xs
xsm
sm
md
lg

9 ยอดคำถาม "โบทูลิสม" พิษร้ายที่มากับอาหาร/ผศ.นพ. สัมมน โฉมฉาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์....สายตรงสุขภาพกับศิริราช
โดยผศ.นพ. สัมมน โฉมฉาย ศูนย์พิษวิทยาศิริราช
(บริการข้อมูลสารพิษและยารักษาโรคตลอด 24 ชั่วโมง โทร. 0 2419 7007)

เมื่อวันที่ 14 มี.ค. ที่ผ่านมา ชาวบ้าน อ.บ้านหลวง จ.น่าน 167 ราย ได้รับพิษจากเชื้อ คลอสตริเดียม โบทูลินุม ภายหลังบริโภคหน่อไม้อัดปี๊บ ซึ่งหลายคนไม่รู้ว่า มีผลร้ายต่อสุขภาพอย่างไร

1. รู้จักภาวะโบทูลิสม (โบทูลิซึม) จากอาหาร

เป็นภาวะอาหารเป็นพิษชนิดหนึ่ง ซึ่งพบได้ไม่บ่อย แต่อาจก่ออาการที่รุนแรงจนเกิดอันตรายต่อชีวิตได้ เกิดจากการรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนด้วยสารพิษโบทูลิสม (botulism toxin) ของเชื้อแบคทีเรียคลอสตริเดียม โบทูลินุม (Clostridium botulinum) ที่ปนเปื้อนในอาหารและสร้างสารพิษชนิดนี้ขึ้น สารพิษโบทูลิสมเป็นสารพิษที่รุนแรงมาก การรับประทานสารพิษชนิดนี้ในขนาดน้อยมากเพียง 0.1 ไมโครกรัม (เท่ากับเศษหนึ่งส่วนสิบล้านของน้ำหนักหนึ่งกรัม) ก็อาจทำให้เสียชีวิตได้

2. คลอสตริเดียม โบทูลินุม เจ้าปัญหา

เชื้อโรคคลอสตริเดียม โบทูลินุม เป็นเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่พบมากในดิน เชื้อนี้เจริญเติบโตได้ดีในสภาวะแวดล้อมที่มีออกซิเจนน้อย เช่น ในกระป๋องบรรจุอาหาร ในขวดที่ปิดสนิท หรือในปี๊บ หากอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมแก่การเจริญเติบโต เชื้อนี้จะหลบอยู่ในสภาพสปอร์ซึ่งคงทนต่อสภาพแวดล้อมได้ดีมาก และรอจนกว่าจะพบสภาพที่เหมาะสมจึงเจริญเติบโตและสร้างสารพิษในสภาวะที่มีการเจริญเติบโตนั้น

3. เกี่ยวข้องกับอาหารอย่างไร

การปนเปื้อนอาหารเกิดจากการปนเปื้อนสปอร์ของเชื้อคลอสตริเดียม โบทูลินุม ในอาหาร เมื่ออาหารถูกเก็บในสภาพที่มีออกซิเจนน้อย เช่น ในกระป๋องบรรจุอาหาร หรือในปี๊บ เชื้อก็จะเจริญและสร้างสารพิษ อาหารที่ได้รับการปนเปื้อนสารพิษอาจไม่ปรากฏความผิดปกติใดๆ ทั้งลักษณะภายนอก สี กลิ่น และ รส

อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าอาหารที่บรรจุในภาชนะเหล่านี้ จะต้องมีเชื้อและสารพิษนี้อยู่ เพราะว่าการถนอมอาหารเหล่านี้อย่างถูกวิธี เช่น การปรุงด้วยความร้อนที่นานพอหรือการปรับค่าความเป็นกรดที่เหมาะสมในอาหารจะทำลายหรือยับยั้งไม่ให้สปอร์ของเชื้อเจริญและสร้างสารพิษได้ นอกจากนี้การปรุงอาหารที่บรรจุภาชนะเหล่านี้อย่างเหมาะสมก่อนการบริโภคจะสามารถทำลายสารพิษที่ปนเปื้อนกับอาหารได้

