“เด็กเหลือขอ พ่อแม่ไม่สั่งสอน” เสียงบ่นของใครบางคนในสังคมที่ถูกเรียกขานว่า “ผู้ใหญ่” เปล่งออกจากลำคอผ่านริมฝีปากอย่างอัตโนมัติเวลาที่พบเห็นเด็กๆ เที่ยวซุกซนและมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ดูขัดหูขัดตาและผิดแปลกไปจากวิถีของผู้คนส่วนใหญ่ที่ยึดถือประพฤติปฏิบัติกันในสังคม
เด็กจำนวนไม่น้อยที่เกิดมาต้องตกอยู่ในสภาพจำเลยของสังคมที่ถูกประณามอย่างเห็นเป็นรูปธรรมว่า “พ่อแม่ไม่สั่งสอน” เนื่องจากการทำตัวไม่เหมาะสม ไม่รับผิดชอบต่อตนเองและทำความเดือดร้อนให้กับสังคม อาทิ พูดปดมดเท็จ กริยาหยาบคาย มีพฤติกรรมก้าวร้าว เกะกะเกเร ซ่องสุมตั้งแก๊ง แข่งขันซิ่งมอเตอร์ไซด์กวนเมือง รวมทั้งก่ออาชญากรรมทำผิดกฎหมายตั้งแต่เบาะๆด้วยการลักเล็กขโมยน้อยตามศูนย์การค้าเรื่อยไปจนถึงการจี้ปล้นทรัพย์สิน รุมทำร้ายผู้อื่นให้เสียทรัพย์และบาดเจ็บจนบางครั้งรุนแรงถึงเสียชีวิต เปรียบเหมือนโจรในคราบเยาวชน ตามที่สังคมได้รับรู้จากสื่อกันอยู่เนืองๆ
นอกจากนี้ พฤติกรรมการแสดงออกทางเพศหรือโชว์เรือนร่างอย่างเสรีเกินงาม และไร้ขอบเขตของเยาวชนที่พบเห็นในปัจจุบัน รวมทั้งพัฒนาไปเป็นอาชีพด้วยการเต้นโชว์เรือนร่างซึ่งเป็นที่รู้จักกันในชื่อของ “โคโยตี้” ที่กำลังเป็นที่นิยมตามสถานเริงรมย์ผับ เทค และแทบไม่น่าเชื่อว่ามีแสดงอยู่ในคอนเสิร์ตงานวัดด้วยเช่นกัน
รวมทั้งความนิยมในการเสพสื่อลามกทุกรูปแบบ จนเกิดความเคยชินกลายเป็นพฤติกรรมเลียนแบบสื่อ นำไปสู่การมีเพศสัมพันธ์เกินฐานะก่อนวัยอันควร จนก่อให้เกิดเหตุการณ์กระทบต่อศีลธรรมจากการทำแท้งของเด็กสาวตามพื้นที่สาธารณะต่างๆ ทั้งห้องน้ำศูนย์การค้า ห้องน้ำโรงพยาบาล ห้องน้ำโรงหนัง หรือแม้แต่ห้องน้ำบนรถทัวร์ ก็มีให้เห็นกันครบทุกแห่งแล้ว
ความปรารถนาของเด็กส่วนใหญ่คงไม่ต่างกันตรงที่ต้องการความรัก ความเข้าใจ การยกย่องชื่นชมและการยอมรับมากกว่าการประณามกล่าวโทษพวกเขา ซึ่งเป็นไปตามข้อเท็จจริงที่ไม่อาจจะปฏิเสธได้ว่า “ไม่มีใครคนใดที่เกิดมาแล้วไม่อยากเป็นคนดีถ้าเลือกได้”
สภาพปัญหาที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชนที่กล่าวมาย่อมมีเหตุแห่งปัจจัยและที่มาของปัญหาจากข้อมูลในรายงานเด็กไทยในมิติวัฒนธรรม ของกระทรวงวัฒนธรรมร่วมกับสถาบันรามจิตติพบว่า สถาบันครอบครัวยังคงเป็นหน่วยเล็กๆทางสังคม ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อการกล่อมเกลาเด็กและเยาวชนให้เติบโตเป็น “คน”และ“ผู้ใหญ่” ที่สมบูรณ์มีคุณค่าต่อตนเองและผู้อื่น สามารถทำประโยชน์ให้กับสังคมได้ แต่ว่าในสถานการณ์ปัจจุบันที่เป็นอยู่ สถาบันครอบครัวกลับอยู่ในสภาวการณ์ที่เปราะบางและน่ากังวลยิ่ง ความคาดหวังที่ว่าครอบครัวเสมือนหนึ่งเป็นที่ฟูมฟักให้เยาวชนเติบโตจนแข็งแรงและเป็นเกราะคุ้มกันเด็กจากสิ่งเลวร้ายที่รุมล้อมรอบ จึงเป็นได้เพียงปรัชญาหรือความคาดหวังของผู้คนที่มองโลกในแง่ดีเท่านั้น
