xs
xsm
sm
md
lg

Mozart Music & Intelligence’ กุญแจความสุขของอัจฉริยะตัวน้อย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในท่วงทำนองแพรวพราวพลิ้วไหวของตัวโน้ต ไม่เพียงรังสรรค์จินตนาการมหัศจรรย์ล้ำลึกสู่ผู้ฟังไม่เลือกชนชั้นวรรณะผิวพรรณ ยังคลอเคล้าเร้ารุกอารมณ์ร่วมเศร้าสร้อยหรือสนุกสนาน สำราญสุขของผู้ฟังขณะนั้นได้อย่างมาก ยิ่งดนตรีของมหาคีตกวี ‘โมสาร์ท’ (W.A. Mozart) ด้วยแล้ว ยิ่งผสานจินตนาการเนียนสนิทกับอารมณ์ความรู้สึก ควบคู่คุณูปการล้นเหลือในการสร้างเสริมพัฒนาสมองของเด็ก

ดนตรีจึงเป็นกุญแจดอกแรกแห่งอัจฉริยะของเจ้าตัวน้อยที่พ่อแม่ควรให้ความสำคัญอย่างมาก เพราะนอกจากจะเข้าถึงได้ง่ายกว่าศิลปะแขนงอื่นๆ แล้ว ยังเสริมสร้างจินตนาการ พัฒนาการเรียนรู้ของสมอง และโลกทรรศน์ด้านบวกแก่พวกเขายามมองปรากฏการณ์รายล้อมรอบตัว ทางนิตยสารรักลูก และสถาบันครอบครัวจึงเปิดโครงการรักลูก Smart Brain มุ่งสร้างเสริมศักยภาพสมองของเจ้าจอมซน ตามปณิธานการพัฒนาความฉลาดของมนุษย์ และเรียนรู้ของเด็กๆ

เส้นทางอัจฉริยะตัวน้อยจึงไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบแห่งพรสวรรค์อย่างเดียว แต่ควบคู่กับพรแสวงที่พ่อแม่จะเป็นผู้ไขกุญแจดอกแรกให้กับพวกเขา ดังการเสวนาหัวข้อ ‘ทำไมจึงเป็น Mozart Music & Intelligence’ โดยรศ.ดร.สุกรี เจริญสุข คณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ก่อตั้งกลุ่มนักเรียนดนตรีในโครงการวิจัยพรสวรรค์ศึกษา เพื่อศึกษาวิจัยเด็กโดยตรงถึงการเรียนรู้ดนตรีอย่างเป็นธรรมชาติมากที่สุด จนนำเด็กกลุ่มนั้นคว้าแชมป์การแข่งขันแชมเบอร์มิวสิคระดับเยาวชนนานาชาติปี 2005 จากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ที่เปิดเผยว่าการสร้างเสริมพัฒนาทางสมองของเด็กๆ กระทำได้หากฟัง K.488 (Dual Piano Sonata in D major) ของโมสาร์ท

“เพลงนี้เกิดจากความรู้สึกของโมสาร์ทขณะเล่นเปียโนกับลูกศิษย์สาวที่เขาหลงรัก ชายหนุ่มหญิงสาวต้องเล่นเปียโนที่ไม่กว้างนัก ต้องเบียดกันเล่นเปียโน 4 มือในเพลงเดียวกัน แม้สมัยนี้เพลงจะบรรเลงโดยใช้เปียโน 2 หลัง แต่สมัยนั้นทั้ง 2 คนต้องนั่งเล่นหลังเดียวกัน” รศ.ดร.สุกรีย้อนที่มาของ K.488 ก่อนเน้นว่าเพลงนี้แม้จะเล่นแบบด้นเพลงดวลกัน แต่ในความเป็นจริงสิ่งที่ดวลกันคงเป็นหัวใจมากกว่า เพราะการเต้นของหัวใจปกติ 86 ครั้ง/นาที แต่เพลง K.488 ทำให้หัวใจเต้น 104 ครั้ง/นาที แสดงว่าหัวใจสูบฉีดเพราะมีความสุข

“ดนตรีที่กระตุ้นให้หัวใจเต้นแรงย่อมส่งผลให้สมองตื่นตัว ซึ่งเป็นที่มาของการวิจัยทฤษฎี Mozart Effect ที่ค้นพบว่าดนตรีของโมสาร์ททำให้สมองของมนุษย์ฉลาดขึ้น ซึ่งมีส่วนสำคัญยิ่งในการสร้างจินตนาการ โลกทรรศน์ที่ดีและมีความสุขแก่พวกเขาอย่างยั่งยืน แม้ในตอนโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว”

คณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ยังเปรียบเทียบให้เห็นชัดเจนขึ้นว่า การให้ลูกๆ ฟัง K.488 เปรียบเสมือนพ่อแม่ได้ระบายสีสวยงามบนผืนผ้าขาว เติมเต็มความสุข สวยงาม จินตนาการมหัศจรรย์แก่พวกเขาในวัยเยาว์แล้ว พอเติบโตขึ้นไม่ว่าเขาจะผจญสิ่งไม่ดี ฟังเพลงไม่ดี ก็จะมีภูมิต้านทาน อักทั้งยังเลือกเพลงดีๆ ไว้ฟังเองได้ด้วย ไม่หลงไปกับกระแสเพลงที่ส่วนใหญ่ ‘ทำเพื่อขาย’ ไม่ใช่ ‘ทำเพื่อฟัง’