อาหารบางประเภทที่อาจถูกปนเปื้อนด้วยดิน เช่น หน่อไม้ จะมีความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนสปอร์ของเชื้อมากกว่าอาหารอื่นๆ ดังนั้นจึงต้องได้รับการเก็บถนอมอย่างถูกต้องและเคร่งครัดก่อนการบรรจุภาชนะปิดสนิท

4. เคยเกิดขึ้นในประเทศไทยหรือไม่

เคยเกิดการระบาดที่จังหวัดน่านเมื่อปี 2541 จากการบริโภคหน่อไม้ปี๊บที่ดิบหรือปรุงไม่สุกพอ ในครั้งนั้นมีผู้ป่วยไม่ถึง 20 ราย

5. อาการเป็นอย่างไร

สารพิษนี้ทำให้เกิดอาการทางระบบทางเดินอาหารและระบบประสาทอย่างรุนแรง อาการจะเกิดภายในเวลา 2 - 36 ชั่วโมง หลังจากบริโภคอาหารที่มีสารพิษเจือปน โดยจะออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของจุดเชื่อมระหว่างระบบประสาทและกล้ามเนื้อ (neuromuscular junction) เริ่มด้วยอาการอ่อนเพลียมาก วิงเวียน ตาพร่ามัว เห็นภาพซ้อน หนังตาตก ลืมตาไม่ขึ้น พูดไม่ชัด กลืนน้ำและอาหารลำบาก คลื่นไส้ อาเจียน ปวดมวนท้อง ปากแห้ง ท้องเสียหรือท้องผูก ตามด้วยอาการกล้ามเนื้อแขนและขาอ่อนแรง และหากอาการรุนแรงถึงกล้ามเนื้อในระบบหายใจ อาจมีผลให้การหายใจล้มเหลวได้

6. รักษาได้หรือไม่

ภาวะโบทูลิสมจากอาหาร เป็นภาวะที่รักษาได้โดยการประคับประคองตามอาการเป็นหลักสำคัญ ได้แก่ การใช้เครื่องช่วยหายใจในผู้ป่วยที่ไม่สามารถหายใจด้วยตนเอง จากนั้นร่างกายจะค่อยๆ ฟื้นการทำงานของจุดเชื่อมระหว่างระบบประสาทและกล้ามเนื้อกลับสู่สภาพปกติอย่างช้าๆ จากการศึกษาในต่างประเทศ ระยะเวลาเฉลี่ยในการใช้เครื่องช่วยหายใจยาวประมาณ 2 - 8 สัปดาห์ อาการป่วยมักจะค่อยๆทุเลา และใช้เวลาหลายเดือนกว่าจะหายเป็นปกติ
สำหรับการรักษาด้วยยาต้านพิษโบทูลิสม (botulism antitoxin) มีประโยชน์ หากให้ยาแก่ผู้ป่วยภายในเวลา 24 ชั่วโมง หลังจากบริโภคอาหารที่ปนเปื้อน อาจช่วยลดระยะเวลาที่จำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจให้สั้นลง แต่ไม่จำเป็นต้องแยกรักษาผู้ป่วยหรือติดตามผู้สัมผัส เพราะไม่เคยมีการติดต่อจากคนถึงคน แม้จะมีการขับเชื้อและสารพิษจำนวนมากออกมากับอุจจาระของผู้ป่วยเป็นเวลานานหลายเดือนก็ตาม

7. บริโภคอาหารบรรจุกระป๋องและหน่อไม้ปี๊บอย่างไรจึงปลอดภัย

ประชาชนสามารถรับประทานอาหารบรรจุกระป๋องและหน่อไม้ปี๊บอย่างปลอดภัยโดย

* เลือกรับประทานอาหารบรรจุขวด กระป๋อง และ ปี๊บที่ ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา

* ตรวจบรรจุภัณฑ์เช่นกระป๋องหรือปี๊บว่ามีรอยบุบ หรือ โป่ง หรือไม่ ถ้ามีความผิดปกติเหล่านี้ไม่ควรรับประทาน