กระแสทุนนิยมและบริโภคนิยมที่เกิดขึ้นในยุคสมัยนี้ ได้โหมกระหน่ำสู่สังคมไทยทำให้การดำเนินชีวิตของคนในสังคมไทยเปลี่ยนแปลงทั้งวิธีคิดและการกระทำ ส่งผลให้หลายๆปัจจัยที่แวดล้อมชีวิตเด็กในปัจจุบันเต็มไปด้วยปัญหาซึ่งมีส่วนทำให้เด็กต้องสูญเสียความสุขในชีวิต ความสดใส และความเป็นธรรมชาติตามวัย รวมทั้งโอกาสในการพัฒนา เด็กๆจำนวนไม่น้อยต้องรู้จักกับโรคความเครียดทั้งๆที่ยังไม่ถึงวัยอันควร เพราะถูกกระทบจากกระแสสังคม ความกดดันที่เกิดจากปัญหาการเรียนและการใช้ชีวิต ทั้งจากพ่อแม่ ครู และสังคมเอง
นอกจากนั้น ปัญหาเศรษฐกิจที่รุมเร้าสังคมและส่งผลกระทบกับครอบครัวก็เป็นตัวแปรที่สำคัญทำให้เด็กๆจำนวนไม่น้อยต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยวเหินห่างจากพ่อแม่ ขาดความรัก ความอบอุ่น การเลี้ยงดูอบรมบ่มนิสัย การเอาใจใส่ดูแล เพราะพ่อแม่ต้องใช้เวลาไปกับการทำงานหารายได้มาจุนเจือครอบครัวจนไม่มีเวลาดูแลกันและกัน
หรือครอบครัวจำนวนไม่น้อยที่พ่อแม่มีพฤติกรรมเสี่ยง ขาดคุณธรรม มีความประพฤติที่เบี่ยงเบน เช่น เป็นนักพนัน นักเลง อันธพาล ผู้มีอิทธิพล ประกอบอาชีพที่ทุจริตผิดกฎหมายก็เป็นแบบอย่างที่เลวที่ทำให้เด็กเลียนแบบได้
หรือหลายครอบครัวที่พ่อแม่เลี้ยงดูลูกอย่างผิดวิธีด้วยการตามใจเกินควร พะเน้าพะนอปรนเปรอด้วยวัตถุและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ตลอดจนปกป้องมากเกินควร รวมทั้งขาดความรู้และการชี้แนะที่ถูกต้อง เด็กจะมีวิธีคิดและพัฒนาการในด้านต่างๆที่ไม่เหมาะสม ก็ล้วนเข้าทำนอง“พ่อแม่รังแกฉัน”
เด็กๆที่ถูกเลี้ยงดูอย่างไม่ถูกต้องไม่ได้รับการพัฒนาอย่างที่ควร เมื่อพวกเขาเติบโตขึ้นจึงกลายเป็น“เด็กเหลือขอที่พ่อแม่ไม่สั่งสอน”จริงๆ ซึ่งเป็นปัญหาที่กัดกร่อนสังคมให้ถดถอยอยู่ทุกวันนี้
ในทำนองเดียวกันเมื่อคิดอีกมุมมองหนึ่งก็เป็นเรื่อง “ฉันรังแกพ่อแม่” ได้เหมือนกันเพราะการกระทำของเด็กในหลายๆปัญหาที่เกิดขึ้น ก็เกิดจากตัวของเด็กเองที่ไม่ใฝ่ดี เอาแต่ใจตนเอง เพราะอาจเกิดจากความอ่อนด้อยทั้งความรู้ สติปัญญา ประสบการณ์ การตระหนักรู้ถึงความผิดชอบชอบชั่วดี ซึ่งเป็นองค์ประกอบของการมีภูมิคุ้มกันของการมีชีวิตที่เหมาะสมในสังคม เด็กเหล่านี้จึงเป็นเด็กเหลือขอที่เกิดจากการกระทำของตนเอง
การพูดถึงประเด็น “พ่อแม่รังแกฉัน”หรือ “ฉันรังแกพ่อแม่” ไม่ได้มีเจตนาที่จะกล่าวโทษฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่จะชี้ให้เห็นว่าปัญหาของเด็กและเยาวชนเป็นปัญหาครอบครัวที่เกิดจากปัจจัยทั้งภายในและภายนอกครอบครัว เมื่อเกิดขึ้นแล้วสมาชิกในครอบครัว โรงเรียน สถาบันทางสังคม สื่อมวลชน หรือแม้แต่สังคมโดยรวม ต่างมีส่วนเกี่ยวข้อง เพราะฉะนั้นการแก้ไขหรือการหาทางออกของปัญหาจะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย การแยกส่วนเพื่อแก้ไขวิกฤติที่เกิดขึ้นคงไม่ใช่กุญแจไขไปสู่ทางออกเพื่อหาคำตอบของเรื่องนี้
ปัญหาเด็กและเยาวชนเป็นปัญหาที่ซับซ้อนละเอียดอ่อนและยากแก่การแก้ไข จำเป็นต้องใช้กระบวนการเรียนรู้ที่ต่อเนื่องของทุกฝ่าย ค้นหากลวิธีในการสร้างความแข็งแรงให้กับสถาบันหลักในสังคม ตลอดจนระดมสรรพกำลังของทุกฝ่ายในการลดภาวะเสี่ยงของสังคมให้เกิดขึ้นโดยเร็ว ด้วยการเฝ้าระวังเตือนภัยปราบปรามภัยทางสังคมอย่างจริงจัง รวมถึงพัฒนาวิธีการสร้างภูมิคุ้มกันทางสังคมให้กับเยาวชนอย่างมีประสิทธิภาพ