xs
xsm
sm
md
lg

10 เรื่องน่ารู้ ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เนื่องในโอกาสวันจักรี อันหมายถึงวันที่ระลึกมหาจักรีบรมราชวงศ์ ซึ่งเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้ปราบดาภิเษกเป็นปฐมบรมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม จึงขอนำ 10 เรื่องราวเกี่ยวกับพระองค์ท่านมานำเสนอเพื่อเป็นสาระความรู้ ดังต่อไปนี้

1.พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช หรือรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีพระนามเดิมว่า “ ทองด้วง ” ประสูติที่พระนครศรีอยุธยา ในแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เมื่อวันพุธที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2279 ทรงเป็นพระราชโอรสในหลวงพินิจอักษร(ทองดี) และพระนางดาวเรือง(หยก) โดยมีพระเชษฐภคินีและพระอนุชาร่วมอุทรตามลำดับ คือ

1.พระเจ้าพี่นางเธอ กรมสมเด็จพระเทพสุดาวดี (สา)

2.ขุนรามณรงค์

3.พระเจ้าพี่นางเธอ กรมสมเด็จพระศรีสุดารักษ์ (แก้ว)

4.พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

และ 5.กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท (บุญมา) พระอนุชาซึ่งต่อมาได้รับสถาปนาเป็นพระมหาอุปราชาหรือวังหน้าในรัชสมัยของพระองค์(รัชกาลที่ 1)

2.เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชพระชนมายุ 22พรรษาได้เข้ารับราชการตำแหน่งมหาดเล็กในแผ่นดินพระเจ้าอุทุมพร / 25 พรรษา เป็นหลวงยกบัตรเมืองราชบุรี ในสมัยพระเจ้าเอกทัศ /32 พรรษา รับราชการอยู่กับพระเจ้ากรุงธนบุรี เป็นพระราชวรินทร์ /33พรรษา เป็นพระยาอภัยรณฤทธิ์ /34 พรรษา เป็นพระยายมราช / 35 พรรษา เป็นเจ้าพระยาจักรี / 41 พรรษา เป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก / ครั้นพระชนมายุ 46 พรรษา ปราบดาภิเษกเป็นปฐมกษัตริย์แห่งบรมราชจักรีวงศ์

3. ทรงอภิเษกสมรสกับสมเด็จพระอมรินทรา พระบรมราชินี (นามเดิมว่า นาก) ซึ่งเป็นชาวอัมพวา มีพระโอรสธิดา 9 พระองค์ หนึ่งในเก้าพระองค์ คือพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 นอกจากนี้ยังทรงมีพระโอรสธิดากับเจ้าจอมอื่นๆอีก เมื่อรวมสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ พระเจ้าลูกเธอในแผ่นดินของพระองค์จะมีทั้งสิ้น 42 พระองค์โดยประสูติก่อนปราบดาภิเษก 10 พระองค์ และหลังปราบดาภิเษก 32 พระองค์

4.รัชกาลที่ 1 ทรงมีพระนามจารึกในพระสุพรรณบัฏหลังปราบดาภิเษกว่า “ พระบาทสมเด็จพระบรมราชาธิราช รามาธิบดี ศรีสินทรบรมมหาจักรพรรดิราชาธิบดินทร์ ธรณินทราธิราช รัตนากาศภาสกรวงศ์ องค์ปรมาธิเบศร ตรีภูวเนตรวรนาถนายก ดิลกรัตนราชชาติอาชาวศรัย สมุทัยดโรมนต์ สกลจักรวาฬาธิเบนทร์ สุริเยนทราธิบดินทร์ หริหรินทรธาดาธิบดี ศรีสุวิบุลยคุณอขนิษฐ์ ฤทธิราเมศวรมหันต์ บรมธรรมิกราชาธิราชเดโชไชย พรหมเทพดิศัยเทพนฤบดินทร์ ภูมินทรปรมาธิเบศร โลกเชฏฐวิสุทธิ์ รัตนมงกุฏประเทศคตามหาพุทธางกูร บรมบพิตรพระเจ้าอยู่หัว ” ณ กรุงเทพมหานคร บวรทวาราวดี ศรีอยุธยามหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบุรีรมย์ อุดมพระราชนิเวศน์มหาสถาน

