xs
xsm
sm
md
lg

เคล็ดลับเอนไซม์บำบัด กินอาหารสดให้ได้ครึ่งหนึ่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“กินมากเท่าไหร่ก็นำไปใช้ไม่ได้ถ้าเอนไซม์บกพร่อง.....”

คือ คำนิยามความสำคัญของเอนไซม์ ต่อกระบวนการของร่างกาย ยังมีการศึกษาวิจัยที่แสดงให้เห็นว่า ความผิดปกติของร่างกายหลายประการ เช่น ภาวะแก่ก่อนวัย โรคภูมิแพ้ ภูมิคุ้มกันบกพร่อง การอักเสบ การติดเชื้อ โรคปวดข้อและกระดูก ความผิดปกติของหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน โรคเกาต์ โรคกระเพาะ โรคตับอักเสบ ถุงน้ำดีอักเสบ โรคกระดูกผุ โรคภูมิแพ้ โรคผื่นแพ้เรื้อรังปัญหาผิวพรรณบางชนิด และมะเร็งบางชนิด สามารถทำให้ทุเลาลงได้โดยวิธีการเอนไซม์บำบัด(Enzyme Therapy)

เอนไซม์บำบัดจึงเป็นการที่มนุษย์ให้ร่างกายได้เยียวยา ซ่อมแซมตัวเอง โดยมีแนวคิดในการกินผักสด ผลไม้ อาหารสด เพราะในอาหารสดมีเอนไซม์ที่จะช่วยย่อยอาหารที่กินเข้าไป เป็นการผ่อนภาระการย่อยของตับอ่อน อาการอาหารไม่ย่อยก็จะไม่เกิดขึ้น ส่วนในอาหารสุกจะมีเอนไซม์น้อยมาก เนื่องจากเอนไซม์จะหายไปกับความร้อนที่ใช้ปรุงอาหาร ยกตัวอย่าง พืช ผัก ผลไม้ที่เก็บเกี่ยวจากต้นมาแล้ว 1 วันจะเหลือเอนไซม์ 50% 2 วัน เหลือ 25% และ 3 วันจะไม่เหลือเอนไซม์อยู่เลย

ดร.ดิคซี ฟุลเลอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์โภชนาการและสุขภาพ ประสบการณ์กว่า 20 ปีในการรักษาคนไข้ด้วยการใช้เอนไซม์บำบัด ให้ความหมายของคำว่าเอนไซม์ว่า เป็นสารโปรตีนที่พบในเซลล์สิ่งมีชีวิตทั้งมนุษย์ พืช สัตว์ และจุลินทรีย์บางชนิด มนุษย์มีชีวิตอยู่ไม่ได้ถ้าปราศจากเอนไซม์ เอนไซม์ทำหน้าที่ในการเร่งปฏิกิริยาชีวเคมีภายในร่างกาย มีความสำคัญที่ทำให้เซลล์เนื้อเยื่อ ของเหลวและอวัยวะต่างๆในร่างกายทำงานตามปกติ การทำงานของกระบวนการต่างๆในร่างกายล้วนอาศัยเอนไซม์ทั้งสิ้น เช่น การย่อยอาหาร การดูดซึม การกำจัดของเสีย การซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ การเจริญเติบโตและการดำรงชีวิต

เรียกได้ว่าเอนไซม์เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาซึ่งเป็นพลังขับเคลื่อนที่ทำให้เราสามารถทำงานต่างๆได้อย่างมีสุขภาพดี หรือกล่าวได้ว่าเราไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้หากขาดเอนไซม์

“เอนไซม์เป็นสารกลุ่มโปรตีนที่ร่างกายได้รับจากการรับประทานอาหารและสร้างขึ้นเอง ร่างกายจำเป็นต้องใช้เอนไซม์เมื่อเราทานอาหารที่ผ่านการใช้ความร้อนในการปรุงอาหาร อาหารแช่แข็งที่ผ่านการแปรรูปต่างๆ เนื่องจากเอนไซม์จะถูกทำลายด้วยความร้อน ในการย่อยอาหารมนุษย์ต้องใช้เอนไซม์หลัก 3 ชนิด และเสริม 4 ชนิด”

