลลิกรัม/กิโลกรัม และสีบริลเลียนท์ บลู เอ็ฟ ซี เอ็ฟ ใช้ได้ไม่เกิน 50 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ทั้งนี้ หากมีการใช้สีรวมกันตั้งแต่สองชนิดขึ้นไปต้องมีปริมาณรวมของสีทุกชนิดไม่เกินปริมาณของสีชนิดที่กำหนดให้ใช้ได้น้อยที่สุด” นายแพทย์ไพจิตร์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น