5.พระนามที่เรียกขานกันสั้นๆ คือ “ สมเด็จพระบรมราชาธิราชรามาธิบดี ” ต่อมาคนทั้งหลายมักเรียกรัชกาลที่ 1 ว่า “ แผ่นดินต้น ” และเรียกรัชกาลที่ 2ว่า “ แผ่นดินกลาง ” รัชกาลที่ 3 ทรงรังเกียจว่านามสมญาเช่นนี้จะเป็นอัปมงคลเพราะเมื่อมีต้น มีกลางก็ต้องมีปลาย ซึ่งดูเสมือนว่าพระองค์จะเป็นรัชกาลสุดท้าย จึงมีพระบรมราชโองการให้ถวายพระนามสมเด็จพระอดีตกษัตริย์สองรัชกาลก่อน ตามพระนามพระพุทธรูปที่ทรงสร้างอุทิศถวายสมเด็จพระบรมอัยกาธิราชและสมเด็จพระบรมราชบิดาว่า “ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ” และ “ พระพุทธเลิศหล้าสุลาลัย ” ตามลำดับ (ต่อมารัชกาลที่ 4ได้เปลี่ยนเป็น “ นภาลัย ” )

6.รัชกาลที่ 1 ทรงโปรดเกล้าฯให้พระยาธรรมาธิกรณ์ (บุญรอด) กับพระยาวิจิตรนาวี เป็นแม่กองสร้างพระนครขึ้นใหม่เยื้องกรุงธนบุรีราชธานีเดิม และได้พระราชทานนามเมืองใหม่นี้ว่า “ กรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์ ” (สมัยรัชกาลที่4 เปลี่ยนบวรรัตนโกสินทร์ เป็นอมรรัตนโกสินทร์) ได้มีผู้แปลนามกรุงเทพฯไว้ว่า หมายถึง “ พระนครอันกว้างใหญ่ดุจเทพนคร เป็นที่ที่สถิตของพระแก้วมรกต เป็นมหานครที่ไม่มีใครรบชนะได้ มีความงามอันมั่งคงและเจริญยิ่ง เป็นเมืองหลวงที่บริบูรณ์ด้วยแก้วเก้าประการ น่ารื่นรมย์ยิ่ง มีพระราชนิเวศน์ใหญ่โตมากมาย เป็นวิมานเทพที่ประทับของพระราชาผู้อวตารลงมา ซึ่งท้าวสักกเทวราช (พระอินทร์) พระราชทานให้พระวิษณุกรรมลงมาเนรมิตไว้ ”

7.กรุงเทพมหานครฯหรือพระนครแห่งใหม่นี้ใช้เวลาสร้าง 3 ปี มีการสร้างกำแพงเมือง ป้อมปราการ วัดวาอาราม และพระที่นั่งต่างๆ ดังนี้ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระที่นั่งพิมานรัตยา พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน พระที่นั่งไพศาลทักษิณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหสูณยพิมาน และพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ (เดิมชื่อพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท) ฯลฯ

8.ส่วนกำแพงพระนครมีความยาว 188 เส้นเศษ สูง 1.6 เมตร หนาเกือบ 2 เมตร มีประตูใหญ่ 13 ประตูได้แก่ ประตู รัตนพิศาล พิมานเทเวศน์ วิเศษไชยศรี มณีนพรัตน์ สวัสดิโสภา เทวาพิทักษ์ ศักดิ์ไชยสิทธิ์ วิจิตรบรรจง อนงคารักษ์ พิทักษ์บวร สุนทรทิศา เทวาภิรมย์ และอุดมสุดารักษ์ และมี ป้อม 14 ป้อม ได้แก่ พระสุเมรุ /ยุคนธร /มหาปราบ /มหากาฬ /หมูทะลวง(หมูหลวง) /เสือทะยาน /มหาไชย /จักรเพชร /ผีเสื้อ /มหาฤกษ์ /มหายักษ์ /พระจันทร์ /พระอาทิตย์ และอิสินธร