ดร.ดิคซี อธิบายว่า เอนไซม์หลัก 3 ชนิดคือ 1.เอนไซม์อะไมเลส ย่อยอาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรตและแป้ง เช่น ข้าว ขนมปัง ผัก และผลไม้ หากการย่อยในส่วนนี้ไม่สมบูรณ์จะทำให้เกิดภาวะเหมือนการหมักแป้งในท้องของเรา จะทำให้เกิดแก๊สและมีอาการไม่สบายต่างๆ 2.เอนไซม์โปรตีนเอสจะย่อยอาหารกลุ่มโปรตีน เช่น เนื้อสัตว์ต่างๆ ไก่ ปลา ถั่ว หากการย่อยไม่ดีโปรตีนก็จะเน่า ท้องอืด ท้องเฟ้อ และเป็นพิษต่อร่างกาย 3.เอนไซม์ไลเปส มีหน้าที่ย่อยสลายไขมัน และช่วยรักษาสมดุลกรดไขมันในร่างกาย ไขมันที่ไม่ย่อยจะทำให้เหม็นหืน เหม็นเปรี้ยว และปริมาณคอเลสเตอรอลเสียสมดุล

“ส่วนเอนไซม์เสริม 4 ชนิด คือ เอนไซม์เซลลูเลส ย่อยสลายเซลลูโลสซึ่งเป็นไฟเบอร์ที่พบในสัตว์ต่างๆ หากการย่อยไม่สมบูรณ์จะทำให้เกิดไฟเบอร์ตกค้างกลายเป็นไขมันเคลือบผนังลำไส้เล็ก ทำให้เกิดโรคเกี่ยวกับการดูซึมอาหาร เอนไซม์แล็กเตส ย่อยน้ำตาลแล็กโทสในน้ำนม หากร่างกายไม่มีเอนไซม์นี้จะทำให้เกิดอาการไม่ย่อย นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนมก็อาจทำให้เกิดภูมิแพ้ได้ และยังมีเอนไซม์อีก 2 ชนิดที่ช่วยย่อยน้ำตาลในอาหารคือ เอนไซม์ซูเครสและเอนไซม์มอลเตส”

แม้เอนไซม์จะมีอยู่ในร่างกายและจากอาหารที่รับประทานเข้าไป แต่มนุษย์ก็ยังประสบกับปัญหาขาดเอนไซม์ ดร.ดิคซี ชี้แจงว่า เมื่อคุณมีอายุมากขึ้นการผลิตเอนไซม์จะมีประสิทธิภาพลดลง ส่วนเอนไซม์ในอาหารจะถูกทำลายจากการการปรุงอาหารด้วยความร้อน ผลก็คือถ้าคุณไม่ใช่เด็กหรือกินอาหารดิบโดยไม่ปรุงคุณจะได้รับเอนไซม์ไม่เพียงพอ

“การย่อยอาหารเป็นหน้าที่สำคัญอย่างยิ่งของร่างกาย เมื่อเรารับประทานอาหาร เอนไซม์ย่อยอาหารจะถูกดึงมาจากทุกระบบของร่างกายในทันทีเพื่อทำการย่อยอาหาร แต่เอนไซม์ย่อยอาหารก็ยังมีหน้าที่ในการซ่อมแซมควบคุม และกระตุ้นการทำงานของระบบอื่นๆของร่างกายด้วย แต่ระบบเหล่านี้จำเป็นที่จะต้องหยุดชั่วคราวเพื่อส่งเอนไซม์ไปให้ระบบย่อยอาหาร วิธีแก้คือ รับประทานอาหารที่ไม่ผ่านการปรุงให้สุก ควรกินอาหารสดมากเท่าที่จะทำได้เพื่อเป็นการเสริมศักยภาพของเอนไซม์ของคุณ”