* ห้ามใช้วิธีชิมแม้เพียงเล็กน้อย หากสงสัยว่าอาหารที่บรรจุมาในภาชนะปิดสนิทเหล่านี้อาจมีการปนเปื้อน ทั้งนี้เพราะอาหารที่ได้รับการปนเปื้อนสารพิษอาจไม่ปรากฏความผิดปกติใดๆ ทั้งลักษณะภายนอก สี กลิ่น และ รส และการสัมผัสสารพิษเพียงเล็กน้อยอาจทำให้เกิดภาวะโบทูลิสมได้

* หากอาหารที่บรรจุขวด กระป๋อง และ ปี๊บนั้น เป็นอาหารประเภทที่สามารถปรุงให้สุกได้ เช่น หน่อไม้ ควรต้มอาหารนั้นให้เดือดเป็นเวลาอย่างน้อย 10 นาที ในอุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียส เพื่อทำลายสารพิษที่ปนเปื้อนมากับอาหารนั้นก่อนการบริโภค

8. เมื่อใดควรสงสัยภาวะโบทูลิสมจากอาหารและควรทำอย่างไร

หากเกิดอาการดังที่กล่าวมาในข้อ 5 หลังจากบริโภคอาหารบรรจุขวด กระป๋อง และ ปี๊บ ควรไป พบแพทย์ทันทีเพราะอาการอาจกำเริบสู่ภาวะรุนแรงอย่างรวดเร็ว

9. นอกเหนือจากภาวะโบทูลิสมจากอาหารแล้ว ยังมีโบทูลิสมแบบอื่นหรือไม่

ภาวะโบทูลิสมอาจเกิดในรูปแบบอื่นนอกเหนือจากอาหารได้อีก 2 รูปแบบคือ

1. ภาวะโบทูลิสมในเด็กทารก (Infant botulism) พบได้น้อย เกิดจากการบริโภคอาหารที่ปนเปื้อนสปอร์ของเชื้อ ซึ่งทางเดินอาหารของทารกเหมาะสมในการเจริญเติบโตของเชื้อ เนื่องจากพัฒนาการเคลื่อนไหวของทางเดินอาหารยังไม่ดีพอและความเป็นกรดต่ำ ทำให้ไม่มีความต้านทานต่อเชื้อโรคนี้ การป้องกันโดยหลีกเลี่ยงการให้อาหารที่อาจปนเปื้อน เช่นน้ำผึ้งในเด็กทารกที่อายุน้อยกว่า 1 ปี

2. ภาวะโบทูลิสมจากแผล (wound botulism) พบได้น้อย เกิดจากการเจริญของเชื้อคลอสตริเดียม โบทูลินุม และการสร้างสารพิษโบทูลิสมในบาดแผลที่มีการปนเปื้อนสปอร์จากดิน การป้องกันทำได้โดยล้างบาดแผลให้สะอาด ปราศจากการปนเปื้อนของฝุ่นดิน

ถึงตรงนี้ก็ต้องคิดไว้ล่ะว่า หากเลือกได้ ควรบริโภคอาหารที่ต้มสุกและทำอย่างถูกสุขลักษณะ ดูเหมือนเรื่องเล็ก แต่จะเป็นปัญหาใหญ่ หากละเลยกันนะครับ

ต้องการแสดงความคิดเห็นหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ pobmor_siriraj@yahoo.com




เดิน-วิ่ง ชิงถ้วยพระเทพฯ

9 เม.ย. นี้ ขอเชิญร่วมเดิน-วิ่งเทิดพระเกียรติ ฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ศิริราช – รามาธิบดี ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพฯ สมัครในราคาพิเศษ 250 บาท ที่ 0 2419 7646-56 และรับเสื้อ เหรียญที่ระลึก นอกจากนี้ ในงานยังมีบริการตรวจสุขภาพ นิทรรศการให้ความรู้ พาชมพิพิธภัณฑ์การแพทย์ศิริราช และจำหน่ายสินค้าสุขภาพในราคาพิเศษ ณ รพ.ศิริราช
กำลังโหลดความคิดเห็น