9.วัดสำคัญในรัชกาลที่ 1 ได้แก่ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) โปรดให้สร้างขึ้นในพระบรมมหาราชวังทำนองเดียวกับวัดพระศรีสรรเพชญ์สมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นที่ประดิษฐานของพระแก้วมรกต พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของไทย / วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เดิมชื่อวัดโพธาราม เป็นวัดเก่าแก่สร้างแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาในสมัยพระเพทราชา รัชกาลที่ 1ให้บูรณะปฏิสังขรณ์อยู่นานถึง 12 ปีแล้วพระราชทานนามใหม่ว่า “ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาวาส ” (รัชกาลที่ 4 ได้เปลี่ยนจาก วาส เป็น ราม )ถือ เป็นวัดประจำรัชกาลที่ 1 /

วัดมหาธาตุ เดิมชื่อวัดสลัก มีมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเช่นกัน สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทพระราชทานนามให้ว่า “ วัดนิพพานาราม ” ครั้นเมื่อมีการสังคยานาพระไตรปิฎกปีพ.ศ. 2331 และได้สร้างมณฑปประดิษฐานพระไตรปิฎก จึงเปลี่ยนชื่อเป็น “ วัดพระศรีสรรเพชญ์ ” เมื่อกรมพระราชวังบวรฯทิวงคต รัชกาลที่ 1 ได้พระราชทานนามใหม่ให้ว่า “ วัดมหาธาตุราชวรมหาวิหาร ” ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้บูรณะปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่และพระราชทานนามให้ว่า “ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร ” / วัดสุทัศนเทพวราราม เป็นวัดที่รัชกาลที่ 1 โปรดให้สร้างขึ้นเมื่อพ.ศ. 2350 เพื่อให้เป็นวัดกลางเมืองเช่นเดียวกับวัดพนัญเชิงสมัยกรุงศรีอยุธยา และโปรดเกล้าฯให้อัญเชิญพระศรีศากยมุนีจากกรุงสุโขทัยมาประดิษฐานที่นี่ และรัชกาลที่ 2 ได้ทรงแกะสลักบานประตูหน้าพระวิหารไว้ด้วย / วัดสระเกศ เดิมชื่อวัดสะแก เป็นวัดที่รัชกาลที่ 1 ทรงทำพิธีสรงสนาน (สระหัว)ตามประเพณี ครั้นเมื่อเสวย์ราชย์แล้วจึงได้พระราชทานนามใหม่ให้ว่า “ วัดสระเกศ ”

10.พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงประชวรด้วยพระโรคชรา และเสด็จสวรรคตในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 7 กันยายน พ.ศ.2352 สิริรวมพระชนมายุ 74 พรรษา ทรงอยู่ในสิริราชสมบัติ 27 ปี ทรงเป็นองค์ปฐมกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งราชวงศ์จักรี ทรงปกป้องคุ้มครองรักษาผืนแผ่นดินอันเป็นที่รักของเราชาวไทยให้อยู่รอดปลอดภัยและเจริญรุ่งเรืองมาจวบจนทุกวันนี้ และด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณประชาชนชาวไทยทุกหมู่เหล่าจึงพร้อมใจกันถวายพระราชสมัญญาของพระองค์ว่า “ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มหาราช ” ในคราวสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี เมื่อปีพ.ศ. 2525

 




อมรรัตน์ เทพกำปนาท กลุ่มประชาสัมพันธ์
สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม

กำลังโหลดความคิดเห็น