คำถาม คือ เราจะทราบได้อย่างไรว่าร่างกายของเราบกพร่องเอนไซม์แล้ว

ดร.ดิคซี อธิบายว่า ดูได้ง่ายๆ เริ่มจากดูที่อายุ ถ้าอายุน้อยหน่อย ร่างกายก็ยัง สามารถสร้างเอนไซม์ได้ดีพอสมควร แต่พออายุมากขึ้น 25 ปีขึ้นไป ถ้าได้รับอาหารดิบหรืออาหารสดไม่พอเพียงที่จะเอาช่วยย่อยอาหารแล้วหล่ะก็ เท่ากับยิ่งเร่งตัวเองให้แก่เร็วขึ้น ร่างกายเสื่อมเร็วขึ้น เนื่องจากทุกกิจกรรมและกระบวนการต่างๆ ในการทำงานของร่างกายจำเป็นต้องอาศัยเอนไซม์มาช่วย การทดแทนเอนไซม์ที่หดหายไปกับความเสื่อมตามวัยจะทำให้สมดุลของเอนไซม์ถูกเสริมให้ดีขึ้น ซึ่งจะมีผลช่วยในการต่อสู้โรคภัยไข้เจ็บ และทำให้สุขภาพดีขึ้น ในคนไข้เบาหวานเห็นได้ชัด ถ้าตับอ่อนต้องไปสร้างเอนไซม์ในการย่อยอาหาร ความสามารถในการสร้างอินซูลินก็ต่ำลง ดังนั้นคนที่เป็นเบาหวานควรกินอาหารดิบมากๆ คนเราต้องได้อาหารดิบในสัดส่วน 50% ของอาหารทั้งหมดที่กินเข้าไป

“คนที่เป็นโรคต่อไปนี้แสดงว่าตัวเองพร่องเอนไซม์แล้ว เบาหวาน เพราะตับอ่อนอ่อนล้า คนที่เป็นโรคเกี่ยวกับทางเดินอาหารทั้งหมด เช่น อาหารไม่ย่อย ท้องผูกสลับท้องเสีย เพราะเซลล์ต่างๆ อ่อนล้าในการสร้างน้ำย่อย โรคภูมิแพ้ต่างๆ เพราะระบบย่อยอาหารทำงานไม่ดี โมเลกุลของอาหารพลัดหลงเข้าไปในกระแสเลือดเป็นโมเลกุลใหญ่ๆ ร่างกายก็สร้างภูมิต้านทานไปสร้างโมเลกุลนั้น ทำให้เกิดคัดจมูก ผื่นขึ้นตามตัว เกิดเป็นภูมิแพ้ SLE รูมาตอยด์ สะเก็ดเงิน โรคเกาต์ โรคผิวหนัง ผู้ที่แก่ก่อนวัย มะเร็ง หัวใจ และอีกหลายต่อหลายโรค และคนที่อ้วนมีไขมันพอกตามร่างกายมากที่เรียกว่าเซลลูไลต์ เกิดขึ้นเพราะร่างกายขาดเอนไซม์ไลเปส ถ้าคุณขยันกินผักผลไม้สดหลากหลายก็จะได้เอนไซม์หลากหลายเข้ามา เอนไซม์เหล่านั้นก็จะช่วยสลายเซลลูไลต์ได้ด้วย”

เอนไซม์บำบัดยังเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันมากในวงการแพทย์ เอนไซม์เสริมที่เป็นสารสกัดจากพืชมีวางขายในท้องตลาด และโฆษณาว่าจะช่วยเสริมเอนไซม์ในร่างกายได้ แพทย์แนะนำว่ายังไม่ควรเลือกรับประทาน ทางออกที่ดีที่สุดคือ การรับประทานอาหารดิบ ประเภทผักสด ผลไม้สดก็เพียงพอแล้วสำหรับการเสริมเอนไซม์ในร่างกาย คำแนะนำคือ รับประทานอาหารสดประมาณครึ่งหนึ่งของอาหารที่กินเข้าไปก็พอแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น