ทุกเพลงมีความหมายต่อชีวิต การจะเลือกฟังเพลงไหนในโอกาสใดล้วนขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ในการใช้มากกว่า จะฟังเพื่อสนุกสนาน ความสุขหรือเศร้าโศกพลัดพรากก็ได้ ขณะที่เพลงของโมสาร์ท โดยเฉพาะ K.488 นอกจากฟังเพื่อก่อเกิดจินตนาการมหัศจรรย์แล้ว ยังช่วยพัฒนาสมองของเด็กๆ ได้ด้วยในเวลาเดียวกัน

“เพลงที่ไม่เนื้อร้องจะก่อเกิดจินตนาการได้มากกว่าเพลงที่มีเนื้อร้อง เพราะเพลงที่มีเนื้อร้องจะตีกรอบจินตนาการตามภาษา เพลงที่ช่วยพัฒนาสมองของเด็กๆ จึงไม่ควรมีเนื้อร้องเพราะจะทำให้เพวกเขาฟังแล้วเกิดจินตนาการได้กว้างขวาง ลึกซึ้งกว่ามาก แต่ใช่ว่าเพลงที่มีเนื้อร้องจะไม่ดี เพราะก็ช่วยเรื่องการเรียนรู้ภาษาได้มาก ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของพ่อแม่ที่จะให้ลูกฟังเพื่ออะไรมากกว่า”

สอดคล้องกับนพ.อุดม เพชรสังหาร ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาอัจฉริยภาพเด็กและเยาวชน สถาบันรักลูก ผู้ศึกษาและติดตามผลการวิจัยด้านสมอง ที่เสริมว่า การเรียนรู้เรื่อง Mozart Effect จะทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองเข้าใจดนตรีกับการพัฒนาสมองในเชิงวิทยาศาสตร์มากขึ้น ด้วยการเข้าใจดนตรีแท้จริงจะเกิดประโยชน์ยิ่งด้านความเข้าใจทางภาษา มิติสัมพันธ์ และยังเป็นพื้นฐานสำคัญในการสร้างความเข้าใจทางวิทยาศาสตร์ เช่น ทฤษฎีไอน์สไตน์ ที่เรื่องของเวลา ความกว้างและความสูงก็มาจากปัจจัยพื้นฐานด้านดนตรีมาก่อน

“ความรู้ความสามารถด้านวิทยาศาสตร์นี้สำคัญมาก เพราะในอนาคตเรื่องนี้จะทวีความสำคัญมากขึ้นในฐานะที่เป็นพื้นฐานความรู้ความเข้าใจด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ที่จะนำไปสู่การคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ๆ นั่นเอง”

นพ.อุดมยังอธิบายว่า Mozart Effect ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature เมื่อปี 2536 เกิดจากการศึกษาวิจัยโดยนำเพลง K.488 มาเปิดให้นักศึกษากลุ่มหนึ่งฟัง จากนั้นจึงให้นักศึกษากลุ่มนี้ทำแบบทดสอบความสามารถทางด้านมิติสัมพันธ์ (Spatial Temporal Reasoning) ผลพบว่านักศึกษากลุ่มดังกล่าวทำคะแนนแบบทดสอบสูงขึ้นอย่างชัดเจน เมื่อเทียบกับนักศึกษากลุ่มอื่นที่ทดลองให้ฟังเพลงร่วมสมัยทั่วไป หรืออยู่ที่เงียบๆ ในระยะเวลาเท่ากัน ที่ไม่พบความเปลี่ยนแปลงในคะแนนแต่อย่างใด กลุ่มนักวิจัยจึงสรุปร่วมกันว่าดนตรีของโมสาร์ททำให้มนุษย์ฉลาดขึ้น

อนึ่ง จะมีการจัดบรรยายทางวิชาการระดับโลกครั้งแรกในเอเชียอาคเนย์ เรื่อง ‘Mozart Music & Intelligence ดนตรี สมอง และความฉลาด’ โดยดร.ฟรานซซิส เราส์เชอร์ (Dr. Frances H. Rauscher) จากภาควิชาจิตวิทยา มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน นักวิจัยเจ้าของผลงาน Mozart Effect ทฤษฎีที่สั่นสะเทือนวงการแพทย์ วิทยาศาสตร์ การศึกษา จิตวิทยาและวงการดนตรีทั่วโลก ด้วยการพบว่า เพลงของโมสาร์ตสามารถเสริมสร้างสติปัญญาของมนุษย์เพิ่มขึ้นได้ และดร. ฌอน ฮินตัน (Dr. Sean C. Hinton) จากภาควิชาประสาทวิทยา วิทยาลัยแพทยศาสตร์แห่งวิสคอนซิน นักประสาทวิทยาผู้ศึกษาเรื่องบทบาทของดนตรีกับโครงสร้างและการทำงานของสมองมนุษย์

ยิ่งปีนี้ทั่วโลกกำลังฉลองวันเกิดครบรอบ 250 ปีของมหาคีตกวีผู้นี้ด้วยแล้ว พ่อแม่ที่สนใจจะสร้างเสริมศักยภาพการเรียนรู้ และพัฒนาสมองของเจ้าตัวน้อยจอมซนตามรอยเส้นทางอัจฉริยะอย่างโมสาร์ท หรือไอน์สไตน์ สามารถเข้าร่วมได้ในวันพฤหัสบดีที่ 11 พฤษภาคม 2549 เวลา 08.30-12.00 น. สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ 0-2831-8400, 0-29137555 ต่อ 2221-2



โมสาร์ท
กำลังโหลดความคิดเห็น